ธุรกิจทุกแห่งย่อมต้องการที่จะเติบโตหรือขยายตัว ตามทฤษฎีมีหลากหลายวิธีการในการเติบโต แต่ก็ไม่มีวิธีไหนที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะ Merger หรือ การควบรวมกิจการ กับ Demerger หรือ การแยกกิจการ
Merger หรือ การควบรวมกิจการ กับ Demerger หรือ การแยกกิจการ สองทางเลือกล่าสุดในการเติบโตของธุรกิจที่เกือบจะตรงข้ามกัน แต่ก็ได้รับการเลือกมาใช้ในองค์กรขนาดใหญ่ทั้งของไทยและต่างประเทศ
Merger นั้นเพิ่งเป็นข่าวโด่งดังในไทยหลังจากยักษ์ใหญ่ในธุรกิจของไทยประกาศที่จะควบรวมกิจการกัน แต่จริงๆ แล้ว การเติบโตด้วยการควบรวมกิจการนี้เป็นที่นิยมและใช้กันมานานแล้ว และโดยปกติเมื่อมี Merger ก็มักจะตามมาด้วย Acquisition หรือที่คุ้นกันในชื่อ M&A
บริษัทเลือกที่จะเติบโตด้วย M&A ในหลายๆ สถานการณ์ อาทิเช่นต้องการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ ต้องการเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ ต้องการเทคโนโลยีหรือความรู้ของบริษัทเป้าหมาย ต้องการหาโอกาสในการเติบโตใหม่ๆ ต้องการเพิ่มรายได้ ต้องการจะขยายกิจการอย่างรวดเร็ว ต้องการลดจำนวนคู่แข่งลง เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การควบรวมกิจการก็มีข้อที่ต้องพึงระวังหลายประการด้วย เช่น การคำนวณมูลค่าของกิจการที่จะเข้าไปซื้อหรือควบรวมนั้นเหมาะสมหรือไม่ (ส่วนใหญ่ผู้ซื้อก็มักจะยอมซื้อในราคาที่สูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงอยู่ในระดับหนึ่ง)
หรือการสำรวจตรวจสอบเบื้องลึกในบริษัทที่จะเข้าไปซื้อหรือควบรวมนั้นทำได้ละเอียด รอบคอบและถี่ถ้วนเพียงใด เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทที่ซื้อมานั้นไม่ได้นำไปสู่ปัญหาภายหลัง
หรือเรื่องของ Post-Merger Integration ที่มักจะเป็นปัญหาปวดหัว เนื่องจากวัฒนธรรมองค์กร กระบวนการและระบบทำงาน ความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี และความพร้อมของบุคลากรมีความแตกต่างกัน การทำให้สองบริษัทที่มีประวัติศาสตร์ ระบบที่แตกต่างกัน สามารถดำรงอยู่และเดินไปข้างหน้าได้พร้อมๆ กันนั้นถือเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก
นอกเหนือจากการควบรวมกิจการแล้ว ในทางกลับกันการ Demerger หรือการแยกกิจการ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเติบโต Demerger เป็นการที่บริษัทที่มีหลายธุรกิจอยู่ภายในเลือกที่จะแยกกิจการออกมา โดยให้กิจการที่แยกออกมานั้นมีความเป็นอิสระจากบริษัทแม่มากขึ้น และถึงขั้นที่สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ด้วยตนเอง
นักวิเคราะห์และผู้บริหารเองจะนิยมใช้คำว่า Unlock Value มากกว่า Demergers โดยในอดีตนั้นมักจะคิดว่าสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีธุรกิจย่อยๆ อยู่ภายใน (โดยเฉพาะธุรกิจที่อยู่กันคนละอุตสาหกรรม) มูลค่าของบริษัทใหญ่นั้น คือผลรวมของมูลค่าของธุรกิจย่อยๆ เหล่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับไม่ใช่ นอกจากนี้การที่ทุกธุรกิจอยู่ภายใต้บริษัทใหญ่เดียวกัน ยังนำไปสู่การขาดความคล่องตัวและความไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานได้ด้วย
ดังนั้น เมื่อ Demerger หรือแตกธุรกิจย่อยเหล่านั้นออกมาเป็นอิสระ สามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วยตนเอง ก็จะเป็นการ Unlock Value ของธุรกิจย่อยเหล่านั้น และนักลงทุนที่สนใจในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งโดยเฉพาะก็สามารถที่จะเลือกลงทุนในธุรกิจนั้นได้โดยตรง
ตัวอย่างของการ Unlock Value โดยการ Demerger ที่เพิ่งเกิดขึ้น ก็เช่น กรณีของ GE ที่จะแตกออกเป็น 3 ธุรกิจ ที่ต่อไปนักลงทุนที่สนจะลงทุนใดธุรกิจหนึ่งของ GE ก็สามารถที่จะเลือกลงทุนเฉพาะธุรกิจได้ ไม่จำเป็นต้องลงทุนในหุ้นของ GE ใหญ่ หรือ โตชิบา ที่แตกออกเป็น 3 ธุรกิจ หรือ Johnson & Johnson ที่จะแตกออกเป็น 2 ธุรกิจ
เป็นที่เชื่อกันว่าการแตกธุรกิจออกมานั้นจะช่วย Unlock Value ของธุรกิจย่อย แล้วสุดท้ายจะทำให้มูลค่ารวมของบริษัทแม่เพิ่มสูงขึ้นไปด้วย ยังไม่นับความยืดหยุ่น ความคล่องตัว และความเป็นอิสระในการดำเนินงานที่จะมากขึ้น ซึ่งสุดท้ายก็ย่อมนำไปสู่การเติบโตในเชิงมูลค่ารวมของทั้งกลุ่ม แต่อย่างไรก็ดีจะสังเกตได้ว่า ในกรณีของ Demerger นั้นจะเหมาะสำหรับบริษัทที่มีธุรกิจย่อยที่แตกต่างและหลากหลายอยู่ภายใต้บริษัทใหญ่
การเลือกที่จะเติบโตไม่ว่าจะผ่านทาง Merger หรือ Demerger นั้นต่างมีข้อดี ข้อเสีย และบริบทที่แตกต่างกันออกไป แต่ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการเคลื่อนไหวทางกลยุทธ์ที่คิดและทำไปเพื่อการอยู่รอดและเติบโตของธุรกิจทั้งสิ้น.
คอลัมน์ มองมุมใหม่
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]
Merger กับ Demerger ทางเลือกที่แตกต่าง| พสุ เดชะรินทร์ - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment