กสทช.เดินตามกฤษฎีกา ไฟเขียวควบรวมทรู-ดีแทค นักกฎหมายชี้ประธานบอร์ดมาถูกทาง ยึดหลักตามกฎหมาย ไม่เลือกปฏิบัติ
เมื่อวันที่ 20 ต.ค.65 ดร.รุจิระ บุนนาค อาจารย์พิเศษ นักวิชาการและนักกฎหมาย ได้ให้ความเห็นต่อกรณีการควบรวมทรู-ดีแทค ซึ่งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติเสียงข้างมากรับทราบการรวมธุรกิจ ตามประกาศ ปี 2561 พร้อมกำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และการพัฒนากิจการโทรคมนาคม ว่า กสทช.มาถูกทางที่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง และสอดคล้องตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ทั้งนี้เพราะการควบรวมทรูและดีแทค เป็นการที่สองบริษัทควบรวมกันและเกิดเป็นบริษัทใหม่ (A+B=C) ซึ่งเป็นกรณีที่เรียกว่า Amalgamation ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้าไปมีอำนาจ Take Over หรือควบคุมในผู้รับใบอนุญาตอีกฝ่าย แต่เป็นการควบรวมกันและเกิดเป็นบริษัทใหม่ ตามประกาศจึงไม่ได้กำหนดให้ กสทช.มีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาต แต่ยังคงมีอำนาจในการกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ดร.รุจิระ กล่าวต่อว่า ดังนั้นจึงต้องยึดตามประกาศของ กสทช. ปี 2561 ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า กสทช.ไม่มีอำนาจพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตการรวบกิจการ แต่มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ สอดคล้องกับผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ กสทช.ได้ให้ศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ และข้อสรุปของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความเห็นและให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่รัฐบาล และหน่วยงานทางราชการ ทั้งสองหน่วยงานมีบทสรุปที่สอดคล้องกันว่า กสทช. ต้องพิจารณาตามประกาศของ กสทช. พ.ศ.2561 ดังนั้น กสทช.จึงมีหน้าที่รับทราบเพียงเท่านั้น แต่ไม่ได้มีอำนาจว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตควบรวม ทั้งนี้ต้องขอชื่นชมประธาน กสทช.ที่มีภาวะผู้นำสูง กล้าตัดสินใจชี้ขาดให้เดินตามกฎหมายประกาศปี 2561 และไม่เลือกปฏิบัติ จึงถือเป็นทางออกที่ถูกต้อง
"ต้องยอมรับว่าประธานบอร์ดมีภาวะผู้นำสูงมาก กล้าตัดสินใจในเรื่องยาก ที่สังคมจับจ้องและมีธงไว้อยู่แล้ว ถือว่าประธาน บอร์ด กสทช.ได้นำพาคณะกรรมการ กสทช.ให้ทำหน้าที่ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้เพราะ กสทช.เป็นองค์กรอิสระที่อยู่ภายใต้กฎหมาย และคณะกรรมการ กสทช.ก็ถือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ จึงถูกควบคุมโดยกฎหมายนี้ ตามมาตรา 172 ที่ระบุว่า เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ อย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวังโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้อาจจะรวมไปถึงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่ได้กำหนดความผิดไว้เช่นกันด้วย" ดร.รุจิระ กล่าว
นอกจากนี้ ดร.รุจิระ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า บอร์ด กสทช.ชุดนี้ แตกต่างกับที่ผ่านมาตรงที่ไม่มีนักกฎหมาย ถูกเลือกเข้ามาเป็น บอร์ด กสทช.เลย จึงไม่มีผู้ที่คอยชี้นำแนวทางที่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย โดยเฉพาะในเรื่องควบรวมนี้ ที่การพิจารณาประเด็นด้านข้อกฎหมาย ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญมาก ตามประกาศปี 2561 ไม่ได้ปิดกั้นอำนาจของ กสทช. ทั้งนี้เพราะ กสทช.สามารถพิจารณากำหนดเงื่อนไขหรือมาตราการเฉพาะมาบังคับใช้ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้ ซึ่งมั่นใจว่า กสทช.จะออกมาตรการหรือเงื่อนไขที่ทำให้เดินหน้าต่อไปได้ ทั้งในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และการพัฒนาภาคโทรคมนาคมไทยให้ก้าวหน้า
"นักกฎหมาย" ชี้ กสทช.มาถูกทาง เดินตามกฤษฎีกา ไฟเขียวควบรวม "ทรู-ดีแทค" - ไทยรัฐ
Read More
No comments:
Post a Comment