เลือกขั้วเลือกฝั่งไม่ยาก แต่เลือกฝ่ายชักมึนตึ้บ ดีเดย์ 22 พ.ค. เข้าคูหากาคะแนน เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. รวมทั้งอีกพื้นที่เลือกตั้งเมืองพัทยา ได้เวลาประชาธิปไตยระดับท้องถิ่นพิเศษคึกคัก
แต่ก็เหลือเวลา 2–3 วัน ประเมินสถานการณ์แล้ว ยังพอมีเวลาพลิกเกม
โดยเฉพาะในปีก “เชียร์ลุง-ชังคนแดนไกล” เชื่อว่าหลายรายรอฟังสัญญาณอดีตแกนนำมวลชน ศิลปิน ดารา นักแสดง อินฟลูเอนเซอร์ในเครือข่าย จะออกมาชี้ทิศทางอย่างไร
แล้วจะไม่ให้มึนได้ไง ในสายนี้แม้แต่เครือข่าย กปปส.ยังแยกกันเชียร์ ฝั่งหนึ่งให้กาแต้ม “จั้ม” สกลธี ภัททิยกุล อีกข้างบอกให้เทไป “บิ๊กวิน” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ต่างฝ่ายต่างปลุกกระแสร้อน
ให้เลือกแบบยุทธศาสตร์ “ต้านคนแดนไกล” ชู “ไม่ควบรวมแต้มสู้ เขามาแน่”
เป็นสถานการณ์ร้อน ช่วงทางตรงก่อนเข้าเส้นชัย ที่ต่างฝ่ายต่างงัดมาฟัดสู้กันเองในขั้ว
สะท้อนจากคิวแก้เกมของ “จั้ม สกลธี” ดึงผู้สมัคร ส.ก.พลังประชารัฐ มาโชว์ตัวเคียงข้าง 12 คน พร้อมผู้สมัครอิสระ 5–6 ราย แก้เกมกลบจุดด้อยที่โดนโฟกัส ไม่มีผู้สมัคร ส.ก. หนุนหลัง
อีกทางกลุ่มผู้สมัคร ส.ก.ที่กล้าหักกับประกาศิตของ “บิ๊กบราเธอร์” แห่งบ้านป่ารอยต่อฯ ส่งสัญญาณให้เทแต้มไปหนุนอดีตผู้ว่าฯ กทม. เพราะในอารมณ์ของผู้สมัคร ส.ก.ก็ลำบากใจทำตามสัญญาณบ้านใหญ่ก็อึดอัด
เพราะในสนามก็กำลังสู้กับกลุ่ม “รักษ์กรุงเทพ” ของ “บิ๊กวิน”
ไม่สนสัญญาณบ้านไหน พลิกมาหนุน “จั้ม สกลธี” กันยกโหล
นั่นยังไม่มันส์ซู้ดปากเท่าศึกในของเครือข่าย กปปส. แยกฝั่งกันเชียร์และไม่รู้จบศึกนี้
จะเคลียร์ใจประสานรอยร้าวกับงานใหญ่ต่อไปได้หรือไม่
แน่นอนคิวนี้มองข้ามช็อต ย่อมสะเทือนแผนอำพราง พิมพ์เขียวปั้นพรรคใหม่หนุน “ลุงน้องเล็ก” อย่าง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม ให้ไปต่อบนเก้าอี้ผู้นำอีก 1 สมัย
เครือข่ายคน กปปส.ระดับแก่นแกนที่ว่าจะแท็กทีมเป็นกำลังหลักค่ายใหม่ ส่อแววร้าวลึกจากศึกนี้
ทางยาวเคลียร์ไม่จบ เผลอๆแผนพัง
ประเมินเฉพาะขั้ว “ชิงชังคนแดนไกล” ร้าวแค่นี้ยังไม่พอ มีผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ของพรรคประชาธิปัตย์ อย่าง “ดร.เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ก็เฉือนแบ่งแต้ม
