หมายเหตุ – สาระสำคัญของหลักการ 19 ข้อของร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. …. ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติและให้หน่วยงานต่างๆ ให้ความเห็นและข้อสังเกต ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
สาระสำคัญของหลักการ
ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. ….
1.กำหนดให้มี “คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางราง” โดยมีนายกฯเป็นประธานกรรมการ มีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้
1.1 ให้ความเห็นชอบแผนการพัฒนาการขนส่งทางรางและโครงการของหน่วยงานของรัฐในการประกอบกิจการขนส่งทางรางซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ
1.2 เสนอแนวทางในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นที่ได้รับประโยชน์จากการประกอบกิจการขนส่งทางราง การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีต่อคณะรัฐมนตรี การเชื่อมต่อการขนส่งทางราง กับการขนส่งทางอากาศ การขนส่งทางน้ำ สถานีขนส่งทางบก ศูนย์กระจายสินค้า ที่พักสินค้า ท่าเรือบก นิคมอุตสาหกรรม และส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่อ ครม.เพื่อให้ความเห็นชอบ
1.3 กำหนดอัตราขั้นสูงของค่าโดยสาร ค่าขนส่ง ค่าใช้ประโยชน์จากรางและทรัพย์สินที่จำเป็นในการประกอบกิจการขนส่งทางราง และค่าธรรมเนียมอื่น รวมถึงกำหนดประเภทของบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสาร
2.กำหนดให้กรมการขนส่งทางรางจัดทำแผนพัฒนาการขนส่งทางราง โดยให้กรมการขนส่งทางรางมีอำนาจหน้าที่สำรวจพื้นที่เบื้องต้น เพื่อประโยชน์ในการทราบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาพพื้นที่ เพื่อกำหนดแนวเส้นทางการขนส่งทางรางให้เป็นไปโดยเหมาะสมแก่การบริการสาธารณะและมีความปลอดภัยแก่ประชาชน และให้เสนอขอความเห็นชอบแผนดังกล่าวต่อคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางรางเพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม.ต่อไป
3.กำหนดให้ในการเสนอโครงการเกี่ยวกับการขนส่งทางรางให้เจ้าของโครงการดำเนินการดังนี้
3.1 กรณีรถไฟและรถไฟฟ้า ให้จัดทำรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ และรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการ เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการ
3.2 กรณีรถราง ให้จัดทำรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์โครงการเสนอต่อผู้มีอำนาจกำกับดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ก่อนเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ความเห็นชอบ แล้วเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการเพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของ ครม.
4.กำหนดให้การดำเนินการโครงการการขนส่งทางราง รัฐอาจให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเองหรืออาจให้มีการดำเนินการโดยการให้เอกชนร่วมลงทุน
4.1 ในกรณีที่รัฐให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการเอง ให้หน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าของโครงการเสนอโครงการเกี่ยวกับการขนส่งทางรางต่อ ครม. โดยมีรายการดังนี้
4.1.1 กรณีรถไฟและรถไฟฟ้า ได้แก่ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายของโครงการ ขอบเขตของโครงการ ระยะเวลาของโครงการ ประมาณการต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ แหล่งเงินทุนที่ใช้ดำเนินการ ผลการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง การจัดให้มีสถานีเชื่อมต่อระหว่างเส้นทางและการใช้สถานีร่วมกับเส้นทางอื่น การจัดให้มีสถานีสับเปลี่ยนรถขนส่งทางรางที่เหมาะสม การให้ใช้เส้นทางร่วมกันกับโครงการเส้นทางอื่น ระบบตั๋วร่วมกับเส้นทางอื่นกับระบบบริการขนส่งสาธารณะอื่น อัตราค่าโดยสาร ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารที่จัดให้เป็นระบบเครือข่ายร่วมกันกับโครงการเส้นทางอื่น ระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ แก่ผู้ใช้บริการ แผนการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี การเชื่อมต่อการขนส่งทางรางกับการขนส่งส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินที่ได้รับประโยชน์จากการประกอบกิจการขนส่งทางราง และประโยชน์อย่างอื่นเพื่อสาธารณะ
4.1.2 กรณีรถราง ได้แก่ วัตถุประสงค์ และเป้าหมายของโครงการ ขอบเขตของโครงการ ระยะเวลาของโครงการ สัดส่วนการลงทุนของรัฐและขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ถ้ามี) ประมาณการต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการ ตลอดระยะเวลาโครงการแหล่งเงินทุนที่ใช้ดำเนินการ และผลการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง
4.2 ในกรณีที่รัฐให้มีการดำเนินกิจการโดยการให้เอกชนร่วมลงทุนให้เจ้าของโครงการเสนอโครงการเกี่ยวกับการขนส่งทางรางที่มีเอกชนร่วมลงทุนต่อ ครม. โดยนอกจากรายการตามข้อ 4.1 แล้ว ให้มีรายการเพิ่มเติมดังนี้ ระยะเวลาการให้สัมปทาน ความคุ้มค่าในการลงทุน การให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐ ส่วนแบ่งรายได้ในกรณีที่รายได้ของเอกชนได้เกินกว่าการประมาณการในการให้สัมปทาน (ถ้ามี) เอกชนต้องมีคุณสมบัติที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งทางราง สิทธิของบุคคลสัญชาติไทยเป็นผู้ทำงาน การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ในกรณีที่จะต้องเวนคืนหรือได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ (ถ้ามี) สิทธิในการเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟหรือรถไฟฟ้า หรือรถราง และเงื่อนไขอย่างอื่นที่เกี่ยวกับการให้สัมปทานตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
5.กำหนดให้การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ในกรณีที่การดำเนินการโครงการใดตามแผนพัฒนาการขนส่งทางรางจำเป็นต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือก่อให้เกิดภาระในอสังหาริมทรัพย์ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการดังนี้
5.1 ในกรณีที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายเฉพาะให้ดำเนินกิจการขนส่งทางราง ให้รัฐวิสาหกิจนั้นดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายเฉพาะนั้น
5.2 ในกรณีที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน
5.3 ในกรณีอื่นนอกจาก 5.1 และ 5.2 ให้กรมการขนส่งทางรางดำเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการจัดหาอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการขนส่งมวลชน
6.กำหนดให้เจ้าของโครงการกำหนดเขตระบบรถขนส่งทางรางและเขตปลอดภัยระบบรถขนส่งทางราง เพื่อประโยชน์ในการบำรุงรักษาและความปลอดภัยของการขนส่งทางราง ตลอดจนความปลอดภัยของบุคคลที่อยู่ในระบบการขนส่งทางราง
7.กำหนดให้ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบกิจการขนส่งทางราง เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรี
8.กำหนดให้การเก็บค่าโดยสาร ค่าขนส่ง ค่าใช้ประโยชน์จากรางและทรัพย์สินที่จำเป็นในการประกอบกิจการขนส่งทางราง และค่าธรรมเนียมอื่น แต่ต้องไม่เกินอัตราขั้นสูงที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และผู้ได้รับใบอนุญาตต้องประกาศให้สาธารณชนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนวันที่จะบังคับใช้อัตรานั้น
9.กำหนดให้เจ้าของโครงการหรือเอกชนเจ้าของรางหรือทางเฉพาะมีหน้าที่ต้องยินยอมให้มีการเชื่อมต่อรางหรือทางเฉพาะเพื่อการขนส่งร่วมกันเมื่อมีการร้องขอ โดยปฏิบัติต่อผู้ขอเชื่อมต่อทุกรายอย่างเป็นธรรม สมเหตุสมผล และไม่เลือกปฏิบัติ
10.กำหนดให้มี “คณะกรรมการจัดสรรเวลาการเดินรถขนส่งทางราง” ประกอบด้วยประธานกรรมการ รองประธานกรรมการคนหนึ่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 7 คน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางราง โดยให้มีหน้าที่และอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเวลาการเดินรถขนส่งทางราง ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรเวลาการเดินรถขนส่งทางรางเพื่อขอสนับสนุนข้อมูลและความร่วมมือด้านต่างๆ พิจารณาความเหมาะสมของการใช้การประโยชน์ราง
11.กำหนดให้มี “คณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุของการขนส่งทางราง” ประกอบด้วยประธานกรรมการ รองประธานกรรมการคนหนึ่ง และกรรมการอื่นอีกไม่เกิน 7 คน จากผู้ซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการขนส่งทางราง ด้านวิศวกรรม ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกฎหมาย หรือด้านอื่นที่เกี่ยวกับการขนส่งทางราง มีหน้าที่และอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสอบสวนอุบัติเหตุ อุบัติเหตุร้ายแรง และอุบัติการณ์ ดำเนินการสอบสวน วิเคราะห์ข้อมูลความปลอดภัยด้านการขนส่งทางราง จัดทำรายงานการสอบสวน เสนอแนะมาตรการเชิงป้องกัน
12.กำหนดให้ “ผู้ตรวจการขนส่งทางราง” มีอำนาจตรวจสอบการประกอบกิจการขนส่งทางรางให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.นี้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด โดยมีหน้าที่และอำนาจเข้าไปในสถานที่ใดๆ ที่ประกอบกิจการขนส่งทางรางหรือสถานที่ทำการของผู้ได้รับใบอนุญาตเพื่อทราบข้อเท็จจริงและเพื่อตรวจสอบบัญชีและเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการขนส่งทางราง ยึดหรืออายัดไว้ซึ่งสิ่งของหรือเอกสารที่เป็นความผิด หรืออาจใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดหรือได้มาจากการกระทำความผิด เข้าไปในขบวนรถ เดินทางไปกับขบวนรถ ระงับการออกเดินทาง หรือกักขบวนรถ สั่งเป็นหนังสือให้ผู้ได้รับใบอนุญาต พนักงาน และลูกจ้างของผู้ได้รับใบอนุญาต ปฏิบัติการใดๆ หรืองดเว้นการปฏิบัติการที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่น หรือสั่งให้มาให้ถ้อยคำหรือสั่งให้ยื่นคำชี้แจงแสดงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง
13.กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดเป็นผู้ประจำหน้าที่ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนตาม พ.ร.บ.นี้ หรือมีใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ซึ่งออกให้โดยรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาหรือรัฐที่ได้ทำความตกลงกับประเทศไทย
14.กำหนดให้ห้ามมิให้ผู้ใดนำรถขนส่งทางรางที่ไม่ได้จดทะเบียนมาใช้ในการประกอบกิจการขนส่งทางราง
15.กำหนดให้มีการคุ้มครองผู้โดยสารดังนี้
15.1 ผู้ได้รับใบอนุญาตจะเรียกเก็บค่าโดยสาร ค่าขนส่ง ค่าใช้ประโยชน์จากรางและทรัพย์สินที่จำเป็นในการประกอบกิจการขนส่งทางราง และค่าธรรมเนียมอื่นเกินกว่าอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนดมิได้
15.2 ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้โดยสารเมื่อการเดินรถขนส่งทางรางมีเหตุล่าช้าหรือถูกยกเลิก
15.3 ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตและร่างกายของ ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ
15.4 ผู้ได้รับใบอนุญาตมีหน้าที่จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะผู้ทุพพลภาพ ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และเด็ก ให้มีความเหมาะสมแก่การใช้บริการของการประกอบกิจการขนส่งทางราง
16.กำหนดให้ในกรณีที่ผู้โดยสาร ผู้ใช้บริการ หรือบุคคลอื่น ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการขนส่งทางรางให้มีสิทธิร้องเรียนต่ออธิบดี และให้อธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงและให้มีคำสั่งโดยเร็ว ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่องร้องเรียน และให้สั่งผู้ได้รับใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนของผู้ร้องเรียนภายในระยะเวลาที่อธิบดีกำหนด
17.กำหนดให้ในกรณีที่การกระทำความผิดใดมีบทกำหนดโทษทางอาญาตาม พ.ร.บ.นี้ หากเป็นการกระทำความผิดของผู้ประจำหน้าที่ ผู้ได้รับใบอนุญาตกรรมการหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้ได้รับใบอนุญาต ให้การกระทำความผิดนั้นอาจถูกดำเนินมาตรการลงโทษปรับทางปกครองได้
18.กำหนดให้ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขประกาศการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่มีผลกระทบต่อการขนส่งทางรางหรือหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้การกระทำใดๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายหรือเป็นอุปสรรคแก่การขนส่งทางราง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
19.กำหนดให้บรรดาอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยมีอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยการรถไฟแห่งประเทศไทยและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยมีอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ให้ยังคงมีอยู่ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.นี้
ส่อง 19 ข้อสาระสำคัญ ร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางราง เปิดช่องเอกชน-อปท.ร่วม - มติชน
Read More
No comments:
Post a Comment