วันที่ 14 กรกฎาคม 2565 เวลา 11.00 น. นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รองปลัด พม.) ในฐานะโฆษก กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการถูกคุกคามทางเพศในสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการก่อเหตุดังกล่าวสร้างความไม่ปลอดภัยต่อชีวิต และร่างกายของผู้เสียหาย นับเป็นหน้าที่ และอำนาจตามกฎหมายของ กระทรวง พม. โดย กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) และกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ในการช่วยเหลือ และคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายที่ถูกคุกคามทางเพศ
ทั้งนี้ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ได้ให้นโยบายมาโดยตลอดในการปฏิบัติตามกฎหมาย โดยไม่ต้องเกรงกลัวต่ออิทธิพลของบุคคลใด และต้องดูแลผู้เสียหายทั้งทางกฎหมาย และจิตวิทยาอย่างเต็มที่ โดยให้โอกาสทางกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
นางสาวแรมรุ้ง กล่าวต่อไปว่า สำหรับการ คุกคามทางเพศ หรือ Sexual Harassment เป็นการกระทำที่มีเจตนาไม่ดีต่อเพศตรงข้ามหรือเพศเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น
1) การแสดงออกทางวาจา ด้วยการพูดจาล่วงเกิน และการพูด เล่าเรื่องเกี่ยวกับเรื่องเพศ รวมถึงสัดส่วนของร่างกาย
2) กิริยาท่าทาง ด้วยการแทะโลมทางสายตา การจ้องมองส่วนต่างๆ ของร่างกาย
3) การสัมผัสทางร่างกาย ด้วยความพยายามใกล้ชิดโดยไม่จำเป็น แตะเนื้อต้องตัว โอบกอดร่างกายส่วนต่างๆ
4) การส่งข้อความในเชิงอนาจาร ด้วยการพิมพ์ข้อความในเชิงส่อไปทางเพศ รวมไปถึงการส่งรูปภาพร่างกายหรืออวัยวะเพศให้แก่ผู้อื่น
นางสาวแรมรุ้ง กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนขอย้ำว่า กระทรวง พม. พร้อมให้ความช่วยเหลือ และคุ้มครองผู้เสียหายที่ถูกคุกคามทางเพศ อย่างเต็มที่ โดยเราจะรักษาความลับของท่านทุกคน และขอให้ทุกท่านออกมาปกป้องสิทธิของตนเอง เพื่อร่วมกันสร้างสังคมที่ปลอดภัย และน่าอยู่สำหรับทุกคน ทั้งนี้ สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง ได้ที่
1) สายด่วน พม. โทร.1300
2) กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เว็บไซต์ คลิก
3) กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) เว็บไซต์ คลิก
4) บ้านพักเด็กและครอบครัวทั่วประเทศ
5) Application คุ้มครองเด็ก
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์
พม. เปิดช่องทางช่วยเหลือผู้ถูก "คุกคามทางเพศ" ตลอด 24 ชั่วโมง - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment