สงคราม รัสเซีย–ยูเครน ที่ปรากฏความสูญเสียของมวลมนุษยชาติอย่างชัดเจน ชีวิตพลเรือนของชาวยูเครน ต้องสังเวยภัยสงครามไปเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ เมืองบูชา และที่ มาริอูโปล ที่ถูก กองทัพรัสเซีย โจมตีอย่างหนัก เปโตร แอนเดรุสเซนโก ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีเมืองมาริอูโปล ประกาศสู้ตาย ถึงรัสเซียประกาศจะไว้ชีวิตถ้ายอมวางอาวุธ แต่กองกำลังยูเครนย้ำว่า เราจะตั้งรับกันต่อไป และจะสู้ให้ถึงที่สุด
มีการยืนยันจาก ส.ส.เมืองโอเดสซา ที่ต่อสู้กันอย่างหนักอีกเมือง ยืนยันว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างแท้จริง คาดว่าจะมีคนมากกว่า 20,000 คน ถูกสังหารในเมืองท่าแห่งนี้ รวมแล้วการเสียชีวิตของพลเมืองยูเครนจากสงครามครั้งนี้น่ากลัวกว่าการระบาดของโควิด-19 มากมายนัก ที่เกิดจากการทำลายด้วยน้ำมือของมนุษย์ด้วยกัน
สงครามยูเครน รัสเซีย กลายเป็นสงครามเย็น ที่ต้องบังคับให้เลือกข้างโดยปริยาย มองเผินๆอาจไม่มีอะไรมาก แต่ชนวนระเบิดที่ซ่อนเอาไว้ด้านใน จะเป็นสงครามที่น่ากลัวกว่า สงครามโลก ที่ผ่านมาด้วยซ้ำ เพราะการพัฒนาด้านอาวุธที่ไร้ขีดจำกัด การไม่มีกฎเกณฑ์ในการทำสงครามอีกต่อไป และความเห็นแก่ตัวของคนบนโลกนี้ที่มากขึ้นกว่าในอดีตนั่นเอง
การโหนกระแสและแสวงหาผลประโยชน์จากสงคราม ดูจะเป็นเรื่องที่สำคัญกว่ามนุษยธรรมไปแล้ว ผู้นำแต่ละประเทศก็ต้องการโหนกระแส เพื่อรักษาอำนาจเอาไว้ให้นานที่สุด
การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสรอบแรก เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ที่อาสาเป็นทูตสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน มีคะแนนนำได้ 9 ล้านกว่าคะแนน หรือร้อยละ 27.6 คู่แข่ง มารีน เลอ แปน ได้ 8 ล้านกว่าคะแนน ฌอง–ลุค เมลองชอง ได้ 7 ล้านกว่าคะแนน ถือว่า มาครง ยังทิ้งห่าง รอดูคะแนนรอบสองอีกทีในวันที่ 24 เม.ย.นี้ จาก คณะกรรมการเลือกตั้งที่มีรอบชิงดำระหว่างผู้สมัครที่มีคะแนนสูงสุดในสองอันดับแรก ก็ไม่น่าจะมีอะไรผิดไปจากความคาดหมาย มาครง ก็จะเป็นประธานาธิบดีของฝรั่งเศสที่อยู่ในตำแหน่งติดต่อกันสองสมัยในรอบ 20 ปี
ปากีสถาน ศรีลังกา มีปัญหาเรื่องของวิกฤติผู้นำขั้นดุเดือดบ้านเราจุดประทัดยักษ์ทางการเมืองเป็นการส่งสัญญาณเตือนภัยกันไปแล้ว รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะจัดทัพรับวิกฤติอย่างไรเป็นอีกเรื่อง
แต่ในโลกยุคดิจิทัล งมหาเข็มในมหาสมุทรเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ดังนั้นเราจะรับมือกับ สถานการณ์โลกล้อมประเทศ ได้ แค่ไหน อย่างไร
มีข่าวว่า ฟูมิโอะ คิชิดะ จะมาเยือนไทยและประเทศอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย หรือเวียดนาม ในช่วงต้น พ.ค.นี้ เป็นการเยือนครั้งแรก หลังจากที่รับตำแหน่งนายกฯญี่ปุ่น อ้างเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือตามนโยบาย เอเชีย-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง หรือที่ญี่ปุ่นอยู่ในกลุ่มประเทศ ที่ต่อต้านการครอบงำประชาธิปไตย ในภูมิภาคนี้ ซึ่งมี สหรัฐฯ เป็นตัวตั้งตัวตี คงไม่ต้องไปเดาที่มาที่ไปให้เมื่อยตุ้ม
ประเด็นสำคัญก็คือ ท่าทีต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ไม่ว่าจะตอบคำถาม ก ข ค หรือ ง หรือถูกทุกข้อ ก็จะเป็นข้อผูกมัดที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยในอนาคตทั้งสิ้น.
สงครามที่ไม่มีทางถอย - ไทยรัฐ
Read More
No comments:
Post a Comment