Rechercher dans ce blog

Monday, September 5, 2022

พลิกชีวิตเกษตรกรไทย ทางเลือกใหม่ ในวันที่ไม่มียาสูบ - กรุงเทพธุรกิจ

"ยาสูบ" คือ ตัวละครหนึ่งที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตคนไทย ตั้งแต่เคยมีบทบาทสำคัญจากการเป็นพืชในพิธีกรรมรักษาในอดีต และต่อมากลายเป็นพืชสร้างเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกในปัจจุบัน แต่เมื่อยาสูบคือองค์ประกอบหลักในการผลิตบุหรี่และผลิตภัณฑ์ยาสูบที่เป็นปัจจัยต้นเหตุในการทำลายสุขภาพ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่สังคมไทยจำเป็นต้องลดการผลิต การจำหน่าย และการบริโภคผลิตภัณฑ์

วันนี้ ด้วยปัจจัยหลายประการ ทั้งจากมาตรการควบคุมยาสูบของภาคนโยบาย การลดโควตาการรับซื้อใบยาสูบกับเกษตรกร รวมถึงการเกิดผลิตภัณฑ์บุหรี่ชนิดใหม่ๆ ที่พึ่งพายาสูบน้อยลง ทำให้อัตราการความต้องการยาสูบกำลังลดลง ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกใบยาไม่น้อย เพื่อที่เราจะไม่ต้อง "ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" ในการขับเคลื่อนเพื่อลดอุปสงค์ยาสูบ ด้วยการควบคุมยาสูบและบุหรี่ให้ลดลง จึงจำเป็นต้องขับเคลื่อนด้านอุปทาน หรือฝ่ายผลิตเช่นกัน

ในเวทีประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 20 เรื่อง "บุหรี่ไฟฟ้า ภัยซ่อนเร้นในสังคม" ที่จัดโดย แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ จึงเป็นหนึ่งการระดมแนวคิด ร่วมกันหาทางออกให้แก่เกษตรกรชาวไร่ยาสูบไทย ในวันที่ไม่ต้องพึ่งพิงรายได้ยาสูบอีกต่อไป ที่ถูกหยิบยกพูดคุยผ่านเวทีย่อย "ได้เวลา..วิถีสุขใหม่ ชาวไร่ยาสูบไทย"

พลิกชีวิตเกษตรกรไทย ทางเลือกใหม่ ในวันที่ไม่มียาสูบ

  • วิถีใหม่ เกษตรกรยาสูบไทย

แม้ที่ผ่านมา ในทัศนะของสังคมมักตีตรา "เกษตรกรชาวไร่ยาสูบ" ว่าเป็น "ผู้ร้าย" ที่สร้างภัยสังคม แต่ความจริงเป็นแล้ว ชาวไร่ยาสูบ เองก็มีคุณภาพชีวิต ฐานะความเป็นอยู่ในระดับต่ำ ไม่ต่างจากเกษตรกรอื่นๆ ทั่วไป

เรื่องดังกล่าว ยืนยันโดยผลการวิจัยของ รศ.ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ หน่วยปฏิบัติการวิจัยและวิชาการด้านการควบคุมยาสูบภาคเหนือ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยจากข้อมูลปัจจุบันในการสำรวจผู้ปลูกยาสูบทั้งสามพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์เตอกิช ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พันธุ์เบอร์เลย์ ในภาคเหนือตอนล่าง และพันธุ์เวอร์จิเนียร์ในภาคเหนือตอนบน กำลังมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 

โดยในภาคเหนือจะลดจำนวนรายผู้ปลูก แต่มีผลผลิตสูง สะท้อนว่า เป็นการปลูกแบบนายทุนเป็นหลักคือ ได้รับโควตา ขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกเบอเลย์และเตอกิช เป็นเกษตรกรรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบมากกว่า โดยอายุเฉลี่ยชาวไร่ยาสูบค่อนข้างเป็นผู้สูงอายุ นั่นคือ 52-84 ปี โดยกว่า 64 - 65% ไม่ได้เรียนหนังสือ มีรายได้ 129,000 บาทต่อปี ซึ่งรายได้ดังกล่าวถือเป็น 82% ของรายได้ทั้งปี ด้วยอายุที่มากขณะเดียวกันปีมีแนวโน้มว่าไม่มีลูกหลานทำต่อ ทำให้โอกาสที่จะลงทุนลงแรงเริ่มต้นใหม่จึงเป็นเรื่องยาก นอกจากนี้ กว่า 96.7% มีหนี้สิน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ยากที่จะเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น เพราะไม่มีต้นทุนเพียงพอ 

พลิกชีวิตเกษตรกรไทย ทางเลือกใหม่ ในวันที่ไม่มียาสูบ

"จะเห็นได้ว่า ภาพรวมคุณภาพชีวิตของชาวไร่ยาสูบ รายได้ค่อนข้างต่ำ จึงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ หากมองว่ากลุ่มไหนต้องได้รับการช่วยเหลือก่อน เรามองไปที่กลุ่มคนที่อยากเลิกปลูกก่อนอันดับแรก ซึ่งแนวโน้มคือกลุ่มชาวไร่ยาสูบพันธุ์เบอเลย์ ซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อย น่าจะมีความต้องการเลิกมากกว่าเวอร์จิเนีย 1.3 เท่า และหากมีที่ดินตัวเองพร้อมจะเริ่มกับที่ดินนั้นได้ง่ายเพราะไม่ต้องจ่ายค่าเช่า เราไม่มุ่งเน้นว่าชาวไร่ยาสูบต้องเปลี่ยนอาชีพ แต่ภายใต้บริบทที่พบจากงานวิจัยว่า ชาวยาสูบยังมีคุณภาพชีวิตไม่ดี ซึ่งทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสุขภาพ ทำให้เราคงต้องหาทางออกร่วมกัน หรือทางเลือกที่จะช่วยยกระดับชีวิตเขาให้ดีขึ้น" รศ.ดร.จักรพันธ์ กล่าว

ส่วนวาทกรรมที่ว่า เพราะเกษตรกร ชาวไร่ยาสูบ ไม่ช่วยตัวเองหรือไม่ทำอะไรเลยนั้น รศ.ดร.จักรพันธ์ ยืนยันว่าไม่จริง เพราะเขาได้ลองมาแล้ว ลงทุนเอง แต่ด้วยข้อจำกัดมีพื้นที่น้อย ทำให้ไม่คุ้มทุน และพืชบางชนิดอายุยาวนาน หากโตไม่ทันน้ำท่วมก็เสียหาย การปลูกพืชบางชนิดก็ไม่มีตลาดรับซื้อและเขายังขาดทักษะประสบการณ์ เพราะปลูกยาสูบตลอดชีวิต

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือ รศ.ดร.จักรพันธ์ เสริมว่า นโยบายประเทศจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายว่าจะลดลงจำนวนเท่าไร และควรมีกองทุนช่วยด้านการเงินทั้งในการช่วยชดเชยเงิน การให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำไปชำระหนี้สิน เป็นต้น ขณะเดียวกันควรสร้างการรวมกลุ่ม เพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง หรือกำหนดราคาที่เป็นธรรมมากขึ้น  

  • ยุคทองของยาสูบกำลังหมดไป

สอดคล้องกับอีกหนึ่งผลการวิจัยจาก ผศ.ดร.ขวัญฤทัย ศิริพัฒนโกศล ในโครงการวิจัย เรื่องการพัฒนายุทธศาสตร์เพื่อลดอุปทาน ของยาสูบ : กรณีการสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ในทางเศรษฐกิจแทนการปลูกยาสูบ และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมในส่วนของการเพาะปลูกและการผลิตยาสูบ เมื่อปี 2563 โดยมีการสำรวจกลุ่มตัวอย่างเกษตรกร จำนวน 414 คนใน 3 จังหวัดที่มีการปลูกยาสูบหนาแน่นคือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบนและภาคอีสาน โดยข้อมูลที่สำรวจพบวิจัยมีความสอดคล้องกับวิจัยของ รศ.ดร.จักรพันธ์ ทั้งในเรื่องอายุ ฐานะเศรษฐกิจรายได้ 

"ข้อสรุปที่เราได้คือ ยาสูบ มันเหมือนเป็นมรดก เป็นอาชีพที่ทำมาทุกเจนเนอเรชัน แต่เรากำลังมองว่า โชคดีที่รุ่นหลังยังไม่ได้รับมรดกตกทอดนี้ ซึ่งเราสามารถใช้โอกาสด้านอายุและการเปลี่ยนแปลงด้านศึกษาที่ดีขึ้นของคนรุ่นหลังที่จะเปลี่ยนแปลงได้ และในหลักการทำงานจำเป็นต้องใช้คนในพื้นที่เข้ามาช่วย" ผศ.ดร.ขวัญฤทัย กล่าว 

ขณะที่ในการศึกษาสัมภาษณ์เชิงลึกยังพบว่า เกษตรกรมีหนี้สินหลักจากการกู้ยืมเงินหลายแหล่ง รวมถึงการเป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรกรณ์การเกษตร เมื่อถามถึงค่าใช้จ่ายหลัก เกษตรกรไม่สามารถตอบได้ว่าเอาเงินไปใช้จ่ายด้านใด ดังนั้น อีกส่วนหนึ่งที่รัฐต้องตระหนักคือ การจะเปลี่ยนแปลงชีวิตเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบอาจไม่ใช่เพียงการส่งเสริมให้ปลูกพืชอย่างเดียว แต่ต้องสอนในด้านอื่นๆ เช่น ความรอบรู้ด้านการจัดการรายได้ (Financial Literacy) ไม่เช่นนั้น อาจไม่สามารถยกระดับเกษตรกรได้

