ระหว่าง พ.ศ. 2534-2538 ครั้งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงประชวร พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทอดพระเนตรจากชั้นบนสุดของ รพ.ศิริราช ปริมาณรถจากฝั่งพระนครจำนวนมากรอขึ้นสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เพื่อออกนอกเมืองไปตามถนนบรมราชชนนี ส่งผลให้รถติดตลอดถนนราชดำเนินไปจนถึงถนนหลานหลวง
พระองค์ทรงร่างแผนผังลายพระหัตถ์การแก้ไขปัญหาจราจรพระราชทานไปยังกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต่อมาจึงเกิดโครงการพระราชดำริทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี ทรงพิจารณาแล้วว่า การก่อสร้างถนนเพื่อคู่ขนานกับถนนบรมราชชนนีในแนวระนาบมีอาคารก่อสร้างชิดผิวจราจรทั้งสองฟากถนน หากเวนคืนจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน
กทม. ได้ก่อสร้างทางคู่ขนานลอยฟ้าจากแยกอรุณอมรินทร์ถึงคลองบางกอกน้อยระยะทาง 3.2 กิโลเมตร (กม.) และกรมทางหลวง (ทล.) รับผิดชอบก่อสร้างจากคลองบางกอกน้อยไปจนถึงแยกพุทธมณฑลสาย 2 ระยะทาง 9.4 กม. ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ ไปทรงวางศิลาฤกษ์เริ่มโครงการวันที่ 16 เม.ย.2539 เสด็จฯ ไปทรงเปิดทางคู่ขนานลอยฟ้าฯ เมื่อวันที่ 21 เม.ย.2541 รวมทั้งทรงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จฯ ทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนีด้วย
รายละเอียดโครงการทางคู่ขนานลอยฟ้าฯ ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง 9.4 กม. ใช้งบก่อสร้าง 4,461,609,680 บาท เริ่มตั้งแต่ตอนชุมทางต่างระดับสิรินธร-แยกพุทธมณฑล กม.3+386 ถึง กม.13+200 บนทางหลวงหมายเลข 338 (สายบางกอกน้อย-นครชัยศรี หรือถนนบรมราชชนนี)
เป็นสะพานยกระดับสูง 15 เมตร กว้าง 19.50 เมตร ขนาด 4 ช่องจราจร แยกทิศทางไปกลับข้างละ 2 ช่อง กว้างช่องละ 3.50 เมตร มีทางขึ้นลง 2 แห่ง นอกจากนี้ยังขยายถนนพื้นล่างเพิ่มจาก 8 ช่องเป็น 12 ช่องเป็นช่องทางด่วน 6 ช่อง และทางคู่ขนานด้านละ 3 ช่อง พร้อมสะพานกลับรถ 2 แห่ง ช่วยระบายการจราจรพื้นที่ชั้นในกรุงเทพฯ ออกนอกเมืองและสู่ภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันตกและภาคใต้ด้วยความสะดวก รวดเร็วและมีความปลอดภัยยิ่งขี้น เนื่องจากมีช่องจราจรรองรับถึง 16 ช่อง
ล่าสุด ทล. มีแผนพัฒนาขยายโครงการทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนีระยะทางรวม 21.34 กม.งบประมาณ 15,250 ล้านบาท ขนาด 4 ช่องจราจร ได้ศึกษาความเหมาะสมและออกแบบแล้วเสร็จ รวมทั้งจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เรียบร้อยเมื่อปี 61 แบ่งก่อสร้างเป็น 2 ช่วง ได้แก่
1.ช่วงพุทธมณฑลสาย 3 (ส่วนต่อขยายจากสาย 2)-พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง 3.360 กม. งบ 3,000 ล้านบาท ได้ของบฯ ก่อสร้างในปี 66 แต่ไม่ได้รับจัดสรร จะพิจารณาเสนอขอรับงบใหม่ในปี 67 เพื่อก่อสร้างต่อไป ถ้าได้รับงบปี 67 จะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี ให้แล้วเสร็จในปี 70
2.ช่วงพุทธมณฑลสาย 4-ทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ระยะทาง 17.980 กม. งบ 12,250 ล้านบาท คาดว่าจะเสนอขอรับงบก่อสร้างปี 71-75 ตามแผนต่อไป
น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ สถิตในดวงใจตราบนิจนิรันดร์ …ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์
น้อมรำลึกในหลวง ร.9 ต่อขยายทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี - เดลินิวส์ออนไลน์
Read More
No comments:
Post a Comment