8 มิถุนายน 2564 | โดย เรื่อง : ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี ภาพ : จรูญ ทองนวล
64
อ่านเรื่องเกี่ยวกับ "มลพิษ" ทาง "ทะเล" ที่เราอาจไม่เคยรู้ เพื่อตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมใต้มหาสมุทร ใน "วันทะเลโลก"
เชื่อไหมว่า ยังมีตัวเลขเกี่ยวกับ มลพิษทางทะเล ใน วันทะเลโลก 8 มิถุนายน อีกหลายอย่างที่เราไม่ควรมองข้าม
เริ่มตั้งแต่ ปริมาณขยะกว่า 27 ล้านตัน ที่คนไทยสร้างขึ้นต่อปี ถึงแม้รายงาน สถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ปี 2563 จะระบุว่า มีปริมาณลดลงจากปี 2562 ราว 4 % ก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า เราจะละเลยขยะ 1.14 กิโลกรัมที่คนเราผลิตขึ้นในแต่ละวันได้แม้แต่น้อย เพราะปลายทางของขยะที่ถูกทิ้งมักร่วงลงไปจมอยู่ในทะเลไทยกว่า 10 ล้านตันทุกปี
จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อมีขยะถูกทิ้งลงทะเลมากกว่า 10 ล้านตันทุกปี?
นอกจากการตกค้างในธรรมชาติ หรือแตกตัวกลายเป็นพลาสติกจิ๋ว หรือไมโครพลาสติก เข้าไปปนเปื้อนอยู่ในแทบทุกอณูของโลกใบนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมา รู้อีกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมลพิษทางทะเลที่ไม่ได้มีแค่ขยะ หรือพลาสติก
เมื่อ สิ่งที่มองไม่เห็นไม่ได้แปลว่ามันไม่มีอยู่จริง มลพิษ ใน ทะเล ก็เช่นเดียวกัน
- น้ำมันรั่วลงทะเลอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ (แต่ก็ควรกังวล)
ถ้าเรารู้ว่า สัดส่วนการรั่วไหลของน้ำมันบนพาดหัวข่าวของสื่อมวลชนนั้นคิดเป็นเพียงร้อยละ 12 ของปริมาณที่น้ำมันรั่วทั้งหมด ทั้งที่จริงๆ แล้ว น้ำมันที่ปนเปื้อนลงทะเลส่วนใหญ่นั้นมาจาก ถนน แม่น้ำ และท่อน้ำทิ้งมากกว่า
- พลาสติกกำลังจะมากกว่าปลาในทะเล
มีรายงานว่า ตัวเลขปริมาณพลาสติกที่คนเราทิ้งลงทะเลในแต่ละปีนั้นสูงถึง 7.9 พันล้านกิโลกรัม หรือเท่ากับน้ำหนักของวาฬสีน้ำเงิน 57,000 ตัว ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงเป็นแบบนี้ต่อไป มีการคาดการณ์กันว่า อีกไม่เกิน 30 ปีต่อจากนี้ หรือปี ค.ศ. 2050 ปริมาณพลาสติกจะมากกว่าปลาในมหาสมุทรรวมกันเสียอีก
- แพขยะขนาดใหญ่ที่สุดในทะเลมีขนาดใหญ่แค่ไหน
แพขยะทะเลนั้นมีอยู่มากมาย และกระจัดกระจายอยู่ทั่วท้องทะเล โดยแพขยะขนาดใหญ่ในโลกนี้มีด้วยกัน 5 จุด และ Great Pacific Garbage Patch หรือ แพขยะแปซิฟิก ที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้น มีปริมาณขยะอยู่ 1.8 ล้านล้านชิ้น หรือสามารถเอามาวางเรียงกันเป็นขนาด 2 เท่าของรัฐเท็กซัส เลยทีเดียว
- อันตราย 2 เด้งจากพลาสติก
นอกจากแพขยะที่มีพลาสติกเป็นส่วนผสมที่สร้างมลภาวะต่อทะเลแล้ว พลาสติกเหล่านั้นจะยิ่งร้ายกาจขึ้นเมื่อมีการแตกตัว และกลายสภาพเป็นพลาสติกจิ๋ว หรือไมโครพลาสติก ก่อนจะเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารผ่านการปนเปื้อนไปในที่ต่างๆ ซึ่งจนถึงตอนนี้ แม้ยังไม่ได้มีการศึกษาที่ระบุชัดว่า พลาสติกเหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่อเราหรือไม่ แต่สารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของพลาสติกนั้น อันตรายต่อธรรมชาติแน่นอน
- จีน และอินโดนีเซีย แหล่งผลิตขยะพลาสติกของโลก
มีรายงานระบุว่า พลาสติกในทะเลส่วนใหญ่นั้นมาจาก จีน และอินโดนีเซียมากกว่าแหล่งอื่น โดยรวมกันแล้วคิดเป็น 1 ใน 3 ของปริมาณพลาสติกทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้น ในข้อมูลชุดดังกล่าวยังระบุด้วยว่า กว่า 80 % ของมลพิษพลาสติกทั้งหมด มาจาก 20 ประเทศในโลกเท่านั้น และหนึ่งในนั้นก็คือ สหรัฐอเมริกา
- มลพิษในแฟชั่น
เชื่อไหมว่า ในการซักผ้าแต่ละครั้ง จะมีไมโครไฟเบอร์สังเคราะห์มากกว่า 7 แสนชิ้นถูกชะล้างลงในท่อน้ำทิ้งของเรา เส้นใยพลาสติกเหล่านี้ไม่แตกตัว ไม่เหมือนกับวัสดุธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย หรือ ขนสัตว์ งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า ไมโครไฟเบอร์สังเคราะห์มีสัดส่วนมากถึง 85 % ของขยะที่อยู่เกลื่อนชายหาดทั้งหมด
- ขยะส่วนใหญ่ถูกทิ้งลืมอยู่ก้นทะเล
น่าจะเป็นคำกล่าวที่ไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่า ทะเลก็เหมือนถังขยะใบใหญ่ของมนุษยชาติ นอกจากน้ำทะเลสีคราม สิ่งที่จมอยู่ใต้ท้องน้ำนั้น เป็นขยะกว่า 70 % ของปริมาณขยะในทะเลทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่า เราไม่มีทางที่จะทำความสะอาดก้นถังขยะได้เลย
- แม้แต่สารอาหารก็อันตรายสำหรับทะเล
นี่ไม่ใช่เรื่องเกินจริงที่จะบอกว่า สารอาหารทางการเกษตรที่เป็นมิตรกับต้นไม้ใบหญ้า แต่เป็นพิษกับท้องทะเลอย่างยิ่งยวด เมื่อมันถูกปล่อยลงสู่ทะเลในปริมาณมหาศาล สารอาหารทางการเกษตร เช่น ไนโตรเจน สามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของสาหร่ายได้ เมื่อสาหร่ายกระจายตัวสร้างอาณาจักรของตัวเองขึ้นมา ออกซิเจนในน่านน้ำโดยรอบจะถูกดูดกลืนหายไป ทำให้เกิดเขตมรณะอันกว้างใหญ่ ซึ่งอาจส่งผลให้ปลา และสัตว์ทะเลอื่นๆ ตายไปเป็นจำนวนมาก
- ข่าวร้ายก็คือ เขตมรณะเหล่านั้นกำลังเพิ่มขึ้น
นับตั้งแต่ปี 2004 นักวิทยาศาสตร์ได้เริ่มทำการสำรวจเขตไร้ออกซิเจน หรือ เขตมรณะ (พื้นที่ที่มีความเข้มข้นของออกซิเจนต่ำจนทำให้ชีวิตสัตว์หายใจไม่ออกและตายในที่สุด) พวกเขาค้นพบเขตมรณะทั้งสิ้น 146 โซน ก่อนที่จะเพิ่มเป็น 405 โซน ในปี 2008 ล่าสุดเมื่อปี 2017 มีการค้นพบเขตมรณะขนาดเกือบเท่ารัฐนิวเจอร์ซีย์ บริเวณอ่าวเม็กซิโก นับเป็นเขตมรณะที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบมา
- หอยแมลงภู่กำลังสูญพันธุ์!?
ผลกระทบอีกอย่างหนึ่งที่เกิดจากปรากฏการณ์เรือนกระจกคือค่าความเป็นกรดในมหาสมุทรเพิ่มขึ้น ซึ่งภาวะดังกล่าวไม่ค่อยสู้ดีนักสำหรับหอยสองฝา อย่าง หอยแลงภู่ หอยเชลล์ หอยนางรม ในการสร้างเปลือกหอย และทำให้โอกาสในการอยู่รอดลดลงไปโดยปริยาย นอกจากจะทำให้ห่วงโซ่อาหารปั่นป่วน เรื่องนี้ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพอยที่มีมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ อีกด้วย
.
มลพิษทางเสียงก็ส่งผลกระทบกับทะเล
เสียงจากการเดินเรือ และกิจกรรมทางทะเลต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นทั้งในเชิงพาณิชย์ หรือภารกิจทางการทหารล้วนก่อให้เกิดความเสียหายต่อเซลล์ และสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง รวมทั้ง แมงกะพรุน และดอกไม้ทะเล ซึ่งสัตว์เหล่านี้เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของทูน่า ฉลาม เต่าทะเล รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
ที่มา : conservation
11 เรื่อง 'มลพิษ' ทาง 'ทะเล' ที่เราอาจไม่เคยรู้ ใน 'วันทะเลโลก' - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment