Rechercher dans ce blog

Friday, June 24, 2022

LGBT: ชีวิตนอกรีตของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ - บีบีซีไทย

  • ชัยยศ ยงค์เจริญชัย
  • ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

LGBTQ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

ที่มาของภาพ, Hakeem Binbula

การเดินขบวนของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เนื่องในโอกาส "Pride Month" ที่จัดขึ้นบน ถ.สีลม เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. นับว่าเป็นการเฉลิมฉลองงานไพรด์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ประเทศไทยเคยจัดมา ตามด้วยการรับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม-คู่ชีวิต ทั้ง 4 ร่าง ในวาระแรก เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเพื่อต้อนรับเดือนแห่งเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศในไทยได้เป็นอย่างดี

ถึงแม้ว่าเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ จะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าไทยเปิดกว้างมากขึ้นสำหรับคนในกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือกลุ่ม LGBTQ แต่ก็ใช่ว่าความเท่าเทียมนี้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของประเทศ

ในพื้นที่ที่ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในสังคมภายใต้ความเชื่อ ศาสนา และสังคม ที่ค่อนข้างเข้มงวดอย่างพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมที่มีหลักการแนวคิดทางศาสนาต่างไปจากคนในพื้นที่อื่น แต่ไม่ว่าสภาพสังคมจะเข้มงวดต่อความมีเสรีในการแสดงออกทางเพศมากแค่ไหน แต่พื้นที่นี้ก็เต็มไปด้วยความหลากหลายทางเพศไม่ต่างอะไรกับพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทย

Mosque in Pattani

ที่มาของภาพ, Getty Images

"เป็นกะเทยมันบาปนะ"

ในวันปกติ อิลฟาน อุเซ็ง หรือฟาน ก็ดูไม่ต่างจากชายชาวมุสลิมทั่วไป เขาไว้ผมสั้น แต่งกายเป็นผู้ชาย และใช้ชีวิตแบบชาวมุสลิมทั่วไปที่เคร่งในศาสนาที่เขานับถืออยู่ แต่เมื่อเขาต้องไปออกงานเป็นพิธีกรตามงานต่าง ๆ เขาจะสลัดภาพลักษณ์ของฟานออก และแต่งกายด้วยชุด "กูรง" ซึ่งเป็นเสื้อผ้าสำหรับสตรีมุสลิม และเรียกตัวเองว่า "มาดามดะห์"

มาดามดะห์ หรือ ฟาน อายุ 31 ปี เป็นชาว อ.ยะหา จ.ยะลา เธอเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศและนิยามตัวเองว่าเป็น "กะเทย" วันที่เธอมาพบกับบีบีซีไทย ที่ อ.เมือง จ.ยะลา เธอปรากฏตัวในฐานะมาดามดะห์ พร้อมบอกว่าเธอมีชื่อเสียงมาจากการเป็นมาดามดะห์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์

ก่อนหน้าที่มาดามดะห์จะมีชื่อเสียง จนเป็นที่รู้จักกันดีในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ และบางพื้นที่ในประเทศมาเลเซีย เธอเคยรับงานเป็นครู วิทยากรตามค่าย และงานอบรมต่าง ๆ นอกจากนี้ยังเป็นพิธีกรตามงานอีเว้นท์จนกระทั่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้น ทำให้เธอไม่สามารถรับงานเหล่านี้ได้ ด้วยความเครียดที่ไม่มีรายได้ เพื่อนของเธอจึงชักชวนให้ทำวิดีโอลงติ๊กต็อก

"สลามุอะลัยกุมค่ะ มาดามดะห์เองนะคะ แกแงนายูเตาะ ปานามานอ ซีแยตะเละลาซง"

คำพูดเปิดวิดีโอคลิปทุกตัวที่มาดามดะห์ใช้เพื่อสร้างความจดจำให้ตัวเองเป็นภาษามลายู แปลเป็นภาษาไทยว่า "สวัสดีค่ะ มาดามดะห์เองนะคะ พูดภาษามลายูได้นิดหน่อย พูดไทยไม่ได้เลย" ทำให้เธอได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และคนที่ต้องการจ้างให้เธอมาออกงานมักจะร้องขอให้เธอมาในฐานะมาดามดะห์แทบทั้งหมดจนฟานกลายเป็นภาพจำในอดีตของเธอไป

"การใช้ชีวิตในฐานะ LGBTQ ในพื้นที่นี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ส่วนตัวไม่ค่อยมีคนมาตำหนิหรือเตือนเรา เพราะคนที่รู้จักเราจะรู้ว่านี่คือเราอีกคนหนึ่ง ส่วนอีกคนหนึ่งก็คือฟานที่เป็นตัวตนที่แท้จริงของเรา คนส่วนมากที่รู้จักเราในฐานะมาดามดะห์ ก็ชื่นชอบเราที่เราเป็นแบบนี้" มาดามดะห์อธิบาย

LGBTQ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

ที่มาของภาพ, Hakeem Binbula

"ถ้าถามกันตรง ๆ ว่าสิ่งที่เราเป็นผิดไหม ผิดมากค่ะ บาปไหม บาปมากค่ะ แต่หารู้ไม่ว่าเราก็เป็นคนหนึ่งที่เคร่งในสิ่งที่เรานับถืออยู่ในปัจจุบันนี้ เมื่อมีงานสำคัญตามหลักศาสนา ก็จะถอดชุดมาดามดะห์ออก และกลับไปเป็นฟาน และใส่ชุดตามหลักศาสนาตามเพศสภาพของตัวเอง ก็คือแต่งตัวเป็นผู้ชาย เป็นคนผมสั้น ไม่ได้ทำหน้าอก เวลาไปละหมาดก็ใส่ชุดผู้ชายปกติเลย"

แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นดีเห็นงามกับตัวตนของมาดามดะห์ บ่อยครั้งที่เธอได้รับเสียงเตือนมาจากคนรอบข้างว่า "รู้ไหมว่าสิ่งที่เป็นมันไม่ดี เรียนหนังสือมาไม่ใช่เหรอ มันบาปนะ" คำพูดเหล่านี้เป็นการโจมตีเธอผ่านมุมมองของศาสนา โดยชาวมุสลิมเชื่อว่าหากเห็นคนทำบาป และไม่ตักเตือน ตัวเองจะบาปด้วย เลยทำให้เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ต่างจากอีกหลายคนที่ถูกวิจารณ์ต่อหน้า ถูกกีดกันไม่ให้ได้รับงานเป็นพิธีกร ไม่ให้เข้าใช้บริการในร้านกาแฟหรือร้านอาหารที่เจ้าของไม่เห็นด้วยกับการเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

"ต้องยอมรับว่าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ เรื่องเสรีในการแสดงออกทางเพศมันเป็นไปไม่ได้ ที่เขาจะยอมรับ ไม่ว่าจะผ่านไปอีกกี่ปี การเป็นกะเทยทำให้เราโดนรังแกมาตลอด แต่ปัจจุบันก็ยังรู้สึกว่าถูกปิดกั้นอยู่ ยังไม่โอเคกับคำว่ากะเทย แต่รู้สึกว่าสังคมดีกว่าเดิม ดีกว่าสิ่งที่เราเคยเจอตอนเด็ก ๆ" มาดามดะห์กล่าว

"ไม่ได้ส่งเสริมให้น้อง ๆ ว่าจะต้องเป็นเพศอะไร แต่ถ้าน้อง ๆ เลือกแล้วว่ามีความสุขกับการเป็นอะไร ก็อยากจะฝากบอกว่า อยากจะทำอะไรก็ทำเถอะลูก ที่หนูมีความสุข ไม่เดือดร้อนสังคม พ่อแม่ไม่เดือดร้อน ถ้าสังคมโอเคกับหนูก็ทำไปเลยค่ะ หนูต้องเป็นคนดี หนูต้องเรียนหนังสือ เป็นกะเทยต้องมีสมอง อย่าให้ใครมาดูถูกเราได้ อยากจะให้น้อง ๆ อยู่เป็นในสังคม"

LGBTQ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

ที่มาของภาพ, Hakeem Binbula

ถูกประจานและตีตรา

"อีกะเทย อีตุ๊ด" เป็นคำพูดเสียดแทงคนในกลุ่ม LGBTQ ที่คนในพื้นที่เจอ โดยในสังคมสามจังหวัดชายแดนใต้มีความเชื่อว่าเพศมีแค่หญิงและชายเท่านั้น ส่วนคนที่มีความหลากหลายทางเพศจะถูกเหมารวมว่าเป็น "ปอแน" คำภาษายาวีที่แปลว่า "กะเทย" ทั้งหมด

นาอิม ดือรามะ เยาวชนอายุ 23 ปี ชาวยะลา ที่นิยามตัวเองว่าเป็น "เกย์" เริ่มรู้สึกตัวว่าเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศตั้งแต่เรียนอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ที่โรงเรียนสอนศาสนาหรือที่รู้จักกันในชื่อโรงเรียน "ปอเนอะ"

เขาเริ่มแสดงตัวตน และใช้ชีวิตวัยรุ่นในแบบที่เขาชอบ โดยไม่ได้คิดถึงอุปสรรคที่จะต้องพบเจอ รวมทั้งเสียงสะท้อนอย่าง "อีนี่มันกระเทยนะ ต้องอยู่ให้ห่าง ๆ ไว้ก่อน"

"เวลาผู้ชายเขาจะนำละหมาด อาบน้ำละหมาด ด้วยเพราะเราเป็นแบบนี้เขาจะบอกว่าอย่าไปโดนตัวนะ เดี๋ยวน้ำละหมาดตก แสดงว่าเขารังเกียจเพศเราขนาดนั้น ถึงขนาดที่ไม่กล้าที่จะโดนตัว จนไม่กล้าที่จะเปิดตัวมากเกินไป" นาอิมอธิบาย

"ตอนเรียนมัธยมมันต้องอยู่ในกรอบ สำหรับเด็กผู้ชาย ต้องอยู่ในชุดสีขาว ต้องมีหมวกข้างบน เราก็โดนรังแกด้วยคำพูดว่า ไม่ควรใส่ชุดแบบนี้เพราะคุณเป็นกะเทย คุณไม่ควรที่จะมาใส่ชุดโต๊ะที่คือผู้ชายใส่แล้วดูสะอาด แต่ทำไมเธอใส่แล้วมันดูสกปรก"

หลังจากนั้นนาอิมได้ย้ายจากโรงเรียนปอเนอะไปเข้าโรงเรียนสามัญที่มีการสอนศาสนาควบคู่ไปด้วย เพื่อลดแรงกดดันทางสังคมที่เขาต้องเผชิญ นาอิมทำกิจกรรมหลายอย่างให้โรงเรียนจนเป็นที่ยอมรับและเห็นคุณค่า แต่นั่นแลกมาด้วยการที่เขาแสดงอัตลักษณ์ทางเพศที่แท้จริงของตัวเองน้อยลง

Muslim school

ที่มาของภาพ, Getty Images

ปัจจุบันนาอิมกำลังเรียนปริญญาตรี และยังสอนที่โรงเรียนสอนศาสนาที่ตัวเองเคยเรียน ถึงแม้จะถูกนักเรียนแซวว่าเป็น "อุสตาซปอแน" หรือ "ครูกะเทย" แต่นาอิมไม่ย่อท้อที่จะปลูกฝังความคิดและความเชื่อแบบใหม่ ๆ ให้เยาวชนรุ่นต่อไปเข้าใจถึงความหลากหลายทางเพศให้มากขึ้น

"ถ้ามองและในแง่ของความเป็นจริงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความเสรีในการแสดงออกทางเพศมันเป็นไปได้ยากมากครับ เพราะว่าด้วยภาพลักษณ์ของสามจังหวัดมันเคร่งในเรื่องของศาสนามาก แล้วพวกเราก็ต้องอยู่ภายใต้ศาสนา" นาอิมอธิบาย

"เราอยากให้พวกคุณเปิดโอกาสมากกว่าเรายอมรับในสิ่งที่พวกเราเป็น คือบางคนเขาก็รู้ รู้ที่รู้ทางว่าตัวเองจะต้องทำอะไร เราลองมาเห็นภาพลักษณ์ของกลุ่มนี้ในทางที่ดีบ้าง โดยที่ไม่ต้องมาประณามว่าพอเป็นกลุ่มนี้ปุ๊บ คุณจะพูดคำเดียวเลยว่ากลุ่มนี้สกปรก กลุ่มนี้ไม่ทำไม่ได้ เราแค่อยากให้เห็นความเปลี่ยนแปลง หลาย ๆ สิทธิ์ในการทำงาน หลาย ๆ สิทธิ์ที่คุณตั้งกรอบเกณฑ์ว่าเป็นเพศชายโดยตรง เพศหญิงโดยตรง มันทำให้พวกเราไม่มีที่ทำงาน ไม่มีที่เรียน เราก็อยากเรียน อยากพิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่า เราทำได้นะ แค่คุณให้โอกาส"

ขับเคลื่อนให้ "ลูกสาว"

"ลูกสาว" เป็นคำที่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในพื้นที่ใช้เรียกกัน คำคำนี้ผันมาจาก "Look South" และยังเป็นชื่อของกลุ่ม "Look South Peace" ที่พยายามเสริมพลังให้เยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.ยะลา

Look South Peace แยกออกมาจากโครงการ "บ้านลูกเหลียง" ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ และเน้นช่วยเหลือเยาวชนในกลุ่ม LGBTQ โดยเฉพาะ

LGBTQ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

ที่มาของภาพ, Hakeem Binbula

มาน อายุ 30 ปี ที่ปรึกษาโครงการ Look South Peace บอกบีบีซีไทยว่าเริ่มทำโครงการนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว หลังจากพบว่าตอนที่เขาเป็นเจ้าหน้าที่ของบ้านลูกเหลียง ได้รับคำร้องเรียนจากเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศในพื้นที่ว่าถูกกระทำรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ และไม่มีใครให้ความเป็นธรรมกับพวกเขาได้

"หลายเคสที่เราได้รับเรื่องร้องเรียนมา แล้วรู้สึกว่าเรื่องนั้นมันไม่ควรปล่อยผ่าน หรือถ้ามันปล่อยผ่านไปแล้ว สิ่งที่มันยังเป็นผลกระทบและยังติดอยู่ในใจของน้อง ๆ มันควรจะได้รับการคลี่คลายหรือการเยียวยาเพื่อให้หลุดพ้นได้" มานกล่าว

เขายกตัวอย่างนักเรียนที่โรงเรียนปอเนาะขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง มีนักเรียนหลายพันคน วันหนึ่งครูสอนศาสนาหรืออุซตาซ เรียกนักเรียนกลุ่ม LGBTQ มายืนหน้าเสาธง จับทุกคนโกนหัว และให้วิ่งรอบสนาม เพื่อประจานว่าเป็น "ปอแน"

นอกจากนี้ยังมีกรณีร้องเรียนที่ผู้ร้องระบุว่าถูกเพื่อนและครูรวม 10 คน ร่วมกันข่มขืน โดยทั้งหมดบอกกับเหยื่อรายนี้ว่าเขาสมควรโดนข่มขืนเพราะว่าเขาเป็น "ปอแน" และนี่คือวีธีการสั่งสอน

"สิ่งที่เราทำก็คือจัดให้มีวงคุยเพื่อนกับเพื่อน ที่เรียกว่าพี่ชวนคุย จะมีผู้เชี่ยวชาญมาชวนคุยกับเด็ก ๆ มีวงน้ำชาที่จะชวนคุยระบายความในใจ สิ่งที่อยากจะหยิบยกขึ้นมาก็คือพี่ชวนคุย เรามีการทำงานกับหน่วยงานที่นี่ไม่ว่าจะไม่ว่าจะเป็นศูนย์สุขภาพจิตที่ 12 สักนักงานพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ประจำจังหวัด บ้านพักเด็ก แล้วก็ทำงานเพื่อส่งเสริมข้างในใจเขา"

"เรากำลังที่จะอยากพัฒนาแกนนำ เพื่อให้สามารถที่จะใช้เครื่องมือต่าง ๆ ไม่ว่าจะไม่ว่าจะเป็นของเรื่องของการประเมินสุภาพจิต อยากจะพัฒนาแกนนำเหล่านั้นมาช่วยทำงานต่อกับเรา ให้คำปรึกษา เสริมพลังใจ เสริมองค์ความรู้กับเขาว่าสิทธิ์ของเค้าเป็นแบบไหน สิทธิ์ของเค้ามีอะไรบ้าง ปอแนที่นี่คือตัวตลก เราไม่ได้อยากให้คนข้างนอกมองว่าเราเป็นตัวตลก แต่เราอยากให้มองว่าเป็นคนคนหนึ่งมีศักยภาพ"

