Rechercher dans ce blog

Sunday, March 14, 2021

ผู้นำการเปลี่ยนแปลงกับความมั่นคงทางอารมณ์ (EQ) - โพสต์ทูเดย์

ผู้นำการเปลี่ยนแปลงกับความมั่นคงทางอารมณ์ (EQ)

วันที่ 15 มี.ค. 2564 เวลา 07:10 น.

โดย ภก.ดร.จันทรชัย ถวิลพิพัฒน์กุล สถาบันอินทรานส์ Hipot – การปฏิรูปศักยภาพมนุษย์อย่างบูรณาการศาสตร์ชีวิตองค์รวมเพื่อความมั่นคงยั่งยืน

ทำไม ภาวะความมั่นคงทางอารมณ์จึงสำคัญสังคมอ่อนไหว ซับซ้อน ไม่เคยหยุดนิ่ง โลกยุคดิจิทัลสร้างความท้าทายใหม่ๆ และแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง องค์กรธุรกิจต้องปรับตามเพื่อความอยู่รอด ในการปรับตัว องค์กรต้องการผู้นำการเปลี่ยนแปลงและคุณสมบัติสำคัญประการหนึ่งของความเป็นผู้นำองค์กรที่ประสบความสำเร็จก็คือ ความมั่นคงทางอารมณ์ (EQ) และเป็นที่ประจักษ์ว่า ประเด็นด้านอารมณ์คือตัวกำหนดศักยภาพ และเป็นตัวตัดสินว่าใครจะก้าวสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นเพื่อนำองค์กรให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืน ผลกระทบจาก EQ ต่ำ เป็นอย่างไร

เมื่อพิจารณาถึงปัญหาด้านอารมณ์ มักจะมีประเด็นต่อไปนี้ มันเป็นภาวะที่ขาดความมั่นใจ ไม่กล้าแสดงออก กลัวผิด บ่อยครั้ง ทั้งๆ ที่ตนมีความคิดดีๆ แต่คิดและกลัวไปว่ามันจะไม่เข้าท่า จึงเก็บเงียบเข้าลิ้นชัก บ่อยครั้ง ชอบเปรียบเทียบ รู้สึกว่าตนด้อยกว่า สู้คนอื่นไม่ได้ บางครั้ง รู้สึกว่าตนไม่ได้รับการยอมรับ ทำไมจึงไม่มีใครเข้าใจเลย บางครั้งที่ตนแสดงความยินดีกับผู้ที่ประสบความสำเร็จ แต่ภายในกลับรู้สึกกัดกินใจตนเอง เหมือนมีใครมาแย่งของของตนไป บางคนชอบคุยข่ม ตีตรา ตัดสินคนอื่น มองคนอื่นว่าด้อยกว่า บางคนติดความสมบูรณ์แบบ ทำอะไรต้องเป๊ะ เมื่อไม่ได้ดังใจ ก็หงุดหงิด บางคนคิดมาก วิตกจริต หยุมหยิม ขี้โมโห ชอบเหวี่ยงใส่คนอื่น ใช้อารมณ์ตัดสิน ที่สำคัญบางคนประสบความสำเร็จอย่างสูงในหน้าที่การงาน แต่ต้องจ่ายด้วยราคาแพงที่บ้าน ชีวิตครอบครัวขาดสมดุล ขาดความรัก ขาดความอบอุ่น ไม่เข้าใจกัน ไม่มีความสุข ตนเองก็รู้สึกเหนื่อยล้า แล้วกลับมาถามตนเองว่า ความสำเร็จที่ได้นั้น มันคุ้มไหม

ว่าไปแล้ว การขาดความมั่นคงทางอารมณ์ดังกล่าว มันเป็นภาวะที่สะท้อนถึงสภาพจิตใจที่เปราะบาง อ่อนไหว ขาดความเข้มแข็ง ขาดภูมิต้านทาน ขาดความเชื่อมั่น หวั่นไหว ขาดการนำตนเอง ชีวิตเต้นไปมาตามแรงกดดันจากภายนอก และเพื่อชดเชยกับภาวะดังกล่าว ตนจึงแสดงออกมาอย่างขาดการยับยั้งชั่งใจ ขาดการไตร่ตรอง นำไปสู่การตัดสินใจชั่ววูบ บางครั้งแสดงออกมาเป็นความรุนแรงต่อตนเอง รวมทั้งผู้อื่น

ประเด็นทั้งหมดเหล่านี้ นอกจากจะทำร้ายตนเองแล้ว ยังทำลายในทุกความสัมพันธ์ด้วย และเป็นเหตุผลหลักต่อภาวะถดถอยของศักยภาพของบุคลากรในองค์กร ไม่สามารถผลักดันศักยภาพภายในตนเองออกมาได้อย่างเต็มที่ องค์กรไม่บรรลุเป้าหมาย ส่วนรวมก็เสียหาย ตนเองก็เสียโอกาส

แล้วทางออกคืออะไร

เราพบว่า ทุกการแสดงออกใดๆ มันล้วนสะท้อนมาจากกรอบความคิด ที่สำคัญคือมันเป็นกรอบเชิงลบ แต่ที่แย่ยิ่งกว่านั้นก็คือ มันเป็นกรอบเชิงลบที่มีต่อตนเอง และที่แย่ที่สุดคือ มันเป็นอะไรที่ตนสร้างขึ้นเอง

กรอบเชิงลบที่มีต่อตนเองนี้มีรากมาจากความผิดหวัง และความเสียใจที่สั่งสมเกาะกัดกินใจมายาวนาน ตั้งแต่ครั้งอดีตและฝังลึกลงในใจเป็นภาพ (กรอบความคิด) ตนเองเชิงลบ นานๆ เข้า จนเป็นความรู้สึกที่ไม่เห็นคุณค่าตนเอง เกิดเป็นความรู้สึกผิดต่อตนเอง เห็นตนเองไร้ค่า ไร้ความสามารถ สู้คนอื่นไม่ได้ ไม่ว่าจะทำอะไร ก็ผิดไปหมด

เมื่อพูดถึงความรู้สึกผิด ว่าไปแล้วคนเราทำพลาดพลั้งมามากมายทั้งชีวิต แต่บางคนกลับไปรับรู้และเข้าใจมันว่าเป็น “ความผิด” อย่างเข้าใจผิด แล้วเอาความรู้สึกผิดนั้น กลับมาทำร้ายตนเอง นานเข้า กลายเป็นความรู้สึกที่ไม่เห็นคุณค่าตนเอง ประเด็นตรงนี้เองที่สำคัญที่สุดต่อภาวะที่ตนขาดภูมิต้านทาน ภายในเปราะบาง อ่อนไหวต่อแรงกดดันจากภายนอก ไม่อาจทนต่อแรงเสียดทานจากภายนอกได้ ทำให้ตนขาดความเชื่อมั่น ขาดความมั่นคง ขาดความเข้มแข็ง

ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ มันเป็นกรอบติดลบของตนเองที่มีต่อตนเองมันคือภาพติดลบที่ตนสร้างขึ้นเองจากความเข้าใจผิดต่อความรู้สึกผิด ภาวะถดถอยของศักยภาพจึงเป็นเรื่องที่ตนสร้างขึ้นเองทั้งสิ้นอย่างเข้าใจผิด และนอกจากจะทำร้ายตนเองแล้ว ยังทำลายความสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วย และนี่คือเหตุผลหลักที่นำไปสู่ การขาดคุณสมบัติของความเป็นผู้นำ ประเด็นมันจึงอยู่ที่ว่า เจ้าตัวนั้นเองเข้าใจผิดต่อความรู้สึกผิด มันเป็นความรู้สึกแพ้ที่มีต่อตนเอง และที่น่าเจ็บใจก็คือ มันเป็นอะไรที่ตนสร้างขึ้นเองทั้งสิ้นอย่างเข้าใจผิด นอกจากนี้ เราต้องเข้าใจว่า ความพลาดพลั้ง มันเป็นธรรมชาติของกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเติบโตและเข้มแข็งต่างหาก เราจึงพลาดอีกครั้งที่สอง

ดังนั้น เราจึงต้องมาทำความเข้าใจกับภาวะความพลาดพลั้งที่ผ่านมานั้นเสียใหม่ เพื่อนำชีวิตกลับสู่ภาวะปกติ เพราะที่ผ่านมาตนไปไม่ถึงไหน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตนไม่อาจก้าวข้ามความเข้าใจผิดต่อความรู้สึกผิดได้

ท่านคิดว่า ภาวะแพ้ตนเองคืออะไร ท่านเข้าใจคำว่า “ความเข้าใจผิดต่อความรู้สึกผิด” ว่าอย่างไรท่านคิดว่า อะไรคือรากของปัญหาที่แท้จริงที่คอยฉุดรั้งท่านไว้ รวมทั้งทีมงานไม่ให้ก้าวไปข้างหน้า ที่คอยปิดกั้นมิให้ท่านแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่และทำลายความสัมพันธ์กับผู้อื่น

ท่านในฐานะผู้นำองค์กร ท่านคิดว่าท่านต้องทำอะไร ท่านคิดว่าอะไรคือรากของปัญหาทางอารมณ์ อะไรทำให้บุคคลและองค์กรแตกต่างกัน และท่านจะนำความเข้าใจดังกล่าวไปกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อปรับเปลี่ยนภาวะติดลบดังกล่าวให้เป็นแรงผลักดันทั้งต่อตนเองและทีมงานให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงยั่งยืนได้อย่างไร และท่านคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากท่านสามารถตีทะลุผ่านภาวะติดลบดังกล่าวนั้นไปได้ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอารมณ์ มีความเชื่อมั่น มีภูมิต้านทาน เข้มแข็ง และความมั่นคงภายในให้กลับมาทั้งต่อท่านเองและทีมงาน ท่านคิดว่าต้องเริ่มที่ไหน ที่ใคร อย่างไร

และสิ่งที่กล่าวมทั้งหมดนี้ก็เป็นจริงที่บ้านด้วย

Let's block ads! (Why?)


ผู้นำการเปลี่ยนแปลงกับความมั่นคงทางอารมณ์ (EQ) - โพสต์ทูเดย์
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...