Rechercher dans ce blog

Wednesday, June 30, 2021

การรถไฟฯ ลุยทางคู่แลนด์บริดจ์ - กรุงเทพธุรกิจ

1 กรกฎาคม 2564

87

ร.ฟ.ท.ลุยจ้างที่ปรึกษา เริ่มสำรวจรถไฟทางคู่สายใหม่ ชุมพร - ท่าเรือน้ำลึกระนอง คาดใช้งบก่อสร้าง 3.5 หมื่นล้าน ตั้งเป้าชง ครม.ปี 2566 อนุมัติเปิดประมูล มั่นใจคุ้มค่าการลงทุน หนุนการท่องเที่ยว ขนส่งและการค้าเชื่อมแลนด์บริดจ์

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร – ท่าเรือน้ำลึกระนอง โดยระบุว่า ร.ฟ.ท.เตรียมเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา MAA Consortium เพื่อเริ่มทบทวนงานสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง โดยจะนำผลการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ที่เคยศึกษาไว้ในปี 2561 มาทบทวนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

“การรถไฟฯ จะนำผลการศึกษาเดิมที่มีอยู่ มาทบทวนใหม่ให้สอดคล้องกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land Bridge) ที่ต้องการให้มีการเชื่อมต่อการเดินทางกับท่าเรือ 2 ฝั่งทะเล อ่าวไทย-อันดามัน บูรณาการให้สอดคล้องกับโครงการมอเตอร์เวย์ ตามแผน MR – MAP ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม”

อย่างไรก็ดี ร.ฟ.ท.ประเมินว่าการทบทวนผลการศึกษาครั้งนี้จะใช้เวลาราว 1 ปีแล้วเสร็จ ก่อนนำเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ได้ในช่วงปลายปี 2565 จากนั้นจึงจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการในปี 2566 ตั้งเป้าเปิดประมูลปลายปี 2567 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี และเปิดให้บริการในปี 2573

สำหรับโครงการทางรถไฟ ช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง เบื้องต้นจะมีการปรับแก้ไขแนวเส้นทางบางส่วน เนื่องจากแนวเส้นทางเดิมตามผลการศึกษาของ สนข.ไม่เหมาะสมกับการใช้เป็นแนวเส้นทางที่จะพัฒนาควบคู่ไปกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ตามแผน MR-MAP เนื่องจากแนวเส้นทางอยู่ใกล้และเกือบขนานกับทางหลวงหมายเลข 4 ซึ่งเป็นทางหลวงสายหลัก

อีกทั้งเส้นทางรถไฟจากผลการศึกษาเดิมยังไม่ตอบสนองการเชื่อมโยงกับท่าเรือน้ำลึกตามการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ที่ต้องการสร้างโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงการเดินทางของคน และสินค้าเข้าสู่สถานีรถไฟระนอง ต่อไปยังถนนเชื่อมโยงไปยังท่าเรือน้ำลึกชุมพร ด่านศุลกากร โครงข่ายมอเตอร์เวย์ สายชุมพร-ระนอง ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมไปถึงท่าอากาศยานระนอง และชุมพร

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า แนวเส้นทางรถไฟทางคู่ที่จะศึกษาใหม่นี้ มีการขยับจุดเริ่มต้นโครงการลงไปทางด้านทิศใต้มากขึ้น โดยเริ่มต้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยบริเวณแหลมริ่ว จังหวัดชุมพร จากแนวเดิมที่จะเริ่มต้นด้านใต้ของสถานีรถไฟชุมพร ซึงมีจุดสิ้นสุดโครงการที่ชายฝั่งทะเลอันดามันบริเวณอ่าวอ่าง ตำบลราชกรูด จังหวัดระนอง โดยเส้นทางใหม่จะเป็นแนวเส้นแนวตรงมากขึ้น ช่วยลดค่าก่อสร้างและผลกระทบสิ่งแวดล้อม อีกทั้งจะหลีกเลี่ยงการเวนคืนที่ดินชุมชน มีความยาวตลอดแนวเส้นทางราว 91 กิโลเมตร คาดว่าจะใช้งบลงทุนราว 3.5 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี โครงการทางรถไฟ ช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง คาดว่าจะเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมขนส่ง 3 ส่วน คือ 1.เป็นทางลัดของเส้นทางเดินเรือหลักเชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก เป็นทางเลือกในการถ่ายลำการขนส่งสินค้าในภูมิภาค และสะพานเศรษฐกิจพลังงาน 2.เป็นเส้นทางสำหรับสินค้านำเข้าและส่งออกระหว่างของไทยกับประเทศทางฝั่งมหาสมุทรอินเดีย และ 3.เป็นเส้นทางสำหรับสินค้าที่มาจากทางจีนตอนใต้ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่หลังท่าโดยเฉพาะในเรื่องการประกอบชิ้นส่วน

ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นโครงการตามแนวเส้นทางใหม่จะเริ่มที่ชายฝั่งอ่าวไทยบริเวณแหลมริ่ว ตำบลบางน้ำจืด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ตัดผ่านไปทางตะวันตก ผ่านทางรถไฟสายใต้บริเวณทิศเหนือของสถานีควนหินมุ้ย จากนั้นมุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่าน ทล. 4097 และตัดผ่านทล. 41 (สายแยกปฐมพร – พัทลุง) และขนานไปกับแนวทล. 4006 (สายราชกรูด – หลังสวน) ผ่านพื้นที่ภูเขา แล้วตัดกับ ทล. 4006

จากนั้นมุ่งลงไปทางทิศใต้ ขนานกับ ทล. 4 (ถนนเพชรเกษม) โดยอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของ ทล.4 ผ่านด้านหลังของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีระนอง จากนั้นแนวเส้นทางโค้งขวามุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านพื้นที่ป่าชายเลนไปสิ้นสุดที่ชายฝั่งทะเลอันดามันที่บริเวณอ่าวอ่าง ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง

โดยแนวเส้นทางโครงการ ผ่านพื้นที่ทั้งหมด 9 ตำบล 3 อำเภอ ของ 2 จังหวัด ได้แก่ ตำบลบางน้ำจืด ตำบลนาขา ตำบลวังตะกอ และตำบลหาดยาย ของอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร รวมไปถึงตำบลปังหวาน ตำบลพระรักษ์ ตำบลพะโต๊ะ และตำบลปากทรง ของอำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร และตำบลราชกรูด อำเภอเมือง จังหวัดระนอง

Adblock test (Why?)


การรถไฟฯ ลุยทางคู่แลนด์บริดจ์ - กรุงเทพธุรกิจ
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...