คุณจะถูกมองอย่างไร หากเป็นแม่ที่ให้กำเนิดลูกน้อย 4 คนในห้วงเวลา 10 ปี แต่ทุกคนกลับเสียชีวิตด้วยสาเหตุตามธรรมชาติในขณะที่ยังแบเบาะ
แล้วคุณจะรู้สึกอย่างไรหากถูกกล่าวหาว่าจงใจทำให้ลูกน้อยเหล่านี้ขาดอากาศหายใจจนตาย และถูกตัดสินจำคุก 30 ปีในความผิดร้ายแรงที่คุณไม่ได้ก่อ
นี่ไม่ใช่เรื่องราวในภาพยนตร์ แต่อาจเป็นเรื่องจริงของแคทลีน โฟลบิกก์ แม่ชาวออสเตรเลียจากรัฐนิวเซาท์เวลส์ ที่ถูกตราหน้าเป็น "ฆาตกรต่อเนื่องหญิงที่เลวร้ายที่สุดของออสเตรเลีย" ในระหว่างการพิจารณาคดีในปี 2003
ปัจจุบันเธอถูกจองจำในคุกมาแล้วเกือบ 18 ปี หลังจากถูกพิพากษาให้มีความผิดฐานทำให้คนตายโดยไม่เจตนาต่อลูกชายคนแรกที่ชื่อ "เคเลบ" และความผิดฐานฆาตกรรมลูกน้อยที่เหลืออีก 3 คน คือ แพทริค ซาราห์ และลอรา
แต่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชิ้นใหม่อาจนำคดีนี้ไปสู่การพลิกผันครั้งใหญ่
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คณะนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำ และกลุ่มผู้ทำงานด้านวิทยาศาสตร์จำนวน 90 คน ได้ร่วมลงนามในคำร้องที่ยื่นต่อมุขมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์เพื่อขอการอภัยโทษให้แก่นางโฟลบิกก์ และขอให้ปล่อยตัวเธอในทันที
กลุ่มผู้ร่วมลงนามในคำร้องครั้งนี้รวมถึงนักวิทยาศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล 2 คน บุคคลเจ้าของรางวัลชาวออสเตรเลียแห่งปี 2 คน อดีตหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลีย 1 คน และศาสตราจารย์จอห์น ไชน์ ประธานสภาวิทยาศาสตร์แห่งออสเตรเลีย ที่ระบุว่า "เมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์ของคดีนี้ที่เพิ่งจะมีในปัจจุบัน ทำให้การลงนามในคำร้องครั้งนี้เป็นสิ่งถูกต้องที่จะทำ"
หากนางโฟลบิกก์ได้รับการปล่อยตัวและศาลกลับคำตัดสินให้เธอพ้นผิด กรณีของเธอก็จะกลายเป็นการตัดสินลงโทษคนผิดครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของออสเตรเลีย เลวร้ายกว่าคดีของนางลินดี แชมเบอร์เลน ที่ต้องรับโทษจำคุก 3 ปี หลังจากถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานฆาตกรรมลูกวัยทารกของเธอที่ชื่อ อัสซาเรีย
วิทยาศาสตร์กับกฎหมาย
การยื่นคำร้องของคณะนักวิทยาศาสตร์ครั้งนี้เผยให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างวิทยาศาสตร์กับกฎหมาย
แม้จะมีการยื่นอุทธรณ์หลายครั้ง และมีการไต่สวนคำตัดสินคดีของนางโฟลบิกก์ในปี 2019 แต่คณะผู้พิพากษาออสเตรเลียต่างปฏิเสธอย่างแข็งขันที่จะใช้ "หลักการพิสูจน์จนสิ้นความสงสัยตามสมควร" (reasonable doubt) ซึ่งจะยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย โดยศาลให้น้ำหนักในการพิจารณาคดีของเธอไปที่หลักฐานแวดล้อมเป็นหลัก รวมทั้งข้อความเนื้อหากำกวมจากสมุดบันทึกของเธอ
เรจินัลด์ บลันช์ อดีตผู้พิพากษาที่นำการไต่สวนระบุว่า ข้อสรุปเดียวที่ได้คือการที่ใครบางคนจงใจทำอันตรายต่อเด็ก ๆ และการทำให้ขาดอากาศหายใจก็เป็นวิธีการที่ชัดเจนในคดีนี้ "หลักฐานบ่งชี้ไปที่นางโฟลบิกก์โดยไม่มีใครอื่น"
ขณะที่ทางการรัฐนิวเซาท์เวลส์ก็ยืนยันว่าได้มีการตรวจสอบพยานหลักฐานในคดีนี้โดยละเอียด
อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์กำลังบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่ว่านางโฟลบิกก์อาจเป็นผู้บริสุทธิ์
ศาสตราจารย์โจเซฟ เกคซ์ นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมมนุษย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในคดีนี้มีน้ำหนักและไม่อาจเพิกเฉยได้"
ขณะที่ศาสตราจารย์ฟิโอนา สแตนลีย์ นักวิจัยด้านเด็กและสาธารณสุข ระบุว่า "น่ากังวลอย่างยิ่งที่หลักฐานทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ถูกมองข้าม แล้วไปให้น้ำหนักกับหลักฐานแวดล้อมแทน ตอนนี้เรามีคำอธิบายใหม่เกี่ยวกับการเสียชีวิตของลูก ๆ ของนางโฟลบิกก์"
