Rechercher dans ce blog

Thursday, May 19, 2022

คังคุไบ : ก้อง ฤทธิ์ดี, "Filmsick" กับ หนังอินเดียทางเน็ตฟลิกซ์ที่กำลังเป็นกระแสในไทย - บีบีซีไทย

นางเอก

ที่มาของภาพ, Getty Images

ผลงานของผู้กำกับ สัญชัย ลีลา พันสาลี (Sanjay Leela Bhansali) บอกเล่าเรื่องราวของ "คังคุไบ" หญิงสาวที่ถูกสามีหลอกเอามาขายให้ซ่องในนครมุมไบของอินเดีย จากที่เคยวาดฝันอยากจะเป็นนักแสดงดัง นางเอกของเรื่องยอมรับชะตากรรมที่ต้องกลายเป็นหญิงขายบริการทางเพศ แต่ขณะเดียวกันก็เริ่มลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิของเพื่อนร่วมอาชีพคนอื่น ๆ

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือ"Mafia Queen of Mumbai" ที่พูดถึง คังคุไบ กาฐิยาวาฑี ผู้ค้าบริการทางเพศชาวอินเดียในยุคทศวรรษ 60 ผู้ก้าวขึ้นมาเป็นทั้งแม่เล้าและนักเคลื่อนไหวทางสังคม ทำงานเพื่อสิทธิของผู้ค้าบริการทางเพศและสวัสดิการของเด็กกำพร้า

และตัวละครตัวนี้นี่เองที่ปลุกกระแสให้คนจำนวนมากโพสต์รูปตัวเองใส่ชุดส่าหรีสีขาวพร้อมแว่นดำลงโซเชียลมีเดีย โดยในจำนวนนี้มีทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ด้วย โดยทรงโพสต์อินสตาแกรมส่วนพระองค์ @nichax พร้อมข้อความระบุว่า "ทนไม่ไหว อยากเป็น "คังคุไบ" Gangubai Kathiawadi กะเขาบ้าง!#เพราะเราเป็นกำลังใจให้กัน #ไม่ว่างไม่ใช่ไม่สวย #gangubaikathiawadi #คังคุไบ @aliaabhatt"

อย่างไรก็ดี "คังคุไบ" ไม่ได้เป็นกระแสในไทยเท่านั้น หนังสือพิมพ์ฮินดูสถานไทมส์ รายงานว่า เมื่อต้นเดือน พ.ค. "หญิงแกร่งแห่งมุมไบ" กลายเป็นภาพยนตร์บนเน็ตฟลิกซ์ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษซึ่งได้รับความนิยมสูงสุดทั่วโลก และยังติด 10 อันดับแรกของภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดใน 25 ประเทศ อาทิ แคนาดา สหราชอาณาจักร และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

สัญชัย ลีลา พันสาลี

ที่มาของภาพ, Getty Images

วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา หรือ "Filmsick" นักวิจารณ์ภาพยนตร์ บอกกับบีบีซีไทยว่า "คังคุไบ" จัดเป็นภาพยนตร์ที่ถือว่าดูสนุก เขา "ไม่ได้เกลียด ไม่ได้เบื่อ" แต่ก็อาจจะต่ำกว่ามาตรฐานของภาพยนตร์อินเดียกระแสหลักเรื่องอื่น ๆ ที่เคยดูมา

เขาอธิบายต่อว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความ "สะอาด" โดยหมายความว่าไม่ได้มีความ "ดราม่า" และ "รุนแรงทางใจ" มากเท่ากับภาพยนตร์อินเดียกระแสหลักทั่ว ๆ ไป

"มันไม่ไปยุ่งอยู่กับความเสียอกเสียใจนาน ตลอดทั้งเรื่องมันเสียใจแปบเดียวแล้วก็ลุกขึ้นมาสู้เลย แล้วหนังก็ให้เวลากับตัวละครยืนทำท่าเท่ ๆ สวย ๆ ปัง ๆ ไปเรื่อย ๆ" วิวัฒน์อธิบาย

นอกจากกลยุทธ์ทางการตลาดแล้ว วิวัฒน์มองว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นกระแสอาจเป็นองค์ประกอบในตัวภาพยนตร์ อาทิ ตัวละคร ที่ "ฉูดฉาดถูกใจคน …เอื้อต่อการ cover (ทำตาม) บนติ๊กต็อก"

"ผมให้น้ำหนักกระแสการเอาสิ่งนี้ไปเป็นมีม (meme) ได้ มากกว่าตัวหนังโดยตรง" วิวัฒน์กล่าว "ผมให้น้ำหนักสิ่งที่อยู่แวดล้อมมากกว่าตัวมัน (ภาพยนตร์) โดยตรง ตัวละครเอกเป็นผู้หญิงสวย ๆ เฟียซ ๆ (อาจแปลเป็นไทยได้ว่าคนที่ดูมีความกล้า เฉี่ยวและเปรี้ยว) เอามาทำเป็นมีมได้ เล่นสนุกได้ ในขณะเดียวกันคุณภาพหนังมันก็ไม่ได้แย่ เพราะฉะนั้นคนดูแล้วก็รู้สึกว่าติดตามได้ง่าย ไม่อาร์ตมาก แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้หนักมือเหมือนหนังเมนสตรีม (กระแสหลัก) ทั่วไป"

วิวัฒน์บอกว่า "คังคุไบ" เหมือนกับซีรีส์ "สควิดเกม" ตรงที่มีการแตะประเด็นสังคมทั้งคู่ แต่เป็นแค่ "แตะผิว ๆ" ให้คนรู้สึกว่าไม่ได้มีแค่ความสนุกเท่านั้น

