Rechercher dans ce blog

Tuesday, May 4, 2021

'คู่มือดูแลเด็กหลากหลายทางเพศ' เพื่อนร่วมทางเล่มแรกของ 'ครอบครัวสายรุ้ง' - กรุงเทพธุรกิจ

'คู่มือดูแลเด็กหลากหลายทางเพศ' เพื่อนร่วมทางเล่มแรกของ 'ครอบครัวสายรุ้ง'

5 พฤษภาคม 2564

12

ปัจจุบันเด็กและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ "ครอบครัวสายรุ้ง" ต้องเผชิญปัญหาการบูลลี่ ล้อเลียน และถูกรังแก ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งมักมีความซับซ้อนของปัญหาลามไปจนถึงความรุนแรงแตกต่างกันไป จึงจำเป็นต้องมี "คู่มือดูแลเด็กหลากหลายทางเพศ" ขึ้น

"ครอบครัวสายรุ้ง" เป็นครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ ในสังคมปัจจุบันการยอมรับคือสิ่งสำคัญเป็นอย่างมาก เขาคือคนปกติทั่วไปที่มีโอกาสที่จะเลือกเป็นในแบบที่เขาต้องการ พวกเขาต้องการความเข้าใจทั้งจากครอบครัว ญาติ ครู เพื่อน และคนใกล้ชิด "คู่มือดูแลเด็กหลากหลายทางเพศ" เล่มแรกของประเทศไทยนี้ จึงเข้ามามีบทบาทในการสร้างความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้นให้กับทุกคน 

วันที่ ลูก “Come Out”

"ตอน ม. 2 เราบอกกับแม่ว่า เราอาจชอบผู้หญิง"

ศิริวรรณ พรอินทร์ เยาวชนหญิงแห่งเอเชีย ผู้มีความหลากหลายทางเพศ กำลังถ่ายทอดประสบการณ์ของตนเอง ซึ่งหลังจากที่ได้บอกแม่ในวันนั้นแล้ว ฟีดแบ็กจากครอบครัวที่ได้รับ ทำให้ศิริวรรณเกิดความมั่นใจในตัวตน และกล้าที่จะเปิดตัวตนสู่สังคมมากขึ้น

"พอบอกแม่ แล้วแม่ดีใจกับเรา เราเลยอยากบอกเพื่อนสนิท ซึ่งเพื่อนในกลุ่มเข้าใจเรา เพราะกลุ่มเราส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์ที่มีอัตลักษณ์หลากหลายทางเพศอยู่แล้ว"

หลังจากการ Come Out ของตนเอง ศิริวรรณยังได้เรียนรู้ว่าในโลกชีวิตจริง ใช่ว่าทุกคนในสังคมจะเปิดใจกว้างเหมือนแม่ และคนรอบตัวของเธอ เด็กสาวย้อนถึงเหตุการณ์วันหนึ่งที่เธอต้องถูกสังคมแวดล้อมตัดสิน จนทำให้ตนเองกับเพื่อนรู้สึกไม่อยากไปโรงเรียนอีกต่อไป

"เราตั้งคำถามในใจนะว่าการที่เราเป็นเพศทางเลือกมันเป็นปัญหาตรงไหน หรือเราทำผิดอะไร" ศิริวรรณ เผยความรู้สึกด้วยเสียงสั่นเครือ

ปัจจุบันเด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศต้องเผชิญปัญหาการถูกรังแกหรือล้อเลียนเสมอ พฤติกรรมที่เรียกว่า "บูลลี่" ไม่ได้เกิดเฉพาะที่เห็นในโลกออนไลน์แค่ที่เราเห็น แต่ในชีวิตออฟไลน์ การไม่ยอมรับในเรื่องเพศทางเลือกยังคงแฝงอยู่ทุกที่ในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน ชุมชน หรือแม้แต่ในโรงเรียนที่ได้ชื่อว่าเป็นสถานที่สร้างเสริมปัญญาความรู้ให้แก่อนาคตของชาติ

ศิริวรรณ เล่าว่า ไม่เฉพาะเพื่อน แต่ครูบางคนก็เป็นคนบูลลี่เด็กเองด้วยซ้ำ แม้จะยังมีครูหลายคนที่เข้าใจและปฏิบัติกับเด็กทุกคนเท่าเทียมกัน โดยไม่สนใจว่ามีอัตลักษณ์ทางเพศอย่างไร

"หนูอยากให้ครูเข้าใจเราและเป็นแบบนี้ทุกคน" ศิริวรรณตัดพ้อ

เรื่องเล่าจากครอบครัวสายรุ้ง

"วันที่เขาบอกเรา เราอยากให้เขาสบายใจที่จะเปิดเผยกับเรา เราก็ขอบคุณเขาที่ให้โอกาสเราได้รับรู้เรื่องนี้ด้วย"

มัจฉา พรอินทร์ เครือข่ายครอบครัวที่มีลูกหลานหลากหลายเพศ ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านมุมมองของผู้เป็นแม่ เธอเผยความรู้สึกตนเองในตอนนั้นว่า

"ลูกมาบอกเราว่า แม่หนูคิดว่าหนูชอบผู้หญิงได้ด้วย ถ้าเป็นพ่อแม่ส่วนใหญ่ได้ฟังแล้วอาจตกใจ แต่เรารู้สึกดีใจกับลูก ที่เขาอายุเท่านี้ แต่สามารถรู้ว่าตัวเองคือใครและชอบใครได้" 

ส่วนหนึ่งเพราะครอบครัวของมัจฉาจะมองเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ ทุกคนสามารถคุยกันได้เป็นปกติ

"เราเป็นครอบครัวที่มีความทับซ้อนอีกระดับ คือเราเป็นครอบครัวหลากหลายทางเพศ เรามีความสัมพันธ์และคู่สมรสแบบหญิงรักหญิง เรามีลูกสาวที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งปัจจุบันเราพบว่า ครอบครัวที่ไม่มีการสมรสแบบเท่าเทียม หรือครอบครัวที่ก่อตั้งด้วยเพศเดียวกัน ต้องเผชิญกับปัญหาการไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย เราจึงพยายามผลักดันเรื่องนี้"

ในระดับครอบครัว มัจฉาเป็นอีกหนึ่งตัวแทนที่ต่อสู้เพื่อให้ได้ครอบครัวได้รับการยอมรับและการคุ้มครองจากกฎหมาย ส่วนในระดับสังคม มัจฉายังเดินหน้ากับบทบาทของการเอ็นจีโอทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ เพื่อผลักดันให้เกิดสมรสเท่าเทียมกัน รวมถึงเธอยังพยายามขับเคลื่อนให้สังคมเห็นความสำคัญของการพัฒนาสิทธิให้กับครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่นเดียวกับครอบครัวแบบอื่นๆ ในสังคม

จากการที่ได้เติบโตมาในครอบครัวที่แม่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ศิริวรรณจึงได้มีโอกาสซึมซับเรื่องราวจาก เพื่อนๆ เยาวชนกลุ่มนี้มาตั้งแต่เด็ก ซึ่งยังกลายเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เธออยากลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเพื่อนๆ ที่เผชิญปัญหาเดียวกัน

"ยังมีเด็กในชุมชนเดียวกับเราที่เจอปัญหานี้ เขาหาเพื่อนไม่เจอ หนูอยากช่วยตรงนั้นว่าเขาควรมีกลไกอะไรไปช่วยปกป้องเขาได้" ศิริวรรรณเผยความรู้สึก

แต่นอกจากต้องเผชิญกับการไม่ยอมรับแล้ว เด็กๆ เหล่านี้ยังต้องปัญหาที่ทับซ้อนบนความหลากหลาย นั่นคือค่านิยมของสังคมไทยและพ่อแม่ที่แฝงอยู่ ซึ่งกลายเป็นความกดดัน

