Rechercher dans ce blog

Wednesday, October 26, 2022

ถาม-ตอบ : พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ | สุมาพร มานะสันต์ - กรุงเทพธุรกิจ

ปัญหาและที่มา

ปัญหาก่อนหน้านี้ คือ กฎหมายที่มีอยู่หลายฉบับกำหนดให้การปฏิบัติราชการหรือการติดต่อกับประชาชนต้องใช้สำเนาหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือจำกัดวิธีหรือรูปแบบในการติดต่อราชการเฉพาะการติดต่อด้วยตัวบุคคล ณ สถานที่ทำการ หรือนำส่งเอกสารต่าง ๆ ทางไปรษณีย์

อันเป็นผลให้หน่วยงานของรัฐไม่สามารถนำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการปฏิบัติราชการได้อย่างเต็มรูปแบบ (ซึ่งที่ผ่านมาบางหน่วยงานที่ไม่มีข้อติดขัดทางกฎหมาย และข้อจำกัดทางงบประมาณได้มีการนำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการแล้วบ้าง)

ดังนั้น ที่มาของ พ.ร.บ. ปฏิบัติราชการอิเล็กทรอนิกส์ คือ การตรากฎหมายกลางเพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดทางกฎหมายที่เป็นอุปสรรคของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้การดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์มีผลสมบูรณ์ในทางกฎหมาย

        ใช้กับทุกหน่วยราชการหรือไม่?

       คำตอบ คือ “ไม่” โดย พ.ร.บ. ปฏิบัติราชการอิเล็กทรอนิกส์จะใช้กับหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน ยกเว้น

(๑) รัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด (๒) หน่วยงานของรัฐในฝ่ายนิติบัญญัติ (๓) หน่วยงานของรัฐในฝ่ายตุลาการ (๔) องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ (๕) องค์กรอัยการ และ (๖) หน่วยงานอื่นของรัฐที่กำหนดในกฎกระทรวง

อย่างไรก็ดี พ.ร.บ. ปฏิบัติราชการอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ได้กำหนดห้ามการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานที่ได้รับการยกเว้น เช่น หน่วยงานฝ่ายตุลาการก็สามารถออกข้อกำหนดของศาลว่าด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ของตนเองได้

และหากประสงค์จะอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับนี้ ไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน ก็สามารถเสนอให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาได้ (ม. ๔ วรรคสอง)

ถาม-ตอบ : พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ | สุมาพร มานะสันต์ 

ทั้งนี้ สำหรับหน่วยงานที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายฉบับนี้ เช่น ราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น จะต้องใช้ พ.ร.บ. ปฏิบัติราชการอิเล็กทรอนิกส์กับทุกหน่วยในหน่วยงาน โดยไม่อาจเลือกปฏิบัติเพียงบางส่วนของกฎหมาย หรือให้มีผลใช้บังคับเฉพาะเพียงบางหน่วยในหน่วยงานได้

 ประชาชนใช้วิธีการอิเล็กทรอนิกส์ในกระบวนการใดได้บ้าง?

         พ.ร.บ. ปฏิบัติราชการอิเล็กทรอนิกส์กำหนดให้ประชาชนสามารถยื่นคำขอ จ่ายเงิน หรือติดต่อราชการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยให้ถือว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ของรัฐจะปฏิเสธไม่รับคำขอนั้นเพียงเพราะเหตุที่ผู้ขออนุญาตใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้ (เว้นแต่เป็นเรื่องที่เป็นการดำเนินการเฉพาะตัว ดังที่จะกล่าวในหัวข้อถัดไป)

ประชาชนยื่นคำขอโดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ได้ทุกเรื่องหรือไม่?

         คำตอบ คือ “ไม่ทุกเรื่อง” กล่าวคือ ในหลักการทั่วไป เรื่องใดก็ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องขออนุญาต ผู้ขออนุญาตสามารถเลือกยื่นคำขอ รวมถึงส่งเอกสารหลักฐานประกอบคำขอโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

โดยมีข้อยกเว้นว่า พ.ร.บ. ปฏิบัติราชการอิเล็กทรอนิกส์ จะไม่ใช้กับการขออนุญาตที่ผู้ยื่นคำขอจะต้อง “ดำเนินการเป็นการเฉพาะตัว” เช่น การสมรส การหย่า การรับบุตรบุญธรรม การขอมีบัตรประจำตัวประชาชน และการขอออกหนังสือเดินทาง เป็นต้น

เมื่อหน่วยงานรัฐประสงค์จะตรวจสอบความถูกต้องของบัตรประชาชนต้องทำอย่างไร?