อีกหนึ่งอุปสรรคที่ ผศ.ดร.ขวัญฤทัย วิเคราะห์คือการถูกมองเป็นขั้วตรงข้ามของสังคม ซึ่งมีความรุนแรงไม่น้อยในระดับพื้นที่ รวมถึงความไม่ชัดเจนต่อเนื่องในนโยบาย ในยุทธศาสตร์การสนับสนุนกิจกรรมทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ในทางเศรษฐกิจ ซึ่งเสนอแนะให้รัฐบาลต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนในเรื่องนี้ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ รวมถึงการสนับสนุนในด้านเงินทุน งบประมาณ เพื่อลดหรือสร้างทางเลือกเศรษฐกิจใหม่ให้กับเกษตรกร

"นอกจากนี้ เกษตรกรถูกมองเป็นคู่ตรงข้าม การขับเคลื่อนจึงยากในเรื่องการได้รับความร่วมมือ เขาไม่รู้สึกว่าเขามีส่วนในการตัดสินชีวิตตัวเอง แม้รัฐจะผลักดันนโยบาย ฉะนั้นเกษตรกรควรอยู่ในเวทีการพูดคุย หรือมีส่วนร่วม เพื่อให้เป็นการยอมรับ ไม่ใช่การถูกบังคับให้ปฏิบัติตาม รวมถึงการพัฒนาเขาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ เราควรสร้างความเท่าเทียมตั้งแต่การเข้าถึงต่างๆ เช่นเดียวกับเกษตรกรประเภทอื่นๆ ไปจนถึงการเสนอปลูกพืชทางเลือกที่ตอบโจทย์ตลาดแท้จริง" ผศ.ดร.ขวัญฤทัย กล่าว

  • เปลี่ยนยากคือ "ทัศนคติ"

ดำรงศักดิ์ วันแอเลาะ ผู้อำนวยการส่วนมาตรฐานและพัฒนาการจัดเก็บภาษี 2 สำนักมาตรฐานและพัฒนาการ จัดเก็บภาษี 1 กระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรมสรรพสามิตมีภารกิจในการจัดเก็บรายได้ ในรอบที่ผ่านมา ยาสูบ เป็นพืชระยะสั้นที่ปลูกเป็นรอบๆ ซึ่งกระทรวงการคลังจึงมีมาตรการชดเชยในส่วนที่ลดโควตา และการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ 

พลิกชีวิตเกษตรกรไทย ทางเลือกใหม่ ในวันที่ไม่มียาสูบ

กระทรวงการคลังได้ให้ความช่วยเหลือในปี 2561-2562 แก่เกษตรกรที่โดยชดเชยให้ชาวไร่ที่ลดโควตา 159 ล้านบาท และในปี 2562-2563 กำลังดำเนินการต่อเนื่อง คาดว่าจะจ่ายเสร็จสิ้นในเดือนสิงหาคมนี้ นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการพืชทดแทนหนึ่งชุด ให้การประชาสัมพันธ์ปลูกพืชอื่นทดแทน ทั้งกลุ่ม พืชยืนต้น และพืชล้มลุก อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ต้นหอม หอมแดง หอมแบ่ง ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการปลูกมันฝรั่ง เนื่องจากเป็นพืชที่ปลูกแล้วสร้างรายได้ใกล้เคียงยาสูบมากที่สุด แต่ก็จำต้องอาศัยทักษะเกษตรกรที่ยอมจะดำเนินการเรียนรู้ โดยทางคณะทำงานมีการร่วมมือกับผู้ประกอบการบริษัท มันฝรั่งเลย์ในจังหวัดน่านในอนาคต

"แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือเปลี่ยนยากคือ ทัศนคติ เกษตรกรชาวไร่บางส่วนยังคิดว่าโควตาจะกลับมาเหมือนเดิม จึงไม่ยอมเปลี่ยนวิธีการสร้างรายได้เพิ่มช่องทางอื่น อีกปัญหาหนึ่ง เนื่องจากยาสูบไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ทำให้หน่วยงานด้านส่งเสริมการเกษตรจึงไม่ค่อยให้ความสำคัญ จึงไม่มีงบประมาณการช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นหากจะให้เกษตรกรเปลี่ยน ทางหน่วยงานหลักที่มีบทบาทด้านนี้ต้องขับเคลื่อนให้ความสำคัญ ถ้าเกษตรกรมีทัศนคติดีที่จะต้องการเปลี่ยนแปลง ผมว่ามันไปได้" ดำรงศักดิ์ กล่าว

  • ต้นแบบ "เลิกปลูก เลิกพึ่งพิง"

หนึ่งตัวอย่างจากการขับเคลื่อนในพื้นที่ ถูกถ่ายทอดโดย ไฟซอล สะเหล็ม เจ้าหน้าที่มูลนิธิสร้างสุข มุสลิมไทย ผู้รับผิดชอบโครงการเลิกปลูก เลิกสูบ เลิกยาเส้น เพื่อลดการพึ่งพิงยาสูบ ครอบครัวปลอดภัย ชุมชนสดใสไร้ยาสูบ เล่าถึงความสำเร็จของโครงการว่ามีเป้าหมายคือการลดต้นน้ำของกระบวนการผลิตบุหรี่

ไฟซอล กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการลดพื้นที่ปลูกใบยาสูบ ตัดดอุปทาน และเพิ่มช่องทางสร้างรายได้จากอาชีพต้นทางสู่การพัฒนาชุมชนเป็น "ชุมชนต้นแบบ" ซึ่งโครงการดำเนินการนำร่องในสามจังหวัด สงขลา สตูล และพัทลุง นำเสนอแนวคิดปลูกพืชทดแทนยาสูบ

ไฟซอล ชี้แจงถึงพฤติกรรมของชาวไร่ยาสูบภาคใต้ต่อไปว่า มีความแตกต่างกับภาคอื่น ส่วนใหญ่เป็นอาชีพเสริมและปลูกเพื่อสูบเอง ซึ่งมีสามกลุ่มหลัก ได้แก่ หนึ่ง ปลูกไว้สูบเองในครัวเรือน สอง ปลูกทั้งสูบเองและขายสร้างรายได้เสริม สองกลุ่มทำเชิงพาณิชย์ โดยกลุ่มสาม เรามองว่ายากที่เขาจะเปลี่ยนแปลง จึงไม่ชักชวนเข้าร่วมโครงการนี้

พลิกชีวิตเกษตรกรไทย ทางเลือกใหม่ ในวันที่ไม่มียาสูบ

"ทัศนคติคนที่นี่ต้องการปลูกเองเพราะเขาบอกว่า สบายใจ เนื่องจากไม่นิยมบุหรี่มวน การปลูกเองจึงไม่มีสารเคมี แถมยังลดค่าใช้จ่ายและสร้างรายได้ให้ครอบครัว ดังนั้นโครงการเริ่มจากคำนวณต้นทุนการปลูกให้ทราบ ซึ่งค่าใช้จ่ายจะตกอยู่ประมาณ 48,000 บาทต่อไร่ต่อปี ไม่รวมค่าแรง โดยเกษตรกรจะได้กำไรเฉลี่ยวันละ 124 บาทต่อวัน จากนั้นจะนำเสนอให้ปลูกพืชทดแทนอื่นที่ให้อัตรารายได้ใกล้เคียงกัน โดยเราไม่มีการกำหนดชนิดพืชให้ชาวบ้าน แต่ให้พื้นที่เลือกเองให้เหมาะสมตามบริบทพื้นที่ เช่น สตูล เป็นพื้นที่ภูเขาเขาก็อยากปลูกไผ่เพื่อแปรรูปเฟอรนิเจอร์ อีกส่วนคือ พืชผักสวนครัว เราใช้การชวนให้เขาเลิกซื้อผักกินมาเป็นปลูกสวนผัก แทนสวนยาสูบ เพื่อลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน ยกตัวอย่าง การปลูกยาสูบภาคใต้จะปลูกปีละครั้ง แต่เราเสนอปลูกแตงกวา ซึ่งสามารถปลูกได้สามครั้งต่อปี แต่สร้างกำไรเฉลี่ยถึง 300 กว่าบาทต่อวัน นอกจากนี้ยังมีการปลูกต้นกาแฟ เพาะเห็ด ปลูกถั่วลิสง เป็นต้น" ไฟซอล กล่าว

จากระยะการดำเนินกิจกรรมมาประมาณ 3 - 4 ปี โดยมี 60 ครัวเรือน จาก 16 ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ หลังดำเนินการพบว่า มีกว่า 30 ครัวเรือนที่สมัครใจเลิกปลูก ซึ่งปัจจัยความสำเร็จเกิดจาการร่วมพลังของแกนนำในชุมชนทั้งเกษตรกรอำเภอ ปราชญ์ชาวบ้าน และคนในพื้นที่ เมื่อคำนวณเป็นพื้นที่แล้ว ในภาพรวมสามารถลดพื้นที่ลงได้ประมาณ 6.92 ไร่ หรือลดการผลิตบุหรี่ได้กว่า 276,800 มวน หรือ 13,844 ซอง

Adblock test (Why?)


พลิกชีวิตเกษตรกรไทย ทางเลือกใหม่ ในวันที่ไม่มียาสูบ - กรุงเทพธุรกิจ
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...