"อยากให้พ่อแม่ยอมรับเราโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ใช่ยอมรับว่าเราเป็นคนดี คนเก่ง หรือว่าเรามีความหลากหลายทางเพศ บางคนบอกว่ามีความหลากหลายทางเพศต้องเก่งแบบฟ้าประทานกว่าคนอื่น แต่หนูนี่ไม่ได้เป็นเด็กเรียนเก่ง หรือเพื่อนบางคนพ่อแม่พยายามให้เรียนหนักมากเพื่อให้เป็นคนเก่ง" ศิริวรรณระบายความรู้สึก

ครอบครัวคือ Safe Zone

ในฐานะคนทำงานด้านความหลากหลายทางเพศ มัจฉาให้ข้อมูลว่าเด็กกลุ่มหลากหลายทางเพศ มักมีความซับซ้อนของปัญหาและเผชิญความรุนแรงแตกต่างกันไป

"จากประสบการณ์จากเยาวชนที่ทำงานด้วย ส่วนใหญ่คือครอบครัวพอรู้เรื่องมักตกใจ เพราะไม่รู้จะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร อีกประเภทคือพ่อแม่จะตอกย้ำกับลูกว่ามันไม่จริงหรอก ลูกยังเด็กไม่เข้าใจเรื่องนี้ดี หรือห้ามปรามไม่ให้เขาไปบอกกับใคร บางรายก็ใช้ความรุนแรง บังคับหรือกดดันลูก"

เธอเอ่ยว่า ปัญหาเหล่านี้เกิดจากพื้นฐานพ่อแม่ส่วนใหญ่ มักเป็นห่วงว่าลูกต้องออกไปเผชิญโลกภายนอกและถูกสังคมไม่ยอมรับ

"บางคนก็กังวลว่าจะถูกสังคมตัดสินว่าเราเลี้ยงลูกไม่ได้ดี นี่เป็นเพราะสังคมคาดหวังและบอกว่าเราต้องเลี้ยงลูกให้อยู่ในกรอบที่สังคมมอบให้ พ่อแม่จึงอ้างความปรารถนาดี ความจริงเรื่องเพศเราพูดคุยกันได้ตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อเด็กไม่มีข้อมูล พ่อแม่ก็ต้องทำหน้าที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับลูก" มัจฉาให้มุมมอง

เช่นเดียวกับ นพเบญทวิช สุรศาสตร์พิศาล แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว คลินิกเพศหลากหลาย (Gen V Clinic ) โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมเสริมในมุมมองวิชาการว่า

"จริงๆ อันดับแรกสังคมไทยต้องเข้าใจก่อนว่า ความหลากหลายทางเพศเป็นมิติหนึ่งของมนุษย์ เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ใช่โรค ไม่ได้เป็นปัญหา ไม่จำเป็นต้องหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร และไม่ใช่เรื่องที่ต้องไปเปลี่ยน"

คุณหมอเบญทวิช เอ่ยต่อว่า หากครอบครัวให้การยอมรับความหลากหลายเรื่องเพศ เด็กๆ จะรู้สึกปลอดภัย แต่ถ้าที่บ้านไม่ยอมรับ อาจมีผลให้เขาใช้ชีวิตค่อนข้างลำบาก และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพหรือปัญหาต่างๆ ตามมา 

"การยอมรับมันจะทำให้เขาโตขึ้น และพร้อมที่จะใช้ชีวิตรับมือในเรื่องอื่น ๆ ได้ เพราะอย่าลืมว่าชีวิตไม่ได้มีโจทย์แค่การก้าวข้ามเรื่องเพศเท่านั้น"

แต่ปัญหาคือสังคมไทย วัฒนธรรมการคุยเรื่องเพศไม่เคยมีบนโต๊ะอาหาร ดังนั้น การพยายามบอกสังคมผ่านสื่อหรือ คู่มือ น่าจะช่วยเป็นกระบอกเสียง ช่วยสื่อสารกับสังคมได้เข้าใจถึง LGBT ได้

