ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ประเด็นล่วงละเมิดทางเพศกำลังเป็นกระแสสังคม หลังจากมีข่าวฉาวอดีตนักการเมืองนามสกุลดังและอดีตรองหัวหน้าพรรคใหญ่เอี่ยวคดีคุกคามทางเพศ มีเหยื่อหญิงสาวนับสิบรายทะยอยเข้าแจ้งความร้องทุกข์ ส่วนข้อเท็จจริงเป็นเช่นไรอยู่ในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม
และหลังกรณีดังกล่าวตกเป็นข่าวครึกโครมเกิดคำถามตามมาว่า เหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นมาสักพักใหญ่ๆ แล้ว ทำไมผู้ถูกกระทำเพิ่งออกมาแสดงตัว ซึ่งหากพิจารณาอิงตามมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ระบุว่ากว่าที่ผู้เสียหายจะยอมเปิดใจเปิดเผยออกมานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย อาจเพราะถูกข่มขู่ หวาดกลัว หรือผู้กระทำมีอำนาจทางสังคม เป็นคนใกล้ชิด รวมทั้ง หากเปิดเผยความจริงออกไปครอบครัวจะเสียใจ
สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่าผู้หญิงในทุกสังคมต้องเผชิญปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงทางเพศต่อเนื่อง โดยประเทศไทยมีสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ตามข้อมูลระว่าผู้หญิงถูกละเมิดทางเพศ ถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกายหรือจิตใจ ไม่น้อยกว่า 7 คนต่อวัน และมีสถิติผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งความร้องทุกข์ประมาณปีละ 30,000 คน
สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เปิดเผยา ร้อยละ 87 ของคดีการถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่เคยถูกรายงาน และจากการสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิง และบุคคลในครอบครัวของไทยระดับประเทศ พบความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.6 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 42.2 ในปี 2563 โดยประเภทความรุนแรงสูงสุด คือ ความรุนแรงทางด้านจิตใจ คิดเป็นร้อยละ 32.3 รองลงมา คือ ความรุนแรงทางร่างกายร้อยละ 9.9 และความรุนแรงทางเพศร้อยละ 4.5
และหากย้อนสำรวจข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกี่ยวกับสถิติคดีข่มขืนเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2552 - 2556 โดยเฉลี่ย 4 ปี ตำรวจมีการรับแจ้งความคดีข่มขืน 4,000 คดีต่อปี หรือ ทุก 2 ชั่วโมงต่อคดี และคาดการณ์ว่าอาจมีคดีข่มขืนจริงเกิดขึ้นกว่า 30,000 คดีต่อปี หรือทุก 15 นาทีต่อคดี เท่ากับว่ามีเหยื่อถูกข่มขืนไม่ได้เข้าแจ้งความมากถึงร้อยละ 87 ขณะที่ตัวเลขการนำคนผิดมาลงโทษทำได้เพียง 2,400 คดีต่อปี
โดยปี 2552 มีเหตุข่มขืนเกิดขึ้นมากถึง 4,895 ราย มีการจับกุมผู้กระทำผิดได้เพียงครึ่งเดียว หรือประมาณ 2,457 ราย ขณะที่ตั้งแต่ปี 2553 - 2556 ตัวเลขรับแจ้งมีเหยื่อถูกข่มขืนลดลงมาเรื่อยๆ โดยในปี 2553 มีการรับแจ้งเหตุ 4,400 ราย ปี 2554 รับแจ้งเหตุ 3,800 ราย ปี 2555 รับแจ้ง 3,572 ราย และปี 2556 รับแจ้ง 3,276 ราย ส่วนสถิติการจับกุมตลอด 4 ปี ยังไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีได้ทั้งหมด
มีการศึกษาเรื่องรูปแบบพฤติกรรมการกระทำความผิดทางเพศ พบว่าการพัฒนาพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศของผู้ต้องหาแต่ละคนจะแตกต่างกัน ทั้งอายุ ภูมิหลัง บุคลิกภาพ ความเชื่อ ทัศนคติ และทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ พฤติกรรมการล่วงละเมิดทางเพศได้รับอิทธิพลจากหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งการเลี้ยงดู, ประสบการณ์ในวัยเด็ก, ประสบการณ์การเรียนรู้จากการกระทำในครั้งก่อน, ความคาดหวังทางการรับรู้, สิ่งเร้าจากสภาพแวดล้อม, ความเชื่อ, และการพิจารณาชั่งน้ำหนักถึงเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ สำเร็จ หรือล้มเหลว เป็นต้น
บทความเรื่อง “การข่มขืน” บางส่วนเกิดจากปัญหาทางอารมณ์จริงหรือ? ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ RAMA Channel อธิบายว่า จากการวิเคราะห์สาเหตุหรือแรงจูงใจที่ทำให้เกิดปัญหา พบว่า การเลี้ยงดูถือเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างพื้นฐานนิสัยให้กับเด็ก นำไปสู่การดำเนินชีวิต หรือการกระทำต่อผู้อื่น โดยในกลุ่มคนที่ก่อเหตุข่มขืนผู้อื่น อาจต้องมองย้อนกลับไปถึงพื้นฐานครอบครัวในตัวบุคคลนั้นว่าเป็นอย่างไร มีการเลี้ยงดูแบบไหน หรือเติบโตมาในสภาพแวดล้อมแบบใด อาจเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่ทะเลาะกัน ใช้ความรุนแรงต่อกัน หรือพ่อแม่ที่อาจใช้ความรุนแรงต่อตัวลูก เช่น ดุด่าว่ากล่าวด้วยถ้อยคำที่ไม่คำนึงถึงความรู้สึก การทุบตี การใช้กำลัง รวมถึงการใช้อารมณ์ เป็นต้น ทั้งหมดทั้งมวลนี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความรุนแรงทางด้านอารมณ์ให้กับตัวบุคคล ซึ่งนำไปสู่การสร้างปัญหาในที่สุด
สรุปได้ว่าส่วนหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการก่อเหตุก็ คือ ปัญหาทางด้านอารมณ์ บุคคลเหล่านั้นอาจมีอารมณ์ที่รุนแรง อันเกิดจากพฤติกรรมความก้าวร้าวที่มาจากการเลี้ยงดูของครอบครัว หรือการซึมซับความรุนแรงในสังคมที่ตัวเองเป็นอยู่ บางรายอาจมีปัญหาทางด้านสมอง ขาดสติปัญญาในการตัดสินใจ จึงทำอะไรลงไปโดยไม่คิดให้รอบคอบนัก และทั้งหมดนี้คือปัญหาที่แท้จริงและนำไปสู่การสร้างปัญหา
ขณะที่ในมุมของเหยื่อผู้ถูกกระทำ สร้างบาดแผลในจิตใจอาจเผชิญกับภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง หรือ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) เพราะผ่านเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง ก่อให้เกิดมีความเครียดทางด้านจิตใจชนิดรุนแรงมาก ต้องทนทุกข์ทรมาน ส่งผลกับการใช้ชีวิตประจำวัน
พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่าถึงประเด็นการคุกคามทางเพศ หรือ Sexual Harassment ในปัจจุบัน เกิดขึ้นบ่อยครั้งไม่ว่าจะเป็นด้วยคำพูด ด้วยท่าทาง สัมผัสทางร่างกาย โดยการกระทำต่างๆ นั้น การคุกคามทางเพศนั้นมีทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การพูดจาลวนลามผู้หญิง หรือชาย การแอบสัมผัสร่างกาย โดยที่ผู้ถูกสัมผัสไม่ยินยอม หรือการแสดงความคิดเห็นรวมถึงการสนทนาในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ หรือ การแอบถ่ายคลิปผู้อื่นไปใช้ในทางเสียหาย อาจเกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่ทำงาน หรือโรงเรียน ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดอันตรายแก่ร่างกายและกระทบกระเทือนจิตใจของผู้เสียหายได้
