Rechercher dans ce blog

Saturday, July 23, 2022

พรรคเศรษฐกิจไทย ทางเลือกที่ 3 ของประชาชน - ไทยโพสต์

ต้องติดตามกันต่อไปว่า หลัง พรรคเศรษฐกิจไทย ที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นหัวหน้าพรรค ได้นำพรรคเศรษฐกิจไทยถอนตัวจากการเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาล มาเป็นพรรคฝ่ายค้าน ทิศทางการเมืองของพรรคเศรษฐกิจไทยต่อจากนี้จะขับเคลื่อนต่อไปอย่างไร

วิชิต ปลั่งศรีสกุล รองหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทยและประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเศรษฐกิจไทย ที่อยู่ในแวดวงการเมืองมานานตั้งแต่สมัยเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย ตั้งแต่ปี 2544 และ 2548 และเมื่อ ร.อ.ธรรมนัสกับกลุ่มอดีต ส.ส.พลังประชารัฐออกมาตั้งพรรคเศรษฐกิจไทย ตัววิชิตเองก็ได้เข้าไปร่วมจัดตั้งพรรคและเป็นแกนนำพรรคคนสำคัญในปัจจุบัน โดยเขาได้พูดถึงการขับเคลื่อนพรรคเศรษฐกิจไทยต่อจากนี้ ภายใต้แนวทางคือ ต้องการทำให้เป็นพรรคการเมืองเพื่อประชาชน โดยการเป็นพรรคการเมืองทางเลือกที่ 3 ให้ประชาชน

วิชิต-รองหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย เริ่มด้วยการพูดถึงการเข้ามาร่วมงานกับ ร.อ.ธรรมนัสที่พรรคเศรษฐกิจไทยว่า ที่ออกจากพรรคเพื่อไทยมาทำงานการเมืองกับพรรคเศรษฐกิจไทย เพราะพิจารณาจากองค์ประกอบคือ หัวหน้าพรรค ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นบุคคลที่ได้นั่งคุยแล้วเห็นได้เลยว่าเป็นคนมีวิสัยทัศน์ มีความมุ่งมั่นตั้งใจจริงอย่างมากในการที่จะทำงานให้ประชาชน และเขาเป็นคนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มาโดยระบอบประชาธิปไตย คนจังหวัดพะเยาลงคะแนนเสียงให้เข้ามาเป็น ส.ส.ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น และการขับเคลื่อนการทำงานการเมืองของ ร.อ.ธรรมนัส เช่นการไม่เห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรีที่บริหารงานประเทศล้มเหลว ซึ่งการขับเคลื่อนของ ร.อ.ธรรมนัสไม่ได้ใช้วิธีการที่นอกลู่นอกทาง แต่ขับเคลื่อนในระบอบประชาธิปไตยใช้ ส.ส.ในสภา ใช้วิธีการที่จะทำอย่างไรให้มีการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีด้วยระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่เขาทุ่มเททั้งหลายคือส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจมาร่วมงานกับพรรคเศรษฐกิจไทย

พรรคเศรษฐกิจไทยจะมุ่งอภิปรายนอกสภาฯ เพื่อร่วมกับประชาชน ขับไล่พลเอกประยุทธ์ให้ออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงที่สุด...พรรคจะทำทุกอย่างเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์และยอมรับให้พรรคเศรษฐกิจไทยเป็นทางเลือกที่3ของประชาชน

และอีกส่วนหนึ่ง การที่ผมตัดสินใจออกจากพรรคเพื่อไทย ผมได้คุยกับคนในพรรคทั้งผู้ใหญ่ในพรรคและสมาชิกพรรคเพื่อไทยบางส่วนแล้วว่า การที่ผมออกมาพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้เสียหาย กิจกรรมของพรรคยังทำงานกันได้เหมือนเดิม  ยืนยันว่าที่ออกมาจากพรรคเพื่อไทยไม่ได้มีปัญหาน้อยใจอะไร แต่คิดว่าจะเป็นโอกาสที่ดีหากว่าจะมีพรรคเศรษฐกิจไทย ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจแก้ปัญหาของประเทศโดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่อิงกับปัญหาการเมืองมากนัก เพราะสถานการณ์ตอนนี้ต้องยอมรับว่าประชาชนเบื่อหน่ายเรื่องการทะเลาะเบาะแว้ง ความแตกแยก หากไปถามประชาชน เขาจะบอกว่าตอนนี้เศรษฐกิจแย่อยู่แล้ว แล้วยังจะมีพรรคการเมืองมาทะเลาะกันอีก เราก็คิดว่าพรรคเศรษฐกิจไทยจะเป็นพรรคการเมืองที่ไม่ไปทะเลาะกับใคร แต่มุ่งจะแก้ไขปัญหาให้ประชาชน

ผมก็คิดว่าด้วยบุคลิกของหัวหน้าพรรค และการที่เขาแยกตัวออกมาจากพรรคเดิมพลังประชารัฐ ภายใต้แนวทางคือไม่เห็นด้วยกับการบริหารงานของพลเอกประยุทธ์ที่เป็นนายกรัฐมนตรี มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจ โดยนอกจากที่พรรคเพื่อไทยไม่เสียหายแล้ว การที่มาอยู่กับเศรษฐกิจไทยมันก็ทำให้ผมมีโอกาสที่จะทำงานในการแก้ปัญหาด้านต่างๆ ให้ประชาชนและประเทศชาติได้มากขึ้น โดยไม่ใช่ว่าเพื่อไทยไม่เปิดกว้าง แต่ว่าพรรคเศรษฐกิจไทยเป็นพรรคการเมืองใหม่ ซึ่งแนวทางที่พรรคจะเดินก็คือ สิ่งใดที่รัฐบาลทำดีก็สนับสนุน เรื่องใดที่รัฐบาลทำไม่ดี พรรคก็จะคัดค้าน

วิชิต-รองหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ย้ำว่า พรรคการเมืองของไทยที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2489 เป็นต้นมา ที่เริ่มมีพรรคการเมือง พบว่าพรรคการเมืองมีด้วยกัน 5  ประเภท ประกอบด้วย

1.พรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล ที่เป็นพรรคการเมืองและต้องการจะมีสมาชิกพรรคให้มากขึ้น

2.พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาแล้วมีส่วนสนับสนุนรัฐบาล  ที่ก็คือพรรคร่วมรัฐบาล

3.พรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ก็เป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้าน

4.พรรคการเมืองประเภทที่สี่ก็คือลักษณะแบบพรรคเศรษฐกิจไทยคือ รัฐบาลทำดี ทำถูกต้อง เป็นประโยชน์กับประชาชนก็สนับสนุน แต่เรื่องใดไม่ถูกต้อง เป็นเรื่องการทุจริต เราก็จะทักท้วง คัดค้าน

5.พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาเพื่อหาประโยชน์ทางการเมืองอย่างเดียว

"จากประเภทของพรรคการเมืองไทยดังกล่าว  พรรคเศรษฐกิจไทยนับเป็นพรรคการเมืองที่อยู่ในประเภทที่ 4 ที่มีแนวนโยบายเพื่อประชาชนที่แท้จริง ซึ่งความชัดเจนของพรรคคือ เป็นพรรคการเมืองที่เป็นอิสระ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประชาชน เป็นพรรคการเมืองที่ทำเพื่อประชาชนจริงๆ ไม่ใช่เป็นพรรคฝ่ายค้านเพื่อทะเลาะกับรัฐบาล โดยหากรัฐบาลทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง พรรคเศรษฐกิจไทยจะคัดค้าน สิ่งนี้คือจุดยืนพรรคเศรษฐกิจไทย"

-ทิศทางของพรรคเศรษฐกิจไทยหลังจบศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 23 ก.ค. คือจะเป็นฝ่ายค้าน?

จะเป็นพรรคฝ่ายประชาชน ฝ่ายประชาธิปไตยที่ถือประชาชนเห็นหลัก จะเรียกเราว่าพรรคการเมืองฝ่ายไหนก็ไม่เป็นไร แต่เราเป็นฝ่ายอิสระ คือถ้ารัฐบาลทำถูกต้อง นโยบายดี เราก็สนับสนุน แต่หากรัฐบาลทำไม่ดี ทุจริต มีการออกนโยบายที่ไม่ดี มีเรื่องซ่อนเร้น พรรคเศรษฐกิจไทยจะคัดค้าน โต้แย้ง ก็อาจเป็นพรรคการเมืองประเภทที่ 4 ของพรรคการเมืองไทย คือเป็นพรรคฝ่ายประชาชน รักษาผลประโยชน์ของประชาชน เราจะเป็นพรรคการเมืองที่ทำประโยชน์ให้ประชาชนโดยตรง

-ประชาชนจะงงไหม จะเป็นรัฐบาลก็ไม่ใช่ ฝ่ายค้าน ก็ไม่เชิง?

เราก็ต้องพยายามทำให้ประชาชนเข้าใจ เพราะบางคนหรือนักการเมืองบางคนก็ยังบอกว่า พรรคฝ่ายกลางไม่มี แต่ความจริงเป็นพรรคอิสระที่อยู่ข้างประชาชน ยืนข้างประชาชน อันไหนเป็นประโยชน์เราก็สนับสนุน เรื่องใดไม่ถูกต้องพรรคก็จะออกมาคัดค้าน คือก็จะเป็นการค้านแบบอิสระ  ไม่ใช่ว่าจะค้านไปทุกเรื่อง แต่ถามว่าพรรคอยู่กับรัฐบาลหรือไม่ เราไม่อยู่ เพราะคนของพรรคก็ลาออกจากวิปรัฐบาลหมดแล้ว

พรรคเศรษกิจไทย

ไม่หนุน ไม่ร่วมสังฆกรรม 'ประยุทธ์'

-แนวทางและจุดยืนการเมืองของพรรคคือไม่เอาพลเอกประยุทธ์?

การไม่เอาพลเอกประยุทธ์เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนเสียงส่วนมาก และจากการต่อสู้ของหัวหน้าพรรค  ร.อ.ธรรมนัสตลอดมา ก็แสดงออกชัดเจนว่าไม่เอาพลเอกประยุทธ์ เพราะว่าการบริหารงานล้มเหลว เห็นได้ชัดเจน ประเทศเป็นหนี้สินต่างประเทศและหนี้สาธารณะจำนวนมากในช่วงการเป็นนายกฯ แปดปี และตอนนี้ระบบเศรษฐกิจล้มระเนระนาดไปหมด การที่พลเอกประยุทธ์บอกว่าตัวเองไม่ทุจริต แต่สมมุติว่าเขาไปเดินตลาด โดยมีพรรคร่วมรัฐบาลไปร่วมเดินด้วย แล้วไปหยิบหมู หยิบอาหาร หยิบของในตลาด โดยกินฟรี ซึ่งพลเอกประยุทธ์ก็เห็นแต่ไม่ว่าอะไร ถามว่าแบบนี้ผิดหรือไม่ ที่ปล่อยปละละเลย ไม่ควบคุม เรื่องแบบนี้มันเยอะมาก

-ในอนาคตหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ถ้าประชาชนถามว่าพรรคเศรษฐกิจไทยจะหนุนพลเอกประยุทธ์กลับมาหรือไม่?

ชัดเจนว่าไม่หนุนพลเอกประยุทธ์แน่นอน ส่วนจะจับมือกับพรรคเพื่อไทย หรือจับมือกับพลังประชารัฐ หรือพรรคการเมืองอื่นๆ ก็เป็นเรื่องอนาคตข้างหน้า แต่หากมีพลเอกประยุทธ์บริหาร ก็คิดว่าพรรคไม่ไปร่วมด้วยแน่นอน

