รายงานเรื่องบริบทโลก ปัจจัยคุกคามและความมั่นคงของประเทศ ภายใต้โครงการ Future Thailand ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดย พล.อ.สุรสิทธิ์ ถนัดทาง จากมูลนิธิคลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม ได้ทบทวนบริบทโลกด้านความมั่นคง และสรุปว่า
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง สหรัฐได้ดำเนินการทางยุทธศาสตร์ให้เป็นหนึ่งโดยใช้กลยุทธ์ที่หลากหลายให้เกิดประเทศพัฒนาแล้วรุ่นใหม่ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน เพื่อเอื้อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนของตน ในขณะเดียวกันก็ชะลอการเติบโตของประเทศที่มีแหล่งทรัพยากรสำคัญไม่ให้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว
นอกจากนี้ สหรัฐยังใช้กำลังทางทหารจัดระเบียบโลกผ่านมติของสหประชาชาติ ในการทำสงครามกับอิรักในสงครามอ่าวเปอร์เซีย และใช้พลังอำนาจทางทหารผ่านสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือในการใช้กำลังทางอากาศกับยูโกสลาเวียอย่างต่อเนื่อง สหรัฐยังมีพฤติกรรมแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น เพื่อการแสวงหาผลประโยชน์ของประเทศตน (โสภณ ศิริงาม พลตรี 18 ก.ค.2563) (มูลนิธิคลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม 2564)
เมื่อสหภาพโซเวียตสลายตัวเป็นประเทศย่อยๆ สหรัฐก็ประสบความสำเร็จเป็นมหาอำนาจหลักที่เป็นศูนย์กลางของโลกยุคโลกาภิวัตน์ และในขณะที่สหรัฐกำลังขยายอิทธิพลตนเองให้แผ่ไพศาล โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวในปี 2524 (ค.ศ.1978)
จีนได้ประกาศนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจและเปิดประเทศรับทุนและเทคโนโลยีจากนานาประเทศ และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการทหาร จนกระทั่งจีนสามารถพัฒนาตนเองขึ้นมาจนมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐ
โลกสองขั้ว การขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน เพื่อก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจขั้วใหม่ยิ่งปรากฏชัดเจนขึ้นภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้มีการดำเนินยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) เส้นทางนี้เป็นยุทธศาสตร์ของการแสวงหาพันธมิตร และในขณะเดียวกันก็หาตลาดมาทดแทนการส่งออกของจีนไปยังสหรัฐ
จีนได้ย้ำถึงเป้าหมายของยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางว่า ประเทศจีนและประเทศพันธมิตรที่จะเป็นหุ้นส่วนบนเส้นทางยุทธศาสตร์นี้กว่า 152 ประเทศจะต้องเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วพร้อมกับจีนภายในปี 2592 (ค.ศ.2049) ภายใต้หลักการ 5 ประการ ซึ่งเป็นการเกทับบลัฟแหลกอิทธิพลของสหรัฐ ในโลกประเทศกำลังพัฒนา ได้แก่
1.การเคารพอธิปไตยและดินแดนของกันและกัน 2.การไม่รุกรานกัน 3.ไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน 4.เน้นความเท่าเทียมและต่างตอบแทนกัน และ 5.การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ (โสภณ ศิริงาม พลตรี 18 ก.ค.2563 อ้างในมูลนิธิคลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม 2564 หน้า 27)
การเติบใหญ่ของจีนทั้งด้านเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การเมืองและการทหารอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้สหรัฐซึ่งครองตำแหน่งอันดับหนึ่งของโลกยอมรับไม่ได้
ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา เป็นต้นมา ก็ได้มีนโยบายคืนสู่ตะวันออก (Pivot to Asia) ที่จะสกัดกั้นการขยายอำนาจของจีนและเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรกับประเทศเอเชียตะวันออกและออสเตรเลีย โดยร่วมกันคานอำนาจปิดล้อมจีนทางทะเล (นิยม รัฐอมฤต, 2564)
จากสังคมการค้าสู่สงครามเย็น 2.0 สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนมีเค้าลางมาตั้งแต่ประธานาธิบดีโอบามา ซึ่งใช้วิธีทำข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (The Trans-Pacific Partnership : TPP) ซึ่งเนื้อหากฎเกณฑ์ในรายละเอียดก็เพื่อตอบโต้การอุดหนุนวิสาหกิจของจีน (อาร์ม ตั้งนิรันดร, 2562)
แต่เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี ก็เริ่มประกาศสงครามการค้าแบบซึ่งหน้า ในปี 2561 สหรัฐตั้งกำแพงภาษีและจีนก็ตอบโต้ หลังจากนั้นความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติก็เขม็งเกลียว และมีการตอบโต้กันไปมาทั้งในรูปกำแพงภาษีและวาจาของผู้นำ
การวิเคราะห์ของนักวิชาการนานาชาติ พบว่าไม่ว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายมีชัย ทั้งคู่ก็จะประสบความสูญเสียในเชิงรายได้จากการค้า ส่วนอาเซียนมีโอกาสจะได้ประโยชน์ อันเป็นผลจากการที่ทั้งจีนและสหรัฐต่างก็ต้องหาคู่ค้ารายใหม่ รวมทั้งให้ความสนใจกลุ่มประเทศอาเซียนในฐานะฐานการผลิตใหม่มากขึ้น ส่วนไทยในระยะสั้นคาดว่าอาจจะสูญเสียตลาดบางส่วนให้แก่จีนไป (สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ, 2564)
แม้ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษาจะเห็นว่าประธานาธิบดีไบเดนจะเลือกวิธีการที่ลดความร้อนแรงลงและใช้กลไกทางทูตมากกว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะยกระดับเป็นสงครามเย็น 2.0 ซึ่งต่อสู้กันในทุกมิติและทุกระดับ ตั้งแต่การทูตไปจนถึงวัคซีน ความสำเร็จของจีนในการส่งมนุษย์อวกาศไปนอกโลกก็ยิ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันในห้วงอวกาศที่เข้มข้นยิ่งขึ้น
ดังนั้น ในโลกสองขั้วจึงเกิดทางสองแพร่งขึ้นมา ทางทั้งสองแพร่งนี้ยังมีค่ายกลที่ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องผ่านถึงสามค่ายกลด้วยกัน
ค่ายกลที่หนึ่ง ว่าด้วยห่วงโซ่การผลิตโลกที่สหรัฐ กำลังพยายามจะแยกออกจากจีนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์จะต้องย้ายกลับสหรัฐ ส่วนจีนก็พยายามสร้างห่วงโซ่การผลิตผ่านข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจของภูมิภาค (RCEP) ประเทศลิ่วล้ออย่างไทยก็ต้องดูว่าจะก้าวย่างอย่างไร
ค่ายกลที่สอง ว่าด้วยห่วงโซ่ด้านเทคโนโลยีที่จะแยกเป็นสองห่วงโซ่เหมือนกันตามด้วยมาตรฐานเทคโนโลยีที่ต่างกัน ซึ่งหมายความว่าอาจต้องเตรียมพร้อมสำหรับทางสองแพร่งไปถึงด้านการศึกษา
ค่ายกลที่สามคือ อุดมการณ์ทางการเมืองซึ่งสหรัฐหนุนค่านิยมเสรีประชาธิปไตย ในขณะที่จีนยึดถือหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น (อาร์ม ตั้งนิรันดร, 2564)
ทุกก้าวย่างต่อไปในการดำเนินความสัมพันธ์ของไทยกับมหามิตรทั้งสองจึงมีทั้งได้ทั้งเสีย ไทยจึงต้องตระหนักและคำนวณผลได้ผลเสียอย่างรอบคอบ!
อนาคตเศรษฐกิจในโลกสองขั้วกับทางสองแพร่ง | มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment