Rechercher dans ce blog

Wednesday, June 30, 2021

“พปชร.” ผนึกพันธมิตร-ฝ่ายค้าน ผ่าทางตันบัตร 2 ใบ ชิงชัยเลือกตั้งครั้งหน้า - ประชาชาติธุรกิจ

เกมรัฐธรรมนูญเสี่ยงจะกลายเป็น deadlock อีกครั้งหรือไม่ เพราะรัฐสภากำลังกุมขมับกับการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เพิ่งผ่านวาระรับหลักการ วาระ 1

ภายหลังที่ประชุมรัฐสภาโหวตให้กับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพียงร่างเดียว จากทั้งหมด 13 ร่าง

เป็นร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83, 91 (แก้ระบบเลือกตั้ง ส.ส. ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ) เสนอโดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปชป.กับคณะ มีมติรับหลักการ 552 คะแนน เป็น ส.ส. 342 คะแนน วุฒิสมาชิก 210 คะแนน ไม่รับหลักการ 24 คะแนน งดออกเสียง 130 คะแนน

แม้เกือบทุกร่างจะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุม แต่ตามมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่าจะต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว.จำนวน 1 ใน 3 คือ 84 เสียง ที่เหลือ ส.ว.คว่ำเรียบ ไม่โหวตให้

หวยจึงมาลงเอยที่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ ที่แก้ระบบเลือกตั้งเพียง 2 มาตรา คือ มาตรา 83, 91 เท่านั้น

แต่ปัญหาก็คือ รัฐธรรมนูญ 2560 ที่เขียนโดย “เกจิ” มีชัย ฤชุพันธุ์ ได้สร้างกลไกรัฐธรรมนูญ ร้อยรัด เชื่อมโยงกันหลายมาตรา ครั้นจะแก้ไขเพียง 2 มาตราจึงมิอาจทำได้

อีกทั้งขั้นตอนการแปรญัตติ แก้ร่างกฎหมายในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) ของรัฐสภา ยังแก้เนื้อหาที่ขัดหลักการไม่ได้ ดังนั้น เมื่อร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีอยู่แค่ 2 มาตรา หากแก้เพียง 2 มาตราก็จะไปขัดกับมาตราอื่น ๆ จึงเป็นปัญหาว่าจะแก้ไขอย่างไรไม่ให้เกิด deadlock

เรื่องวุ่น ๆ นี้ขุนพลฝ่าย ส.ส.ที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ต่างออกมาผ่าทางตัน ไม่ว่า เพื่อไทย พลังประชารัฐ หรือ ประชาธิปัตย์ ในฐานะเจ้าของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

โดยหยิบข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 124 มาแก้วิกฤต ระบุว่า “การแปรญัตติเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ หรือตัดทอน หรือแก้ไขมาตราเดิม ต้องไม่ขัดกับหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เว้นแต่การแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการนั้น”

“ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ตีความว่า ข้อ 124 ระบุไว้ชัดเจนว่า สามารถแก้ไขเพิ่มเติมมาตราต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับหลักการได้ เพราะฉะนั้น ประเด็นใดที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการที่แก้ไข เราจะขอเสนอแปรญัตติ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ที่สุด

สอดคล้องกับ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” ประธานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยให้ความเห็นว่า การแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการนั้น ซึ่งมีความหมายว่า

“แม้ไม่ได้เขียนไว้ในหลักการแต่หากมันเกี่ยวเนื่องกันกับหลักการก็แปรญัตติได้ ซึ่งระบบเลือกตั้งเขียนไว้เกี่ยวเนื่องกันตั้งแต่มาตรา 83 ถึงมาตรา 94 จึงเห็นว่าสามารถที่จะแปรญัตติเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวได้”

ดังนั้น “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ หัวหอกแก้รัฐธรรมนูญฝ่ายรัฐบาล เตรียมใช้เงื่อนไขตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 124 เข็นร่างแปรญัตติ แก้ไขเพิ่มเติมอีก 6 มาตรา ประกอบด้วย มาตรา 86, 90, 91, 92, 93, 94 บวกกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีอยู่แล้ว 2 มาตรา รวมกันเป็น 8 มาตรา ซึ่งร่างไว้เรียบร้อยแล้ว

แม้ว่าฝ่ายนัก “อ่านเกม” นอกสภา “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง ปรามาสว่า ต่อให้เทวดามาแปรญัตติก็ถึงทางตันอยู่ดี

“ความไม่สมบูรณ์เนื่องจากมีการแก้ไขเพียง 2 มาตรา คือ มาตรา 83 และ 91 แต่หลักการที่ต้องแก้ยังต้องมีในมาตราอื่น ๆ อีกอย่างน้อย 5-6 มาตรา ตัวอย่างเช่น มาตรา 86 (1) และ (4) มีการระบุถึงจำนวน ส.ส.เขตเป็น 350 คน หรือมาตรา 93, 94 ยังคงระบุถึงวิธีได้มาของ ส.ส.บัญชีรายชื่อในรูปแบบบัตรใบเดียว”

“แปรอย่างไรก็ไม่ทำให้ร่างแก้ไขเกิดความสมบูรณ์ เพราะแก้แล้วยังขัดกับมาตราที่ไม่ได้แก้”

ความชุลมุนในเกมนี้จึงมาอยู่ที่มือชี้ขาด คือ ส.ว.อีกครั้ง มือเดินเกมในฝ่าย ส.ว.อย่าง “สมชาย แสวงการ” ไกด์แนวทางว่า การแก้ไขเพิ่มหลักการสามารถยื่นตามข้อบังคับรัฐสภา ข้อ 124 โดยสามารถแปรญัตติได้ตั้งแต่ขั้น กมธ. โดยที่ประชุม กมธ.ต้องถามเจ้าของร่างที่เสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ คือ พรรคประชาธิปัตย์ เช่น นายบัญญัติ บรรทัดฐาน หรือนายชินวรณ์

ถ้าเจ้าของร่างให้ความเห็นว่าจะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมจากหลักการ เช่น จะแก้ไขเพิ่มขึ้นจาก 2 มาตราที่เสนอมา ก็ให้สมาชิกใน กมธ.เสนอแปรญัตติ แล้วให้ตัวแทนคณะกรรมการกฤษฎีกาไปยกร่างจนเสร็จ แล้วค่อยนำเข้าที่ประชุม กมธ. เมื่อ กมธ.มีมติเห็นชอบตามนี้ แล้วนำเข้าที่ประชุมรัฐสภาในวาระ 2

เพื่อขอความเห็นชอบว่าจะแก้ไขเพิ่มเติมเกินจากหลักการได้หรือไม่ เพราะมีมาตราที่เกี่ยวข้องเกินจากหลักการ เมื่อผู้เสนอร่างรายงานว่าไม่ขัดข้องที่จะให้แก้ไข กระบวนการก็ไปต่อได้

“แต่ถ้าทำไปแล้วมีการสะดุด ขัดกัน เช่น มาตราหนึ่งบอก ส.ส. 400 คน อีกมาตราให้มี ส.ส. 350 คน อย่างนี้จะเกิดเรื่อง”

“ในสมัยที่ผมเป็นเลขานุการวิปสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผมก็เคยใช้วิธีนี้”

ด้าน “ไพบูลย์” แห่งพรรคพลังประชารัฐมั่นใจสอดคล้องกันว่า การใช้เงื่อนไขข้อบังคับ ข้อ 124 ไม่มีปัญหา ท่ามกลางข่าวว่า ส.ว.จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ

“ไม่เชื่อว่าจะมี ส.ว.ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ แต่ความเป็นไปได้เกิดจาก ส.ส.ที่ไม่ต้องการให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบมากกว่า”

“อย่างไรก็ตาม โดยข้อกฎหมายแล้วการแปรญัตติและการเพิ่มมาตราตามข้อบังคับ 124 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญแน่”

Adblock test (Why?)


“พปชร.” ผนึกพันธมิตร-ฝ่ายค้าน ผ่าทางตันบัตร 2 ใบ ชิงชัยเลือกตั้งครั้งหน้า - ประชาชาติธุรกิจ
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...