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบอะไร
คำอธิบายใหม่ที่ศาสตราจารย์สแตนลีย์กล่าวถึงนั้นมาจากการค้นพบล่าสุดว่านางโฟลบิกก์และลูกสาว 2 คนของเธอมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับสารพันธุกรรม หรือที่เรียกว่า การกลายพันธุ์ในระดับยีน (genetic mutation) ซึ่งทีมนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กหญิงทั้งสองเสียชีวิต
นอกจากนี้ ยังมีการตรวจพบการกลายพันธุ์ในระดับยีนในลูกชายอีก 2 คนของเธอด้วย แต่นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าจะต้องทำการศึกษาเรื่องนี้ให้มากขึ้น
ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่นำโดยศาสตราจารย์คาโรลา วีนเวซา ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบภูมิคุ้มกันและจีโนมจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ค้นพบครั้งแรกในปี 2019 ว่าเด็กหญิงทั้งสองคนมียีนกลายพันธุ์ที่เรียกว่า CALM2 G114R
ศาสตราจารย์วีนเวซา ซึ่งเป็นแกนนำผลักดันให้มีการยื่นคำร้องในคดีนี้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวบีบีซีว่า "เราตรวจพบการกลายพันธุ์ชนิดใหม่ที่ไม่เคยมีรายงานมาก่อนในหนูน้อยซาราห์และลอรา ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากแคทลีน"
"การกลายพันธุ์นี้เกิดขึ้นในยีนที่เรียกว่า CALM2 ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้"
ในเดือน พ.ย.ปี 2020 คณะนักวิทยาศาสตร์จากออสเตรเลีย เดนมาร์ก ฝรั่งเศส อิตาลี แคนาดา และสหรัฐฯ ได้รายงานผลการศึกษาเพิ่มเติมในวารสาร Europace ซึ่งตีพิมพ์โดยสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งยุโรป
ศาสตราจารย์มิกาเอล ทอฟต์ หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอลบอร์ยในเดนมาร์กที่ศึกษาเรื่องนี้ระบุว่า การกลายพันธุ์ที่พบอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตอย่างฉับพลัน ซึ่งรวมถึงในเด็กเล็กขณะที่กำลังนอนหลับ
ทีมนักวิจัยระบุว่า "เราคิดว่าการกลายพันธุ์นี้น่าจะทำให้เด็กหญิงทั้งสองเสียชีวิตอย่างฉับพลันตามธรรมชาติ"
เด็กทั้งสองมีอาการติดเชื้อก่อนที่จะเสียชีวิต และนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า "ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่อันตรายถึงชีวิตนั้นอาจถูกกระตุ้นจากอาการติดเชื้อที่เกิดขึ้นในขณะเดียวกัน"
นักวิทยาศาสตร์ยังรายงานว่า หนูน้อยเคเลบ และแพทริคต่างก็มียีนกลายพันธุ์ที่พบได้ยากที่เรียกว่า BSN ซึ่งจากการทดลองพบว่าสามารถทำให้เกิดโรคลมชักที่อันตรายถึงตายในหนูทดลอง
การค้นพบทางพันธุกรรมครั้งล่าสุดนี้ สอดคล้องกับความคิดเห็นทางการแพทย์จากผู้เชี่ยวก่อนหน้านี้ ซึ่งสนับสนุนทฤษฎีว่าเด็กทั้งสี่คนเสียชีวิตด้วยสาเหตุตามธรรมชาติ
ในตอนนั้น ศาสตราจารย์สตีเฟน คอร์ดเนอร์ พยาธิแพทย์ในนครเมลเบิร์น ผู้ตรวจสอบผลชันสูตรศพเด็กทั้ง 4 คนซ้ำในปี 2015 สรุปว่า "ไม่มีหลักฐานทางนิติพยาธิวิทยาที่สนับสนุนข้อโต้แย้งว่าเด็กทั้งหมดนี้ถูกฆาตกรรม...ไม่มีสัญญาบ่งชี้ถึงการทำให้ขาดอากาศหายใจ"
ในปี 2018 นพ.แมตธิว ออร์ด นักนิติพยาธิวิทยาจากมหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบียในแคนาดา ให้สัมภาษณ์กับบรรษัทแพร่ภาพและกระจายเสียงออสเตรเลีย (เอบีซี) ว่า "ผมเห็นตรงกับศาสตราจารย์คอร์ดเนอร์ ว่าการเสียชีวิตของเด็กทั้งสี่สามารถอธิบายได้ด้วยสาเหตุตามธรรมชาติ"
ตอนนี้ แคทลีน โฟลบิกก์ กำลังทำแบบเดียวกับที่ ลินดี แชมเบอร์ เคยทำมาก่อน นั่นคือการเฝ้ารอฟังผลคำร้องอยู่ในห้องขัง และในการไต่สวนครั้งล่าสุดที่ศาลอุทธรณ์รัฐนิวเซาท์เวลส์ เธอยังคงยืนกรานความบริสุทธิ์ของตัวเอง
หลักฐานใหม่ทางวิทยาศาสตร์อาจช่วยหญิงที่ถูกกล่าวหาเป็นแม่ใจยักษ์ฆ่าลูก 4 คนหลุดพ้นจากมลทิน - บีบีซีไทย
Read More
No comments:
Post a Comment