Rechercher dans ce blog

Wednesday, July 12, 2023

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์: สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ "รับคำร้องทางธุรการ" คดีหุ้นสื่อไอทีวีพิธา พ่วงปมหาเสียง ม.112 "ล้มล้างการปกครอง" - บีบีซีไทย

.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ศาลรัฐธรรมนูญ "รับคำร้องทางธุรการ" วินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส. ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) สิ้นสุดลงหรือไม่ กรณีถือครองหุ้นสื่อไอทีวี พร้อมรับคำร้องวินิจฉัยกรณีนายพิธา และพรรคก้าวไกล หาเสียงเลือกตั้งด้วยการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่ โดยให้ทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน

เอกสารข่าวของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่เผยแพร่ต่อสื่อมวลชนในวันนี้ (12 ก.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. มีขึ้นภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีหุ้นสื่อในวันเดียวกัน

เอกสารข่าวระบุว่า กรณีคำร้องของ กกต. ที่ยื่นคำร้องกรณีขอให้วินิจฉัยคุณสมบัติ ส.ส. ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ ฉบับลงวันที่ 12 ก.ค. 2566 ว่าได้ลงรับคำร้องในทางธุรการแล้ว โดยจะเสนอคำร้องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 49 ต่อไป

นอกจากนี้ เอกสารข่าวของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ยังระบุผลการพิจารณากรณีคำร้องของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความอดีตพระพุทธอิสระ ที่ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีที่นายพิธา หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้งและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

เอกสารของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุผลการพิจารณาว่า นายธีรยุทธ ผู้ร้อง ได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสองแล้ว แต่อัยการสูงสุดมิได้ดำเนินการตามที่ร้องขอภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสาม ที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ จึงมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย ตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (3) และให้นายพิธาและพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 1 และ 2 ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับสำเนาคำร้อง

เอกสารยังระบุด้วยว่า เพื่อประโยชน์แก่การพิจารณา แจ้งอัยการสูงสุดว่า หากอัยการสูงสุดได้รับพยานหลักฐานใดเพิ่มเติม ให้จัดส่งศาลรัฐธรรมนูญโดยเร็ว

มติ กกต. ส่งเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ ปมหุ้นไอทีวีพิธา

เอกสารของ กกต. ที่เผยแพร่ต่อสื่อมวลชนก่อนหน้านี้ ระบุว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้เสนอรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีมีหลักฐานปรากฏว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดในวันสมัครรับเลือกตั้ง อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 82 วรรคสี่ ให้ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา ในวันอังคารที่ 11 ก.ค. 2566

วันนี้ (12 ก.ค. 2566) คณะกรรมการการเลือกตั้ง พิจารณาเรื่องดังกล่าวต่อจากการประชุมคราวที่แล้ว เห็นว่า สมาชิกภาพของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีเหตุสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98 (3) จึงให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป

กรณีที่ กกต. ยื่นของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย อันเนื่องมาจากเหตุที่นายพิธา มีชื่อถือครองหุ้นสื่อ บริษัท ไอทีวี จำกัด มหาชน จำนวน 42,000 หุ้น

.

ที่มาของภาพ, กกต.

ก้าวไกล ชี้กระบวนการโหวตนายกฯ ยังเดินหน้าต่อ

ภายหลัง กกต. มีมติดังกล่าว นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงหลังเสร็จสิ้นการประชุมสภาฯ ว่า มติของ กกต. ส่งกรณีถือหุ้นไอทีวีของนายพิธาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เป็นการกระทำที่ขัดต่อระเบียบของ กกต. เอง จากการอ้างกรณีคำวินิจฉัยกรณีเงินกู้พรรคอนาคตใหม่

เขาชี้ว่า ข้อกฎหมายและกระบวนการไม่สามารถเทียบเคียงกันได้ อีกทั้งหาก กกต. เห็นว่า ส.ส. ที่ได้รับเลือกตั้งขาดคุณสมบัติ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 (และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม) ก็มีกระบวนการรองรับที่ชัดเจนว่า ต้องดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหา และเปิดโอกาสให้นายพิธาชี้แจงข้อกล่าวหา ตามระเบียบดังกล่าว

