Frugal Innovation นวัตกรรมต้นทุนต่ำ ทางเลือกธุรกิจรูปแบบใหม่
ในขณะที่โลกกำลังหมุนไปข้างหน้า มีนวัตกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจเกิดขึ้นมาอย่างมากมายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการอย่างไม่สิ้นสุดของมนุษย์ ซึ่งในบรรดานวัตกรรมทั้งหลายนั้นมีหนึ่งแนวคิดที่กำลังเป็นที่สนใจและถูกจับตามองเป็นอย่างมากนั่นคือ Frugal Innovation หรือ นวัตกรรมต้นทุนต่ำ หรือในบางครั้งก็อาจถูกเรียกว่านวัตกรรมประหยัด มักจะถูกนำไปแก้ไขปัญหาในภาคส่วนที่มีความด้อยโอกาสหรือขาดแคลน เพื่อแก้ไขปัญหาทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เพราะ Frugal Innovation เป็นแนวความคิดในการออกแบบธุรกิจที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่ชาญฉลาด เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน เข้าถึงได้ และราคาไม่แพง
โดยนวัตกรรมต้นทุนต่ำจะมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าทางสังคมไปพร้อม ๆ กับการลดการใช้ทรัพยากรทั้งที่เป็นตัวเงินและวัสดุการผลิตที่สิ้นเปลืองแต่จะเน้นการใช้วัตถุดิบและวัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่นมากกว่า เรียกได้ว่าเป็นการพยายามแก้ปัญหาภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด
สำหรับข้อแตกต่างของนวัตกรรมต้นทุนต่ำ (Frugal Innovation) และนวัตกรรมแบบทั่วไป (Conventional Innovation) นั้น คือนวัตกรรมต้นทุนต่ำถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่มีความเฉพาะ เน้นแก้ไขปัญหาโดยตรง มีความยืดหยุ่น เรียบง่าย ปรับเปลี่ยนได้
มักมีตลาดอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Developing & Emerging Markets) โดยเป็นกลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านล่างของฐานพีรามิด อย่างประเทศอินเดีย บราซิล จีน และประเทศโซนทวีปแอฟริกา ส่วนนวัตกรรมแบบทั่วไปจะถูกพัฒนาจากความต้องการอยากสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่เน้นความสวยงาม ละเมียดละไม สร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้งาน มักมีตลาดอยู่ในกลุ่มของประเทศที่พัฒนาแล้ว
สำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มักจะมีข้อจำกัดในด้านต่าง ๆ นวัตกรรมต้นทุนต่ำสามารถตอบโจทย์กับปัญหาเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี เช่นในประเทศอินเดีย Harish Hande ผู้ก่อตั้งบริษัท SELCO ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านพลังงานแสงอาทิตย์ราคาถูกให้กับครัวเรือนมากกว่า 125,000 ครัวเรือนในพื้นที่ชนบทที่ห่างไกล โดยทางบริษัทใช้วิธีการสร้างเครือข่ายที่เป็นผู้ประกอบการระดับชาวบ้านให้เป็นผู้วางขายและบำรุงรักษาโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ในชุมชนท้องถิ่นของตน สําหรับความสำเร็จในครั้งนี้ ทำให้ Hande ได้รับรางวัล Ramon Magsaysay Award ในปี ค.ศ. 2011
ในประเทศจีน วิศวกร R&D ของบริษัท SIEMENS มีการนำนวัตกรรมต้นทุนต่ำมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบเครื่อง CT Scanner ที่มีระบบการทำงานแบบง่าย ๆ ใช้พลังงานน้อย ไม่จำเป็นต้องพึ่งช่างเทคนิค ช่วยลดต้นทุน ซึ่งดีต่อการติดตั้งในโรงพยาบาลในพื้นที่ที่ห่างไกล ทำให้สามารถสแกนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย
และสำหรับในประเทศเปรูซึ่งเป็นประเทศที่มีปริมาณน้ำฝนน้อยแต่มีความชื้นสูง วิศวกรท้องถิ่นได้คิดค้นป้ายโฆษณาที่สามารถแปลงความชื้นให้เป็นน้ำดื่มได้ โดยสามารถผลิตน้ำดื่มได้ปริมาณเกือบ 10,000 ลิตรในสามเดือนเลยทีเดียว ชี้ให้เห็นว่าความท้าทายของนวัตกรรมต้นทุนต่ำคือจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับสถานการณ์และวัฒนธรรมในท้องถิ่นนั้น ๆ ด้วย และถ้าต้องการให้นวัตกรรมต้นทุนต่ำประสบความสำเร็จ จะต้องมีการเชื่อมโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีความเกี่ยวข้องทุก ๆ ฝ่าย ทั้ง ผู้ประกอบการ นักออกแบบ นักการเงิน ผู้ผลิต และผู้จัดจําหน่ายเข้าด้วยกัน
ลงทุนศาสตร์ – Investerest
ติดตามบทความดีดีกดที่นี่เลย FACEBOOK , OFFICIAL LINE และ WEBSITE
พิเศษ! เข้ากลุ่มเรียนหุ้นออนไลน์ฟรีกับลงทุนศาสตร์แบบไม่มีเงื่อนไขได้ที่ : เรียนหุ้นฟรีกับลงทุนศาสตร์
อ้างอิง
https://ideas4development.org/en/frugal-innovation-new-approach-pioneered-in-the-global-south/
https://www.icfi.nl/about-us/about-frugal-innovation
https://www.unicef.org/innovation/frugal
อัพเดทล่าสุดเมื่อ :
Frugal Innovation นวัตกรรมต้นทุนต่ำ ทางเลือกธุรกิจรูปแบบใหม่ - ลงทุนศาสตร์
Read More
No comments:
Post a Comment