นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ประเมินว่า ช่วงที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างเป็นกลุ่มที่นักลงทุน นักวิเคราะห์ เห็นตรงกันว่า “ไม่ค่อยน่าสนใจลงทุน” เพราะโครงการภาครัฐมีกำไรน้อย-ล่าช้า แถมมีการปิดไซต์ก่อสร้างจากโควิด จนมาถึงปัญหาด้านต้นที่สูงขึ้น
โดยปี 2564 บริษัทจดทะเบียน (บจ.) กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง 27 บริษัท มีกำไรสุทธิรวม 2,346 ล้านบาท ลดลงเฉลี่ย 69% จากปี 63 โดยมีถึง 13 บริษัทกำไรลดลงตั้งแต่ 7 - 2,125% ทั้งนี้มี 9 บริษัทมีผลขาดทุน ซึ่ง 5 บริษัทพลิกขาดทุนในปี 64 และมี 1 บริษัทขาดทุนเพิ่มขึ้นจากปี 63 ขณะที่มี 3 บริษัทขาดทุนลดลง
อย่างไรก็ตามเมื่อดูเป็นรายตัวพบว่ามี 6 บริษัทที่กำไรสุทธิเติบโตสวนกลุ่มอุตสาหกรรมระดับ 122 - 202 % ซึ่งถือว่ามีความน่าสนใจ ในแง่การปรับตัวต่อปัจจัยลบต่างๆ ที่รุมเร้า ประกอบด้วย
ทั้งนี้มี 2 บริษัทรับเหมาที่กำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่อง ได้แก่
บมจ.ซีวิลเอนจีเนียริง (CIVIL) หุ้นรับเหมาก่อสร้างน้องใหม่ ที่ประกาศกำไร 193 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 122% จากปี 63 และเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 3 ปี (62-63-64) สาเหตุมาจากการรับรู้รายได้ถึง 5,063 ล้านบาท สูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท
"ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ระบุว่า ปีนี้จะเติบโตต่อเนื่อง โดยตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้น 20-30% หรือแตะ 6,000 - 6,500 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีงานในมือแล้ว 1.57 หมื่นล้านบาท รับรู้ปีนี้ถึงปี 67 ยังไม่รวมงานใหม่ที่จะเข้ามาต่อเนื่องทดแทนที่ส่งมอบไปในปีนี้ คาดว่าสิ้นปี 65 จะมีงานในมือระดับ 1.5 - 2 หมื่นล้านบาท โดยสัดส่วนงานมาจากภาครัฐ 95% ซึ่งคาดว่าจะทยอยเปิดประมูลต่อเนื่อง ตามนโยบายรัฐที่เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงสร้างพื้นฐาน
ส่วนปัจจัยเสี่ยงด้านราคาวัสดุก่อสร้างที่ผันผวน มีการติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมปรับแผนการทำงานให้สอดรับกับสถานการณ์ต้นทุนต่างๆ ที่ผันแปร ส่วนโควิดมองว่าคลี่คลายดีขึ้นมากแล้ว ซึ่งบริษัทได้ปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องเหมาะสม จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนักช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ CIVIL เป็น Construction Tech ที่มุ่งเน้นการพัฒนาบริการจัดการงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยเทคโนโลยีการก่อสร้างสมัยใหม่ มีความปลอดภัย สามารถใช้งานได้จริงและเหมาะสมกับงาน เพื่อสร้าง Economy of Speed หรือ การมีระยะเวลาการก่อสร้างที่ชัดเจนและรวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มอัตราการทำกำไรให้อยู่ในระดับสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมองหาโอกาสใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งภายในและภายนอกจากพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อสร้าง S-Curve ให้กับธุรกิจในอนาคต