อ่านเท่านี้ก็อย่าเพิ่งคิดว่า อีกฝั่งจะชิลๆได้ เพราะเอาเข้าจริงก็มีเกมหักเหลี่ยมเฉือนแต้มไม่แพ้กัน
เพราะต้องยอมรับ ถ้าเรียกว่าฝั่งประชาธิปไตย “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้สมัครอิสระ ก็อดีตรัฐมนตรีรัฐบาลเพื่อไทย เล่นบทคนกลางไม่สังกัดฝ่ายไร้ขั้วได้เนียน บวกแต้มได้หลากหลายก็จริง แต่อย่าลืม “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.จากค่ายสีส้ม พรรคก้าวไกล ก็มีฐานส่วนหนึ่งในขั้วต้านรัฐบาลซ้ำซ้อนกัน
มีกระแส “วิโรจน์” ตีตื้นเท่าไหร่ “ชัชชาติ” ก็ถูกทอนแต้มไปเท่านั้น
นั่นยังไม่รวม มีชื่อของ “ผู้พันปุ่น” น.ต.ศิธา ทิวารี ที่พรรคไทยสร้างไทยของ “เจ้าแม่ กทม.” ส่งเข้าประกวด ขับเครื่องบินมาทำโซนิกบูมสร้างชื่อพรรคที่ตั้งใหม่ มาเล็มแต้มไปอีก
ดูแล้ว ถึงมี “ตัวตัด” พอๆกัน แต่ “ชัชชาติ” ขยายฐานข้ามขั้วไปได้พอสมควร จึงยังทรงตัวอยู่หัวแถว
เอาเป็นว่าสนามเลือกตั้ง กทม. เมื่อจบศึกผู้ชนะมีเจ้าเดียว ส่วนผู้แพ้ไม่ต้องห่วง หลายรายก็วางแผนสำรอง มีแพลนบีกันไว้แล้ว ทั้งที่วางเป้าเปิดตัวเพื่อบูมพรรคใหม่–มุ่งไปรวมเสียงเปิดค่าย ไปจนกระทั่งแผนในใจ รอลุ้นขึ้นแท่นหัวหน้าพรรคเก่าแก่ เป็นใหญ่เป็นโตต่อไปในอนาคต
รอชมหลัง 22 พ.ค. วาระใคร-วาระมัน
และเป็นเวลาเดียวกับโปรแกรมเปิดม่านเวทีใหญ่ ที่มีตัวละครเอก อย่าง “บิ๊กตู่” ที่ลอยตัวในศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ถึงเวลาต้องเล่นเองเจ็บเอง
ไทม์ไลน์วิบาก ลุ้นเสียงสนับสนุนทุกช็อตทั้งร่าง พ.ร.บ.งบฯ2566 ร่างกฎหมายลูกเลือกตั้ง หรือคิวแทรกร่างญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปิดสวิตช์ ส.ว. รวมถึงวาระระทึก 24 ส.ค. ชี้ชะตาสถานะนายกฯ 8 ปี
จากสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จะชี้ทิศทางเกมอำนาจได้พอสมควร
ไม่เท่านั้น 22 พ.ค. ยังเป็นวาระรำลึก 8 ปี รัฐประหาร 2557 “บิ๊กตู่” อดีตหัวหน้า คสช. ที่ก้าวมาเป็นนายกฯหลังเลือกตั้ง จะได้ไปต่อจนถึงหมุดหมายปลายปี และต่อเวลาเก้าอี้ผู้นำอีกวาระหรือไม่
22 พ.ค. กลายเป็นดีเดย์ จุดเริ่มวาระร้อน โยงสถานการณ์อำนาจ “บิ๊กตู่” เช่นกัน.
ทีมข่าวการเมือง
วาระชี้ทางเกมอำนาจ - ไทยรัฐ
Read More
No comments:
Post a Comment