หากอ้างอิงตามข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ล่าสุด ที่คาดการณ์ว่าภาพรวมการบริโภคใน ตลาดโปรตีนทางเลือก ที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่ในปี 2565 นี้ อาจเติบโตแบบชะลอตัว โดยคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 4,100 ล้านบาท ขยายตัว 5.1% จากปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นสัดส่วน 11.2% ของตลาดโปรตีนทางเลือกทั้งหมดในไทย (Alternative Proteins) ที่มีมูลค่า 36,500 ล้านบาท จากที่คาดจะโตได้ราว 7.0%
ถ้าย้อนกลับไปพิจารณาว่า ตลาดโปรตีนทางเลือก ทั่วโลกบูมขึ้นมาได้อย่างไร ก็คงคาดเดากันได้ไม่ยากว่าเป็นเพราะกระแสรักสุขภาพ รวมถึงการตื่นตัวในเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนทางธรรมชาติ ทำให้ผู้บริโภคกินเนื้อสัตว์น้อยลง และหันมาบริโภคมังสวิรัติและวีแกนกันมากขึ้น
โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตลาดโปรตีนทางเลือกจึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2564 โดยมีมูลค่า 3,900 ล้านบาท แต่ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา และค่าครองชีพสูงขึ้น กอปรกับราคาสินค้าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับสินค้าอาหารกลุ่มโปรตีนทั่วไป จึงมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ และกลายเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้ประกอบการต้องเจอในปีนี้
ทว่า ถ้าคิดในทางกลับกัน หากไม่มีผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพ ในปี 2565 ตลาดโปรตีนทางเลือก ถือเป็นตลาดที่มาแรงใน พ.ศ. นี้ก็ว่าได้ เนื่องจากอาจเติบโตได้ราว 7.0% จากปีก่อนโดยปัจจุบันโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่ในไทย 90% ของมูลค่าตลาดรวมจะอยู่ในกลุ่มอาหาร และอีก 10% จะอยู่ในกลุ่มเครื่องดื่ม
รู้ทันโจทย์ท้าทายของผู้ประกอบการไทยใน ตลาดโปรตีนทางเลือก
นอกจากประเด็นเรื่องกำลังซื้อแล้ว ตลาดโปรตีนทางเลือก ยังมีโจทย์ท้าทายรออยู่หลายด้านที่น่าจะสร้างแรงกดดันอย่างมากให้กับผู้ประกอบการในปัจจุบันได้ไม่น้อย โดยแรงกดดันที่ผู้ประกอบการต้องเจอคือ
-
การแข่งขันที่เริ่มรุนแรงจากจำนวนผู้เล่นที่เพิ่มขึ้น
จากตัวเลขการเติบโตอย่างโดดเด่นของตลาดโปรตีนทางเลือกในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เล่นเข้ามาทำตลาดกันอย่างจริงจังมากขึ้น และทำให้การแข่งขันรุนแรง ซึ่งอาจจะกระทบต่อผู้ประกอบการรายเล็กมากกว่ารายใหญ่
เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่จะมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะระบบการผลิตที่ครบวงจร การผลิตที่ประหยัดต่อขนาด และมีช่องทางจัดจำหน่ายของตนเองครอบคลุมทั่วประเทศ จึงทำราคาสินค้าได้ดี แข่งขันได้ ในขณะที่ผู้ประกอบการรายเล็กมักเผชิญกับข้อจำกัดดังกล่าว ทำให้มีต้นทุนการผลิตและค่าการตลาด อาทิ ค่า GP หรือค่าส่วนแบ่งการขาย เป็นต้น ที่สูงกว่าและเข้าถึงผู้บริโภคได้ยากกว่า
ดังนั้น จึงคาดว่าในระยะต่อไป การขับเคลื่อนของธุรกิจจะมาจากผู้ประกอบการรายใหญ่เป็นหลัก ขณะที่การปรับตัวสำหรับผู้ประกอบการรายเล็ก อาจอยู่ที่การรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง หรือการพิจารณาร่วมพัฒนาธุรกิจกับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจและผลักดันการเติบโตของตลาดนี้
-
ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดแรงกดดันต่อกำไรของธุรกิจ
ต้นทุนของธุรกิจที่สูงขึ้นมาจากวัตถุดิบหลักในการผลิตโปรตีนทางเลือกของไทย ซึ่งส่วนใหญ่ยังมาจากถั่วเหลือง และไทยยังพึ่งพาการนำเข้าถั่วเหลืองในสัดส่วนที่สูง ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์ราคาธัญพืชโลก ราคาพลังงานและค่าขนส่งที่ยังมีแนวโน้มขยับขึ้นได้อีกในช่วงที่เหลือของปี 2565 จึงอาจทำให้ธุรกิจมีภาระต้นทุนที่ขยับสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม การจะปรับขึ้นราคาสินค้าอาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยากในภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้ ส่งผลให้ในระยะข้างหน้า การพัฒนาวัตถุดิบทางเลือกน่าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เช่น ถั่วเขียว เห็ดแครง ขนุนอ่อน และจิ้งหรีด เป็นต้น ซึ่งมีโปรตีนสูงใกล้เคียงกัน โดยสิ่งสำคัญในการเลือกใช้วัตถุดิบใดๆ ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึง “ต้นน้ำ” หรือ “ระบบการผลิต” ที่ต้องมีความมั่นคงเพียงพอ รวมถึงคำนึงถึง “วัตถุดิบท้องถิ่น” ที่เป็นอัตลักษณ์เพื่อสร้างความแตกต่างควบคู่กันไปด้วย
