ส่งผ่านข่าวดีที่สำคัญไปยัง “ผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง” เมื่อบอร์ด สปสช. เคาะเพิ่มรายการสิทธิประโยชน์แผ่นปิดกะโหลกศีรษะเฉพาะบุคคลจาก 1 ชนิด เป็น 4 ชนิด โดยเพิ่มแผ่นปิดกะโหลกศีรษะที่ผลิตจากโลหะไทเทเนียมด้วยการพิมพ์แบบ 3 มิติ...ฝีมือคนไทย
พร้อมเร่งรณรงค์เรื่องการป้องกัน “อุบัติเหตุ” ทางถนน เพื่อลดจำนวนผู้ป่วย “ผ่าตัดสมอง” ในระยะยาว
ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 4 ก.ย.2566 ที่ผ่านมา รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอการเพิ่มสิทธิประโยชน์บริการแผ่นปิดกะโหลกศีรษะเฉพาะบุคคลผลิตจากโลหะไทเทเนียม
ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ สำหรับใช้กับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดสมอง และไม่สามารถใช้กะโหลกเดิมในการปิดศีรษะได้
สำหรับที่มาของสิทธิประโยชน์นี้เดิมที สปสช. ได้ให้สิทธิประโยชน์อุปกรณ์กะโหลกศีรษะเทียม (Cranioplastic Implant) รวมสกรูชุดละ 12,000 บาท ที่ผลิตจากวัสดุ Polymethylmethacrylate ที่ต้องปั้นขึ้นในห้องผ่าตัด แต่มีข้อจำกัดเนื่องด้วยวัสดุนี้ต้องใช้ระยะเวลาการคงรูปประมาณ 1 ชั่วโมงและอาจทำให้ไม่เข้ารูปบ้าง
อย่างไรก็ดี เมื่อขณะนี้มีบริษัทคนไทยที่สามารถผลิตแผ่นปิดกะโหลกศีรษะด้วยไทเทเนียมจากเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติขึ้นมาได้แล้ว และได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าในบัญชีนวัตกรรมไทยอีกรายการหนึ่ง ทั้งมีแผนที่จะขยายตลาดไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆทั่วโลก
อีกทั้งนวัตกรรมนี้ได้ผ่านการอนุมัติรับรองคุณภาพและมาตรฐานจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประกอบกับนโยบายของ สปสช. ที่ให้มีการพิจารณาจัดซื้อสินค้าจากบัญชีนวัตกรรมไทยก่อน
ดังนั้น คณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข จึงได้พิจารณากำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขใหม่ โดยมีการแยกประเภทของแผ่นปิดกะโหลกศีรษะขึ้นมาจาก 1 รายการเป็น 4 รายการ ประกอบด้วย 1.อุปกรณ์กะโหลกศีรษะเทียม (Cranioplastic Implant) ในราคา 12,000 บาท
โดยรายการนี้เป็นสิทธิประโยชน์เดิมที่มีอยู่แล้ว 2.แผ่นปิดกะโหลกศีรษะเฉพาะบุคคลผลิตจาก PMMA Plate การพิมพ์ 3 มิติ ราคา 25,000 บาท 3.แผ่นปิดกะโหลกศีรษะเฉพาะบุคคลผลิตจากโลหะไทเทเนียม การพิมพ์ 3 มิติ Titanium Plate (Indirect printing) ราคา 27,000 บาท
และ 4.แผ่นปิดกะโหลกศีรษะเฉพาะบุคคลผลิตจากโลหะไทเทเนียม การพิมพ์ 3 มิติ Titanium Printing (Direct printing) ราคา 48,000 บาท และเสนอให้บอร์ด สปสช. พิจารณาอนุมัติในครั้งนี้
โดยคาดว่า...จะมีผู้จำเป็นต้องใช้แผ่นปิดกะโหลกศีรษะ 1,066 รายต่อปี
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาฯ สปสช. บอกว่า ที่ประชุมบอร์ด สปสช. ได้พิจารณาเห็นชอบตามข้อเสนอนี้ ขณะเดียวกันเนื่องจากรายการอุปกรณ์ดังกล่าวมีราคาที่สูงกว่าของเดิมจึงให้ปรับเกลี่ยงบประมาณที่อาจเพิ่มขึ้นให้อยู่ภายในวงเงินงบประมาณเดิมที่เคยเบิกจ่ายต่อปี
รวมทั้งมอบหมายให้ สปสช. กำกับติดตามประเมินผลบริการแผ่นปิดกะโหลกศีรษะเฉพาะบุคคลผลิตจากโลหะไทเทเนียม และรายงานผลเพื่อทราบต่อไป
ทั้งนี้ที่ประชุมบอร์ดฯยังให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม ในการนำข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุทางถนนและข้อมูลผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับการผ่าตัดสมองมาวิเคราะห์ลงลึกในรายเขตพื้นที่ เพื่อดูว่าเขตพื้นที่ไหนที่มีปัญหาค่อนข้างมากและจัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รณรงค์ให้สวมหมวก กันน็อก...เคารพกฎจราจร
โดยมีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรับการผ่าตัดสมอง...ลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องใช้แผ่นปิดกะโหลกศีรษะในอนาคตอีกทางหนึ่งด้วยนั่นเอง
พลิกแฟ้มข้อมูลด้านการพัฒนาแผ่นปิดกะโหลกศีรษะจากโลหะไทเทเนียม รศ.ดร.บุญรัตน์ โล่ห์วงศ์วัฒน หัวหน้าทีมนักวิจัยจากบริษัทเมติคูลี่ จำกัดในฐานะที่เป็นนักวิจัย และยังเป็นภาคเอกชนที่คิดค้นนวัตกรรมนี้ขึ้นมายืนยันว่ามีความพร้อมสำหรับการผลิต เพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยได้ทันที
“ตั้งแต่ที่บอร์ด สปสช. เห็นชอบเพิ่มสิทธิประโยชน์ดังกล่าวให้กับผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง ขณะนี้มีโรงพยาบาลติดต่อเข้ามาที่บริษัทเมติคูลี่ประมาณ 3–5 แห่ง เพื่อจะใช้เวชภัณฑ์แผ่นปิดกะโหลกศีรษะจากโลหะไทเทเนียม ซึ่งถือเป็นการตอบรับที่รวดเร็วอย่างมาก”
สะท้อนให้เห็นว่านวัตกรรมทางการแพทย์ที่ผ่านการคิดค้นจากนักวิจัยไทยได้รับการยอมรับและเป็นที่ต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วย
เราพร้อมที่จะทำงานร่วมกันกับภาครัฐ พุ่งเป้าในการช่วยทำให้ “ผู้ป่วย” ที่ต้องปิดแผ่นกะโหลกศีรษะทั่วประเทศได้เข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพอย่างเท่าเทียม
สำหรับผู้ป่วยในประเทศไทยที่ต้องได้รับการรักษาด้วยการใช้แผ่นปิดกะโหลกศีรษะปัจจุบันคาดว่ามีทั้งผู้ป่วยหน้าใหม่และผู้ป่วยสะสมที่ต้องรอการรักษาด้วยการปิดกะโหลกอีกประมาณ 1,000-4,000 คนทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่พบว่าเป็นผู้ป่วยทั้งในวัยทำงานและวัยสูงอายุที่ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง (stroke)
น่าสนใจว่า...ผู้ป่วยเหล่านี้ เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ช่วยได้ทันแต่ก็ต้องได้รับการฟื้นฟู
เนื่องจาก “โรคหลอดเลือดสมอง” จะทำให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย ส่งผลให้การทำงานของสมองหยุดชะงัก...มีความผิดปกติของหลอดเลือดและความดันสมอง รวมถึงยังมีกลุ่มผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุทางท้องถนน...ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง ซึ่งมีจำนวนที่มากเช่นกันในประเทศไทย
โดย...บางรายจะต้องเปิดกะโหลกศีรษะ รักษาเสร็จแล้วก็ต้องปิดกลับไปด้วยเวชภัณฑ์ที่มีคุณภาพ เพื่อให้ป้องกันความเสียหายของเนื้อสมองและจะช่วยให้ความดันภายในสมองเป็นปกติ ซึ่งจะมีผลอย่างมากต่อการฟื้นฟูสมรรถภาพให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหรือใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด
นอกจากนี้ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มที่เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศใช้สิทธิบัตรทองสำหรับการรักษา ดูแลสุขภาพของตัวเองก็จะได้เข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ราคาสูงได้อย่างเท่าเทียม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ที่ผ่านมามีผู้ป่วยใช้เวชภัณฑ์แผ่นปิดกะโหลกศีรษะด้วยโลหะไทเทเนียมอยู่บ้าง แต่มักจำกัดอยู่ในกลุ่มคนที่มีกำลังจ่ายเนื่องจากเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีราคาสูง ขณะที่ผู้ป่วยที่มีรายได้ไม่มากนัก ก็เข้าถึงได้เช่นกันเพียงแต่ต้องประสานไปยังมูลนิธิต่างๆ เช่น มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ศิริราชมูลนิธิ
ซึ่งแน่นอนว่า...ก็จะมีงบประมาณในมูลนิธิที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยได้
“ไทเทเนียมที่นำมาผลิตเป็นเกรดสูงสุดทางการแพทย์ที่ใช้กับร่างกายมนุษย์ได้ รวมถึงยังเป็นวัสดุที่แข็งแรงและที่สำคัญแผ่นปิดกะโหลกศีรษะจากไทเทเนียม จะช่วยไม่ให้ผู้ป่วยต้องเปิดกะโหลกอีกเพื่อเปลี่ยนแผ่นปิด เพราะการเปิดกะโหลกบ่อยครั้งจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น”
นี่เป็นอีกก้าวสำคัญของวงการวิจัยทางการแพทย์ สะท้อนความเก่ง...ความเชี่ยวชาญของนักวิจัยไทยในการสร้างนวัตกรรม โดยเฉพาะนวัตกรรมที่เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งผลงานหลายชิ้นได้รับการยอมรับในต่างประเทศ.
เพิ่มสิทธิผ่าตัดสมอง ลดอุบัติเหตุทางถนน - ไทยรัฐ
Read More
No comments:
Post a Comment