Rechercher dans ce blog

Tuesday, April 5, 2022

70 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต "ไทย-ออสเตรเลีย" หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ - มติชน

70 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต
“ไทย-ออสเตรเลีย”
หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ออสเตรเลียครบรอบ 70 ปี ในปีนี้ ซึ่งจะตรงกับวันที่ 19 ธันวาคม 2565 ความสัมพันธ์ทวิภาคีเป็นไปด้วยดีและมีพลวัตรทุกมิติและต่อเนื่อง มีความร่วมมือที่สร้างสรรค์และมุ่งส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ไทยและออสเตรเลียมีความร่วมมือที่ดีในระดับภูมิภาคและในเวทีพหุภาคีด้วย

ความสัมพันธ์ไทย-ออสเตรเลียก้าวหน้าตามลำดับ โดยล่าสุดเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2563 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายสก็อต มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้ลงนามผ่านระบบการประชุมทางไกลในปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทยและออสเตรเลีย

เป็นที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกาธิเบศรภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระพันปีหลวงได้เสด็จฯ เยือนออสเตรเลีย เมื่อปี พ.ศ. 2505 นับเป็นพระราชวงศ์แรกจากต่างประเทศที่เสด็จฯ เยือนออสเตรเลีย นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ประทับและทรงสำเร็จการศึกษาและการฝึกซ้อมจากวิทยาลัยการทหารดันทรูนเมื่อปี พ.ศ. 2519 ต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จฯ เยือนเป็นระยะ โดยล่าสุด เมื่อปี พ.ศ. 2562 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอกรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีได้เสด็จฯ เยือนออสเตรเลียด้วย

อย่างไรก็ดี การแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงระหว่างผู้นำรัฐบาลยังมีไม่ค่อยไม่มากนัก โดยล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลียสมัยพิเศษเมื่อปี พ.ศ. 2561 ที่นครซิดนีย์ และนายสก็อต มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำอาเซียน-ออสเตรเลียเมื่อปี พ.ศ. 2562 ที่กรุงเทพฯ ในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน อย่างไรก็ดี ผู้นำทั้งสองฝ่ายรวมทั้งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย และ นางมารีส เพย์น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย ติดต่อและพบหารือกันเมื่อมีโอกาสโดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด19

ความสัมพันธ์สองฝ่ายครอบคลุมทุกด้าน ในด้านการทหารและความมั่นคง มีการติดต่อและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักศึกษาทหารและการฝึกร่วมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นท้าทายในรูปแบบใหม่ อาทิ การต่อต้านการก่อการร้าย การค้ามนุษย์ ความมั่นคงทางไซเบอร์ ความมั่นคงทางทะเล ประเด็นการเมืองความมั่นคงในภูมิภาคและเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งนี้ ในปี 2564 มูลค่าการค้าสองฝ่ายรวม 23 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ในด้านการลงทุน ไทยลงทุนในออสเตรเลียมูลค่า 8.7 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลียในปี 2563 และออสเตรเลียลงทุนในไทยประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย

ก่อนสถานการณ์โรคโควิด-19 คนไทยเดินทางมาเที่ยวออสเตรเลียประมาณปีละ 1 แสนคนและคนออสเตรเลียเดินทางไปไทยเกือบ 8 แสนคน ออสเตรเลียเป็นที่นิยมอันดับ 3 สำหรับนักเรียนนักศึกษาไทยมาศึกษาในระดับต่างๆ จำนวนมาก แต่หยุดชะงักไปเมื่อออสเตรเลียปิดประเทศอย่างเคร่งครัด นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา ออสเตรเลียเปิดประเทศรับนักศึกษาและชาวต่างชาติแล้ว นอกจากนี้ ในการรับมือกับโรคโควิด19 ออสเตรเลียสนับสนุนงบประมาณให้ไทยจำนวน 2.8 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลียด้านการแพทย์และสาธารณสุข และเสนอมอบวัคซีนจำนวน 1.2 ล้านโดสให้ไทยและกลุ่มเปราะบางบริเวณชายแดนด้วย

การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ โดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลียอยู่ระหว่างการจัดทำความตกลงส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมด้านต่างๆ อาทิ อาหารและเกษตรแปรรูป การท่องเที่ยว การบริการสุขภาพ การศึกษา อีคอมเมิร์ซ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และอื่นๆ เช่น พลังงานหรือลงทุนร่วมกัน ทั้งสองประเทศมีแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด-19 ซึ่งน่าจะส่งผลต่อการเดินทางของกลุ่มต่างๆ อาทิ นักเรียน นักศึกษา นักธุรกิจ ผู้แทนภาครัฐและเอกชน รัฐสภา ประชาชน ฯลฯ เพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

กรอบหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ทำให้ทิศทางความสัมพันธ์ชัดเจนยิ่งขึ้น และสะท้อนการมองบริบทความสัมพันธ์ในเชิงยุทธศาสตร์เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับความต้องการของทั้งสองฝ่าย แม้ว่าโดยพื้นฐานคนไทยชื่นชมออสเตรเลียและมีความประทับใจในการช่วยเหลือไทยจากเหตุการณ์สึนามิและทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าที่ถ้าขุนน้ำนางนอน

ออสเตรเลียให้ความสำคัญกับหลักการและค่านิยมส่งเสริมประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน ควบคู่กับการส่งเสริมการค้าการลงทุน วัฒนธรรมและการศึกษา กรอบหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ฯ จึงแบ่งหมวดความร่วมมือไว้กว้างๆ ได้แก่ การส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์ด้านการเมืองและความมั่นคง การส่งเสริมการติดต่อด้านการค้าและเศรษฐกิจ การเพิ่มพูนความร่วมมือในสาขาต่างๆ ที่สนใจร่วมกันและการส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชน

ทั้งสองฝ่ายมีกลไก 2+2 ระดับปลัดกระทรวงการต่างประเทศและปลัดกระทรวงกลาโหมเพื่อหารือกัน ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อาวุโสระดับปลัดกระทรวงการต่างประเทศสองฝ่ายได้หารือกันเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อาทิ ความร่วมมือสาธารณสุข การอำนวยความสะดวกการเดินทาง การส่งเสริมการเชื่อมโยง เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว การส่งเสริมบทบาทสตรี การสนับสนุนซึ่งกันและกันในกรอบสหประชาชาติและเวทีพหุภาคี ในปีนี้ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมกรอบ 2+2 ดังกล่าว นอกจากนี้ ในระดับอธิบดีได้หารือแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องพัฒนาการในอินโดแปซิฟิก ประเด็นการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาค และเรื่องอื่นๆ อาทิ Quad AUKUS รัฐบาลออสเตรเลียชุดปัจจุบันให้ความสำคัญกับลุ่มน้ำโขงโดยริเริ่มกรอบหุ้นส่วนออสเตรเลีย-ลุ่มน้ำโขงและเป็นหุ้นส่วนพัฒนารุ่นแรกของกรอบ ACMECS

แม้ว่าความร่วมมือจะมีหลายกรอบ กระทรวงการต่างประเทศได้หารือกับหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มั่นใจว่ากรอบและรูปแบบความสัมพันธ์ต่างๆ จะเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย ดังนั้นการประสานงานผ่านกระทรวงการต่างประเทศและผ่านสถานเอกอัครราชทูตของประเทศทั้งสองจึงสำคัญเพื่อขับเคลื่อน ติดตามและประเมินผลความร่วมมือให้เป็นรูปธรรม

ออสเตรเลียเป็นประเทศคู่เจรจาที่เก่าแก่ที่สุดของอาเซียน และเมื่อปลายปี 2564 มีการยกระดับความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลียเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์รอบด้าน โดยออสเตรเลียย้ำเสมอถึงความเป็นแกนกลางของอาเซียนในโครงสร้างความมั่นคงในภูมิภาค และเห็นว่าอาเซียนมีความสำคัญในบริบทของการแข่งขันของมหาอำนาจในอินโด-แปซิฟิก ที่ออสเตรเลียให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้น ตลอดจนตระหนักถึงศักยภาพของอาเซียนกับความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค ผู้นำอาเซียนและออสเตรเลียเริ่มประชุมหารือเป็นประจำทุกปีเหมือนกับประเทศคู่เจรจาอื่นๆ ส่วนใหญ่ของอาเซียน โดยออสเตรเลียให้ความสนับสนุนและช่วยเหลืออาเซียนในหลายด้าน

ในโอกาสครบรอบ 70 ปี ความสัมพันธ์ไทย-ออสเตรเลีย ทั้งสองฝ่ายได้คัดเลือกโลโก้ออกแบบโดยคุณชนิดา เหงขุนทด นักออกแบบของแต่งบ้าน โดยโลโก้สะท้อนเอกลักษณ์ไทยและออสเตรเลียผ่านจิงโจ้และช้างในรูปเลขเจ็ดและศูนย์เดินหน้าเคียงคู่ในทิศทางเดียวกัน มีสีของธงชาติขาวแดงน้ำเงิน การสอดแทรกลายกนกและประจำยามของไทยเพิ่มความสวยงามโดดเด่นด้วย กิจกรรมที่ฝ่ายไทยจะพิจารณาจัดในห้วงปีนี้จะเน้นการสร้างความตระหนักรู้ของสาธารณชน อาทิ การมีส่วนร่วมของนักเรียนและเยาวชน การรวบรวมมุมมองจากบุคคลต่างๆ 70 รายที่มีบทบาทในความสัมพันธ์ การจัดสัมมนาเชิงวิชาการ กิจกรรมเสวนาส่งเสริมเศรษฐกิจเน้นนวัตกรรม การฉลองการเกิดของลูกช้างไทยที่สวนสัตว์เมลเบิร์น การเปิดไฟเชิงสัญญลักษณ์ตามอาคารที่สำคัญ

ในระยะยาวพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่ดีคือการปฏิสัมพันธ์ของประชาชนทั้งสองประเทศ ดังนั้น การส่งเสริมการศึกษาและความร่วมมือซึ่งครอบคลุมการแลกเปลี่ยนการศึกษา ความรู้ งานวิจัย นวัตกรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาบุคลากรหลากหลายสาขาจะเป็นแรงสำคัญขับเคลื่อนความเข้าใจและความร่วมมือต่อไป

เมื่อทั้งสองประเทศเริ่มเปิดประเทศแล้ว จึงน่าจะแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงได้ในโอกาสครบรอบ 70 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ออสเตรเลีย และการที่ไทยเป็นประธานเอเปคในปีนี้ แม้ว่าออสเตรเลียมีกำหนดจัดการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งคาดว่าจะเป็นภายในเดือนพฤษภาคม ศกนี้

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับออสเตรเลียมีพื้นฐานที่ดีซึ่งยังคงมีโอกาสเพิ่มพูนและขยายต่อไปในทิศทางที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกัน บนพื้นฐานของความเข้าใจและความร่วมมืออย่างยั่งยืนในทุกมิติ

Adblock test (Why?)


70 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต "ไทย-ออสเตรเลีย" หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ - มติชน
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...