          ในกรณีที่หน่วยงานรัฐ (ผู้อนุญาต) ประสงค์จะตรวจสอบความถูกต้องของบัตรประจำตัวประชาชนที่ประชาชนได้ยื่นประกอบการขออนุญาต ให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ หรือ ผู้อนุญาต ในการตรวจสอบความถูกต้อง

ถาม-ตอบ : พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ | สุมาพร มานะสันต์ 

โดยให้ติดต่อกับสำนักทะเบียนกลางตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเพื่อดำเนินการตรวจสอบ และให้เป็นหน้าที่ของนายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนกลางที่จะตรวจสอบและแจ้งผล ทั้งนี้ ให้กระทำโดยพลันผ่านวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

ประชาชนสามารถแสดงใบอนุญาตแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้หรือไม่?

“ได้” หากเอกสารประเภทนั้นไม่ได้ถูกประกาศกำหนดในกฎกระทรวงให้ต้องแสดงตัวจริงเท่านั้น

ดังนั้น ในหลักการ กฎหมายกำหนดให้ประชาชนที่ต้องแสดงใบอนุญาตหรือเอกสารหลักฐานต่าง ๆ สามารถแสดงเป็นภาพทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นก็ได้ (เช่น การแสดงภาพใบอนุญาตที่ถ่ายเก็บไว้ในอุปกรณ์สื่อสาร)

หรือในกรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่ต้องปิดใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผยตามข้อกำหนดของกฎหมาย ก็สามารถแสดงใบอนุญาตนั้นโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ทั้งนี้ อาจต้องพิจารณาข้อกำหนดในการปิดใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานที่ให้ใบอนุญาตประกอบด้วย

           ในทางกลับกัน หน่วยงานของรัฐผู้อนุญาต ย่อมมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลการอนุญาตที่เป็นปัจจุบันให้ประชาชนสามารถตรวจสอบผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยสะดวกและไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วยเช่นกัน

ถาม-ตอบ : พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ | สุมาพร มานะสันต์ 

การติดต่อหรือยื่นคำขอทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ถือเอาวันและเวลาราชการใด?

           หากประชาชนได้ส่งคำขอหรือติดต่อทางอิเล็กทรอนิกส์ถึงหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ถือว่าหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นได้รับข้อความดังกล่าวตามวันและเวลาที่คำขออนุญาตหรือการติดต่อนั้นได้เข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานของรัฐหรือของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น เว้นแต่ หากเป็นการส่งนอกเวลาราชการ หรือนอกเวลาทำการของหน่วนงานดังกล่าว ให้ถือว่าหน่วยงานของรัฐได้รับข้อความอิเล็กทรอนิกส์นั้น ในวันและเวลาทำการถัดไป

ใช้บังคับเมื่อไร?

การบังคับใช้จะแบ่งเป็นสองกลุ่ม กล่าวคือ 1) กลุ่มที่มีผลใช้บังคับทันที ได้แก่ (1) มาตรา 12 เรื่อง การพิจารณาอนุญาต (2) มาตรา 15 วรรคสอง เรื่อง การติดต่อ หรือส่งเรื่องถึงกันในระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน

(3) มาตรา 19 เรื่องการจัดทำกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ และ (4) มาตรา 22 เรื่องการเร่งรัดให้หัวหน้าหน่วยงานของรัฐประกาศกำหนดช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชนในการติดต่อราชการ

2) กลุ่มที่ให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 ม.ค. 2566 ได้แก่ มาตราอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น

ท้ายที่สุด ที่ผู้เขียนเล่ามาทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของหลักการภายใต้ พ.ร.บ. ปฏิบัติราชการอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกฎหมายฉบับดังกล่าวปัจจุบันมีผลใช้บังคับเพียงบางส่วน เนื่องจากอยู่ระหว่างการเตรียมการของหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงการจัดทำกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดรายละเอียดในส่วนต่าง ๆ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์

ดังนั้น ผู้ศึกษาเรื่องดังกล่าวควรติดตามเนื้อหาของกฎหมายลำดับรอง รวมถึงประกาศของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในส่วนที่เกี่ยวกับการนำกระบวนทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ปฏิบัติราชการและบริการประชาชนต่อไป.

คอลัมน์ Legal Vision : นิติทัศน์ 4.0 

ดร.สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

กระทรวงการคลัง

Adblock test (Why?)


ถาม-ตอบ : พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ | สุมาพร มานะสันต์ - กรุงเทพธุรกิจ
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...