Rechercher dans ce blog

Monday, August 1, 2022

เศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค กับความเสี่ยงของตลาดหุ้น - กรุงเทพธุรกิจ

การประกาศตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไตรมาส2ปี 2565 ของสหรัฐฯ (ประมาณการครั้งแรก หรือ Advance Estimate) ที่ออกมาติดลบ 0.9% (Annualized Seasonal Adjustment Quarter on Quarter Basis)

ในสัปดาห์ก่อนเป็นการยืนยันว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession) อย่างเป็นทางการ ซึ่งนับตัวเลข GDP ติดลบติดต่อกัน2ไตรมาส ซึ่งอาจจะไม่น่าแปลกใจในสายตาของนักวิเคราะห์และนักลงทุนที่คุ้นเคยกับเศรษฐกิจสหรัฐฯดี โดยในไตรมาสล่าสุดที่ GDP ติดลบ เป็นการลดลงจากหลายส่วน ทั้งเรื่องของการสะสมสินค้าคงคลัง การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐฯ แต่เศรษฐกิจก็หดตัวในอัตราที่น้อยลงกว่าไตรมาสแรก ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชนที่ดีขึ้น

แต่ดูเหมือนว่าตลาดหุ้นจะไม่สนใจเรื่องของ “Technical Recession” ดังกล่าว รวมถึงการที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.75% ในการประชุมวันที่ 28-29 ก.ค.ด้วย ทำให้โดยรวมในเดือน ก.ค. ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีที่สุดนับตั้งแต่ปี เม.ย. 2563  เป็นต้นมา โดยดัชนี Dow Jones ปรับตัวสูงขึ้น 6.7% ดัชนี S&P500 9.11% และ NASDAQ Composite 12.35% นอกจากนั้นยังสวนทางกับการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ของบริษัทจดทะเบียนต่างๆ ที่ในภาพรวมดีไม่เท่าในไตรมาสก่อนๆ ในขณะที่การลดการจ้างงานรวมถึงการชะลอการลงทุนนั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ต้องอย่าลืมว่าประเด็นเรื่องของภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่แท้จริงนั้นยังมีอยู่ และความเสี่ยงดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนจากการประมาณการตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดนักวิเคราะห์ต่างๆ คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตเพียง 2.0% ในปีนี้ เทียบกับที่เคยคาดไว้ตอนต้นปีที่ 4.0% ซึ่งแสดงให้เห็นภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน รวมถึงประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งมักจะจบลงด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากถึง 8 ใน 11 ครั้งของวัฏจักรการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด

การวัดเรื่องของภาวะ Recession นั้นทำได้หลากหลาย แต่ช่องทางหนึ่งที่เป็นที่นิยม นับเป็นหนึ่งในทางเลือกที่น่าเชื่อถือและถูกใช้อย่างแพร่หลายในบทความทางวิชาการและการวิเคราะห์ต่างๆ คือ การยึดตามการประกาศของ National Bureau of Economic Research (NBER) ของสหรัฐฯ เป็นหลัก

โดย NBER ให้คำนิยามเรื่องของภาวะเศรษฐกิจถดถอยว่าเป็นการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ และจะขึ้นอยู่กับความรุนแรง (Depth) การกระจายตัว (Diffusion) และระยะเวลา (Duration) ประกอบกัน ไม่ได้วัดจาก GDP ติดลบเพียงอย่างเดียว เช่น ในรอบล่าสุดในปี 2563 ซึ่งเข้าข่ายภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากการแพร่ระบาดและมาตรการที่เข้มงวดของภาครัฐฯ ส่งผลให้เศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรง และส่งผลกระทบในวงกว้าง แม้จะกินเวลาสั้นๆ เพียง 2 เดือน แต่โดยรวมก็เข้าข่ายภาวะเศรษฐกิจถดถอย เป็นต้น

แต่ประเด็นก็คือการประกาศอย่างเป็นทางการนั้นล่าช้า กล่าวคือ จากข้อมูลในอดีตกว่าจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าเศรษฐกิจเกิดภาวะถดถอยอย่างต้องใช้เวลาตั้งแต่ 4 ถึง 21 เดือน หลังจากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยไปแล้ว เนื่องจากจุดสูงสุด (Peak) หรือต่ำสุด (Trough) จะกำหนดได้และเห็นชัดเจนขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปแล้วช่วงหนึ่งเท่านั้น เช่น เศรษฐกิจถดถอยในช่วงของการแพร่ระบาดของ COVID-19 เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ เม.ย. 2563 จนถึง มิ.ย. 2563 ซึ่งกินระยะเวลาเพียง 2 เดือน แต่กว่าจะถูกจัดอยู่ในช่วงของการถดถอยอย่างเป็นทางการคือในเดือน ก.ค. 2021 ผ่านไปแล้วกว่า 1 ปี ทำให้เราคงใช้การประกาศเป็นตัวกำหนดทิศทางการลงทุนและประเมินความเสี่ยงได้ยาก

ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ คือ การติดตามตัวเลขสำคัญๆต่าง ที่เกี่ยวข้อง และเป็นตัวเลขชี้นำทางเศรษฐกิจ (Leading Indicators) เช่น รายได้ที่แท้จริงของครัวเรือน ตัวเลขการจ้างงาน การใช้จ่ายที่แท้จริงของครัวเรือน การผลิตภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยในปัจจุบันหากมองภาพจากหลายๆ ส่วนของเศรษฐกิจประกอบกัน ในภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มเติบโตได้แม้จะด้วยอัตราที่ชะลอลง โดยเฉพาะภาคแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งคาดว่าการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ น่าจะสูงเกินระดับก่อนการแพร่ระบาดในเดือน ส.ค. นี้ 

นับเป็นระยะเวลาเพียงแค่ 30 เดือน เมื่อเทียบกับที่ต้องใช้เวลาถึง 76 เดือน และ 48 เดือนตามลำดับ สำหรับภาคแรงงานในการฟื้นตัวจากวิกฤติ Subprime และ Dot.com ในปี 2008 และ 2001 ตามลำดับ ในขณะที่อัตราการว่างงานก็ยังทรงตัวในระดับต่ำที่ 3.6% หรือแม้แต่การเติบโตของค่าแรง (Average Hourly Earnings) ล่าสุดก็อยู่ที่ 5.1% รวมถึงปัจจัยด้านอื่นๆ ด้วยที่ก็ยังส่งสัญญาณคล้ายๆ กัน กล่าวคือชะลอตัวลง และยังคงต้องจับตาดูกันต่อไป

โดยบ่อยครั้งที่ตลาดหุ้นมักจะปรับตัวขึ้นหรือลงเร็วกว่าเศรษฐกิจที่แท้จริงๆ แต่การฟื้นตัวในรอบนี้จะเป็นการฟื้นตัวพ้นจุดต่ำสุดในระยะกลาง หรือไม่คงต้องขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจภายใต้นโยบายการเงินที่เป็นมิตรน้อยลงที่จะเห็นชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และเงินเฟ้อที่ยังไม่แน่ว่าจะพ้นจุดสูงสุดไปจริงๆ แล้วหรือยัง

 แม้ประเด็นด้านอุปสงค์จะน้อยลง แต่ประเด็นด้านอุปทานนั้นยังคงคาดเดาได้ยาก เช่นเดิมกับในสัปดาห์ก่อนๆ แม้ภาวะตลาดโดยรวมจะดูดีขึ้นแต่อาจจะเป็นเพียงในระยะสั้นซึ่งนักลงทุนยังคงต้องบริหารความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน และปรับสัดส่วนให้เหมาะสมสอดคล้องกับภาวะตลาดกันต่อไปครับ

      หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด

Adblock test (Why?)


เศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค กับความเสี่ยงของตลาดหุ้น - กรุงเทพธุรกิจ
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...