Rechercher dans ce blog

Friday, December 29, 2023

6 เรื่องสุดยอดการค้นพบทางโบราณคดีแห่งปี 2566 - BBC.com

เหตุการณ์ที่จักรพรรดินีโรร้องเพลงและเล่นดนตรีขณะกรุงโรมมอดไหม้ อาจไม่ใช่เรื่องจริง (ภาพพิมพ์แกะไม้ลงสีโดย Tito Conti ศิลปินชาวอิตาเลียน)

ที่มาของภาพ, GETTY IMAGES

ในรอบปี 2566 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป มีการค้นพบทางโบราณคดีอันน่าทึ่งมากมายเกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพบเจอหลักฐานที่ทำให้เราต้องฉีกตำราประวัติศาสตร์ รวมทั้งเปิดเผยถึงความสามารถอันล้ำยุคล้ำสมัยเกินคาดของคนโบราณมากเป็นพิเศษในปีนี้ ซึ่งบีบีซีไทยรวบรวมมาให้ได้อ่านกันอย่างจุใจถึง 6 เรื่องด้วยกัน

โครงสร้างไม้เก่าแก่ที่สุดที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น

โครงสร้างไม้อายุเกือบห้าแสนปี ถูกฝังอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำกาลัมโบในประเทศแซมเบีย

ที่มาของภาพ, LARRY BARHAM

อาชีพช่างไม้นั้นอาจถือได้ว่าเป็นหนึ่งในอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดของโลก และช่างไม้คนแรกก็อาจมีถิ่นฐานอยู่ที่ประเทศแซมเบียในทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกาเมื่อหลายแสนปีก่อน เพราะในปีนี้ทีมนักโบราณคดีชาวอังกฤษ ได้ค้นพบโครงสร้างไม้อายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยประดิษฐ์ขึ้นมา ถูกฝังอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำกาลัมโบ (Kalambo River) ในประเทศดังกล่าว

ทีมสำรวจซึ่งนำโดยนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลของสหราชอาณาจักร พบขอนไม้ที่ประสานเชื่อมต่อกันด้วยรอยบาก ซึ่งชัดเจนว่าเกิดขึ้นจากการตัดไม้อย่างจงใจด้วยฝีมือมนุษย์ หลักฐานแวดล้อมยังทำให้พวกเขาสันนิษฐานได้ด้วยว่า ขอนไม้ที่นำมาขัดประสานกันนี้ อาจก่อขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของทางเดิน หรือฐานของโครงสร้างยกพื้นเหนือดินที่ชื้นแฉะในบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำดังกล่าว

ก่อนหน้านี้โครงสร้างไม้เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ถูกพบในทางตอนเหนือของอังกฤษ โดยมีอายุเก่าแก่เพียง 11,000 ปี ในขณะที่โครงสร้างไม้ซึ่งถูกค้นพบในครั้งนี้ มีอายุเก่าแก่ถึง 476,000 ปี นับว่าเก่าโบราณยิ่งกว่าต้นกำเนิดของมนุษย์ยุคใหม่หรือโฮโมเซเปียนส์ถึง 150,000 ปี

ทีมนักโบราณคดีผู้ทำการขุดค้นสันนิษฐานว่า โครงสร้างไม้นี้น่าจะเป็นฝีมือของมนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่เป็นญาติใกล้ชิดกับเรา อย่าง Homo heidelbergensis ซึ่งน่าประหลาดใจว่า มนุษย์โบราณเผ่าพันธุ์ดังกล่าวที่ชอบอพยพโยกย้ายถิ่นฐานไปทั่ว กลับประดิษฐ์โครงสร้างไม้ที่แสดงถึงการลงหลักปักฐาน โดยตั้งบ้านเรือนและชุมชนขึ้นอย่างถาวรหรือกึ่งถาวรในสถานที่เพียงแห่งเดียว

นอกจากโครงสร้างไม้ดังกล่าวแล้ว ยังมีการค้นพบขวานหิน, ขอนไม้ที่ถูกทำให้มีรูปทรงแบนราบลง, และเครื่องมือทำจากไม้ 4 ชิ้น ที่มีอายุเก่าแก่ระหว่าง 324,000 -390,000 ปี ในบริเวณใกล้เคียงด้วย โดยร่องรอยที่พบบนขอนไม้ท่อนหลังนี้ ไม่ต่างจากรอยขุดหรือรอยแหว่งในเนื้อไม้ ซึ่งมักเกิดจากการใช้อุปกรณ์บนโต๊ะทำงานของช่างไม้เลย