เลขาธิการพรรคก้าวไกล ยังตั้งข้อสังเกตถึงความรีบเร่งของ กกต. ที่มีมติตอนเช้า ก่อนส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีประชุมช่วงบ่าย เพื่อให้วินิจฉัยก่อนการโหวตนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (13 ก.ค.) และอ้างด้วยว่า ทราบข้อมูลว่า กกต. ได้เรียกผู้บริหารไอทีวีเข้าไปชี้แจง ซึ่งผู้บริหารไอทีวียืนยันว่า ไม่ได้ดำเนินธุรกิจสื่อ แต่เหตุใดจึงอ้างเหตุผลหลายข้อที่ไม่ให้นายพิธา เข้าไปชี้แจงกรณีนี้

"กกต. ใช้หลักฐานอะไรที่นำไปสู่ข้อสรุปที่ทำให้ กกต. เชื่อว่า พิธามีความผิดตามที่ได้ยื่นคำร้องจริง"

นายชัยธวัช แถลงข่าว โดยมี ส.ส. พรรคก้าวไกลยืนอยู่เคียงข้าง

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

นอกจากนี้ นายชัยธวัช กล่าวยืนยันว่า กระบวนการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญของ กกต. ไม่กระทบต่อการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (13 ก.ค.) เพราะเป็นกระบวนการคนละส่วนกัน แต่เชื่อว่ามีบางฝ่ายพยายามใช้กรณีนี้ในการอ้างเหตุผลไม่โหวตให้นายพิธา เป็นนายกฯ และอ้างว่าตนเองไม่จำเป็นต้องฟังเสียงของประชาชน

"ผมเชื่อว่าเรื่องนี้จะไม่เป็นเหตุที่ทำให้เกิดการเลื่อนการโหวตนายกรัฐมนตรี และเชื่อมั่นว่าประธานรัฐสภาจะมีหลักที่ชัดเจน" ชัยธวัช กล่าว

เลขาธิการพรรคก้าวไกล ยังเชื่อว่าจะมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มากเพียงพอ ที่มีสติ มีความเป็นธรรม มีวิจารณญาณที่เห็นว่าข้อกล่าวหากรณีหุ้นไอทีวียังไม่สามารถสรุปว่า นายพิธามีความผิด

"วันพรุ่งนี้ จะเป็นโอกาสและทางแยกของสังคมไทยว่า เราจะวนกลับไปสู่การเมืองที่ไม่เห็นหัวประชาชนเหมือนเดิม หรือจะเป็นโอกาสที่เราจะคืนความปกติให้กับระบอบประชาธิปไตยของไทยและพาประเทศไทยไปข้างหน้า ผู้อำนาจมีโอกาสที่จะเลือก และผมเชื่อว่าคราวนี้ประชาชนจะไม่ยอม" นายชัยธวัช ทิ้งท้าย

พิธาชี้ "มีความพยายามสกัดกั้นรัฐบาลเสียงข้างมาก"

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล กล่าวภายหลัง กกต. มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยคุณสมบัติ กรณีการถือครองหุ้นไอทีวีว่า "กระบวนการทั้งหมดเป็นเรื่องน่าสงสัย" และ "รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม" ในกรณีที่ กกต.ไม่ดำเนินการตามกระบวนการให้ชี้แจงข้อกล่าวหา ภายหลัง กกต. มีมติเพียงหนึ่งวันก่อนการลงมติเลือกนายกฯ ในวันพรุ่งนี้ (13 ก.ค.)

พิธา ชี้ว่า ไม่ว่าจะเป็นความพยายามเลื่อนการลงมติเลือกนายกฯ หรือความพยายามอ้างข้อบังคับสภาว่า การเสนอชื่อนายกฯ เพื่อลงมติทำได้เพียงครั้งเดียวทั้งที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ เป็นความตั้งใจฝืนรัฐธรรมนูญเพื่อสกัดการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก

"ผมต้องบอกว่า มีความพยายามที่จะสกัดกั้นรัฐบาลเสียงข้างมากของพี่น้องประชาชนที่จะเข้าสู่การบริหารประเทศในหลายรูปแบบ" นายพิธา กล่าว

ส่วนการโหวตนายกรัฐมนตรีของรัฐสภาในวันที่ 13 ก.ค. นายพิธายืนยันว่าจะยังดำเนินต่อไป

"ผมเป็นแคนดิเดตนายกฯ ยังไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้น คุณจะสั่งผมหยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้อย่างไร"

กกต. ประชุมต่อเนื่อง 10-12 ก.ค.

ตามที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และนายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 รวมถึงคณะกรรมมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมืองและมีการมีส่วนร่วมของประชาชนในวุฒิสภา นำโดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ. ที่เดินทางมาพร้อมกรรมาธิการเพื่อมอบหลักฐาน ร้องขอให้ กกต. ดำเนินการตรวจสอบการที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ถือหุ้นไอทีวี

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. กกต. มีประชุมเพื่อพิจารณาคำร้องตามมาตรา 82 ว่าด้วย สมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลงตามมาตรา 101 หรือมาตรา 111 แล้วแต่กรณีและให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้อง ส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่

คำร้องของผู้ร้องต่อ กกต. มีความว่า ในกรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หรือแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ถือครองหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) และเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) หลังจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่มีนายแสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงาน กกต. รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จ ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐาน ต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว

ท้ายสุด ประธาน กกต. ระบุว่า การประชุมในวันที่ 10 ก.ค. ไม่มีมติ แต่ยังมีการประชุมต่อเนื่อง มาจนถึงวันที่ 12 ก.ค. ที่ปรากฏว่า มีมติยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ช่วงเช้า วันที่ 12 ก.ค. พรรคก้าวไกล เผยแพร่แถลงการณ์ที่ส่งต่อสื่อมวลชน ระบุถึงการให้ข้อมูลของนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กรณีการส่งเรื่องถือหุ้นสื่อไอทีวีให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง

แถลงของก้าวไกล ระบุว่า ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 (และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม) กำหนดไว้ว่า กรณีที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของ กกต. พิจารณาแล้วเห็นว่ามีพยานหลักฐานสนับสนุนพอฟังได้ว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ย่อมต้องดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาตามระเบียบ และเปิดโอกาสให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ชี้แจงข้อกล่าวหาตามข้อ 57 และข้อ 58 แห่งระเบียบฉบับเดียวกัน แต่กลับไม่มีกระบวนการดังกล่าวต่อนายพิธา แต่อย่างใด

.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

"การที่ กกต. จะเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอ้างว่า เห็นว่ามีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอ โดยยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา และไม่เปิดโอกาสให้มีการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา โดยอ้างว่าเป็นเพียงการตรวจสอบข้อเท็จจริงเท่านั้น จึงไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดไว้ กรณีจึงเท่ากับว่า กกต. ปฏิบัติตามระเบียบแต่เพียงบางส่วน และจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่ตนได้ตราขึ้น อันอาจเป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้" แถลงการณ์ของพรรคก้าวไกล ที่ส่งต่อสื่อมวลชนเมื่อเวลา 10.46 น. ระบุ

แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า คดีหุ้นไอทีวี ไม่อาจนำกรณีตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 5/2563 หรือคดีเงินกู้ยุบพรรคอนาคตใหม่มาเทียบเคียงกับข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ เพราะเงินกู้ยุบพรรคอนาคตใหม่ เป็นการวินิจฉัยภายใต้มาตรา 93 ของ พ.ร.บ. พรรคการเมือง 2560 ซึ่งมีการนำระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 มาใช้บังคับโดยอนุโลม จึงไม่อาจนำแนวทางการตีความของศาลรัฐธรรมนูญในคดีดังกล่าวมาใช้บังคับแก่กรณีของพิธา ที่เป็นการยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ประกอบมาตรา 101 (6) และมาตรา 98 ได้

Adblock test (Why?)


พิธา ลิ้มเจริญรัตน์: สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ "รับคำร้องทางธุรการ" คดีหุ้นสื่อไอทีวีพิธา พ่วงปมหาเสียง ม.112 "ล้มล้างการปกครอง" - บีบีซีไทย
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...