เพราะฉะนั้น เมื่อต้องเจอโจทย์ท้าทายรอบด้าน ทั้งกำลังซื้อที่ลดลงแล้ว และการแข่งขันที่สูงจากผู้ประกอบการที่เข้ามาในตลาด รวมถึงต้นทุนที่สูงขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องรับมือให้พร้อมกับสภาพตลาดที่เปลี่ยนไป โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้แนะแนวทางการปรับตัวได้อย่างน่าสนใจ ด้วยการมองหาตลาด “ส่งออก” เพื่อขยายตลาดโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่
เนื่องจากการตอบรับในตัวสินค้าของผู้บริโภคในต่างประเทศมีค่อนข้างสูงกว่าตลาดในประเทศ สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่ที่สามารถเติบโตได้ดีในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 ทั้งในส่วนของโปรตีนทางเลือกจากพืช โดยมีมูลค่าการส่งออกราว 628.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 13.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยตลาดสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน เป็นต้น
นอกจากการขยายไปยังตลาดต่างประเทศแล้ว ผู้ประกอบการยังต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แตกต่าง เพื่อเอาชนะคู่แข่งในต่างประเทศ ผู้ประกอบการไทยยังอาจชูจุดแข็งความเป็นไทย เช่น เมนูอาหารไทย อาหารทะเลจากพืช เป็นต้น ตลอดจนกระบวนการผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และการสร้างเรื่องราวที่จูงใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพรวมตลาดโปรตีนทางเลือกในไทยปีนี้อาจจะเติบโตแบบชะลอตัว แต่เมื่อดูมูลค่าตลาดของอาหารกลุ่มนี้ที่ยังมีสัดส่วนน้อยเพียง 0.6% เมื่อเทียบกับตลาดอาหารในกลุ่มโปรตีนทั้งหมดในไทยที่คาดว่าในปี 2565 จะมีมูลค่ากว่า 7.16 แสนล้านบาท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็เชื่อว่า ช่องว่างทางการตลาดจึงยังมีอีกมากสำหรับการเติบโต เกมนี้อยู่ที่ว่าแบรนด์ไหนจะสามารถพัฒนารสชาติและราคาได้โดนใจผู้บริโภคได้มากกว่ากัน
ตามติดเทรนด์ใหม่มาแรง ‘Mycelium-based เนื้อเทียมจากเชื้อรา’
ทว่า แม้ ตลาดโปรตีนทางเลือก ในยุคนี้จะเติบโตได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ตามรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่กล่าวข้างต้น แต่ก็ยังมีเทรนด์ใหม่ๆมาให้อัปเดตกันอยู่ตลอด อย่างในวันนี้ ที่เราอยากมาอัปเดต เนื้อเทียมชนิดใหม่ ที่กำลังเป็นที่สนใจของผู้บริโภคในต่างประเทศไม่น้อย นั่นคือ Mycelium-based (โปรตีนจากเชื้อรา) ซึ่งถ้าอ้างอิงตามข้อมูลจาก ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร เปิดเผยว่า Mycelium-based ได้รับการคิดค้นและพัฒนาขึ้นโดย บริษัท Atlast Food และ Meati Foods ประเทศสหรัฐอเมริกา
และการคิดค้นในครั้งนี้ก็เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ความนิยมบริโภคเนื้อเทียมที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเทียมจากพืช เนื้อเทียมจากการเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ และเนื้อเทียมจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ
โดยผู้คิดค้นและพัฒนาได้เล็งเห็นช่องว่างในตลาดเนื้อเทียมที่ยังไม่มีเนื้อสัตว์ที่ผลิตมาจากเชื้อรา จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์นี้ขึ้นเพื่อเข้าแข่งขันแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดเนื้อเทียมมาบ้าง
Mycelium เป็นราที่มีเส้นใยคล้ายโฟม โดยใช้หัวเชื้อของเห็ดนางรมนำมาบ่มเพาะในถาดเพาะตามสภาวะที่เหมาะสมเพื่อให้มีการเติบโตในรูปแบบเส้นใยแทนการเติบโตแบบเห็ดปกติ ซึ่งมีความปลอดภัย และโปรตีนที่ได้มีโครงสร้างและโมเลกุลไม่ต่างจากเห็ดทั่วไป
ทั้งนี้ เส้นใยของ Mycelium มีความหนา 30 ไมครอน ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับมัดกล้ามเนื้อในเนื้อวัว จึงสามารถนำเส้นใยมาจัดเรียงให้มีช่องว่าง เนื้อสัมผัส ความแข็ง และลักษณะการจัดเรียงให้ใกล้เคียงกับของเนื้อวัวและโปรตีนจากเชื้อราที่ได้ยังมีกรดอะมิโนเหมือนในเนื้อสัตว์ และยังอุดมไปด้วยไฟเบอร์ วิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ เหมือนในพืช
และในวันนี้ โปรตีนจากเชื้อรา ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งถ้ามองในมุมผู้บริโภค โปรตีนจากเชื้อรานี้ เป็นเส้นใยที่ได้จากเชื้อราหรือเห็ดที่เป็นที่รู้จัก คุ้นเคย และรับประทานเป็นปกติอยู่แล้ว ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่เหมือนการสกัดโปรตีนหรือการสร้างเนื้อเทียมจากจุลินทรีย์ที่ได้รับการตัดแต่งพันธุกรรม จึงสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคเลือกรับประทานได้ง่ายกว่าแบบอื่น
ที่มา :
มีนวัตกรรมเพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอีกมากมาย
นวัตกรรมเอาใจ ‘ทาสแมว’ ทรายแมวจากมันสำปะหลัง แบรนด์คนไทย สร้างยอดขายปีแรก แตะ 5 ล้านบาท
Post Views: 1
อัปเดต ตลาดโปรตีนทางเลือก และเทรนด์ใหม่มาแรง 'Mycelium-based - Salika.co
Read More
No comments:
Post a Comment