Rechercher dans ce blog

Wednesday, June 14, 2023

คอลมนการเมอง - เมออาเซยนจะกลายเปนองคกรทางทหาร - หนงสอพมพแนวหนา

            ประเทศอาเซียนได้ประกาศว่าจะร่วมกันซ้อมรบครั้งใหญ่ในทะเลจีนใต้ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งแน่นอนว่าประเทศอาเซียนเกือบทุกประเทศจะเข้าร่วมการซ้อมรบดังกล่าว และการซ้อมรบนี้เมื่อเป็นการซ้อมรบในทะเลจีนใต้ก็จะเป็นการซ้อมรบทางนาวีครั้งสำคัญของอาเซียนและของภูมิภาคนี้


            ต้องเข้าใจว่าการซ้อมรบดังกล่าวไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งหรือเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ของสหรัฐ เพราะประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าร่วมหรือเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก แต่ประการใด และคงมีบางประเทศเท่านั้นที่ได้เข้าร่วมหรือเกี่ยวข้องตามมากและตามน้อย

            ที่สำคัญคือประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา รวมทั้งมาเลเซีย ได้ประกาศจุดยืนชัดเจนไม่เข้าร่วมกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก เพราะมีความสัมพันธ์และมีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับกลุ่มประเทศองค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ทั้งจีนและรัสเซีย ในขณะที่เวียดนามก็ยังดำรงตนเป็นอิสระและวางตัวเป็นกลางเช่นเดียวกับบรูไน ในขณะที่อินโดนีเซียได้พยายามรักษาสมดุลของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับองค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ได้อย่างดียิ่ง

            จะมีก็แต่ฟิลิปปินส์ที่ได้ยินยอมให้สหรัฐเข้ามาตั้งฐานทัพเพิ่มถึง 4 แห่ง และกลายเป็นฐานทัพสำคัญของสหรัฐในภูมิภาคทะเลจีนใต้ไปแล้ว

            เมื่อการซ้อมรบทางนาวีของอาเซียนดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ดังนั้นการซ้อมรบนี้จึงไม่ได้กระทบต่อทั้งยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก และกลุ่มประเทศองค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศจะต้องทำความเข้าใจให้ดี มิฉะนั้นก็จะถูกนำไปขยายผลให้เข้าใจผิดว่าอาเซียนทั้งหมดได้เข้าเป็นส่วนของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่มั่นคงและเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นในภูมิภาคนี้

            ก่อนหน้าที่จะมีอาเซียน สหรัฐได้นำประเทศในเอเชียอาคเนย์หลายประเทศจัดตั้งเป็นองค์การป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียอาคเนย์หรือซีโต้ โดยประเทศไทยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญที่สุดของกลุ่มประเทศซีโต้นั้น

            แม้จะใช้ชื่อว่าองค์การป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียอาคเนย์ แต่แท้ที่จริงก็คือองค์การรุกรานประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียอาคเนย์ที่อยู่ภายใต้บงการของสหรัฐ โดยมีประเทศไทยเป็นกองบัญชาการใหญ่ในการรุกรานนั้น

            เป้าหมายแห่งการรุกรานก็คือประเทศอินโดจีนทั้งเวียดนาม ลาว และกัมพูชา โดยประเทศไทยยอมให้สหรัฐเข้ามาตั้งฐานทัพขนาดใหญ่มากในหลายพื้นที่ของประเทศไทย และส่งเครื่องบินเหล่านี้เข้าไปทิ้งระเบิดสังหารผลาญชีวิตและทำร้ายชาวอินโดจีนบาดเจ็บล้มตายกว่าล้านคน ซึ่งเป็นบาดแผลใหญ่ของชาวอินโดจีนจนกระทั่งทุกวันนี้

            ประเทศไทยได้ส่งทหารเข้าร่วมรบในสงครามอินโดจีนชนิดสุดลิ่มทิ่มประตู ในลักษณะที่ประเทศไทยตกเป็นเมืองขึ้นหรืออยู่ใต้อาณัติของประเทศผู้รุกราน และในที่สุดสงครามรุกรานนั้นก็ปราชัยย่อยยับ ต้องแตกทัพออกจากเวียดนามชนิดกระเจิดกระเจิงและหนีกลับบ้านกันแทบไม่ทัน

            กองทัพเวียดนามได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดในเวียดนาม รวมเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้เข้าเป็นประเทศเดียวกัน ในขณะที่พรรคประชาชนลาวก็ได้รับชัยชนะและครองอำนาจรัฐในประเทศลาวตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ส่วนเขมรแตกเป็นสามฝ่าย และในที่สุดกองทัพเวียดนามก็เปิดยุทธการบัวบานรุกเข้ายึดกัมพูชาทั้งประเทศได้ในเวลา 7 วัน

            กองทัพเวียดนาม 300,000 คน หลั่งไหลเข้ามาใกล้ชายแดนประเทศไทย และด้วยความร่วมมือไทย-จีน จึงเกิดสงครามสั่งสอนขึ้นที่ตอนเหนือของเวียดนามใกล้กับมณฑลกวางสี จนเวียดนามต้องถอนทหาร 300,000 คน กลับไปยันศึก ความสงบเรียบร้อยจึงกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง

            ต่อมาได้มีการตั้งกลุ่มอาเซียนขึ้น โดยมีประเทศไทยและมาเลเซียเป็นแกนหลัก เพื่อเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ และไม่เกี่ยวกับการทหาร ต่อมาประเทศต่างๆ ก็ได้เข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นจนมีถึง 10 ประเทศ และกลายเป็นขุมกำลังทางเศรษฐกิจหลักขุมหนึ่งของโลก

            เป็นขุมกำลังทางเศรษฐกิจที่มีประชากร 650 ล้านคนรองรับในดินแดนประเทศที่กำลังพัฒนา ดังนั้นจึงมีพลานุภาพและอำนาจต่อรองระหว่างกลุ่มเศรษฐกิจต่าง ๆ ของโลกได้เป็นอย่างดี และมีบทบาทส่งเสริมความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของภาคีสมาชิกเป็นที่ประจักษ์ชัด

            ครั้นสหรัฐได้ประกาศยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ที่ถือจีนเป็นภัยคุกคามที่จะต้องป้องกันขัดขวางทุกรูปแบบทุกมิติ แม้กระทั่งการทำสงคราม ก็ได้กำหนดพื้นที่ตามยุทธศาสตร์นี้เป็นสามภูมิภาคคือภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย ภูมิภาคมหาสมุทรแปซิฟิก และภูมิภาคอาเซียน โดยตั้งกลุ่มแกนปฏิบัติการทางทหารของยุทธศาสตร์ดังกล่าวในแต่ละภูมิภาค โดยประกาศให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในแกนอาเซียน

            ซึ่งประเทศไทยไม่เคยปฏิเสธและได้ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ตามแถลงการณ์ร่วมยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ไม่น้อยกว่า 30 กิจกรรม ดังนั้นประเทศอาเซียนทั้งหลายจึงตระหนักสังวรร่วมกันว่ากำลังตกเป็นเป้าหมายที่จะถูกใช้เป็นฐานทัพ หรือเป็นกองบัญชาการประสานงานทางการทหารตามยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ด้วย

            ดังนั้นการซ้อมรบดังกล่าวซึ่งเป็นการซ้อมรบทางทหารครั้งสำคัญของอาเซียน จึงต้องจำแนกแยกแยะให้ชัดเจนว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดและเป็นสาเหตุให้ยกระดับความขัดแย้งและความรุนแรงในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้นอีก

            เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติและความปลอดภัยของประเทศไทย เป็นภารกิจอันสำคัญของรัฐบาลที่จะต้องสร้างสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่เข้าเป็นฝักฝ่ายในความขัดแย้งใด ๆ ซึ่งมีแต่มหันตภัยแก่ประเทศชาติและประชาชน.

Adblock test (Why?)


คอลัมน์การเมือง - เมื่ออาเซียนจะกลายเป็นองค์กรทางทหาร - หนังสือพิมพ์แนวหน้า
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...