การสกัดทั้งดาวรุ่งหรือดาวค้างฟ้า ไม่ให้ประสบความสำเร็จ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลายครั้งในแวดวงการเมือง และที่ผ่านมาก็มีเหยื่อจากความพยายามเช่นนี้แล้วหลายคน
อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มีมาตราหนึ่งที่ต้องการลดการกลั่นแกล้งทางการเมืองลง โดยเฉพาะกับผู้ที่พยายามลดความน่าเชื่อถือ (ดิสเครดิต) ของผู้สมัคร ส.ส.
มาตราดังกล่าว คือ มาตรา 143 มีข้อความ 4 "วรรค" ตามภาษากฎหมาย หรือ 4 "ย่อหน้า" ตามภาษาคนทั่วไป
ย่อหน้าแรกพูดถึงการห้ามทำให้คนอื่นเข้าใจผิดว่าผู้สมัครทำผิดกฎหมายฉบับนี้ ส่วนย่อหน้าที่ 2 พูดถึงการห้ามแกล้งให้ผู้สมัครถูกเพิกถอนสิทธิ ส่วนมาตราที่ 3 พูดถึงการห้ามกลั่นแกล้งแล้วไปร้องเรียน ส่วนย่อหน้าสุดท้าย ถ้าหัวหน้าพรรคหรือคณะกรรมการบริการพรรคใดมีส่วนรู้เห็น ให้ถือว่าพรรคนั้นทำลายความมั่นคงของประเทศ
ส่วนข้อความเต็มๆ ของมาตรา 143 มีดังนี้
"ผู้ใดกระทําการอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าผู้สมัครผู้ใดกระทําการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน สี่หมื่นบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนดห้าปี
ถ้าการกระทําตามวรรคหนึ่งเป็นการเพื่อจะแกล้งให้ผู้สมัครนั้นถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือ สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพื่อไม่ให้มีการประกาศผลการเลือกตั้ง ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนดยี่สิบปี
ถ้าการกระทําตามวรรคหนึ่งเป็นการแจ้งหรือให้ถ้อยคําต่อคณะกรรมการ ต้องระวางโทษจําคุก ตั้งแต่เจ็ดปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ของผู้นั้นมีกําหนดยี่สิบปี
ถ้าการกระทําตามวรรคสองหรือวรรคสามเป็นการกระทําหรือก่อให้ผู้อื่นกระทําสนับสนุนหรือ รู้เห็นเป็นใจของหัวหน้าพรรคการเมืองหรือคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้น กระทําการอันเป็นการบ่อนทําลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย พรรคการเมือง"
เปิดข้อกฎหมายห้ามกลั่นแกล้งทางการเมือง ใครละเมิดต้องเจอโทษอะไรบ้าง - Sanook
Read More
No comments:
Post a Comment