13 มีนาคม 2564 | โดย วรากรณ์ สามโกเศศ | คอลัมน์ อาหารสมอง
367
เพราะเหตุใด "เศรษฐกิจเวียดนาม" จึงมาแรงแซงโค้ง ภายในระยะเวลาราว 30 ปี สามารถยกเครื่องประเทศเปลี่ยนแปลงจากประเทศที่ยากจนสู่ประเทศดาวรุ่ง ที่รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าตัว เปิด 4 ปัจจัยเบื้องหลังสำเร็จของเวียดนามมาจากอะไรบ้าง?
เศรษฐกิจเวียดนามมีชื่อเสียงโด่งดังในโลกและในบ้านเรา จนมีคนสงสัยว่ามาแรงแซงโค้งได้อย่างไร และไล่เรามาอยู่ตรงไหนแล้ว ผู้เขียนเดินทางไปเวียดนามหลายครั้งในรอบกว่า 30 ปีที่ผ่านมา และได้สังเกตติดตามมายาวนานพอควร ขอนำสิ่งที่ไปค้นคว้ามาประกอบความเห็นส่วนตัวเล่าเรื่องเศรษฐกิจเวียดนามในวันนี้
เวียดนามรวมเป็นประเทศได้สำเร็จในปี 2519 หลังจากต่อสู้กับสหรัฐ 20 ปี และกับฝรั่งเศสอดีตเจ้าอาณานิคมก่อนหน้านั้น 50 ปี รวมเป็นเวลา 70 ปีที่เวียดนามมีแต่การสู้รบหาความสงบไม่ได้ คนเวียดนามตายไปเพื่ออิสรภาพเป็นล้านๆ คน พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามผู้ชนะตั้งหลักอยู่ 10 ปีอย่างงงๆ กับสันติภาพหลังสงครามจนในปี 2529 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญคือ นโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามที่มีชื่อว่า “โดย-เหม่ย”
นโยบายนี้คือการยกเครื่องประเทศ โดยการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้ระบบที่เรียกว่า socialist-oriented economy (ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีภายใต้แนวคิดสังคมนิยม) เลียนแบบจีนที่เริ่มประสบผลสำเร็จ ระบบนี้ประชาชนมีเสรีภาพทางเศรษฐกิจแต่ไม่มีเสรีภาพทางการเมือง (มีพรรคการเมืองพรรคเดียวที่ครองอำนาจ)
รัฐบาลดำเนินตามนโยบายนี้อย่างมุ่งมั่นและต่อเนื่องจนภายในเวลา 30 ปี ได้เปลี่ยนแปลงจากประเทศที่ยากจนแห่งหนึ่งของโลกเป็นประเทศดาวรุ่งที่รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าตัว ระหว่างปี 2528-2560 (คนยากจนหายไปจากระดับ 72% ของประชากรเหลือเพียง 6%) กลายเป็นประเทศระดับรายได้ปานกลาง นอกจากนี้รายได้ต่อหัว (ปรับค่าครองชีพแล้ว) แซงหน้าฟิลิปปินส์ไปแล้ว และรายได้ต่อหัว (ทั้งปรับและไม่ปรับค่าครองชีพแล้ว) อยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของไทย
มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 4 ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของความสำเร็จของเวียดนาม คือ (1) เปิดรับการค้าเสรีกับต่างประเทศอย่างเต็มที่ (2) ปฏิรูปภายในประเทศควบคู่กับการค้าเสรีด้วยการแก้ไขกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า ลดต้นทุนของการประกอบธุรกิจ (3) ลงทุนอย่างมากในทรัพยากรมนุษย์และโครงสร้างพื้นฐาน (4) ต้นทุนค่าแรงต่ำและลักษณะเฉพาะของความเป็นเวียดนาม
ปัจจัยแรกทำให้เวียดนามเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกอย่างแนบแน่น โดยเป็นสมาชิกการค้าเสรีแทบนับไม่ถ้วน ปี 2538 ร่วมอยู่ในข้อตกลง ASEAN Free Trade/ปี 2543 จับคู่การค้าเสรีกับสหรัฐ/ปี 2550 สมาชิก WTO/ปี 2561 สมาชิก CPTPP (เดิมชื่อ TPP มีสมาชิก 12 ประเทศ แต่สหรัฐถอนตัว จึงรวมตัวกันใหม่เปลี่ยนชื่อเป็น CPTPP เริ่มมีผลตั้งแต่ปี 2561 ไทยมิได้เป็นสมาชิก)/ปี 2563 สมาชิก RCEP ซึ่งมี 15 ประเทศของ Asia-Pacific โดยจีนเป็นผู้นำ (ไม่มีสหรัฐ) ไทยเป็นสมาชิกด้วย และในปี 2563 ลงนามการค้าเสรีกับสหราชอาณาจักร
การร่วมเป็นสมาชิกการค้าเสรี ทำให้เกิดการลดภาษีขาเข้าและภาษีขาออกทีละน้อย เมื่อเวียดนามมีแรงงานอยู่มาก (ในประเทศ 95 ล้านคน มีอายุต่ำกว่า 35 ปีอยู่ครึ่งหนึ่ง) และค่าแรงต่ำ มีการลงทุนจากต่างประเทศมหาศาล การค้าต่างประเทศทำให้เพิ่มดีมานด์ของสินค้าและขยายโอกาสในการสร้างรายได้เข้าประเทศ
ปัจจัยข้อสอง ปฏิรูปภายในประเทศเพื่อให้สอดรับกับการเปิดประเทศเพื่อค้าเสรีในข้อ (1) โดยทำให้เกิดความคล่องตัวในการทำงานของกลไกตลาด การผ่อนปรนกฎเกณฑ์ต่างๆ ทำให้การประกอบธุรกิจมีความสะดวก และสามารถดำเนินการได้รวดเร็วจนต้นทุนในการประกอบการต่ำ ในปี 2529 มีการออกกฎหมายส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศและปรับแก้ไขให้สิทธิประโยชน์มากมาย
ปัจจัยสาม ลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างมากเพื่อสร้างสมรรถนะในการแข่งขัน ตลอดจนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเทอร์เน็ตเพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ
ทั้งสามปัจจัยเกื้อหนุนกันภายใต้การดำเนินงานของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามที่มีอำนาจเด็ดขาดในการดำเนินนโยบายอย่างมุ่งมั่นและต่อเนื่อง ผ่าน “การสั่งได้” และการเลือกผู้นำพรรค (ผู้นำประเทศ) ที่มีความสามารถ ทั้งหมดนี้ได้ดำเนินตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา โดยใช้บทเรียนจากจีน
ปัจจัยที่สี่ คนเวียดนามทนทุกข์ทรมานเพราะสงครามมายาวนาน เมื่อสงครามสงบสามารถรวมประเทศได้สำเร็จและมีอิสรภาพ ความกดดันภายในและความขยันบากบั่นมานะต่อสู้อันเป็นธรรมชาติของคนเวียดนามก็ระเบิดออกมา ประกอบกับโครงสร้างประชากรเอื้อให้มีคนในวัยแรงงานจำนวนมหาศาลในราคาถูกให้แก่อุตสาหกรรมจากต่างประเทศ เศรษฐกิจเติบโตในอัตรา 5-6% ต่อปีต่อเนื่องกันเป็นเวลานับสิบปีทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ (จากเพียง 230 ดอลลาร์ในปี 2528 เพิ่มเป็น 3,498 ดอลลาร์ในปัจจุบัน)
ผู้นำคนสำคัญของเวียดนามในปัจจุบันคือ เหงียน ฟู ตร็อง วัย 77 ปี อยู่ในอำนาจครบ 10 ปีในปีนี้ และเมื่อปลายเดือน ม.ค.2564 ในการประชุมพรรคสมัยที่ 13 ก็ได้ลงมติให้เขาเป็นต่ออีก 5 ปี ตร็องเป็นผู้นำประเภทนักวิชาการโดยแท้ ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากพรรค ถึงแม้เขาจะเป็นนักวิชาการมาร์กซิสต์แต่เขาก็สามารถนำประเทศตามเส้นทางที่อยู่ห่างความเชื่อส่วนตัวอยู่มาก จนกลายเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกว่าเป็น Economic Miracle (ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ)
ปัจจุบันเวียดนามได้อานิสงส์อย่างมากจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน โรงงานใหญ่ต่างประเทศหลายแห่งในจีนได้ย้ายไปเวียดนาม จึงมีสินค้าที่ส่งออกมาจากการลงทุนของบริษัทใหญ่ทั่วโลก นอกจากนี้ความสามารถในการควบคุมโควิด-19 ได้อย่างน่าทึ่ง (ป่วย 2,448 คน ตาย 35 คน ถึงแม้ในขณะนี้จะระบาดระลอกใหม่ก็ตาม) ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่นักลงทุนในการมีความสามารถฟื้นคืนกลับสู่สภาพเดิมหลังประสบความยากลำบาก (resiliency)
คนเวียดนามมีคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้นมากโดยแลกเปลี่ยนกับการสูญเสียเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางการเมือง ปัญหาสิทธิมนุษยชน ตลอดจนปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาคอร์รัปชัน ฯลฯ ไม่มีใครตอบได้ว่าคุ้มหรือไม่ คนเวียดนามเท่านั้นที่สมควรเป็นผู้ตอบ
'เวียดนาม' ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment