Rechercher dans ce blog

Tuesday, October 26, 2021

"เทคโนโลยี" รักษาด้วยไอน้ำ ทางเลือกผู้ป่วย “ต่อมลูกหมากโต" - กรุงเทพธุรกิจ

ต่อมลูกหมากโต นับเป็นปัญหาสำหรับผู้ชาย โดยเฉพาะเริ่มพบในอายุ 50 ปีขึ้นไปกว่า 50% แม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ส่งผลต่อ "คุณภาพชีวิต" ปัจจุบัน จึงมี "เทคโนโลยี" การรักษาหลากหลายเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วย

ปัจจุบัน ประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้วงการสาธารณสุขทั่วโลกมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพโดยเฉพาะในผู้สูงวัย หนึ่งในโรคที่พบบ่อยที่สุดในชายสูงวัย คือ โรคต่อมลูกหมากโต ที่มีโอกาสพบได้ถึง 50% ในชายวัย 50 ปีขึ้นไป และ 70% ในวัย 60 ปีขึ้นไป ซึ่งหากมีอายุยืนยาวมากขึ้นถึง 85 ปีขึ้นไป ก็ยิ่งพบได้สูงขึ้นถึง 90%

โรคนี้จะสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่ผู้ป่วยชายที่มาพบแพทย์จะมีอายุ 50 ปีขึ้นไป มักจะมีอาการปัสสาวะไม่พุ่ง ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ ตื่นปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ปัสสาวะเสร็จแล้วแต่รู้สึกไม่สุด เป็นต้น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ อาการและความรุนแรงของโรคของแต่ละคนจะแตกต่างกัน โดยอาการจะเป็นมากหรือน้อยนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของต่อมลูกหมาก

  • ชาย 50-60 ปี พบ 50%

“นพ.จรัสพงศ์ ดิศรานันท์” แพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวในงานแถลงข่าว เทคโนโลยีใหม่รักษาต่อมลูกหมากด้วยไอน้ำ ผ่านระบบ Zoom ว่า หลายคนเข้าใจผิดว่าต่อมลูกหมาก กับอัณฑะเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ความจริงเป็นคนละอวัยวะ หน้าที่การทำงาน คือ สร้างน้ำหล่อเลี้ยงเชื้ออสุจิ

อาการต่อมลูกหมากโต เกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามวัย เมื่ออายุเยอะขึ้น ต่อมลูกหมากจะโตขึ้นเรื่อยๆ ฮอร์โมนเพศชายทำให้เซลล์ต่อมลูกหมากโตขึ้น ส่วนใหญ่จะเริ่มพบใน 40-50 ปี และอาการชัดที่ 50-60 ปี ราว 50% ของผู้ชายจะเริ่มมีอาการ ทั้งนี้ เมื่อต่อมลูกหมากโตขึ้น ท่อปัสสาวะ จะถูกเบียดทำให้แคบลง อาการ คือ ปัสสาวะยาก ไปห้องน้ำต้องยืนรอนานกว่าปกติ ออกไม่พุ่งแรงเหมือนเดิม และใช้เวลานาน ต้องเบ่ง มีหยดซึม ทำให้เกิดความรำคาณได้ และบางคนอาจจะคิดว่าปัสสาวะไม่สุด ต้องปัสสาวะบ่อย ตื่นมาปัสสาวะกลางคืนบ่อย รบกวนการนอน กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย

"เทคโนโลยี" รักษาด้วยไอน้ำ ทางเลือกผู้ป่วย “ต่อมลูกหมากโต"

“อย่างไรก็ตาม โดยปกติหากไม่ตื่นมาปัสสาวะกลางคืน หรือหนึ่งครั้งถือว่าปกติ ขณะเดียวกัน ในเวลาที่มีความกังวล เครียด เราจะปัสสาวะบ่อยขึ้นกว่าเดิมได้ เชื่อว่ามีการทำงานของสมองควบคุมปัสสาวะ ควบคุมน้อยลงเวลาเครียด ไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติแต่อย่างใด ยกเว้นแต่ว่าบ่อยมากรบกวนการใช้ชีวิตและการทำงาน ต้องปรึกษาแพทย์”

  • การรักษาปัจจุบัน

เนื่องจาก โรคต่อมลูกหมากโต ไม่ใช่โรคร้ายแรง อาการหลัก คือ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต การรักษาก่อนหน้านี้ขึ้นกับอาการ ได้แก่ อาการน้อย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ปรับช่วงเวลาดื่มน้ำ แต่หากอาการเยอะขึ้น ต้องรักษาด้วยยา ทำให้ปัสสาวะคล่องขึ้น และบางกลุ่มทานยาอาจไม่ดีขึ้น หรือมีภาวะแทรกซ้อนจากการกินยา มึนหัว เวียนหัว เมื่อมีอาการแทรกซ้อนจากการกินยา