แผ่นกระดาษจากหนังสือเล่มแรกของโลก

กระดาษพาไพรัส (papyrus) หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อของกระดาษปาปิรุส คือวัสดุที่ชาวอียิปต์โบราณใช้วาดภาพและเขียนตัวอักษรของเอกสารต่าง ๆ ซึ่งในปีนี้มีการค้นพบชิ้นส่วนพาไพรัสขนาด 10 X 6 นิ้ว ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่าสองพันปี โดยมีร่องรอยบ่งชี้ปรากฏอยู่ว่า มันน่าจะเป็นแผ่นกระดาษหน้าหนึ่งจากหนังสือเล่มแรกของโลก

ทีมนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยกราซของออสเตรียระบุว่า อันที่จริงมีการค้นพบแผ่นกระดาษพาไพรัสนี้ครั้งแรก เมื่อกว่าร้อยปีก่อนตั้งแต่ ค.ศ.1902 ที่เมืองเอลฮิเบห์ (El Hibeh) ในประเทศอียิปต์ แต่เพิ่งจะสืบทราบถึงประวัติความเป็นมาของมันได้อย่างชัดเจนเมื่อไม่นานมานี้

ชิ้นส่วนแผ่นกระดาษพาไพรัสจากหนังสือเล่มแรกของโลก

ที่มาของภาพ, UNIVERSITY OF GRAZ

ชิ้นส่วนของแผ่นพาไพรัสดังกล่าว เคยเป็นหน้าหนึ่งของหนังสือที่เย็บรวมเอกสารหลายชิ้นเข้าด้วยกัน โดยหนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาว่าด้วยอัตราการจัดเก็บภาษีสำหรับเบียร์และน้ำมันเป็นหลัก ทำขึ้นด้วยการใช้หมึกดำเขียนเป็นตัวอักษรกรีก เมื่อราว 260 ปีก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 2,283 ปีมาแล้ว

หลังอยู่ในหนังสือเล่มแรกของโลกได้ระยะหนึ่ง แผ่นกระดาษนี้ก็ถูกฉีกออก แล้วส่งเป็นจดหมายไปถึงนายอากรหรือลูกหนี้ที่ยังคงติดค้างการจ่ายภาษีอยู่ ก่อนจะมีผู้นำไปรีไซเคิลเพื่อเอากลับมาใช้ประโยชน์ใหม่อีกครั้ง โดยมีการวาดภาพทวยเทพลงไปก่อนนำไปห่อมัมมี่ ตามธรรมเนียมที่นิยมกันในยุคราชวงศ์ทอเลมี (Ptolemy) ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายที่ปกครองอียิปต์โบราณ ก่อนจะตกเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดิโรมัน

ทีมนักโบราณคดีทราบว่าแผ่นกระดาษนี้มาจากหนังสือที่ถูกเย็บเป็นเล่มมาก่อน เพราะใช้กล้องจุลทรรศน์และอุปกรณ์ถ่ายภาพแบบมัลติสเปกตรัม (multispectral imaging) ซึ่งสามารถเก็บรายละเอียดที่อยู่ลึกลงไปในเนื้อกระดาษได้ด้วยความคมชัดสูง เข้าช่วยค้นหาร่องรอยต่าง ๆ ที่ชี้ถึงกระบวนการออกแบบและเย็บเล่มหนังสือในยุคโบราณได้

ผลการตรวจสอบปรากฏว่า แผ่นพาไพรัสนี้มีการออกแบบวางเลย์เอาต์ (layout) ให้สามารถพับครึ่งแบ่งแยกเนื้อหาจนกลายเป็นสองหน้ากระดาษ เพื่อนำไปเข้ารวมเล่มเป็นหนังสือด้วยการเจาะรูตรงกลาง แล้วใช้วัสดุคล้ายตะปูที่ยืดหยุ่นได้มายึดเอาไว้ ซึ่งแทบไม่ต่างจากการเข้าเล่มด้วยสันหนังสือที่เป็นห่วงวงแหวนในสมัยนี้

ก่อนการค้นพบที่มาของแผ่นพาไพรัสดังกล่าว หนังสือเล่มเก่าแก่ที่สุดของโลกมาจากยุคคริสต์ศตวรรษที่หนึ่งหรือสองเท่านั้น แต่หลังจากการค้นพบครั้งนี้ นักโบราณคดีได้ทราบว่าการเย็บเล่มเอกสารให้กลายเป็นหนังสือนั้น มีมานานกว่าที่เคยคิดกันอย่างน้อย 400 ปี

โรงละครที่จักรพรรดินีโรใช้แสดงคอนเสิร์ต

ผู้ปกครองจักรวรรดิโรมันโบราณที่มีชื่อเสียงในเรื่องความบ้าบิ่นมากที่สุด เห็นจะไม่มีใครเกินจักรพรรดินีโรหรือเนโร (Nero) อย่างแน่นอน เพราะเขาคือหนึ่งในผู้นำที่มีความสามารถหลากหลาย ซึ่งกล้าแสดงทักษะความเป็นศิลปินในตัวออกมาอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่พิเศษไม่เหมือนใคร อย่างเช่นที่เล่าลือกันมาว่า นีโรเฝ้ามองกรุงโรมที่กำลังมอดไหม้ในกองเพลิง ระหว่างที่ดีดเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งคลอไปด้วย

ซากโรงละครที่จักรพรรดินีโรใช้ขับขานบทเพลงให้ประชาชนพลเมืองได้ฟัง

ที่มาของภาพ, SOPRINTENDENZA SPECIALE ROMA

แม้ตำนานดังกล่าวอาจไม่เป็นความจริงทั้งหมด เพราะเริ่มมีการค้นพบหลักฐานใหม่ที่ชี้ว่า จักรพรรดิพระองค์นี้มีจิตใจเมตตาต่อประชาชนยิ่งกว่าที่ฝ่ายศัตรูได้เขียนบิดเบือนประวัติศาสตร์เอาไว้ แต่ความเป็นศิลปินผู้มีอารมณ์สุนทรีย์อยู่เสมอของนีโรนั้น ไม่อาจปฏิเสธได้โดยง่าย เนื่องจากมีการค้นพบหลักฐานยืนยันที่เป็นรูปธรรมหลายชิ้น รวมถึงโรงละครที่นีโรใช้ “แสดงคอนเสิร์ต” โชว์น้ำเสียงอันไพเราะเป็นบทเพลงขับกล่อมพลเมืองชาวโรมันด้วย

โรงละครดังกล่าวเป็นเวทีส่วนตัวที่สร้างขึ้นในสวนของ “อะกริปพีนา” (Agrippina) มารดาของจักรพรรดินีโร ซึ่งสวนนี้ตั้งอยู่ในบริเวณของคฤหาสน์หรูชานกรุงโรม ใกล้กับพื้นที่ของนครรัฐวาติกันในปัจจุบัน

ก่อนหน้านี้นักโบราณคดีไม่ทราบถึงที่ตั้งของเวทีดังกล่าว แม้นักประวัติศาสตร์ชาวโรมันโบราณหลายรายจะได้จดบันทึกถึงสถานที่แห่งนี้เอาไว้ อย่างเช่นที่ทาซิตุส (Tacitus) ได้ระบุว่า นีโรเคยขับขานบทเพลงเกี่ยวกับการล่มสลายของกรุงทรอย ระหว่างที่เกิดเพลิงไหม้ใหญ่ในกรุงโรม เมื่อปีค.ศ. 64 ณ “โรงละครที่ก่อขึ้นด้วยอิฐในสวนของอะกริปพีนา”

ผลการขุดค้นซากโครงสร้างยุคโรมัน ที่หลงเหลืออยู่ในสวนสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการหรือเรอเนซองส์แห่งหนึ่ง พบว่ามีโรงละครที่ลักษณะตรงกับคำบรรยายที่ระบุไว้ในประวัติศาสตร์ โดยเป็นเวทีซึ่งมีที่นั่งของผู้ชมวางเป็นรูปครึ่งวงกลมกว้าง 42 เมตร พร้อมทั้งมีพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ประกอบด้วยทางเข้าออกและบันได และยังมีอาคารอีกแห่งหนึ่งซึ่งดูเหมือนจะเป็นที่เก็บฉากและเสื้อผ้าของศิลปินนักแสดงด้วย

มีร่องรอยการประดับตกแต่งโรงละครนี้อย่างหรูหรา ด้วยหินอ่อนสีขาวและแผ่นทองคำ เนื่องจากสิ่งก่อสร้างนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอาคารขนาดใหญ่ ที่จะช่วยประกาศศักดาและเชิดชูเกียรติของจักรพรรดินีโรให้แผ่ไพศาลนั่นเอง

หลักฐานชี้มี “พุทธศาสนิกชน” ในอียิปต์ยุคโรมัน

คนทั่วไปเชื่อกันว่าดินแดน “พุทธภูมิ” ซึ่งหมายถึงพื้นที่อันเป็นต้นกำเนิดและมีผู้นับถือพุทธศาสนาเป็นหลักอยู่จำนวนมาก ในอดีตมีอาณาเขตจำกัดอยู่แค่ในทวีปเอเชียเท่านั้น แต่ปัจจุบันความเชื่อดังกล่าวต้องสั่นคลอน หลังมีการค้นพบหลักฐานที่ยืนยันว่า มีชุมชนชาวพุทธในทวีปแอฟริกา ณ เมืองท่าสำคัญของอียิปต์เมื่อกว่าสองพันปีก่อน

พระพุทธรูปที่พบในอียิปต์ มีลักษณะคล้ายกับศิลปะคันธารราฐ (Ghandara) ซึ่งได้รับอิทธิพลจากกรีก

ที่มาของภาพ, MINISTRY OF ANTIQUITIES

ทีมนักโบราณคดีนานาชาติ นำโดยผู้เชี่ยวชาญจากหลายสถาบันวิจัยในสหรัฐฯ รวมทั้งศูนย์โบราณคดีภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนของโปแลนด์ (PCMA) แถลงว่าได้ค้นพบพระพุทธรูปอายุเก่าแก่ราว 1,900 - 2,000 ปี ขณะตรวจสอบซากวิหารโบราณของเมืองเบเรนิเก (Berenike) หรือเบเรนิซ (Berenice) ซึ่งเป็นเมืองท่าริมฝั่งทะเลแดงของอียิปต์

พระพุทธปฏิมาดังกล่าวอยู่ในปางประทับยืน มีความสูง 71 เซนติเมตร สลักขึ้นจากหินอ่อนเมดิเตอร์เรเนียน พระหัตถ์ซ้ายกุมจีวร ส่วนพระเศียรมีรัศมีเป็นแฉกคล้ายแสงอาทิตย์ และมีดอกบัวประดับอยู่ข้างองค์พระด้วย ทำให้มีลักษณะคล้ายกับศิลปะคันธารราฐ (Ghandara) ซึ่งเป็นพุทธศิลป์ที่ได้รับอิทธิพลจากกรีก นับเป็นพระพุทธรูปองค์แรกที่ถูกค้นพบในซีกโลกตะวันตกที่อยู่เลยเขตแดนของประเทศอัฟกานิสถานออกไป

ทีมนักโบราณคดีเชื่อว่า ช่างแกะสลักในเมืองอเล็กซานเดรียของอียิปต์อาจเป็นผู้สร้างพระพุทธรูปนี้ เพื่อให้ชุมชนของพ่อค้าอินเดียที่ลงหลักปักฐานในเมืองเบเรนิเกได้นำไปบูชา นับเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงว่ามีพุทธศาสนิกชนอยู่ในอาณาจักรอียิปต์โบราณ ทั้งยังแสดงถึงความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างอินเดียกับอียิปต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่อียิปต์อยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิโรมัน

ก่อนหน้านี้มีการค้นพบศิลาจารึกภาษาสันสกฤต และไหบรรจุเม็ดพริกไทยจากอินเดียอายุเก่าแก่ 1,900 ปี ที่เมืองเบเรนิเกมาแล้ว โดยเรือที่มาจากอินเดียจะนำสินค้าจำพวกเครื่องเทศ หินกึ่งมีค่า ผ้าไหม และงาช้าง มาจำหน่ายที่เมืองท่าแห่งนี้เป็นประจำ จนกระทั่งเมืองถูกทิ้งร้างไปในช่วงปี ค.ศ. 600

ซากเครื่องแกงเผ็ดสูตรดั้งเดิมเริ่มแรกในอุษาคเนย์

แกงเผ็ดแบบต่าง ๆ หรือแกงกะหรี่รสชาติจัดจ้านเข้มข้น ซึ่งเชื่อกันว่าชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับอิทธิพลมาจากอาหารในวัฒนธรรมของชาวภารตะนั้น แท้จริงเริ่มมีการนำเข้าสูตรการปรุง รวมทั้งวัตถุดิบที่เป็นเครื่องเทศจากต่างแดนตั้งแต่เมื่อใดกันแน่ ?

แกงที่มีรสชาติเผ็ดร้อนในยุคเริ่มแรกของอุษาคเนย์ ยังไม่มีพริกเป็นส่วนประกอบเหมือนกับแกงเผ็ดในสมัยนี้

ที่มาของภาพ, GETTY IMAGES

ทีมนักโบราณคดีจากเวียดนาม จีน และออสเตรเลีย เผยแพร่การค้นพบล่าสุดในวารสาร Science Advances โดยระบุว่าซากเครื่องแกงที่พบบนแท่นหินบดสมุนไพรอายุเก่าแก่กว่า 2,000 ปี จากแหล่งขุดค้นทางโบราณคดี “อ็อกแอว” (Oc Eo) ในภาคใต้ของเวียดนาม ชี้ว่าเริ่มมีการใช้เครื่องเทศที่นำเข้าจากอินเดียหรืออินโดนีเซียมาประกอบอาหาร ตั้งแต่ยุครุ่งเรืองของอาณาจักรฟูนัน (Funan) ที่เคยทรงอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อช่วง 500 ปีก่อนคริสตกาล ถึงราวค.ศ. 300

อย่างไรก็ตาม แกงเผ็ดสูตรดั้งเดิมนี้ยังไม่มีพริกเป็นส่วนประกอบ เนื่องจากพริกซึ่งมีต้นกำเนิดในอเมริกาใต้ถูกนำเข้ามายังภูมิภาคนี้ในยุคหลัง แต่ผลวิเคราะห์อนุภาคฝังแน่นที่ติดอยู่กับแท่นหินบดเครื่องแกง พบซากพืชสมุนไพรที่มีรสชาติเผ็ดร้อนจากอินเดียจำนวนมาก เช่นพริกไทย กระชาย ขิง ข่า เปราะหอม และขมิ้นชัน โดยเชื่อว่านักเดินทางและพ่อค้าผู้อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากชมพูทวีป เป็นผู้แนะนำสูตรการปรุงแกงรสชาติเผ็ดร้อนดังกล่าวให้กับชาวอุษาคเนย์ได้รู้จัก ในยุคเริ่มการติดต่อค้าขายทางทะเลระหว่างสองภูมิภาคผ่านเส้นทางในมหาสมุทรอินเดีย เมื่อราว 2,000 ปีก่อน

ในยุคนั้นอาณาจักรฟูนันซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตแดนของประเทศเวียดนาม ถือเป็นสถานีการค้าสำคัญที่เชื่อมต่อจีนและเอเชียใต้เข้าด้วยกัน ทำให้มีการขุดพบแท่นหินทรายจำนวนมากในแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีอ็อกแอว ซึ่งแท่นหินนี้เป็นอุปกรณ์ใช้บดเครื่องเทศและพืชสมุนไพรหลายร้อยชนิด เพื่อนำไปประกอบอาหารตามแบบวัฒนธรรมอินเดียโบราณ

อย่างไรก็ตาม ต้นกำเนิดแกงเผ็ดชามแรกของโลกนั้นอยู่ในชมพูทวีป โดยก่อนหน้านี้นักโบราณคดีเคยพบซากแกงเผ็ดเหลือติดก้นหม้อ และเศษเครื่องเทศที่ติดฟันมนุษย์โบราณอายุเก่าแก่กว่า 4,000 ปี ในประเทศปากีสถาน

“กุนุงปาดัง” คือพีระมิดเก่าแก่ที่สุดของโลกจริงหรือ

เหล่านักโบราณคดีและนักวิทยาศาสตร์ที่สนใจเรื่องอารยธรรมโบราณขั้นสูงที่สูญหาย ต้องมาถกเถียงกันอย่างดุเดือดในปีนี้ เพราะเมื่อช่วงปลายเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา วารสาร Archaeological Prospection ได้ตีพิมพ์เรื่องราวการค้นพบใหม่เกี่ยวกับเนินเขา “กุนุงปาดัง” (Gunung Padang) ในพื้นที่ทางตะวันตกของเกาะชวาของอินโดนีเซีย โดยยืนยันว่าแท้จริงแล้วเนินเขาแห่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เป็นโครงสร้างของพีระมิดขั้นบันไดขนาดยักษ์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในโลก

กุนุงปาดัง มีความหมายว่า “ภูเขาแห่งความรู้แจ้ง” ในภาษาซุนดา

ที่มาของภาพ, MERCUSUAR

ทีมนักโบราณคดีจากสำนักวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติอินโดนีเซีย (BRIN) อ้างว่าหลักฐานจากการศึกษาวิเคราะห์ที่ยาวนานกว่าสิบปี และผลการตรวจหาอายุของดินและหินในโบราณสถานดังกล่าวด้วยคาร์บอนกัมมันตรังสี พบว่ากุนุงปาดังอาจถูกสร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อราว 16,000-27,000 ปีก่อน ซึ่งเป็นสมัยเดียวกับยุคน้ำแข็งครั้งล่าสุดของโลก (Last Glacial Period - LGP)

ถือเป็นเรื่องเหลือเชื่อว่าสิ่งก่อสร้างปริศนาแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นก่อนที่มนุษย์จะรู้จักเกษตรกรรม และก่อนกำเนิดแหล่งอารยธรรมแรกของโลกหลายพันปี แม้แต่มหาพีระมิดแห่งกิซาที่อียิปต์ และสโตนเฮนจ์ที่สหราชอาณาจักร ก็ยังมีอายุน้อยเพียง 1 ใน 5 ของกุนุงปาดังเท่านั้น

การค้นพบน่าพิศวงนี้ทำให้คนที่เชื่อใน “สมมติฐานไซลูเรียน” (Silurian Hypothesis) พากันทึกทักว่า นี่คือหลักฐานของของอารยธรรมโบราณที่มีความเจริญรุ่งเรืองและก้าวล้ำทางเทคโนโลยียิ่งกว่ามนุษย์ปัจจุบัน ซึ่งอารยธรรมที่สูงส่งนี้เคยครองโลกในยุคดึกดำบรรพ์เป็นเวลานานหลายล้านปี ก่อนการถือกำเนิดขึ้นของมนุษย์

อย่างไรก็ตาม นักโบราณคดีและนักธรณีวิทยาจำนวนมาก ตั้งคำถามถึงความถูกต้องในงานวิจัยข้างต้น ซึ่งดูเหมือนจะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มารองรับไม่เพียงพอ ทำให้ทางวารสาร Archaeological Prospection ประกาศจะลงมือตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับงานวิจัยนี้อีกครั้งแล้ว

ด้านดร.ลุฟตี ยอนดรี นักโบราณคดีของ BRIN อีกผู้หนึ่ง ออกมาแสดงการคัดค้านไม่เห็นด้วยกับผลวิจัยที่ “ด่วนสรุป” ว่ากุนุงปาดังคือพีระมิดเก่าแก่ที่สุดของโลก เพราะชาวอินโดนีเซียไม่มีธรรมเนียมดั้งเดิมหรือมีวัฒนธรรมที่นิยมการสร้างพีระมิดแต่อย่างใด

เขาเสนอแนวคิดทางเลือกว่า กุนุงปาดังนั้นไม่ใช่พีระมิด แต่เป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างโบราณที่พบได้ทั่วไปในอินโดนีเซีย นั่นก็คือระเบียงหิน (stone terrace) หรือที่เรียกว่า “ปันเดน เบรันดัก” (punden berandak) ในภาษาท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างสกัดจากหินรูปทรงคล้ายโต๊ะเพื่อใช้ทำพิธีบวงสรวงบูชาบรรพบุรุษ ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า กุนุงปาดังน่าจะเป็นระเบียงหินหลายชุดที่ตั้งอยู่ด้วยกันเท่านั้น

Adblock test (Why?)


6 เรื่องสุดยอดการค้นพบทางโบราณคดีแห่งปี 2566 - BBC.com
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...