บมจ.ศรีราชาคอนสตรัคชั่น (SRICHA) มีกำไรสุทธิปี 64 ที่ 342 ล้านบาท ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในรอบไม่ต่ำกว่า 5 ปี และเติบโตต่อเนื่องถึง 141% จากปี 63 ที่ทำได้ 142 ล้านบาท สาเหตุสำคัญมาจากการรับรู้รายได้รับเหมาเพิ่มขึ้นถึง 62% และรายได้จากงานบริการเพิ่มขึ้นถึง 23% จากปีก่อน
โดยปี 64 มีรายได้รวม 2,565 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 55% ขณะที่อัตรากำไรสุทธิเพิ่มเป็น 13.86% จากปี 63 ที่ 9.08% สะท้อนถึงประสิทธิภาพในการจัดการมาร์จิ้น
ขณะที่มี 4 บจ.พลิกกำไรก้าวกระโดด ที่ผลการดำเนินงานปี 64 พลิกมีกำไรจากปี 63 ขาดทุน ประกอบด้วย
บมจ.เอสทีพี แอนด์ ไอ (STPI) พลิกมีกำไรมูลค่าสูงสุด 320 ล้านบาท จากปี 63 ขาดทุนระดับ 837 ล้านบาท จากผลกระทบโควิด-19 ทำให้งานล่าช้าส่งผลต่อการรับรู้รายได้ ขณะเดียวกันรายได้จากส่วนงานให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ก็ลดลง นอกจากนี้มีรายจ่ายการด้อยค่าสินทรัพย์หลายรายการ และมีค่าเสียหายจากคดีความ รวมถึงมีประมาณการหนี้สินระยะยาว
แต่ในปี 64 มีการรับรู้รายได้เพิ่มขึ้นหลังโควิดคลี่คลายทำให้ส่งมอบงานได้เป็นปกติ ขณะเดียวกันบริษัทย่อยมีการขายสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งรับรู้รายได้ถึง 136 ล้านบาท ขณะเดียวกันมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนถึง 187 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 201% ที่สำคัญไม่มีรายการพิเศษเหมือนปี 63 ที่เกิดขึ้นครั้งเดียว คือ รายจ่ายการด้อยค่าสินทรัพย์, ค่าเสียหายจากคดีความ และประมาณการหนี้สินระยะยาว
บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง (PLE) พลิกมีกำไร 153 ล้านบาท จากปี 63 ขาดทุน 441 ล้านบาท ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่บริษัทได้ปรับกลุยทธ์ควบคุมต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำกำไร ส่งผลให้อัตรากำไรเพิ่มขึ้นเป็น 8.5% จากปี 63 ที่ 1.1% ขณะเดียวกันมีการรับรู้รายได้โครงการต่างๆ เพิ่มขึ้นหลังโควิด-19 คลี่คลาย จึงทำให้ผลประกอบการพลิกมีกำไร
บมจ.บีเจซี เฮฟวี่ อินดัสทรี (BJCHI) พลิกมีกำไร 153 ล้านบาท จากปี 63 ขาดทุน 194 ล้านบาท เพราะโควิด-19 ทำให้การส่งมอบงานขนาดใหญ่ล่าช้า กระทบการรับรู้รายได้ แต่ปี 64 สถานการณ์ดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้กลับมาส่งมอบงานได้ปกติ ขณะเดียวกันมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนถึง 150 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 63 ถึง 565% รวมถึงมีการควบคุมค่าใช้จ่ายได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยค่าใช้จ่ายการขายและบริหารปี 64 อยู่ที่ 161 ล้านบาท แต่ปี 63 อยู่ที่ 278 ล้านบาท
บมจ.บางกอก เดค-คอน (BKD) พลิกกำไร 92 ล้านบาท จากปี 63 ขาดทุน 90 ล้านบาท เนื่องจากมีรายได้พิเศษจากการขายหุ้น "โกลด์ ชอร์ส" ที่ดำเนินธุรกิจน้ำประปา ทำให้รับรู้กำไรถึง 99 ล้านบาท และมีกำไรจากการยกเลิกสัญญา 15 ล้านบาท
"นุชนารถ รัตนสุวรรณชาติ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ระบุว่า ปี 65 ผลประกอบการจะเติบโตต่อเนื่อง เพราะธุรกิจกลับมาดำเนินได้ปกติเหมือนก่อนโควิด-19 แล้ว โดยมีงานในมือรอรับรู้รายได้กว่า 1.7 พันล้านบาท พร้อมเตรียมเจาะตลาดโครงการขนาดใหญ่ รวมถึงลูกค้าบ้านเศรษฐีที่มีกำลังซื้อสูง
หุ้นรับเหมาผลงานแจ่มสวนทางอุตฯ กำไรโต 122 - 202% - Post Today
Read More
No comments:
Post a Comment