นักวิจารณ์ภาพยนตร์ผู้นี้บอกว่า ความไม่ลึกซึ้งเป็นประโยชน์กับคนดูเพราะ "ดูแล้วมันสามารถพูดได้ว่าไม่ใช่หนังแค่บันเทิงอย่างเดียวนะ …แม้ว่าเมื่อเรามามองประเด็นสังคม มันไม่ได้ลึกซึ้ง ละเอียด หรือท้าทายอะไรก็ตามเลย แต่ว่าคนจำนวนมากที่ต้องการบาลานซ์ (ความสมดุล) ระหว่างความบันเทิงกับประเด็นสังคม มันก็ตอบสนอง พอดี ๆ"

เมื่อถามว่าเกี่ยวหรือไม่ที่เรื่องนี้เป็นกระแสเพราะประเทศไทยเองก็มีประเด็นปัญหาเรื่องการค้าบริการทางเพศ วิวัฒน์บอกว่าอาจจะไม่เกี่ยวโดยตรง เขาบอกว่าอาจจะเกี่ยวในแง่ว่าคนรุ่นนี้สนใจประเด็นทางสังคมมากขึ้น

"สิ่งที่นางเอกพูดตอนท้าย เราว่ามันก็เป็นสิ่งที่ดี ในแง่ของการพูดถึงสิทธิของการเป็นโสเภณี ผมก็ไม่แน่ใจว่าหนังจะมีผลให้คนลุกขึ้นมาเรียกร้องเรื่อง sex worker (ผู้ค้าบริการทางเพศ) จริงไหม หรือแค่เป็นมีมชั่วครั้งชั่วคราว"

คังคุไบ

ที่มาของภาพ, SOPA Images

รากเหง้าเดิม

"ตอบยาก" คือคำตอบจาก ก้อง ฤทธิ์ดี รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์และนักวิจารณ์ภาพยนตร์ เมื่อบีบีซีไทยถามว่าเหตุใดหนังลักษณะนี้ถึงได้กลายเป็นกระแสในโซเชียลมีเดียขณะนี้

ก้องออกตัวก่อนให้สัมภาษณ์ว่ายังไม่ได้มีโอกาสดูภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่เมื่อมองภาพรวม เขาบอกว่า จริง ๆ แล้ว คนไทยชอบลักษณะหนังที่ไม่ได้ต่างจากอินเดียเยอะ "คือชอบอะไรที่มันเมโลดราม่า (เรื่องประโลมโลก) ตัวละครที่เราได้ลุ้นช่วย มีความเป็นหนังต่อสู้ คนที่ด้อยกว่าแล้วก็ฝ่าฟันจนได้ดี"

นักวิจารณ์ภาพยนตร์ผู้นี้บอกอีกว่า คนไทยดูหนังอินเดียมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่เป็นทางทีวี โดยคนที่อายุราว 30-40 ปีไปจนถึง 60 ปี ก็น่าจะรู้จักภาพยนตร์อินเดียอย่าง "ช้างเพื่อนแก้ว" (Haathi Mere Saathi) หรือ "โชเล่ย์" (Sholay) เป็นอย่างดี และเมื่อมีเน็ตฟลิกซ์ ทุกบ้านก็สามารถเข้าถึงภาพยนตร์ลักษณะนี้ได้ เป็นการ "กลับสู่รากเหง้าเดิม" เหมือนตอนที่คนไทยดูหนังอินเดียทางทีวี

ก้องบอกอีกว่า ไม่แปลกใจที่อินเดียจะมีอำนาจทาง"soft power" เหนือคนไทยและหลาย ๆ ชาติในเอเชีย เพราะอุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดียผลิตผลงานที่สนุกและมีมาตรฐานมานานแล้ว ทั้งที่เป็นภาพยนตร์คลาสสิก มีความเป็นอมตะ ไปจนถึงภาพยนตร์กระแสหลัก

เมื่อถามว่าองค์ประกอบอะไรที่ทำให้ผลงานบนเน็ตฟลิกซ์อย่าง "สควิดเกม" และ "หญิงแกร่งแห่งมุมไบ" กลายเป็นปรากฏการณ์เช่นนี้ รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์บอกว่าเป็นเรื่องที่ "ตอบยาก" อีกเช่นกัน

"...ถ้าเราถอดรหัสได้ คนไทยก็สามารถทำได้ดังเท่านั้นแล้ว คือถ้าเรารู้เป๊ะ ๆ ว่าอะไรทำให้ดังได้ ผู้สร้างในไทยหรือรัฐบาลก็จะน่าจะเลียนแบบความสำเร็จได้"

ก้องบอกว่า หากจะพูดแบบกว้าง ๆ หนังที่กลายเป็นปรากฏการณ์ลักษณะนี้ได้ "ต้องเป็นหนังที่ดูไม่ยากเกินไป หนังที่ทำให้คนดูรู้สึกคิดตามและก็ฉลาดไปด้วย …แต่ก็ไม่ฉลาดเกินไปที่จะทิ้งคนดูไว้ข้างหลัง"

คังคุไบ

ที่มาของภาพ, Getty Images

Adblock test (Why?)


คังคุไบ : ก้อง ฤทธิ์ดี, "Filmsick" กับ หนังอินเดียทางเน็ตฟลิกซ์ที่กำลังเป็นกระแสในไทย - บีบีซีไทย
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...