LGBTQ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

ที่มาของภาพ, Hakeem Binbula

ความหลากหลายไม่ต่างกับที่อื่น

ดร.อันธิฌา แสงชัย อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนักเคลื่อนไหวด้านความหลากหลายทางเพศ ในพื้นที่ จ.ปัตตานี บอกบีบีซีไทยว่า พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ก็มีความหลากหลายทางเพศไม่ต่างจากกรุงเทพฯ หรือที่อื่น ๆ ในโลก แต่คนในกลุ่มนี้ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมจากคนกลุ่มใหญ่

"เพราะมันเป็นพื้นที่ที่คนส่วนใหญ่มีความเข้มข้นในเรื่องของศาสนา และศาสนานั้นไม่ยอมรับ ไม่ยอมรับสิ่งเหล่านี้ นอกจากไม่ยอมรับ ยังแลดูว่ามันเป็นเรื่องอันตรายและคุกคามชุมชนทางศาสนาเหล่านั้นด้วยอย่างเช่น เดี๋ยวเด็ก ๆ จะเลียนแบบ หรือว่าเดี๋ยวจะทำให้พื้นที่ที่สะอาดบริสุทธิ์ทางความคิดความเชื่อของเขาแปดเปื้อน มันเป็นบาป ดูเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้" ดร.อันธิฌา อธิบาย

ดร.อันธิฌาบอกเล่าจากประสบการณ์ที่เคยทำงานร่วมกับเด็ก ๆ ที่เป็นคนในกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ ว่าพวกเขาได้รับความรุนแรงค่อนข้างจะหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีความเปราะบาง ขณะที่ปัญหาเรื่องนี้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ถูก "ซุกใต้พรม" เพราะว่าเด็กไม่มีอำนาจเพียงพอที่จะลุกขึ้นมาบอกว่าเกิดอะไรกับเขา

"แล้วถ้าเด็กบอกถึงสิ่งที่ตัวเองโดนมา มันก็จะถูกบอกว่าเป็นเพราะคุณไม่ดี เพราะคุณบาปไง คุณถึงเป็นแบบนี้คุณถึงโดนแบบนี้ แล้วที่น่ากลัวก็คือหลาย ๆ คนเชื่อว่าคุณสมควรโดนแบบนี้" ดร.อันธิฌากล่าว

LGBTQ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

ที่มาของภาพ, Anthicha Sangchai

ดร.อันธิฌา ยอมรับว่าการทำให้เรื่องความหลากหลายทางเพศในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นเรื่องที่สังคมยอมรับได้ไม่ใช่เรื่องง่าย และใช้เวลาอีกยาวนาน

"มันมีความซับซ้อน มันมีความรุนแรงที่อยู่ในหลายมิติ มันมีความรุนแรงที่เป็นความรุนแรงกระแสหลัก เป็นเรื่องของความขัดแย้งกันระหว่างบีอาร์เอ็นกับภาครัฐซึ่งมันซ้อนกันหลายมิติมาก ดังนั้นเรื่องบางเรื่องมันจึงไม่สามารถที่จะจัดการได้แบบรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีเรื่องของปากท้อง ที่มันหนักหนาสาหัสมาก เรื่องของเศรษฐกิจสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นจังหวัดที่ติดอันดับยากจน อันดับต้น ๆ ของประเทศ ซึ่งถ้าคนไม่มีปากไม่มีท้องที่มันอิ่ม จะมาแก้ไขเรื่องปัญหาเรื่อง gender (เพศ) มันก็ยาก" ดร.อันธิฌาอธิบาย

"ถ้าคนในสามจังหวัดชายแดนใต้มีเศรษฐกิจที่ดีกว่านี้ มีการศึกษา เข้าถึงการศึกษาได้มากกว่านี้ เหตุการณ์ความรุนแรงมันลดน้อยผ่อนลงกว่านี้ เรื่องเพศเรื่องความเข้มข้น ความเป็นอนุรักษ์นิยม หรือว่าความสุดโต่งทางศาสนา มันจะเบาบางลง หลาย ๆ เรื่องจะประนีประนอมกันได้มากขึ้นจะโอบรับความแตกต่างหลากหลายได้มากขึ้น แม้กระทั่งการตีความศาสนาที่แตกต่างกัน ก็จะโอบรับได้มากขึ้น"

Adblock test (Why?)


LGBT: ชีวิตนอกรีตของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ - บีบีซีไทย
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...