สเตปถัดไป คือ การผ่าตัด ส่องกล้อง ขูดเนื้อเยื้อรอบๆ ออก ทำให้ปัสสาวะคล่องขึ้น แต่การรักษาก็จะมีภาวะแทกซ้อนเกิดขึ้นได้ เจอเป็นระยะๆ และในกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพหลายโรค ทานยาเยอะ อายุมาก ก็จะมีความเสี่ยงสูงขึ้นตามอายุและตามโรคที่เป็น

  • เทคโนโลยีไอน้ำ ทางเลือกผู้ป่วย

นพ.จรัสพงศ์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน มีวิธีการรักษาด้วยเทคโนโลยีไอน้ำ เหมาะกับผู้ป่วยในกลุ่มที่มีต่อมลูกหมากโต ขนาด 30 – 80 กรัม โดยใช้เวลารักษาเพียง 10 – 15 นาที และผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เนื่องจากการรักษาจะต้องฉีดไอน้ำที่อุณหภูมิ 103 องศาเซลเซียส เข้าไปในต่อมลูกหมากประมาณ 4-6 ครั้ง ขึ้นอยู่กับขนาดของต่อมลูกหมาก การฉีดแต่ละครั้งใช้เวลาเพียง 9 วินาที ผู้ป่วยจะมีอาการแสบในท่อปัสสาวะเล็กน้อย หลังจากรักษา จะมีการให้ยาแก้ปวด และยาฆ่าเชื้อ

"เทคโนโลยี" รักษาด้วยไอน้ำ ทางเลือกผู้ป่วย “ต่อมลูกหมากโต"

“ในระยะแรกหลังการรักษา ต่อมลูกหมากจะบวม ทำให้ปัสสาวะไม่ออก แพทย์จึงต้องใส่สายสวนปัสสาวะชั่วคราวให้กับผู้ป่วย โดยเฉลี่ยจะสามารถถอดสายสวนออกได้ภายใน 1 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับขนาดของต่อมลูกหมาก หากขนาดโตมาก แพทย์ก็จะฉีดไอน้ำหลายครั้ง ทำให้ต่อมลูกหมากบวมมากขึ้นและอาจต้องใส่สายสวนปัสสาวะนานขึ้น ซึ่งร่างกายจะค่อยๆ กำจัดเซลล์ที่ตายออกตามธรรมชาติ ซึ่งปกติใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน จะเห็นผลการรักษาที่ดีได้อย่างเต็มที่” นพ.จรัสพงศ์ กล่าว 

  • โอกาสกลับมารักษาซ้ำ 4%

ปัจจุบัน มีรายงานสหรัฐอเมริกาอ้างอิงถึงผลการรักษาต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำของผู้ป่วย ระบุว่าภายในระยะเวลา 5 ปี ผู้ป่วยจะมีโอกาสกลับมากินยาใหม่ 10% และมีโอกาสกลับมาผ่าตัดหรือรักษาด้วยไอน้ำอีกครั้ง 4% ซึ่งโดยรวมถือว่ามีความคุ้มค่า เนื่องจากประหยัดค่าใช้จ่ายในการกินยาเป็นประจำ ค่าใช้จ่ายในการติดตามอาการทุกๆ 3 เดือน เช่น การตรวจอัลตราซาวน์ หรือการตรวจความแรงในการไหลของปัสสาวะ (Uroflowmetry) เป็นต้น แต่หัวใจสำคัญคือวิธีการรักษาด้วยไอน้ำ จะช่วยลดความกังวลใจให้กับเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพทางเพศที่อาจตามมาได้อย่างมาก

  • การเตรียมตัวก่อนการรักษา

สำหรับการเตรียมตัวก่อนการรักษา นพ.จรัสพงศ์ อธิบายว่า ต้องตรวจประเมินให้แน่ใจว่า เป็นอาการเกี่ยวกับต่อมลูกหมากจริง เพราะอาการของปัสสาวะผิดปกติ มีหลายโรค ดังนั้น ต้องแน่ใจว่าเกิดจากต่อมลูกหมากโต และคุยเรื่องวิธีการรักษาอื่นๆ ด้วยว่าวิธีไหนเหมาะกับคนไข้ อยากรักษาวิธีไหน

วิธีนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยที่ทานยาไม่ดีขึ้นแล้วจะทำการรักษานี้ได้ทุกคน แนะนำว่า เหมาะกับขนาดของต่อมลูกหมาก 30-80 กรัม เล็กไปก็ไม่ดี ใหญ่ไปก็ไม่ดี เวลาคนไข้เข้ามาปรึกษา จะมีการตรวจ ซักประวัติ ตรวจร่างกาย ดูขนาด เช็กค่ามะเร็งและตรวจสุขภาพทั่วไปเพื่อเตรียมพร้อมการรักษาด้วยวิธีนี้

“ทั้งนี้ ต่อมลูกหมากโต จะไม่หายเอง และอาการแย่ลงเรื่อยๆ ต่อมลูกหมากโตไปเรื่อยๆ หากไม่รักษา สุดท้าย ก็จะปัสสาวะไม่ออก และมีภาวะแทรกซ้อน ปัสสาวะไม่หมด ติดเชื้อง่าย หากเหลือค้างมากจะทำให้การทำงานของไตเสื่อมลง อาจส่งผลทำให้ผนังกระเพราะปัสสาวะเสียไป และหากอาการหนัก ไม่ว่าจะรักษาด้วยการผ่าตัดหรือวิธีใดก็ตามจะรักษาได้ไม่เต็มที่” นพ.จรัสพงศ์ กล่าว

"เทคโนโลยี" รักษาด้วยไอน้ำ ทางเลือกผู้ป่วย “ต่อมลูกหมากโต"

  • เทคโนโลยีอื่นๆ ที่มีมาก่อนหน้านี้

นพ.วิโรจน์ ชดช้อย หัวหน้าศูนย์ทางเดินปัสสาวะ และแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ยูโรวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา การรักษาโรคต่อมลูกหมากโต จะมี 2 วิธีหลักๆ คือ 1. การรับประทานยา และ 2. การผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง ซึ่งเป็นมาตรฐานการผ่าตัด (Gold Standard) แต่ก็จะมีภาวะแทรกซ้อนได้ มีระดับเกลือแร่ผิดปกติ เสียเลือดมาก หรือต้องดมยาเป็นเวลานาน ซึ่งจะไม่เหมาะกับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง

จึงมีการพัฒนาคิดค้นแนวทางการรักษาแบบใหม่ๆ เพื่อทำลายเซลล์ต่อมลูกหมาก ซึ่งก็มีหลายวิธีก่อนหน้านี้ แต่ก็ยังมีข้อด้อยพอสมควร เช่น ใช้เข็มที่มีคลื่นปักเข้าไปในเนื้อต่อมลูกหมาก และส่งความร้อนเข้าไป หรือ ใช้คลื่นไมโครเวฟ ทำให้ต่อมลูกหมากฝ่อเล็กลง โดยวิธีสองอย่าง พบว่าการกระจายไม่สม่ำเสมอ อัตราความร้อนแตกต่างกันไป

จนกระทั่งพัฒนาเป็นวิธีการรักษาต่อมลูกหมากด้วยไอน้ำ (Water Vapor Therapy) นับเป็นเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ที่มีความปลอดภัยสูง ความเสี่ยงต่ำ ภาวะแทรกซ้อนน้อย อวัยวะน้อยบอบช้ำน้อย ฟื้นตัวเร็ว ทำให้อวัยวะนั้นๆ กลับมาสู่สภาพทางสรีรวิทยาและสามารถกลับมาใช้งานได้เป็นปกติมากที่สุด (Organ Reserve) และไม่ต้องกินยาต่อ ที่สำคัญคือ ไม่ส่งผลต่อสุขภาพทางเพศหรือส่งผลน้อยมาก ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น

"เทคโนโลยี" รักษาด้วยไอน้ำ ทางเลือกผู้ป่วย “ต่อมลูกหมากโต"

  • เทคโนโลยีไอน้ำ เหมาะกับใคร

การรักษาต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำ เป็นเทคโนโลยีการรักษาใหม่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาให้กับผู้ป่วย โดยในขั้นตอนการรักษาใช้เวลาสั้น ๆ เรียบง่ายและปลอดภัย ซึ่งจะเหมาะกับผู้ป่วย 2 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่ ผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาและไม่ได้รับผลที่น่าพอใจ หรือได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ลุกขึ้นมาปัสสาวะกลางคืน มีอาการหน้ามืดเหมือนจะเป็นลม หรืออาการปวดศีรษะ ซึ่งเป็นผลจากยาได้ หรือในผู้ป่วยที่ระยะแรกกินยาแล้วมีอาการดีขึ้น แต่ต่อมาเริ่มไม่ค่อยได้ผลเป็นที่พอใจเท่าที่ควร รวมถึงผู้ที่ไม่อยากกินยาไปตลอดชีวิต เป็นต้น

"ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่ยังมีความลังเล เนื่องจากการผ่าตัดส่วนใหญ่จะมีผลข้างเคียงในเรื่องสุขภาพทางเพศ คือ น้ำอสุจิจะไม่หลั่งออกมาเมื่อถึงจุดสุดยอด ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความพึงพอใจทางเพศ จากสถิติหลังการผ่าตัดจะพบปัญหานี้ ประมาณ 60 - 70% ของผู้ที่ได้รับการผ่าตัด ซึ่งหากเป็นแล้วจะไม่สามารถรักษากลับคืนมาได้ ในขณะที่การรักษาด้วยไอน้ำ แทบจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อสุขภาพทางเพศ เนื่องจากวิธีการรักษาแตกต่างกัน"  รพ.วิโรจน์ กล่าว

ทั้งนี้ เทคโนโลยีการรักษาต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำ (Water Vapor Therapy) ได้มีผลงานวิจัยรองรับว่ามีประสิทธิภาพ ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2558 และได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทย ในช่วงต้นปี 2564

Adblock test (Why?)


"เทคโนโลยี" รักษาด้วยไอน้ำ ทางเลือกผู้ป่วย “ต่อมลูกหมากโต" - กรุงเทพธุรกิจ
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...