สถานการณ์ในปัจจุบันรัฐบาลที่มีพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ บริหารประเทศมาตั้งแต่ยึดอำนาจปี 2557 ต่อเนื่องกันจนถึงปัจจุบันมากกว่า 8 ปี ไม่มีปัจจัยด้านบวกเลยแม้แต่น้อย นับแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย มุ่งสืบทอดอำนาจให้ตนเองเป็นนายกฯ เกิดกระบวนการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ สร้างหนี้สินให้ประเทศนับสิบล้านล้านบาท เศรษฐกิจดิ่งเหว ธุรกิจหลายกลุ่มล้มระเนระนาด ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้เกษตรกรกลุ่มต่างๆ ขายพืชผลได้ไม่คุ้มต้นทุน เงินเฟ้อ เศรษฐกิจฝืดเคือง เข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพง น้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้า และสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคขึ้นราคาจนประชาชนต้องเดือดร้อนกันไปทั้งประเทศ รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลที่มีพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ก็มุ่งแต่ประโยชน์ส่วนตน มัวแต่ทะเลาะเบาะแว้งกับพรรคฝ่ายค้าน ไม่คิดจะร่วมมือร่วมใจกันเพื่อแก้ไขเยียวยาให้พี่น้องประชาชน จนทำให้ประชาชนเกิดความเบื่อหน่าย ไม่มีความหวัง โดยเฉพาะกับรัฐบาลที่มีพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี พรรคเศรษฐกิจไทยมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจให้พี่น้องประชาชน ได้ประจักษ์ชัดถึงความล้มเหลวในการบริหารประเทศและเศรษฐกิจของพลเอกประยุทธ์ข้างต้นแล้ว ประกอบกับพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ จะครบ 8 ปีในเดือนสิงหาคม 2565 นับแต่เป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ต่อเนื่องมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 จนถึงปัจจุบัน พลเอกประยุทธ์ยังแสดงท่าทีจะเป็นนายกฯ ต่อไปอีก โดยไม่สนใจว่าประชาชนจะเดือดร้อนลำเค็ญจากพิษเศรษฐกิจที่รัฐบาลบริหารล้มเหลว  ไม่สนใจเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ตนเองและคณะสร้างขึ้นมาเอง กำหนดให้นายกรัฐมนตรีอยู่ได้ไม่เกิน 8 ปี ซึ่งแม้แต่กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อให้มีบัตรสองใบในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ก็ยังจงใจฝืนเจตนารมณ์ของบัตรสองใบที่ต้องการให้มี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน โดยใช้ 100  หารคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับคะแนนเสียงจากประชาชน  โดยพลเอกประยุทธ์และคณะใช้เสียงข้างมากในรัฐสภาลงมติใช้ 500 หารเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง

พรรคเศรษฐกิจไทยไม่อาจรับสภาพของการบริหารที่ล้มเหลวของพลเอกประยุทธ์ได้อีกต่อไป จึงต้องตัดสินใจถอนตัวจากวิปรัฐบาลเพื่อทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านอย่างอิสระ เพื่อปกป้องเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง

แม้ว่าพรรคฝ่ายค้านจะไม่แบ่งเวลาให้ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทยได้อภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ในสภาก็ตาม พรรคเศรษฐกิจไทยจะมุ่งอภิปรายนอกสภา เพื่อร่วมกับประชาชนขับไล่พลเอกประยุทธ์ให้ออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงที่สุด”

วิชิต-ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเศรษฐกิจไทย กล่าวต่อไปว่า การขับเคลื่อนของพรรคต่อจากนี้ คือทำให้พรรคเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับประชาชน ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับพรรค มาร่วมคิดร่วมทำ ก็เป็นแนวทางที่เราจะเดินไปสู่ตรงนั้น ให้ประชาชนมีความสุข  เพราะวันนี้ประชาชนมีความทุกข์จากปัญหาเศรษฐกิจ ก็จะเดินไปในทางนี้ด้วยแนวนโยบายของพรรคที่จะนำเสนอออกมา ซึ่งยุทธศาสตร์ที่จะไปถึงจุดดังกล่าวอาจต้องใช้นโยบายเป็นเครื่องมือ โดยนโยบายของพรรคเศรษฐกิจไทย ขณะนี้ก็คิดกันหลายด้าน

