Rechercher dans ce blog

Tuesday, April 6, 2021

'ทุกอย่างทางไกล' วิถีใหม่มาถึงแล้ว - กรุงเทพธุรกิจ

7 เมษายน 2564 | โดย กฤษฎา บุญเรือง | คอลัมน์ เล่าเรื่องลงทุน

21

การระบาดของโควิด-19 เขย่าโลกให้ปรับเปลี่ยนทุกอย่าง จากเดิมเคยสัมผัสใกล้ชิดระหว่างมนุษย์กลับต้องมาเป็นกิจกรรม “ทุกอย่างทางไกล” ซึ่งนับเป็นความจำเป็นเพื่ออยู่รอด ไม่ใช่ทางเลือก

ผมเพิ่งได้รับฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยี่ห้อไฟเซอร์เข็มที่หนึ่งและนัดฉีดเป็นเข็มที่สอง อีกภายใน 2 สัปดาห์ รัฐจอร์เจีย  ซึ่งเป็นภูมิลำเนาที่ผมอยู่ในปัจจุบัน เปิดโอกาสให้ประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป รับการฉีดวัคซีนได้ ทำเนียบขาวเพิ่งประกาศว่าชาวอเมริกันจะได้รับการฉีดถึง 200 ล้านเข็ม ประมาณต้นพ.ค .เป้าหมายคือต้องการให้มีภูมิคุ้มกันกลุ่มทั่วประเทศภายใน ส.ค.นี้

ชาวอเมริกันหลายคนถึงแม้มีสิทธิ์ก็ไม่ใช้สิทธิ์เรื่องนี้ แต่ค่ายทหารหลายแห่งรายงานว่ามีผู้รับวัคซีนเพียงแค่ 48% ทั้งที่ทุกคนมีสิทธิ์ แต่เมื่อไม่มีการบังคับจึงทำให้เกิดความไขว้เขวลังเล สังคมปัจจุบันต้องระมัดระวังเรื่องการบริโภคข่าว หากเรามีบทสรุปหรือมีความเชื่ออะไรอยู่แล้ว โอกาสที่เราจะเจอข่าวที่สนับสนุนกับความเชื่อนั้นมีมาก ขอส่งกำลังใจให้ทุกท่านเตรียมพร้อมเมื่อโอกาสของท่านมาถึง รับการฉีดวัคซีน เพื่อแสดงถึงความรัก ห่วงใย และความรับผิดชอบในสุขภาพของตนเอง ครอบครัวและสังคม

โควิด-19 ระบาดครั้งนี้เขย่าโลกให้ปรับเปลี่ยนทุกอย่าง ทั้งการทำมาหากิน การรักษาพยาบาล และกิจกรรมในสังคม จากเดิมเคยสัมผัสใกล้ชิดระหว่างมนุษย์กลับกลายต้องมาเป็นกิจกรรม “ทุกอย่างทางไกล (tele-everything)”

การสัมผัสผ่านดิจิทัลระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ กลายเป็นสิ่งปกติ จากเดิมเคยใช้มนุษย์ต่อมนุษย์เป็นทางเลือกที่หนึ่งและดิจิทัลเป็นสิ่งทดแทนในบางกรณี แต่ในปัจจุบันการติดต่อทางดิจิทัลเป็นมาตรฐานใหม่

สำหรับผู้ที่เกิดมาในยุคไม่มีดิจิทัลและต้องเรียนดิจิทัล วิถีชีวิตใหม่ ในการใช้ “ทางไกลทุกอย่าง” เป็นความจำเป็นเพื่ออยู่รอดไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป คนเป็นจำนวนมากเริ่มปรับตัวและพัฒนาอย่างรวดเร็วเพื่อให้มีทักษะในการติดต่อทางดิจิทัลเพื่อการทำงาน การศึกษา รักษาพยาบาล การซื้อขาย และสังสรรค์เสวนากับญาติมิตร

  • สิ่งที่ต้องระวังจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

1.ระดับบุคคลจะเกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ผู้ที่ปรับตัวได้มีความคล่องในการใช้เทคโนโลยีจะเป็นผู้ได้เปรียบและจะมีอำนาจในการกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจ

2.บริษัทใหญ่ที่ควบคุมข้อมูลและเทคโนโลยีจะสามารถกำหนดทิศทางหรือปั่นเศรษฐกิจ เพื่อสร้างข้อได้เปรียบ

3.ข่าวเท็จ และสิ่งไร้สาระจะกระจายอย่างรวดเร็ว อาจเป็นเครื่องมือของผู้ประสงค์ร้ายที่เป็นกลุ่มใหญ่มีทรัพยากรมาก หรืออาจจะเกิดจากการจุดชนวนของบุคคลคนเดียวที่ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือกลุ่มชนอาจถูกชักจูงให้เกิดความโน้มเอียง แสดงออกด้วยการใช้ความรุนแรงอาจเกิดขึ้นได้รวดเร็ว โดยที่ภาครัฐจะป้องกันหรือปราบปรามไม่ได้

  • ผลดีที่จะได้รับจากการเปลี่ยนแปลง

1.ความหมายของประชาธิปไตยหรือความเสมอภาคจะเริ่มเปลี่ยนไป ประชาชนจะมีส่วนร่วมกับการกำหนดทิศทาง วิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจและการเมืองมากขึ้น โอกาสที่จะเข้าถึงเงินทุนจะเพิ่มมากขึ้น ผู้นำและผู้บริหารประเทศจะต้องคำนึงถึงเสียงของประชาชน

2.คุณภาพชีวิตระดับบุคคลและครอบครัวจะดีขึ้น อำนาจการต่อรองในการประกอบอาชีพระหว่างนายจ้างและลูกจ้างจะยุติธรรมมากขึ้น การทำงานจากบ้านหรือเลือกสรรสิ่งแวดล้อมในการประกอบอาชีพจะมีทางเลือกมากขึ้น คุณภาพของชุมชนก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี

3.เราจะมีทางเลือกแห่งชีวิตที่มีประสิทธิภาพและประหยัดเวลา ผลตอบแทนต่อบุคคลจะสูงขึ้น การรักษาสุขภาพเพิ่มความรู้และความเป็นอยู่ในชุมชนจะดีขึ้น

นวัตกรรมมีคุณอนันต์และโทษมหันต์ ปัญญาประดิษฐ์ซึ่งเพิ่มประสิทธิภาพของสมองมนุษย์ยิ่งทำให้คุณอนันต์และโทษมหันต์นั้นเพิ่มทวีคูณ

การวางแผนลงทุนในปัจจุบันต้องพิจารณาเงื่อนไขที่เกิดขึ้นจากนวัตกรรมและปัญญาประดิษฐ์เป็นตัวหลัก ภัยที่เกิดขึ้นหรือสิ่งท้าทายที่เกินวิสัยของมนุษย์ที่จะรับมือได้ก็จะมีเครื่องมือทางนวัตกรรมและปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วย

มหาอำนาจที่กำลังจะเพิ่มขีดความสามารถเข้ามาแข่งขันจัดระบบใหม่ในโลก เช่น จีนและอินเดีย ก็มีสมรรถนะที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจมีหลายอย่างที่จีนและอินเดียเทียบเท่าหรือแซงอเมริกาไปแล้ว ประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาอีกหลายประเทศอาจได้รับผลประโยชน์ โอกาสในการแข่งขันของประเทศที่เล็กกว่าก็จะเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกับประชาชนที่มีสิทธิ์เสียงในการกำหนดทิศทางและนโยบายของประเทศโดยการใช้นวัตกรรมและปัญญาประดิษฐ์

ไทยต้องดำเนินยุทธศาสตร์ของความเป็นกลางและรู้จักรักษาความสมดุลระหว่างมหาอำนาจในภูมิภาคและข้ามทวีป การรับนวัตกรรมจากมหาอำนาจทั้งหลายเข้ามาใช้ให้เหมาะสมในประเทศเราเป็นศิลปะที่เราเคยพิสูจน์มาแล้วหลายชั่วคนว่าความเปลี่ยนแปลงและอิทธิพลจากรอบด้านนั้นย่อมไม่เกินความสามารถของไทยที่จะรับมือได้ (คล้ายกับอาหารไทยซึ่งรับความคิดมาจากทั่วโลก ประกอบดัดแปลงกับสิ่งดีในท้องถิ่น เป็นอาหารยอดนิยมที่โลกยกย่อง)

งานที่น่าเบื่อสกปรกและอันตรายจะถูกทดแทนโดยนวัตกรรม (dull, dirty & dangerous jobs) ดังนั้นท่านที่กำลังศึกษาหรือวางแผนในการประกอบอาชีพควรหลีกเลี่ยงงาน 3-D ดังกล่าว อาชีพหลายอย่างที่มาจากการศึกษาซึ่งเน้นความสามารถพิเศษและมีผลตอบแทนโดยรายได้สูงในปัจจุบัน (วิทยาศาสตร์ การแพทย์ วิศวกรรม อุตสาหกรรม เกษตรกรรมฯลฯ) หากถูกทดแทนได้โดยสมองกลและหุ่นยนต์ก็น่าเป็นห่วงครับ

สิ่งที่นวัตกรรมจะแข่งกับเราไม่ได้คือความเป็นมนุษย์ การมีอารมณ์อ่อนไหวความเมตตา ความเห็นอกเห็นใจ รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว และใช้วิจารณญาณ บวกสัญชาตญาณของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์พิเศษ ผู้ที่วางแผนการศึกษาและการประกอบอาชีพซึ่งเน้นถึงความละเอียดอ่อนของมนุษย์  (มนุษยศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศิลปกรรม จิตวิทยา ปรัชญาฯลฯ) มีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูงมากในอนาคตเพราะสมองกลและหุ่นยนต์จะทดแทนไม่ได้

ในยุคที่ทุกอย่างทางไกล เราควรให้ความสนใจเป็นพิเศษกับทุกอย่างที่ใกล้ เริ่มต้นที่การดูแลสุขภาพและพัฒนาคุณภาพของจิตใจ และบุคคลรอบข้างที่เรารัก มนุษย์ต่อมนุษย์ ตาต่อตา ใจต่อใจ สิ่งเหล่านี้ไม่มีอะไรทดแทนได้ครับ

Let's block ads! (Why?)


'ทุกอย่างทางไกล' วิถีใหม่มาถึงแล้ว - กรุงเทพธุรกิจ
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...