นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชนในการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน ได้มีการเชิญผู้แทนหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนมาร่วมหารือในการประชุมครั้งที่ 1/2565 เพื่อหาแนวทางการบูรณาการการเชื่อมโยงระหว่างไทย-ลาว-จีน ที่นำไปสู่การพัฒนายกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ทั้งในระยะสั้นภายในปีนี้ และระยะยาวภายหลังจากที่มีการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน ร่วมกันระหว่าง 3 ประเทศ ที่จะสร้างโอกาสให้ประเทศไทยส่งเสริมการขยายตัว ด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การค้า การลงทุนและบริการ และโอกาสในการแข่งขันในเวทีการค้าโลก โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่
กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้กรมทางหลวง พิจารณาขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่าย (งบกลาง) เพื่อออกแบบสะพานแห่งใหม่ และได้เตรียมร่างขอบเขตของงานจ้างที่ปรึกษาออกแบบโครงการฯ ไว้แล้ว และในการประชุมคณะทำงานร่วมไตรภาคีด้านรถไฟระหว่างไทย-ลาว- จีน ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 ทั้ง 3 ฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับการศึกษาและออกแบบรายละเอียดสะพานมิตรภาพแห่งใหม่ โดยฝ่ายลาวเห็นว่าควรพิจารณาเฉพาะสะพานรถไฟตามข้อตกลงเดิมในลำดับแรก ในส่วนของสะพานถนนจะได้นำเสนอรัฐบาลพิจารณาต่อไป
2. สถานการณ์การขนส่งทุเรียนในปัจจุบัน
ผลผลิตทุเรียนของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 64 มีปริมาณการส่งออกทุเรียน เพิ่มขึ้น 42% และมีมูลค่าการส่งออกทุเรียน เพิ่มขึ้น 64% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 63 โดยเฉพาะทุเรียนสดมีปริมาณการส่งออกมากที่สุด ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้คาดการณ์แนวโน้มผลผลิตทุเรียนของประเทศไทยในปี 65 ว่าจะมีทุเรียนรวมทั้งประเทศประมาณ 1,483,041 ตัน ดังนั้น เพื่อให้เกิดการระบายผลผลิตทางการเกษตร และลดการล้นตลาดของผลไม้การรถไฟแห่งประเทศไทยได้จัดทำแนวทางการบูรณาการเชื่อมต่อรถไฟไทย-ลาว-จีน เพื่อเชื่อมต่ออย่าง ไร้รอยต่อในการขนส่งสินค้าข้ามแดนผ่านทางรถไฟช่วงหนองคาย-ท่านาแล้ง โดยการบริหารจัดการการใช้ทางรถไฟและการใช้สะพานให้มีความเหมาะสม โดยเพิ่มความถี่การเดินรถไฟจากเดิม ขาไป 4 เที่ยว ขากลับ 4 เที่ยว และขนส่งสินค้าขบวนละ 12 แคร่ เป็น ขาไป 7 เที่ยว ขากลับ 7 เที่ยว และขนส่งสินค้าขบวนละ 25 แคร่
3. การนำเสนอประสบการณ์การขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีน โดยบริษัท เก้าเจริญทรานสปอร์ต จำกัด
ที่ประชุมได้เชิญบริษัท เก้าเจริญทรานสปอร์ต จำกัด ผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ นำเสนอประสบการณ์การขนส่งสินค้าผ่านรถไฟไทย – ลาว-จีน โดยขนส่งสินค้าเกษตรปริมาณ 60 ตัน (ทุเรียน 40 ตัน และมะพร้าว 20 ตัน) ทางรถไฟ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2565 ซึ่งถือเป็นขบวนแรกของประเทศไทยที่ขนส่งสินค้าประเภทผลไม้ไปประเทศจีน โดยผู้แทนบริษัท เก้าเจริญทรานสปอร์ต จำกัด ได้ยืนยันว่า แผนการบริหารจัดการสะพานของกระทรวงคมนาคมเพียงพอต่อปริมาณความต้องการในการขนส่งของประเทศ
พร้อมกันนี้ได้กล่าวชื่นชมหน่วยงานภาครัฐของไทย อาทิ กรมการขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กรมทางหลวง กรมศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้เตรียมความพร้อมของฝ่ายไทยในการเชื่อมโยงทางรถไฟไทย ลาว จีน ช่วยสนับสนุนส่งเสริม และช่วยเหลือภาคเอกชนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการขนส่งผ่านระบบรางจะช่วยเรื่องการลดต้นทุนค่าขนส่ง และใช้เวลาเร็วกว่าขนส่งทางถนน และทางเรือ อีกทั้งช่วยลดการแพร่ระบาดโควิด-19 และลดมลพิษและอุบัติเหตุทางถนนด้วย
4. แนวทางการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางรถไฟไทย-ลาว-จีน
ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กรมทางหลวง และการรถไฟแห่งประเทศไทยได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีนต่อที่ประชุม
พร้อมนี้ประธานคณะทำงานได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำข้อมูลแผนปฏิบัติการเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างปริมาณความต้องการ และปริมาณความจุที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตามแผนงานระยะเร่งด่วน และระยะยาว รวมถึงพิจารณาอัตราค่าขนส่ง และต้นทุนด้านเวลา เพื่อหารือแนวทางการปฏิบัติที่จะส่งเสริมให้ระบบรางเป็นทางเลือกหลักในการขนส่งระหว่างไทย ลาว และจีน เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 เม.ย. 65)
Tags: กระทรวงคมนาคม, ชยธรรม์ พรหมศร, รถไฟไทย-ลาว-จีนรัฐ-เอกชน ร่วมถกแนวทางบูรณาการเชื่อมโยงทางรถไฟไทย-ลาว-จีน : อินโฟเควสท์ - สำนักข่าวอินโฟเควสท์
Read More
No comments:
Post a Comment