อย่างเรื่องนโยบายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจนั้น เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคได้มีการร่วมพูดคุยกับที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของพรรค ถึงแนวนโยบายที่จะพัฒนาและกำหนดนโยบายในเรื่องของชุมชน  หรือเรียกว่า การฟื้นฟูชนบท ในลักษณะที่จะให้มีการผันเงินลงไปในชุมชน เศรษฐกิจฐานราก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากโดยให้อิสระ เช่นผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่าง องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือองค์การบริหารส่วนตำบล  โดยเรามีแนวคิดจะผันเงินลงไป แต่ให้ประชาชน คนในพื้นที่เป็นคนคิดนโยบาย การทำโครงการงบประมาณต่างๆ ภายใต้โครงสร้างที่มีคณะกรรมการคอยพิจารณาควบคุม เพื่อพิจารณาว่าโครงการหรือสิ่งที่คนในชุมชนต้องการผลักดันจะทำเป็นเรื่องที่สามารถทำได้หรือไม่ โดยหากพิจารณาแล้วสามารถทำได้ ก็จะมีการสนับสนุนให้มีการดำเนินการออกมาอย่างเบื้องต้น หากทำผ่าน อบต.ก็อาจให้ปีละ 30  ล้านบาท โดยให้ประชาชนในพื้นที่ไปคิดว่าจะทำโครงการอะไรที่ทำแล้วจะเกิดประโยชน์ ไม่ใช่เป็นเงินที่ให้ไปแล้วเกิดการสูญเปล่า คือต้องมีผลกลับมา แนวทางดังกล่าว ส่วนหากเป็น อบจ.อาจเป็นปีละ 100 ล้านบาท รวมแล้วทั้ง อบจ.-อบต.ก็จะใช้เงินประมาณหนึ่งแสนห้าหมื่นล้านบาทต่อปี โดยใช้ติดต่อกันห้าปี ที่จะทำให้ช่วยฉุดเศรษฐกิจฐานรากขึ้นมาได้  จะทำให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพ สร้างการบริหารจัดการของคนในท้องถิ่นได้ ให้มีเงินหมุนเวียนในพื้นที่ โดยเน้นให้ประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมกันคิดและร่วมกันทำโครงการที่เขาเห็นว่าในหมู่บ้าน ชุมชน อบต.ของเขา ควรจะทำอะไรที่ก่อให้เกิดรายได้และเกิดประโยชน์ในพื้นที่ 

เดินหน้า-ไม่มีถอยหลัง

ย้ำไม่ใช่ 'พรรคเฉพาะกิจ'

-พรรคมีการเตรียมความพร้อมสำหรับเลือกตั้งแค่ไหน เพราะคนยังมองว่าจะเป็นพรรคเฉพาะกิจ หรือไม่ ตัว ร.อ.ธรรมนัสจะย้ายกลับเพื่อไทยหรือไม่?

พรรคเศรษฐกิจไทยมีการเตรียมความพร้อมเรื่องการเลือกตั้งตลอด เช่นเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา พรรคประกาศรับสมัครคนที่สนใจจะลงสมัคร ส.ส. ที่หากใครสนใจให้มาสมัครกับพรรคได้นับจากนี้ รวมถึงมีการตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยพรรคได้แบ่งโครงสร้างในส่วนนี้ออกเป็น 9 ภาคเพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ของพรรคทั่วประเทศ 

ปัจจุบัน พรรคเศรษฐกิจไทยมีความพร้อมไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อใด โดยจะส่งผู้สมัคร ส.ส.ครบ 400 เขต  และปาร์ตี้ลิสต์อีก 100 ชื่อ สำหรับเป้าหมายของพรรคต่อจำนวน ส.ส.หลังเลือกตั้ง ก็ต้องดูจากองค์ประกอบต่างๆ เช่น  สถานการณ์ของพรรคเศรษฐกิจไทย ที่เราจะนำเสนอนโยบายหรือจุดขายของพรรค ประชาชนจะให้ความเชื่อมั่นเชื่อถืออย่างไร ซึ่งทางพรรคจะพยายามทำให้พรรคเศรษฐกิจไทยและ ร.อ.ธรรมนัส หัวหน้าพรรค ได้รับการยอมรับจากประชาชน ซึ่งถึงตอนนั้นคิดว่าพรรคจะได้ ส.ส.หลังเลือกตั้งเข้ามาพอสมควร

ส่วนที่ถามว่ามั่นใจหรือไม่ว่า พรรคเศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าทำพรรคต่อไปจนถึงตอนที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่ หรือจะเดินหน้าได้ไกลจนเป็นพรรคที่ยั่งยืนมั่นคง ผมขอยืนยันว่าพรรคมีแนวคิดและแนวทางที่จะเดินไปข้างหน้า ไม่ใช่พรรคการเมืองเฉพาะกิจที่ทำแล้วจู่ๆ ก็จะเลิก จะไปอยู่พรรคเพื่อไทย เพราะก็มีข่าวว่า ร.อ.ธรรมนัส และตัวผมเอง ก็ยอมรับว่ามีการติดต่ออยู่ บางคนบางส่วนมาชวนไป ชวนให้กลับไปอยู่พรรคเพื่อไทย แต่ผมก็ขอบอกว่าผมเดินไปข้างหน้า ผมเดินหน้าแล้ว ผมถอยหลังไม่เป็น ก็ต้องเดินหน้ากันไป ซึ่งก็เชื่อว่าหัวหน้าพรรคตั้งใจและมุ่งมั่นเช่นนี้

วิชิต-รองหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ย้ำว่าพรรคมีจุดแข็ง จุดขายทางการเมือง อย่างที่ตอนผมมาอยู่ พรรคเศรษฐกิจไทยค่อนข้างจะเป็นที่ฮือฮา เพราะหัวหน้าพรรค ร.อ.ธรรมนัสก็มีจุดขาย เพราะมีบุคลิกแบบใจถึงพึ่งได้ กล้าได้กล้าเสีย คือเมืองไทยเราคนเก่งเยอะที่จะมาบริหารประเทศ  แต่คนกล้ามันไม่ค่อยมี ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัส หัวหน้าพรรคจากที่ได้นั่งคุยกัน ที่เห็นได้ว่าเป็นคนมีวิชัน มีวิสัยทัศน์แล้ว ยังเป็นคนกล้าที่จะตัดสินใจ เพราะประเทศไทยบางอย่างมีความจำเป็นต้องพลิกผันให้หน้ามือเป็นหลังมือ ในบางเรื่องที่จำเป็น

ยกตัวอย่างเช่นเรื่อง พลังงาน ที่ทางคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคได้ร่วมหารือกับที่ปรึกษาด้านนโยบายพรรค  โดยหลังจากนี้จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาสองชุดในส่วนของคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค โดยชุดแรกคือคณะทำงานพิจารณาเรื่องนโยบายในการพลิกฟื้นชนบท และพลิกฟื้นพลังงานของชาติ โดยในส่วนของพลังงานที่สำคัญคือ จะเสนอให้มีการยกเลิกโครงสร้างค่าการกลั่นน้ำมันของโรงกลั่น  เพื่อทำให้ราคาน้ำมันลดลงอย่างเป็นธรรมให้กับประชาชน  เพราะวันนี้ประชาชนซื้อน้ำมันในราคาแพง ที่มีค่าการกลั่นที่รัฐบาลหรือองค์กรที่รับผิดชอบบวกเข้าไปมากกว่าสิบเปอร์เซ็นต์ อย่างสมมุติค่าการกลั่นราคา 1-2 บาท ตอนนี้บางช่วงก็ขึ้นมาเป็น 8 บาท 10 บาท บางช่วง 12 บาทก็มี ไปบวกเป็นค่ากลั่นที่เป็นค่าใช้จ่ายเทียมของค่าการกลั่น โดยสมมุติฐานว่าโรงกลั่นประเทศไทยไม่มี แต่ไปอยู่สิงคโปร์ แล้วคิดราคาค่ากลั่นอิงราคาสิงคโปร์ ทั้งที่โรงกลั่นอยู่ประเทศไทย  แล้วก็มาบวกภาษี ค่าใช้จ่าย ค่าน้ำมัน ค่าขนส่ง เลยทำให้ต้นทุนสูง หากยกเลิกตรงนี้ได้ราคาน้ำมันจะลดได้ 8-10 บาทต่อลิตร อย่างมาเลเซียที่ราคาน้ำมันแค่ลิตรละ 16 บาท ก็เพราะเขามีบริษัทน้ำมันแห่งชาติ บริษัท Petronas ที่เขาถือว่าน้ำมันเป็นทรัพยากรของคนมาเลเซีย กำไรทุกบาทแทนที่จะเข้ากระเป๋าผู้ถือหุ้นเหมือนคนที่ดูแลในเมืองไทย เขาคืนให้ประชาชน

ดึงขุนพลเศรษกิจ เสริมแกร่งพรรค

-ชื่อพรรคคือเศรษฐกิจไทย ในส่วนทีมเศรษฐกิจของพรรค เปิดชื่อออกมาจะขายได้ไหมในทางการเมือง?

ได้แน่นอน เพราะอย่างคนที่พรรคพูดคุยด้วยเช่น ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ผ่านตำแหน่งสำคัญมามากมาย เช่น อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่เวลาพรรคมีประเด็นอะไร ขอคำปรึกษาไป ทางนายธีระชัยก็มาช่วยชี้แนะ มาร่วมประชุมหารือกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค โดยนายธีระชัยพร้อมจะมาช่วยพรรค เพราะเขาเห็นแนวทางของพรรคเศรษฐกิจไทย ในการทำงานแก้ไขปัญหาให้ประชาชน รวมถึงนโยบายการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ประชาชน นายธีระชัยเห็นว่าพรรคเรามุ่งมั่นที่จะทำงาน จะเป็นที่พึ่งของประชาชนได้

นอกจากนี้ก็ยังมี ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน พรรคก็เชิญมาร่วมเป็นที่ปรึกษา ที่ก็ไม่ได้ปฏิเสธอะไรในเรื่องของพลังงาน ก็คิดว่าเมื่อพรรคเปิดตัวทีมงานด้านเศรษฐกิจจะได้รับความสนใจจากประชาชนมาก นอกจากนี้พรรคยังมีการติดต่อพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจอีกหลายคน แต่ขอรอความชัดเจนอีกระยะก่อน ยืนยันว่านโยบายเศรษฐกิจของพรรคเศรษฐกิจไทยมีความแตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นแน่นอน เชื่อว่าประชาชนเห็นนโยบายแล้วจะมีความมั่นใจกับพรรคเศรษฐกิจไทย

-มีกระแสข่าวออกมาช่วงหลังว่า 16 ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทยเวลานี้ สุดท้ายแล้วอาจไม่ได้อยู่กับพรรคด้วยกันทั้งหมด เพราะข่าวว่าบางคนจะไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย หรือไม่ก็อาจจะกลับพรรคเดิม พลังประชารัฐ?

ก็อาจมีแค่ 1-2 คนเท่านั้น เท่าที่ทราบ เพราะพบว่าช่วงหลังไม่ค่อยมาร่วมกิจกรรมกับทางพรรค นอกนั้นก็พร้อมจะเดินหน้าไปด้วยกัน เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาเกือบทั้งหมดก็มาร่วมประชุมกัน

จะมี ส.ส.ปัจจุบันที่เป็น ส.ส.จากพรรคอื่น ทั้งพรรคเล็ก พรรครัฐบาล และฝ่ายค้าน อาจจะย้ายมาพรรคเศรษฐกิจไทยหรือไม่?

ก็มีบ้าง มีติดต่อมา ก็จะนัดคุยกันอยู่ เพราะเขาอยากจะมาอยู่ด้วย นอกจากนี้ก็มีอดีตนักการเมืองท้องถิ่น เช่นระดับ อบจ.ก็สนใจสมัครเข้ามาร่วมงานกับพรรคจำนวนมาก เพื่อต้องการลงสมัคร ส.ส.ระบบเขต

ในช่วงต่อจากนี้ก่อนจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น พรรคมีหลายเรื่องต้องเตรียมการเพราะเป็นพรรคการเมืองจัดตั้งใหม่  เช่นการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งระบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์ ส่วนเรื่องยุทธศาสตร์พรรคและนโยบายพรรคโดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจ ก็มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว ดังนั้นหากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้น เช่นมีการยุบสภา พรรคพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง ซึ่งพรรคจะเน้นนโยบายเรื่องการแก้ไขปัญหาปากท้อง การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ประชาชน ส่วนการเมืองพรรคจะไม่ทะเลาะกับใคร ไม่เป็นศัตรูกับพรรคการเมืองไหน โดยจะทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้นและตรวจสอบอย่างละเอียดกับหลายโครงการของรัฐบาลที่ทำอยู่ ยืนยันได้ว่าพรรคไม่ได้เป็นแบงก์พันของใครทั้งสิ้น 

"พรรคเศรษฐกิจไทยจะทำทุกอย่างเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์และยอมรับให้พรรคเศรษฐกิจไทยเป็นทางเลือกที่ 3 ของประชาชน" วิชิต แกนนำพรรคเศรษฐกิจไทยกล่าวในตอนท้าย.

Adblock test (Why?)


พรรคเศรษฐกิจไทย ทางเลือกที่ 3 ของประชาชน - ไทยโพสต์
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...