"นายกฯ" ลงพื้นที่ตรวจไซต์ก่อสร้างรถไฟทางคู่สายอีสาน ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ โชว์ผลงานอุโมงค์รถไฟ คาดเสร็จปี 67 รองรับขบวนรถเพิ่มกว่า 2 เท่า ส่วนไฮสปีด "ไทย-จีน" คืบหน้า 23.95% เร่งสร้างเป้าเฟสแรก เปิดปี 71
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ งานอุโมงค์รถไฟผาเสด็จ ช่วงมาบกะเบา-หินลับ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี
วันที่ 17 ส.ค .2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ งานอุโมงค์รถไฟผาเสด็จ ช่วงมาบกะเบา-หินลับ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี
โครงการรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ มีระยะทาง 135 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 29,968.62 ล้านบาท มี 20 สถานี เริ่มต้นที่สถานีมาบกะเบา อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ผ่านพื้นที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี อำเภอปากช่อง อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน และสิ้นสุดโครงการที่สถานีชุมทางถนนจิระ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา แบ่งการก่อสร้างเป็น 4 สัญญา ประกอบด้วย
สัญญาที่ 1 การก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร ระยะทาง 58 กม. แบ่งเป็น การก่อสร้างทางรถไฟคู่ใหม่ระดับพื้น 30 กม. การก่อสร้างทางเดี่ยวระดับพื้น ขนานกับทางรถไฟเดิม 23 กม. และทางรถไฟยกระดับ 5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นทางรถไฟที่สูงที่สุดในประเทศไทย จุดสูงสุดประมาณ 48-50 เมตรจากระดับพื้นดิน ปัจจุบันมีความคืบหน้า 96.22% โดยงานก่อสร้างส่วนใหญ่ เช่น อาคารสถานีทั้ง 7 สถานี และทางยกระดับ ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว
สัญญาที่ 2 การก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 69 กม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับแบบร่วมกับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา
สัญญาที่ 3 การก่อสร้างอุโมงค์รถไฟ จำนวน 3 แห่ง โดยอุโมงค์ที่ 1 อยู่ระหว่างสถานีมาบกะเบา สถานีผาเสด็จ และสถานีหินลับ จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีความยาว 5.85 กม. กว้างประมาณ 7.50 เมตร สูง 7.00 เมตร ลักษณะเป็นอุโมงค์คู่ ทางเดี่ยว เป็นการออกแบบที่มีระบบความปลอดภัยค่อนข้างสูง ภายในอุโมงค์มีช่องอพยพผู้โดยสารทุกๆ ระยะ 500 เมตร กรณีที่เกิดเหตุสุดวิสัย ปัจจุบันมีความคืบหน้า 98.130%
อุโมงค์ที่ 2 อยู่ระหว่างสถานีหินลับ และสถานีมวกเหล็กใหม่ จังหวัดสระบุรี มีความยาว 650 เมตร กว้าง 11.00 เมตร สูง 7.30 เมตร ลักษณะเป็นอุโมงค์เดี่ยว ทางคู่ โดยช่องอุโมงค์ที่มีขนาดใหญ่กว่าอุโมงค์อื่นๆ ทำให้มองเห็นปากอุโมงค์ทั้งสองฝั่งได้อย่างชัดเจน ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ
อุโมงค์ที่ 3 อยู่บริเวณเขื่อนลำตะคอง ระหว่างสถานีคลองขนานจิตร อำเภอปากช่อง และสถานีคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา มีความยาวประมาณ 1.4 กิโลเมตร กว้าง 7.50 เมตร สูง 7.00 เมตร ลักษณะเป็นอุโมงค์คู่ ทางเดี่ยว ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ
สัญญาที่ 4 การจัดหาและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม มีความคืบหน้า 24.31% โดยในช่วงแรกจะเปิดใช้งานตั้งแต่สถานีซับม่วง สถานีจันทึก สถานีปากช่อง และสถานีคลองขนานจิตร
ทั้งนี้ คาดว่าจะก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จและเปิดเดินรถในทางคู่ใหม่บางส่วนได้ภายในปี 2567 เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยเสริมประสิทธิภาพการเดินขบวนรถได้อย่างสะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น สามารถรองรับขบวนรถเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 2 เท่า เนื่องจากขบวนรถโดยสารจะสามารถทำความเร็วสูงสุดเฉลี่ย 100-120 กม./ชม. จากเดิม 50 กม./ชม. และขบวนรถสินค้า จะสามารถทำความเร็วสูงสุดได้เฉลี่ย 60 กม./ชม. จากเดิม 29 กม./ชม. ทำให้ลดระยะเวลาการเดินทาง มีความตรงต่อเวลาของขบวนรถ เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาในการรอหลีกขบวนรถ ลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ และประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังแก้ปัญหาจุดตัดระหว่างทางรถไฟกับถนนให้เป็นทางต่างระดับทั้งหมด เพิ่มความปลอดภัย แก้ปัญหาอุบัติเหตุอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีและคณะได้ลงพื้นที่ โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา สัญญาที่ 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง ณ อุโมงค์มวกเหล็ก ซึ่งโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีระยะทางรวม 250.77 กม. มีจุดเริ่มต้นจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถึงสถานีปลายทางนครราชสีมา ทั้งหมด 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดติดตามการก่อสร้าง เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนงานภายในปี 2570 ปัจจุบันมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยได้ดำเนินการก่อสร้างช่วงกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. แล้วเสร็จ
"นายกฯ" ตรวจไซต์งานอุโมงค์ "รถไฟทางคู่" สายอีสาน สร้างเสร็จปี 67 ทยอยเปิดเพิ่มความจุทางกว่า 2 เท่า - ผู้จัดการออนไลน์
Read More
No comments:
Post a Comment