เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 9 มี.ค. 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางยกระดับบนถนนพระราม 2 และโครงการทางพิเศษพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานครด้านตะวันตก โดยมี นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย นำลงพื้นที่และบรรยายสรุป
จากนั้น นายศักดิ์สยาม เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีนโยบายให้กระทรวงคมนาคมเร่งแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ถนนพระราม 2 ซึ่งเป็นเส้นทางหลักที่เชื่อมสู่ภาคใต้ของประเทศให้ลุล่วงโดยเร็ว ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง มีการปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี - ปากช่อง ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน - เอกชัย กม. 9+800 - 21+500 ระยะทาง 11.7 กิโลเมตร ตอน 1 กม. 9+800 - 13+300 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2564 ตอน 2 กม. 13+300 - 17+400 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2564 และตอน 3 กม. 17+400 - 21+500 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2563
ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการในปัจจุบันมีความคืบหน้าดังนี้
1. โครงการก่อสร้างทางยกระดับทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี - ปากช่อง ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน - เอกชัย ช่วง กม. ที่ 11+959.904 - 20+295.417 ของกรมทางหลวง เป็นการก่อสร้างทางยกระดับ จำนวน 6 ช่องจราจร ไป-กลับ (ทิศทางละ 3 ช่องจราจร) ภาพรวมโครงการมีความคืบหน้า 61% คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2566 แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 3 ตอน ระยะทาง 8.2 กิโลเมตร คือ
- ตอนที่ 1 ระยะทาง 2.575 กิโลเมตร รวมทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน ปัจจุบันมีความคืบหน้า 62.61%
- ตอนที่ 2 ระยะทาง 4.1 กิโลเมตร ปัจจุบันมีความคืบหน้า 46.75%
- ตอนที่ 3 ระยะทาง 1.6 กิโลเมตร ปัจจุบันมีความคืบหน้า 74.84%
2. โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน - บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย - บ้านแพ้ว มีแนวสายทางเชื่อมต่อกับโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก บริเวณด่านบางขุนเทียนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 10 สัญญา บนถนนพระราม 2 ตั้งแต่ กม. ที่ 20+295 - 36+645 ระยะทาง 16.4 กิโลเมตร มูลค่า 18,759.230 ล้านบาท เริ่มต้นสัญญาวันที่ 1 ก.พ. 2565 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 15 ม.ค. 2568
3. โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ของ กทพ. เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดของทางพิเศษเฉลิมมหานคร ช่วงบางโคล่ - สะพานพระราม 9 - ดาวคะนอง ซึ่งมีปริมาณการจราจรเฉลี่ยสูงถึง 150,000 คันต่อวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วนอย่างยั่งยืน กระทรวงคมนาคมจึงมีนโยบายให้พัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโครงข่ายถนนและทางพิเศษในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ภาพรวมโครงการมีความคืบหน้า 24.32% คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2567 ประกอบด้วย 5 สัญญา คือ
- สัญญาที่ 1 ระยะทาง 6.4 กิโลเมตร มีความก้าวหน้า 0.82%
- สัญญาที่ 2 ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร มีความก้าวหน้า 34.33%
- สัญญาที่ 3 ระยะทาง 5 กิโลเมตร มีความก้าวหน้า 1.48%
- สัญญาที่ 4 ระยะทาง 2 กิโลเมตร มีความก้าวหน้า 68.88%
- สัญญาที่ 5 งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจร และระบบสื่อสาร อยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้าง
นายศักดิ์สยาม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ KPI ในการบริหารจัดการก่อสร้างและการจราจรซึ่งมีการพัฒนาใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาบริหารจัดการก่อสร้างอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดผลกระทบต่อการจราจร เป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการเชื่อมต่อระบบคมนาคมสู่ภาคใต้ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมให้กรมทางหลวงและ กทพ. คำนึงถึงปัจจัยเรื่องอุทกภัยด้วยในการออกแบบและบริหารจัดการโครงการ เพิ่มความถี่ในการประชาสัมพันธ์โครงการให้เข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด โดยเฉพาะช่องทาง Social Media การใช้ Influencer เข้ามาช่วยในการสื่อสารและการทำกิจกรรมของโครงการ เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจให้เป็นวงกว้างและเข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น รวมถึงบูรณาการในการวางแผนเคลื่อนย้ายระบบสาธารณูปโภคกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่จะต้องวางแผนการพัฒนา Business Model ที่ชัดเจน เพื่อให้หน่วยงานมีรายได้เลี้ยงตัวเองอันจะเป็นการลดภาระทางงบประมาณของภาครัฐในระยะยาว รวมถึงต้องคำนึงถึงการพัฒนา TOD (Transit Oriented Development) และโอกาสในการพัฒนาพื้นที่อสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ ที่โครงการสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้
อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้กรมทางหลวงและ กทพ. บูรณาการร่วมกัน 6 มิติ ได้แก่ มิติบริหารพื้นที่ร่วม, มิติการออกแบบ, มิติการเร่งรัดงานก่อสร้าง, มิติการบริหารจราจร, มิติการประชาสัมพันธ์ และมิติการช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น การบริหารการใช้พื้นที่ร่วมกันโครงการที่มีพื้นที่ซับซ้อน การใช้พื้นสะพานแบบหล่อสำเร็จรูป (Precast Box Segment) การกำกับดูแลติดตามให้การก่อสร้างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ การก่อสร้างในพื้นที่เฉพาะที่กั้นไว้ การประชาสัมพันธ์สื่อสารข้อมูลด้วยป้าย VMS (ป้ายปรับเปลี่ยนข้อความ) MVMS (ป้ายปรับเปลี่ยนข้อความแบบเคลื่อนที่ได้) และติดตั้งกล้อง CCTV ตรวจสภาพการจราจรเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือทันทีที่เกิดอุบัติเหตุ
พร้อมจัดตั้งศูนย์บริหารและบูรณาการเพื่อควบคุมการในโครงการก่อสร้างแบบ Real-Time เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ลดปัญหาการจราจรติดขัดบนท้องถนน และอำนวยความสะดวก ความปลอดภัยให้ประชาชนผู้ใช้ทางระหว่างการก่อสร้าง
ในส่วนความคืบหน้าระบบ M-Flow ขณะนี้สามารถคืนค่าปรับไปแล้วประมาณ 80% อีก 20% อยู่ระหว่างการตรวจสอบ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จก่อนวันที่ 31 มี.ค. นี้ โดยกรมทางหลวงพยายามปรับแบบทางกายภาพ เช่น การตีเส้นและทำแถบสีให้ชัดเจนบนผิวจราจร และเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้ทาง ขณะที่การใช้ M-Flow บนทางด่วน ยืนยันว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้นำบทเรียนมาแก้ไขแล้ว รวมถึงการนำระบบ M-PASS และ Easy Pass มาใช้กับระบบ M-Flow ซึ่งดำเนินการเรียบร้อยแล้ว.
เร่งรัดก่อสร้างทางยกระดับพระราม 2-ด่วนพระราม 3 คืนค่าปรับ M-Flow แล้ว 80% - ไทยรัฐ
Read More
No comments:
Post a Comment