ปลดล็อกพ่อแม่ด้วยคู่มือสายรุ้ง

"คู่มือดูแลเด็กหลากหลายทางเพศ นี้เกิดจากความเชื่อว่าพ่อแม่มีความรักลูกในแบบตัวเอง บางครั้งพ่อแม่ไม่ได้เกลียดอะไรนะ เพียงแต่เขาไม่รู้ เขามีความกังวลว่าลูกจะมีอนาคตไหม แก่ตัวไปใครจะเลี้ยง เราจึงต้องเข้าใจสิ่งที่พ่อแม่กังวลก่อน แล้วค่อย ๆ คลายทีละประเด็น เช่น การแต่งงานไม่ได้ ไม่ใช่เป็นปัญหาที่ตัวคน แต่เป็นเพราะกฎหมาย เป็นปัญหาโครงสร้างสังคม เราต้องแก้ที่โครงสร้าง เราจึงหวังว่าคู่มือจะเป็นด่านแรกที่เข้าถึงได้และเข้าใจง่ายขึ้น กับผู้ปกครองและพ่อแม่" นพเบญทวิช กล่าว

สำหรับ "คู่มือดูแลเด็กหลากหลายทางเพศ" เล่มนี้อาจเป็นคู่มือเล่มแรกในประเทศไทย ซึ่งทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนจัดทำขึ้น เนื่องจากเห็นว่า ที่ผ่านมาสังคมไทยเองก็ยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายทางเพศที่ถูกต้อง และน่าเชื่อถือ  

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า จากการสำรวจพบพ่อแม่ส่วนใหญ่ที่มีลูกมีความหลากหลายทางเพศมีความกังวลใจ ทุกข์ต่อการเปิดเผยตัวตนของลูกต่อสาธารณะ ซึ่งเกิดจากด้วยพื้นฐานความรักความห่วงใย ที่กังวลว่าลูกหลานตนจะได้รับการยอมรับจากสังคมหรือไม่ ลูกจะถูกรังแก หรือแม้แต่เพิ่มฮอร์โมนแล้วร่างกายจะสุขภาพปกติหรือเปล่า เป็นต้น

"เรามองเรื่องนี้เป็นเรื่องสุขภาวะโดยตรง เพราะเขาไม่สามารถมีความสุขหรือมีชีวิตเช่นเดียวกับคนทั่วไปได้ การลดความเหลื่อมล้ำสุขภาพเป็นหน้าที่ สสส. จึงมองว่าเราน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่คลายความกังวลและอยากมีส่วนร่วมทลายกำแพงนี้ จึงร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยฯ ในการปลดล็อก สำหรับคู่มือเล่มนี้ เราขอใช้คำว่าเป็นเพื่อนร่วมทางกับพ่อแม่ ครอบครัวสายรุ้ง คือไม่ใช่ว่าการมีคู่มืออย่างเดียวแล้วจะเป็นทุกคำตอบสำหรับพ่อแม่ เพียงแต่จะทำให้พ่อแม่มีความรู้ความเข้าใจ ซึ่งเรานำมาจากพ่อแม่ที่มีประสบการณ์ ภายใต้การสังเคราะห์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางเพศ ซึ่งแม้จะใช้ไม่ได้ผลกับทุกคน แต่ก็เป็นการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันได้" ภรณีกล่าว

ไม่ใช่แต่พ่อแม่ที่ควรอ่าน ทุกคนก็สามารถอ่านได้ หากเพียงอยากทำความเข้าใจถึงความหลากหลายทางเพศบนโลกนี้ 

 ดาวน์โหลดคู่มือได้ที่ http://online.anyflip.com/slmrr/cjaj/mobile/index.html

Adblock test (Why?)


'คู่มือดูแลเด็กหลากหลายทางเพศ' เพื่อนร่วมทางเล่มแรกของ 'ครอบครัวสายรุ้ง' - กรุงเทพธุรกิจ
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...