หากแต่ยังเรียกร้องไปถึงการให้ “เสรีภาพแห่งการแสดงออก” รวมไปถึง “เสรีภาพของข่าวสาร” และ “นิติรัฐ” กับ “ความโปร่งใส” ด้วย
นั่นคือการข้ามเส้นของเรื่องการควบคุมโรคระบาดเข้าสู่เสรีภาพทางการเมืองที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่อาจจะยอมถอยได้
เพราะการดำรงอยู่ของพรรคอยู่ที่ความสามารถควบคุมและกำกับกิจกรรมทางการเมืองของสังคม
เสียงเรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่ออกมาร่วมการประท้วงครั้งนี้อาจจะยังห่างไกลจากการเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาจีนในเหตุการณ์ “จัตุรัสเทียนอันเหมิน” ที่ถูกปราบปรามอย่างหนักเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 1989
แต่ดูเหมือนว่าเมื่อเราได้เห็นและได้ยินเสียงเรียกร้องเหล่านี้ในหลายๆ เมืองหลักของจีนตลอดหลายวันที่ผ่านมา ก็เป็นเสียงสะท้อนจากในอดีตเมื่อ 33 ปีเช่นกัน
ต่างกันเพียงแต่ว่าวันนี้คนรุ่นใหม่ได้สรุปบทเรียนจากเหตุการณ์ 1989 และเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน
เช่น การประท้วงแบบอารยะขัดขืนด้วยการยืนชูกระดาษเปล่าในที่สาธารณะเพื่ออ้างได้ว่าไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย
หรือร่วมกันร้องเพลงชาติและเพลงรักชาติของจีน...เพื่อไม่ให้ทางการอ้างว่านี่เป็นความเคลื่อนไหวทำนองบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ
นักศึกษาคนหนึ่งตะโกนกลางวงประท้วงว่า
“เราร้องเพลงชาติมันไม่ได้ผิดกฎหมายอะไร การประชุมของพรรคคอมมิวนิสต์ก็เริ่มด้วยการร้องเพลงชาติเช่นกัน”
ข้อเรียกร้องของนักศึกษามหาวิทยาลัยชิงหวาต่อทางการมี 3 ข้อที่ไม่ได้ระบุถึงการเรียกร้อง “เสรีภาพและประชาธิปไตย” ทางการเมืองในภาพกว้าง
แต่เป็นการจำกัดเฉพาะที่เกี่ยวกับการประท้วงเรื่องมาตรการโควิดเป็นหลัก
นั่นคือ หนึ่ง ให้ปล่อยผู้ประท้วงที่ถูกจับออกมาโดยไม่มีเงื่อนไข โดยยอมรับ “ความชอบธรรม” ของการประท้วงครั้งนี้ว่ากระทำไปอย่างถูกกฎหมายเพื่อความถูกต้องชอบธรรม
สอง...ให้ประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะไม่เอาผิดกับผู้ประท้วงเหล่านี้ด้วยประการทั้งปวง และจะไม่มีการ “เช็กบิล” ภายหลัง
และสาม...ให้รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นออกกฎหมายยกเลิกมาตรการควบคุมการระบาดของโควิดที่เข้มข้นเกินเหตุ โดยให้ตราเป็นกฎหมายและให้ผ่านที่ประชุมสภาประชาชนที่จะมีขึ้นในเดือนมีนาคมปีหน้า
ทั้งหมดนี้ในคำเรียกร้องนั้น นักศึกษายืนยันว่าต้องทำเป็นตัวหนังสืออย่างเป็นทางการ
เพราะไม่เชื่อในคำมั่นสัญญาด้วยวาจาอีกต่อไป...เนื่องจากมีตัวอย่างในอดีตว่าการรับปากของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้านั้น เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้จริงใจและมิได้นำไปปฏิบัติอย่างจริงจังแต่อย่างใด
ประเด็นสำคัญคือ เจ้าหน้าที่ในระดับท้องถิ่นต้องดำเนินการมาตรการโควิดอย่างเคร่งครัด ไม่ยอมผ่อนปรนตามสถานการณ์ในแต่ละท้องที่ก็เพราะกลัวว่าตัวเองจะถูกรัฐบาลกลางลงโทษ
เจ้าหน้าที่รัฐกลัวเจ้านายตัวเองที่ปักกิ่งมากกว่ากลัวประชาชนที่เดือดร้อน
ทุกคนต้องการจะรักษาเก้าอี้ตัวเอง เพราะผู้กำชะตากรรมของพวกเขาไม่ใช่ประชาชนในชุมชน หากแต่คือหัวหน้าในสายงานของตนในเมืองหลวง
จึงเป็นที่มาของการใช้กฎกติกาเดียวกันสำหรับทุกท้องถิ่น ทั้งๆ ที่สถานการณ์ในแต่ละชุมชนนั้นมีความแตกต่างกันพอสมควร
คำถามใหญ่วันนี้คือ สี จิ้นผิง จะใช้วิธีแบบเดียวกับเติ้ง เสี่ยวผิง ที่ส่งรถถังและหน่วยปราบปรามจลาจลออกมาปราบปรามผู้ประท้วงหรือไม่
หากจะเลือกระหว่าง “ไม้แข็ง” กับ “ไม้นวม” ผมเชื่อว่า สี จิ้นผิง มีแนวโน้มที่จะใช้ไม้แข็งมากกว่า
เพราะการแสดงท่าทียอมถอยหรือประนีประนอมกับผู้ประท้วงอาจจะถูกตีความว่าเป็น “ผู้นำที่อ่อนแอ”
ในขณะที่ตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมา สี จิ้นผิง ได้พยายามกระชับอำนาจมาอยู่ที่ตัวเองเกือบจะทั้งหมด
เขาต้องการจะแสดงภาพของการเป็น “ผู้นำที่เข้มแข็งที่ประชาชนพึ่งพาได้”
แทนที่จะเป็น “ผู้นำที่ประชาชนชื่นชอบและพร้อมจะแบ่งปันอำนาจกับเสียงของเจ้าของประเทศ”
แต่นั่นคือความยากลำบากสำหรับสี จิ้นผิง
เพราะเขาย่อมจะตระหนักว่าการที่คนรุ่นใหม่ออกมาร่วมประท้วงครั้งนี้อย่างคึกคักนั้นเป็นสิ่งที่เขาเองไม่เคยคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น
เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา สี จิ้นผิง ได้แสดงถึงความเข้าใจที่ว่าเขาได้นำพาประเทศให้ก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีที่เปิดโอกาสให้กับคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในการสร้างอาชีพที่รุ่งเรืองเฟื่องฟูมาก
จากคำกล่าวของผู้นำจีนที่ผ่านมา ทำให้เราเชื่อว่าพวกเขามีความมั่นใจว่าคนรุ่นใหม่ของจีนไม่เหมือนคนรุ่นใหม่ทางตะวันตก...ในประเด็นที่ว่าคนหนุ่มสาวของจีนยุคนี้มีความภาคภูมิใจในความเป็นคนจีน และไม่ได้มีความเลื่อมใสในเรื่องของ “เสรีภาพของการแสดงออก” หรือ “ประชาธิปไตย” เหมือนตะวันตกแต่อย่างไร
แต่การแสดงออกของผู้ประท้วงเรื่องโควิดรอบนี้กลับไม่ได้เป็นไปในแบบที่ผู้นำจีนเคยคาดคิดเอาไว้
เพราะการเรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองแบบส่วนบุคคลแทนที่จะเน้น “ความมั่นคงของสังคมจีน” โดยไม่ท้าทายอำนาจรัฐและพรรคนั้นเป็นสิ่งที่ออกนอกกรอบของพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่น้อยเลย
น่าสนใจอย่างยิ่งว่า เมื่อ สี จิ้นผิง ที่ต้องการเน้น “ความเป็นจีนยุคใหม่ที่แตกต่างไปจากตะวันตก” กำลังเผชิญกับเสียงเรียกร้องขอ “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น” มายืนอยู่ตรง “ทางแยก” ที่ต้องเลือกเดิน
การตัดสินใจของท่านผู้นำจะเลือกเดินทางไหน จะเป็นตัวชี้ถึงทิศทางของประเทศจีนในวันข้างหน้าอย่างมีนัยสำคัญด้วยเช่นกัน.
ท่ามกลางเสียงประท้วง สี จิ้นผิง จะเลือกทางไหน? - ไทยโพสต์
Read More
No comments:
Post a Comment