Rechercher dans ce blog

Wednesday, March 17, 2021

การเงินแบบ Defi กับ ข้อสังเกตทางกฎหมาย | ดร.สุมาพร (ศรีสุนทร)มานะสันต์ - กรุงเทพธุรกิจ

ดร.สุมาพร (ศรีสุนทร)มานะสันต์

ดูบทความทั้งหมด

สำนักกฎหมาย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง คอลัมนิสต์ประจำ "Legal Vision : นิติทัศน์ 4.0"

18 มีนาคม 2564

17

ในช่วงไม่กี่สิบปีที่มา โลกการเงินถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ล่าสุด เราก็ได้รู้จักกับนวัตกรรมทางการเงิน ที่เรียกว่า Defi

       ในช่วงไม่กี่สิบปีที่มา โลกการเงินถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว นับจากคิดค้น Bitcoin ในปี 2008 และเริ่มใช้ในปี 2009 จากนั้นก็เกิดเหรียญสกุลต่าง ๆ มากมายกว่าพันสกุล ต่อมา ในราวปี 2017 ได้มีการนำคริปโทเคอร์เรนซีประเภทต่าง ๆ ไประดมทุนแบบ ICO  และล่าสุด เราก็ได้รู้จักกับนวัตกรรมทางการเงินในรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า Defi หรือ Decentralized Finance ซึ่งสำหรับผู้เขียน นวัตกรรมทั้งหมดที่กล่าวมานี้ มีวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ ความพยายามในการ “ตัดตัวกลาง” ซึ่งตัวกลางในทีนี้ คือ “ผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินเดิมและ “หน่วยงานกำกับดูแล”

       Defi คืออะไร
               Defi คือ การสร้างระบบการเงินรูปแบบใหม่ที่ให้ทุกคนสามารถติดต่อทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างกันได้โดยตรงผ่านการทำงานของเทคโนโลยี เช่น 1) ใช้ Cryptography ในการสร้างชุดข้อมูลแบบเข้ารหัสเพื่อให้เกิดส่งข้อมูลระหว่างกันในระบบ 2) ใช้ Blockchain ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการพื้นฐานในการทำงาน และ 3) ใช้ Smart Contracts เพื่อสร้างเงื่อนไขและข้อตกลงในการทำธุรกรรมซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดความสัมพันธ์ทางเงินบน Defi  
            ดังนั้น ในทางปฏิบัติ Defi จึงเป็นระบบเปิดที่ซับซ้อน และถูกสร้างไว้บน Blockchain แบบสาธารณะ ที่มีคุณสมบัติในการอนุญาตให้บุคคลต่าง ๆ สามารถบันทึกธุรกรรมทางการเงินที่ทำระหว่างกันได้ โดยไม่ต้องทำ KYC  ปราศจากการกำกับดูแลจากภาครัฐ และมีต้นทุนในการดำเนินการที่ถูกกว่าหากเปรียบเทียบกับการทำธุรกรรมกับผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินในแบบเดิม   

     การทำงานของ Defi    
                 ดังนั้น เมื่อใช้เทคโนโลยีสร้างโปรแกรมทางการเงินตามที่ได้กล่าวในข้างต้น ก็ต้องมีการสร้างระบบนิเวศทางการเงินให้สามารถทำธุรกรรมระหว่างกันได้ ในทางปฏิบัติ Defi จึงมักใช้กลไกการสร้าง Stable Coin ซึ่งเปรียบเสมือนตัวกลางที่รักษามูลค่าของสินทรัพย์บนแพลตฟอร์ม ซึ่งการออก Stable Coin สามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะนำไปผูกไว้กับมูลค่าของสกุลเงินจริง ๆ (เช่น USD) หรือการออก Stable Coin โดยผูกมูลค่ากับคริปโทสกุลต่าง ๆ หรืออาจกล่าวได้ว่า Stable coin คือ เหรียญที่เก็บมูลค่า และมีกลไกเชื่อมโยงกับสินทรัพย์ที่ใช้หนุนหลังหรือค้ำประกัน ดังนั้น เมื่อมีมูลค่าก็สามารถนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการทำธุรกรรมทางการเงินได้หลากหลายไม่ต่างไปจากสินทรัพย์ทางการเงินที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน  
               ตัวอย่างเช่น
MakerDAO โปรเจค ที่มีการออกเหรียญ Stable Coin ที่ชื่อ DAI ซึ่งออกโดยการนำมูลค่าของคริปโทสกุลต่าง ๆ มาค้ำประกันไว้ และเมื่อมีสินทรัพย์ค้ำประกันอยู่ DAI จึงมีมูลค่าและถูกคงมูลค่าตามสินทรัพย์ที่ค้ำประกัน 
               ดังนั้น ด้วยเหตุผลนี้
Defi แพลตฟอร์มจึงเป็นระบบการเงินรูปแบบใหม่ที่ไม่พึ่งตัวกลาง” และสามารถทำธุรกรรมทางได้หลายรูปแบบ เช่น โอนชำระราคา ซื้อขายเงินตรา แลกเปลี่ยน ชำระราคา ให้สินเชื่อ ซื้อขายอนุพันธ์/ตราสารทางการเงิน การเทรดมาร์จิน รวมไปถึงขายประกัน


       Defi เมื่อเทียบกับ ธนาคาร
        สำหรับผู้เขียน  Defi กับ ธนาคาร มีขอบเขตในการดำเนินงานที่ต่างกัน กล่าวคือ ในขณะที่ Defi สามารถทำธุรกรรมได้ครอบคลุมทั้งธุรกิจธนาคาร ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจประกันภัย แต่ขอบเขตการประกอบธุรกิจของธนาคารไม่เป็นเช่นนั้น เช่น ภายใต้กฎหมายไทย แม้ธนาคารพาณิชย์จะสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้หลากหลายแต่ก็ไม่สามารถประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ได้ในทุกประเภท หรือหากประสงค์จะทำธุรกิจประกันภัยก็จะไม่สามารถออกกรรมธรรม์ประกันวินาศภัยและประกันชีวิตได้ (ทำได้เพียงเป็น broker)

         ดังนั้น โครงสร้างธุรกิจการเงินในไทยจึงมีการสร้างบริษัทในเครือเพื่อทำธุรกิจที่ธนาคารพาณิชย์ถูกจำกัดไว้ ซึ่งหากเทียบกับ Defi ที่ทุกอย่างถูกสร้างไว้ด้วยโปรแกรมทางการเงินแบบไร้ตัวกลาง และระบบสามารถทำงานได้เองโดยเชื่อมต่อบุคคลต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ก็ถือว่าได้เปรียบอยู่มากในเชิงโครงสร้าง

            ประกอบกับ เมื่อระบบจัดการตัวเองได้แบบไร้ตัวกลาง บทบาทหน้าที่ของธนาคารกลาง เช่น การดำเนินการเกี่ยวกับการหักบัญชีระหว่างสถาบันการเงิน  การควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน (ตามกฎหมายว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงิน) หรือการกำกับตรวจสอบความเสี่ยงของสถาบันการเงิน ก็ไม่มีความจำเป็นเช่นกัน


              Defi กับข้อสังเกตทางกฎหมาย
              อย่างไรก็ดี แม้ Defi อาจได้เปรียบในเชิงโครงสร้าง แต่ในทางกฎหมาย ก็มีข้อสังเกตอันพึ่งพิจารณาก่อนเข้าใช้บริการอยู่ในหลายประเด็น
              ประการแรก เมื่อตัดตัวกลาง ก็แปลว่า ตัดหน่วยงานกำกับดูแลออก ดังนั้น การดำเนินการของ
Defi จะไร้การกำกับ ตรวจสอบ วิเคราะห์ฐานะ และประเมินความเสี่ยงในการดำเนินงานจากภาครัฐ อย่างไรก็ดีหากมีความเสียหายเกิดขึ้นจากการให้บริการที่ไม่เป็นธรรม ก็เป็นไปได้ว่ากระบวนการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคอาจจะน้อยกว่าหรือไม่มีเมื่อเทียบกับระบบการเงินที่มีการกำกับในปัจจุบัน

           เช่น หาก แพลตฟอร์มเกิด Bugs และมีการเปลี่ยนแปลง Protocols หรือ มีเหตุในการปิดให้บริการแบบกระทันหันและ Admin Key มีการโอนทรัพย์สินของลูกค้าออกไป ผู้ใช้บริการอาจไม่ได้รับความคุ้มครองจากความเสียหายนั้น ซึ่งหากเปรียบเทียบกับผู้ฝากเงินในระบบ ยังมีสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DPA) ในการคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งจะมีการจ่ายคืนเงินให้แก่ผู้ฝากเมื่อสถาบันการเงินปิดกิจการ นอกจากนี้ สิทธิของผู้บริโภคยังได้รับคุ้มครองผ่านหน่วยงานกำกับและกระบวนการยุติธรรมอีกชั้นหนึ่งด้วย

               ประเด็นที่สอง สืบเนื่องจากกรณีสมมุติในข้างต้น ข้อสังเกตของผู้เขียน คือ ฟ้องใคร? ต่อศาลใด? และใช้กฎหมายของประเทศใด? กล่าวคือ เมื่อระบบไม่ได้ทำ KYC ไว้ ก็เป็นไปได้ว่า เราอาจไม่ทราบด้วยซ้ำว่ากำลังทำธุรกรรมอยู่กับบุคคลใด และหาก Defi เป็นแพลตฟอร์มที่อยู่ในต่างประเทศ เท่ากับว่ากรณีนี้อาจเป็นสัญญาทางการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งในทางปฏิบัติการจัดทำสัญญาในลักษณะนี้จะมีการระบุกฎหมายที่การเลือกใช้ และศาลที่จะใช้พิจารณาคดีไว้

            ประเด็นที่สาม หากเป็นกรณีที่ศาลในประเทศใดประเทศหนึ่งรับฟ้อง ปัญหาที่จะตามมาสำหรับการใช้ Blockchain และ Smart Contract คือ ความชัดเจนของการตีความในเรื่องการเกิดของสัญญา ซึ่งรวมไปถึงสถานที่เกิดของสัญญาด้วย ในประเด็นเหล่านี้ ผู้เขียนเชื่อว่า ในหลายประเทศรวมถึงไทย ยังคงเป็นประเด็นที่ค่อนข้างท้าทายสำหรับการตีความของศาล

                 ท้ายที่สุด ผู้เขียนมองว่า นี้คือ การให้บริการทางการเงินที่ตั้งใจให้ปราศจากการกำกับ และอยู่นอกกรอบกฎหมายเดิม ดังนั้น ความรู้ทางการเงิน ความเข้าใจสิทธิของตนบนแฟลตฟอร์ม และความสามารถในการวางแผนทางการเงินเพื่อสร้างวินัยทางการเงินที่ดี คือ คีย์ในการลงทุนแบบ Defi … Know your risk appetite!

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน 

ดูบทความทั้งหมดของ ดร.สุมาพร (ศรีสุนทร)มานะสันต์

Let's block ads! (Why?)


การเงินแบบ Defi กับ ข้อสังเกตทางกฎหมาย | ดร.สุมาพร (ศรีสุนทร)มานะสันต์ - กรุงเทพธุรกิจ
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...