ขณะที่ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช. ก.) เปิดเผยว่าคดีข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศ และความรุนแรงต่อผู้หญิง สถิติการเกิดเหตุมักจะต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องด้วยผู้เสียหายมักจะไม่มาแจ้งความ ซึ่งปัญหานี้เป็นเหมือนกันในหลายประเทศทั่วโลก อาจด้วยหลายสาเหตุปัจจัย เช่น ถูกข่มขู่ กลัวเสียชื่อเสียง
ทั้งนี้ กรณีผู้เสียหายในคดีข่มขืนเหตุการณ์ล่วงเลยมาเป็นปีแล้วเพิ่งมาแจ้งความนั้น ส่งผลต่อการรวบรวมพยานหลักฐานในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ พยานหลักฐานจากผู้เสียหาย พยานหลักฐานจากผู้ต้องหา พยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ ประกอบกับความเห็นของเเพทย์ที่ได้ตรวจร่างกาย สามารถนำมาใช้ในกระบวนการตามกฎหมายได้ การเก็บรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจร่างกายผู้เสียหาย การตรวจร่างกายผู้ต้องหา หรือการเก็บพยานหลักฐานจากที่เกิดเหตุ มักจะต้องเก็บพยานหลักฐานให้เร็วที่สุด เพื่อให้พยานหลักฐานสูญหายไปน้อยที่สุด
แม้เหตุการณ์การถูกกระทำความผิดทางเพศล่วงเลยมานานเเล้ว การเก็บพยานหลักฐานจากตัวบุคคลอาจจะทำได้ยากขึ้น เนื่องจากอาจจะมีการเปลี่ยนทางด้านร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะเพศ สารคัดหลั่ง หรือบาดแผลต่างๆ แต่ในส่วนของพยานหลักฐานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อความการแชทพูดคุย ภาพถ่ายสถานที่เกิดเหตุ กล้องวงจรปิด พยานบุคคลที่เห็นเหตุการณ์ พยานหลักฐานแวดล้อมต่างๆ เหล่านี้ยังคงเป็นพยานหลักฐานที่เป็นสำคัญในการนำไปประกอบในการดำเนินคดีให้ศาลพิจารณาได้เช่นกัน
พล.ต.ท.จิรภพ ยกตัวอย่างคดีล่วงละเมิดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นคดีที่มีลักษณะคล้ายกับคดีอดีตนักการเมืองดังที่กำลังตกเป็นจำเลยสังคมในเวลานี้ โดยคดีดังกล่าวเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2560 The New York Times และ The New Yorker ได้รายงานว่ามีผู้หญิงหลายสิบคนกล่าวหานายฮาร์วีย์ ไวน์สตีน (Harvey Weinstein) อดีตโปรดิวเซอร์ผู้ทรงอิทธิพลในวงการบันเทิงฮอลลีวู้ด ว่าถูกข่มขืนล่วงละเมิดทางเพศในช่วงระยะเวลาอย่างน้อยสามสิบปี ต่อมาก็ได้มีเหยื่อที่ทำงานในวงการภาพยนตร์กว่า 80 รายก็ได้กล่าวหานายฮาร์วีย์ ไวน์สตีน เพิ่มเติม ถึงการล่วงละเมิดทางเพศ โดยไม่ได้รับความยินยอม
โดยศาลสูงของนครลอสแองเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้มีการลงโทษจำคุกนายฮาร์วีย์ ไวน์สตีน เป็นเวลา 23 ปี ในคดีข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศเหยื่อในระหว่างปี 2547-2556 รวมทั้งสิ้น 11 คดี โดยหากการพิจารณาคดีพบการกระทำความผิดกับเหยื่อรายอื่นๆ อีก ศาลก็จะมีการตัดสินลงโทษเพิ่มเติม จากกรณีดังกล่าวได้วางบรรทัดฐานของการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศในประเทศสหรัฐอเมริกาไว้ได้อย่างน่าสนใจ
คดีทางเพศตัวเลขพุ่ง แต่ยอดจริง “พีคยิ่งกว่า” - ผู้จัดการออนไลน์
Read More
No comments:
Post a Comment