Rechercher dans ce blog

Friday, August 6, 2021

“วัคซีน” ทางรอดเดียว - ประชาชาติธุรกิจ

Photo by AFP
คอลัมน์ สามัญสำนึก
ดิษนีย์ นาคเจริญ

เราอยู่กับโควิด-19 มาแล้วปีกว่า หลายคนคงเริ่มปรับตัวเข้ากับการทำงานหรือเรียนจากที่บ้านกันได้บ้างแล้วแต่เชื่อว่าคงไม่มีครั้งไหนที่ผู้คนจะรู้สึกโหยหาการออกไปพบปะผู้คน และคิดถึงบรรยากาศการทำงานร่วมกันในออฟฟิศมากเท่านี้

ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม เราคงต้องอยู่กับเจ้า “โควิด” ไปอีกนาน ตราบเท่าที่จะมี “วัคซีน” หรือ “ยา” ชนิดใดมากำจัดมันไปได้ กว่าวันนั้นจะมาถึง คงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจาก “เรียนรู้” ที่จะอยู่กับมันอย่างไรให้ได้

ซึ่งก่อนที่จะอยู่กับเจ้าไวรัสร้ายนี้ได้ก็ต้องเอาตัว (ชีวิต) “รอด” ให้ได้ก่อน เชื่อว่าเราต่างระมัดระวังตัวเองขั้นสุดกันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่จำเป็นมากที่สุด คือ การฉีด “วัคซีน” เพื่อสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย เพราะอย่างน้อย ถ้าโชคไม่ดีติดเชื้อขึ้นมา ก็ยังช่วยลดความรุนแรงของโรค และลดอัตราการเสียชีวิตลงได้

ยอดผู้ติดเชื้อที่ “นิวไฮ” ทุกวันจนทะลุ 2 หมื่นไปแล้ว และข่าวคราวน่าสลดเกี่ยวกับการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อในที่ต่าง ๆ เพราะเข้าไม่ถึงการรักษา หรือเข้าถึงแต่ช้าเกินไปมีเพิ่มขึ้นทุกวัน ทำให้วันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธการฉีดวัคซีนหรือถ้ายังมีก็น่าจะน้อยยิ่งกว่าน้อย

สิ่งที่รัฐบาลควรทำอย่างเร่งด่วนที่สุด คือ จัดหาและเร่งฉีด “วัคซีน” ให้ประชาชนคนไทยโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะก็อย่างที่เห็นว่าการล็อกดาวน์รอบนี้ยังไม่สามารถทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงได้ และมีคนอีกมากที่อยากฉีด “วัคซีน” และพยายามลงทะเบียนผ่านช่องทางต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่ได้ หรือได้แล้วแต่กลับโดนเลื่อนฉีดครั้งแล้วครั้งเล่า

ช่างสวนทางกับการประกาศว่าจะเร่งจัดหาวัคซีนโควิด-19 ที่เพียงพอทั้งในส่วนที่รัฐบาลจัดหาเพื่อฉีดให้ประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และวัคซีนทางเลือกให้เป็นไปตามเป้าหมาย 100 ล้านโดส ภายในปีนี้ รวมถึงเป้าหมายปี 2565 ที่ปรับกรอบการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เป็น 120 ล้านโดส

ล่าสุด ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือน ก.ค. 2564 พบว่าดัชนีปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 40.9 จาก 43.1 ในเดือนก่อนหน้า แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 10 เดือน เนื่องจากความกังวลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบที่ 4 และการที่รัฐบาลกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุด 13 จังหวัด โดยมีมาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว 21.00-04.00 น. ควบคุมการระบาด ประกอบกับความกังวลในสถานการณ์การเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลง และการฉีดวัคซีนให้ประชาชนล่าช้า

การควบคุมการแพร่ระบาด ทั้งการจัดสรรและกระจายวัคซีนอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เป็น 1 ใน 4 เรื่องที่หอการค้าไทย และ 40 ซีอีโอ เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการหารือร่วมกันปลาย ก.ค.ที่ผ่านมา

บิ๊กธุรกิจท่านหนึ่งที่เข้าร่วมพูดคุยเล่าว่า สิ่งที่ทุกคนเห็นตรงกัน คือ อยากให้รัฐบาลเร่งควบคุมการระบาดในกรุงเทพมหานครให้ได้โดยเร็ว เพราะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ โดยต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก

หากประเทศเป็นร่างกาย “กรุงเทพฯ” ก็เปรียบได้กับ “หัวใจ” จึงต้องเร่งฉีดวัคซีนเชิงรุกให้ครบใน 30-45 วัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ควรเป็นเชิงรุกในลักษณะที่ว่า “ไปฉีดให้ถึงที่บ้าน” และเมื่อไปถึงบ้านแล้วก็ควรฉีดคนในบ้านทั้งครอบครัว ถ้าทำได้จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงได้อย่างมาก

“ต้องยอมรับว่าโควิดจะไม่หมดไป แต่เราจะไม่เป็นอะไรมาก ถ้าเร่งฉีดวัคซีนได้ทั่วถึงแม้มีระบาดระลอกใหม่อีกก็จะไม่ถึงขั้นเจ็บป่วยมาก”

เรื่องการผลักดันการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และวางประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ดึงเงิน-คน และเทคโนโลยีเข้ามาก็สำคัญเช่นกัน ซึ่งต้องต่อเนื่อง และเพิ่มมากขึ้นหลายเท่า มากกว่าช่วงเวลาปกติ เพื่อเพิ่มการจ้างงาน และสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ถ้าทำได้ก็จะทำให้กำลังซื้อฟื้น และเศรษฐกิจไทยก็จะฟื้้นด้วย

ไม่ง่าย แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเร่งดำเนินการ แต่ก่อนจะคิดดึงใครมาลงทุน ช่วยฟื้นความเชื่อมั่นให้คนในประเทศด้วยการเร่งจัดหาวัคซีนเพื่อฉีดให้คนไทยโดยเร็วที่สุดก่อน

Adblock test (Why?)


“วัคซีน” ทางรอดเดียว - ประชาชาติธุรกิจ
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...