ทำแท้งในเอเชีย:ทางเลือกที่จำกัด ขณะข้อมูลของบริษัทวิจัยระบุว่า 6% ของเพศแม่ที่เสียชีวิตในภูมิภาคนี้ในปี 2557 มีสาเหตุมาจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย
การตัดสินของศาลสูงสหรัฐที่คว่ำคำตัดสินในอดีต ซึ่งเคยให้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญต่อสตรีในการทำเเท้งในช่วงเกือบ 50 ปีที่ผ่านมา และทำให้การตัดสินใจเรื่องสิทธิ์การทำแท้งเป็นเรื่องของเเต่ละรัฐนับจากนี้ไป อาจถูกมองจากกลุ่มไม่เห็นด้วยว่า บั่นทอนสิทธิขั้นพื้นฐานของสตรีเมริกัน แต่สำหรับสตรีในเอเชีย ผู้ใช้นามแฝงว่า“รารา” หญิงสาววัย20 ปีจากกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย กลับมีความเห็นว่าสิทธิในการทำแท้งไม่เคย“เป็นทางเลือก”สำหรับเธอ
เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย นำเสนอรายงานใหญ่เรื่องนี้โดยระบุว่า เมื่อปี 2560 รารา กำลังศึกษาด้านการสื่อสารที่มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงจาการ์ตา หลังจากเธอตั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจกับแฟนหนุ่มที่ยังไม่ได้แต่งงานกันแถมยังนอกใจเธอไปคบสาวอื่น เธอจึงรู้สึกว่าไม่อยากทำให้พ่อแม่ที่เป็นมุสลิมที่เคร่งครัดต้องผิดหวังในตัวเธอ
สถานการณ์ตอนนั้นทำให้เธอตัดสินใจใช้บริการคลีนิกเล็กๆแห่งหนึ่งในตำบลราเดน ซาเลห์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในกรุงจาการ์ตาว่าเป็นแหล่งทำแท้งผิดกฏหมายแต่หลังจากเธอตัดสินใจทำแท้งครั้งนั้น สิ่งที่เธอต้องแบกรับ นอกจากความรู้สึกบอบช้ำทางด้านจิตใจแล้ว ทุกครั้งที่เธอมีประจำเดือนเธอต้องทนปวดท้องอย่างรุนแรงอยู่เป็นปีจนกระทั่งตัดสินใจไปให้หมอรักษา
การทำแท้งในอินโดนีเซียเป็นเรื่องผิดกฏหมายยกเว้นกรณีหญิงถูกข่มขืนหรือเมื่อชีวิตของผู้ตั้งครรภ์อยู่ในอันตราย และสตรีที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีทำแท้งอย่างผิดกฎหมายมีโทษจำคุกนานถึง10ปี
ข้อมูลจากสถาบัน Guttmacher องค์กรวิจัยด้านสิทธิและสุขภาพด้านการเจริญพันธุ์และทางเพศมีฐานดำเนินงานในสหรัฐที่เผยแพร่เมื่อปี 2560 ระบุว่า รารา เป็นหนึ่งในสตรีประมาณ 36 ล้านคนที่ทำแห้งในเอเชียในแต่ละปี และข้อมูลเดียวกันนี้ ระบุว่า 6% ของเพศแม่ที่เสียชีวิตในภูมิภาคนี้ในปี 2557 มีสาเหตุมาจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาภาพรวมทั่วทั้งภูมิภาคแล้ว การทำแท้งยังคงเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางเพราะเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อนทั้งในมิติของศาสนา วัฒนธรรมและการเมือง โดยเมื่อไม่นานมานี้ หลายประเทศในเอเชียมีกฏหมายอนุญาตให้มีการทำแท้งอย่างเสรี ตั้งแต่ประเทศไทยไปจนถึงเกาหลีใต้ ส่วนบางประเทศที่อดีตเคยเปิดเสรีเรื่องนี้ เช่น จีน เริ่มตรวจสอบและเข้มงวดกับการทำแท้งเพื่อรับมือแรงกดดันด้านจำนวนประชากรเกิดใหม่ลดลง
แต่การทำแท้งในเอเชีย ก็แสดงถึงความขัดแย้ง โดยในทุก ๆ ปี มีผู้หญิงเสียชีวิตไปหลายพันคน เนื่องจากการทำแท้งที่ผิดกฎหมาย และไม่ปลอดภัย อันเป็นกรณีที่ทำให้เกิดกฎหมายการทำแท้ง ที่มีความเป็นเสรีมากขึ้น แต่ในประเทศที่การทำแท้งถูกกฎหมาย เช่น อินเดียและเวียดนาม ก็มีการทำแท้งเด็กในครรภ์ที่เป็นเพศหญิงจำนวนหลายพันชีวิตทุกปี เพราะต้องการที่จะได้ลูกชาย
เพื่อรับมือกับพื้นที่สีเทามากมายที่เกิดจากสิทธิด้านการทำแท้ง ผู้สื่อข่าวนิกเคอิเอเชีย 11 คนในภูมิภาคได้สัมภาษณ์ผู้หญิงหลายสิบคนทั้งที่เป็นนักเคลื่อนไหว ผู้ประกอบอาชีพด้านการดูแลสุขภาพ นักการเมืองและบรรดาผู้นำศาสนา และพบว่า แม้ในประเทศต่างๆการทำแท้งจะเป็นเรื่องถูกกฏหมาย เช่นในญี่ปุ่น ที่เป็นสังคมของผู้ชายก็ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยมาก
“สำหรับสังคมญี่ปุ่น นโยบายการทำแท้ง ไม่ใช่เรื่องของการสนับสนุนสิทธิสตรี คำถามที่ว่า การตัดสินของศาลสูงสุดสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อญี่ปุ่นที่เป็นประเทศพันธมิตรชิดใกล้กับสหรัฐหรือไม่ น่าจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ เพราะสิทธิการทำแท้งถูกมองเห็นการเมืองระหว่างประเทศ สำหรับญี่ปุ่น การทำแท้งเป็นเรื่องของการควบคุมจำนวนประชากรมากกว่า”มาซาโกะ ทานากะ ศาสตราจารย์ด้านเพศศึกษามหาวิทยาลัยโซเฟีย ในกรุงโตเกียว ให้สัมภาษณ์กับนิกเคอิ เอเชีย เมื่อไม่นานมานี้
ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกในเอเชียที่กำหนดให้การทำแท้งเป็นเรื่องถูกกฏหมาย โดยญี่ปุ่นไฟเขียวเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัติ Eugenic Protection Act ที่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นพระราชบัญญัติ the Maternal Health Act ในปี 2527 โดยตอนนั้นประชากรของประเทศมีจำนวนมากหลังจากทหารกลับมาจากสู้รบในสงครามโลกครั้งที่2 แต่เมื่อเศรษฐกิจอยู่ในภาวะขาลงช่วงหลังสงครามก็เกิดแรงกดดันเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความไม่มั่นคงด้านอาหารตามมา
เพื่อจำกัดการเติบโตของจำนวนประชากร รัฐบาลญี่ปุ่นได้แก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติดังกล่าวในปี 2492 อนุญาตให้มีการทำแท้งด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจและเหตุผลด้านการแพทย์และในกรณีของผู้เป็นแม่ถูกข่มขืน
ภายในช่วงต้นยุค 1960 อัตราการเกิดในแต่ละปีในญี่ปุ่นก็ลดลงจาก 2.7 ล้านคนในปี 2492 เหลือประมาณ 1.6 ล้านคน
“เป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่านโยบายให้ทำแท้งอย่างถูกกฏหมายทำให้อัตราการเกิดในญี่ปุ่นลดลง แต่การเข้าแทรกแซงของรัฐบาลในการวางแผนครอบครัวหลังสงครามถือต้นเหตุสำคัญและถูกมองว่าเป็นการดำเนินนโยบายที่ประสบความสำเร็จ”อิสซาเบล ฟาสส์เบนเดอร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์และนักวิจัยด้านเพศจาก Doshisha Women's College ในเกียวโต กล่าว
ทำแท้งในเอเชีย:ทางเลือกที่จำกัดและมีความซับซ้อน - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment