Rechercher dans ce blog

Sunday, February 27, 2022

วิกฤตยูเครน : ยูเครนจะไปทางไหนนับจากนี้ - บีบีซีไทย

  • แฟรงก์ การ์ดเนอร์
  • ผู้สื่อข่าวความมั่นคง บีบีซี

Territorial defence forces receive weapons

ที่มาของภาพ, Reuters

เปิดฉากลุยกันเต็มที่แล้ว ไม่ต้องเสแสร้งอีกต่อไป การทูตไม่ได้ผล อย่างน้อยก็ในตอนนี้ ยูเครนเผชิญกับการบุกของรัสเซียอย่างเต็มรูปแบบ และกำลังต่อสู้เพื่อเอาตัวรอดให้ได้

แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

รางวัลใหญ่ที่สุดสำหรับรัสเซียคือกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครนที่ได้เกิดการปะทะกันขึ้นแล้ว และที่นั่งประธานาธิบดียูเครนของโวโลดิมีร์ เซเลนสกี

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย เก็บตัวนานหลายเดือนเพื่อศึกษาแผนการต่าง ๆ ของหัวหน้าฝ่ายกลาโหมเกี่ยวกับการยึดประเทศเพื่อนบ้านที่เอนเอียงไปทางชาติตะวันตกและการนำประเทศนี้กลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลรัสเซียอีกครั้ง

แผนการบุกนี้ประกอบด้วยการโจมตีจาก 3 ด้าน คือจากทางเหนือ ทางตะวันออกและทางใต้ โดยการใช้ปืนใหญ่และขีปนาวุธเพื่อลดการต้านทานลง ก่อนที่จะส่งทหารราบและรถถังเข้ามา ปูตินต้องการเห็นรัฐบาลของเซเลนสกียอมจำนนอย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะได้ให้รัฐบาลหุ่นเชิดที่เอนเอียงมาทางรัสเซียขึ้นมาทำหน้าที่แทน

หากทำได้เช่นนี้ ก็น่าจะช่วยป้องกันการออกมาต่อต้านทั่วประเทศของคนในเมืองที่จะยืดเยื้อต่อไปได้

กราฟิก

บริก เบน บาร์รี จากสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาเชิงกลยุทธ์ (International Institute for Strategic Studies) ระบุว่า "ในระยะสั้น การประสบความสำเร็จในการยึดกรุงเคียฟของรัสเซียคงจะเป็นความสำเร็จทางการเมือง และการทหารที่ส่งผลกระทบทางยุทธศาสตร์"

"แต่มันอาจจะไม่ได้ทำลายรัฐบาลยูเครนลง เห็นได้จากการที่รัฐบาลยูเครนวางแผนจะตั้งสำนักงานใหญ่ของรัฐบาลแห่งใหม่ขึ้น และน่าจะอยู่ในพื้นที่ทางตะวันตกของประเทศ"

แผนการบุกของรัสเซียไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ทั้งหมด ข่าวกรองกลาโหมของอังกฤษ ระบุว่า มีทหารรัสเซียเสียชีวิตแล้วหลายร้อยนายและมีการต่อต้านอย่างแข็งแกร่ง แต่รัสเซียก็กำลังรุกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กองกำลังของรัสเซียมีมากกว่าของยูเครนคิดเป็นสัดส่วนได้มากกว่า 3 ต่อ 1 และมีคำถามต่าง ๆ เกี่ยวกับคุณภาพของผู้นำกองทัพยูเครนและกองทัพของยูเครนจะต้านทานได้นานแค่ไหน

การต้านทาน

ได้มีการต้านทานเกิดขึ้นแล้ว โดยมีการเรียกร้องให้ผู้ชายที่อยู่ในวัยที่จะสู้รบได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ทั่วประเทศ และมีการมอบปืนอัตโนมัติให้แก่ประชาชนในกรุงเคียฟ 18,000 กระบอก นอกจากนี้ยังมีกองกำลังสำรองและทหารนอกเครื่องแบบที่ช่วยเสริมการต้านทานให้แข็งแกร่ง

ชาติต่าง ๆ ในยุโรปตะวันออก ซึ่งเกรงว่า อาจจะถูกปูตินหมายตาเป็นรายต่อไป กำลังจับตามองด้วยความหวาดหวั่นว่า จะมีการซ้อมรบของทหารรัสเซียใกล้กับพรมแดนของตัวเองหรือไม่ คูสตี ซาล์ม ปลัดกระทรวงกลาโหมของเอสโตเนีย เป็นหนึ่งในผู้ที่ผลักดันให้มีการส่งความช่วยเหลือทางการทหารให้แก่ยูเครนเพิ่มขึ้น

"เราจำเป็นต้องมอบอาวุธต่าง ๆ อย่าง ขีปนาวุธต่อต้านรถถังจาเวลิน (Javelin) กระสุนและอุปกรณ์ป้องกัน ชาตินาโตทุกชาติ ควรจะช่วยเหลือพวกเขา" เขากล่าว

ยิ่งรัสเซียใช้เวลาในการกำราบยูเครนที่มีประชากรกว่า 40 ล้านคนมากขึ้น ก็น่าจะยิ่งเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ เพิ่มขึ้นไปด้วย

แต่ประธานาธิบดีปูติน ซึ่งเกือบจะปราบปรามการต่อต้านทุกอย่างในประเทศ คงจะศึกษาดีแล้วว่า เบลารุส ประเทศเผด็จการเพื่อนบ้านของรัสเซียปราบปรามการประท้วงอย่างได้ผลในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมาอย่างไร ตำรวจได้จับกุมผู้ประท้วงมากมายเข้าเรือนจำ หลายคนถูกทุบตีอย่างรุนแรงและถูกกระทำทารุณระหว่างการถูกควบคุมตัว นี่เป็นตัวขัดขวางสำคัญไม่ให้เกิดการประท้วงต่อไป

บริก บาร์รี กล่าวว่า "รัสเซียจะใช้การปราบปรามอย่างโหดเหี้ยม โดยได้รับการสนับสนุนทางดิจิทัลจากอุปกรณ์สอดแนมเวอร์ชั่นของรัสเซียอย่างที่จีนใช้ในซินเจียง น่าจะมีการข่มขู่จากรัสเซียว่า จะแก้แค้นชาติใด ๆ ก็ตามที่ช่วยเหลือกลุ่มกบฏ"

นาโตอยู่ไหน

นาโตตั้งใจที่จะไม่เข้ามาในยูเครน ทั้งที่รัฐบาลยูเครนวิงวอนให้ชาติตะวันตกเข้ามาช่วยเหลือ นาโตได้ยืนยันว่า จะไม่ส่งทหารเข้าไปในยูเครน

ทำไม ก็เพราะว่ายูเครนไม่ใช่สมาชิกของนาโต และนาโตก็ไม่ต้องการที่จะทำสงครามกับรัสเซีย

ถ้าการบุกของรัสเซียกลายเป็นการยึดครองยูเครนในระยะยาว ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่า บรรดาชาติตะวันตกก็คงจะสนับสนุนกลุ่มกบฏยูเครน เหมือนกับที่สหรัฐฯ สนับสนุนกลุ่มมูจาฮิดีนในอัฟกานิสถานในยุคทศวรรษ 1980 แต่นี่ก็มาพร้อมกับความเสี่ยง เพราะปูตินก็น่าที่จะตอบโต้บางอย่าง

ในระหว่างนี้ นาโตได้มุ่งเน้นไปที่การเสริมกำลังที่พรมแดนทางตะวันออกของนาโต สิ่งที่ย้อนแย้งคือ แม้ว่ารัฐบาลรัสเซียจะเรียกร้องให้นาโตเคลื่อนกองกำลังไปทางตะวันตกมากขึ้น แต่การบุกยูเครนของปูตินกลับทำให้เกิดผลตรงกันข้ามขึ้น

"นี่คือสัญญาณเตือนขนาดใหญ่สำหรับยุโรป" โทเบียส เอลล์วูด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประธานคณะกรรมการกลาโหมของรัฐสภาสหราชอาณาจักร กล่าว "น่าเศร้าที่สันติภาพที่ยาวนาน 3 ทศวรรษ ไม่ใช่เรื่องปกติ ในการรับมือกับทรราชย์เราจำเป็นต้องยกระดับแผนการของเรา"

มันจะเลวร้ายลงไหม

สำหรับชาวยูเครนแล้ว นี่คือแย่ที่สุดเท่าที่จะแย่ได้แล้ว

หลังจากที่ต้องต่อสู้กับกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนที่รัสเซียให้การหนุนหลังนาน 8 ปี ทางตะวันออกของประเทศ ขณะนี้พวกเขาต้องมาเห็นประเทศของตัวเองถูกถล่มด้วยปืนใหญ่ ระเบิด และจรวด จากเพื่อนบ้านที่เป็นมหาอำนาจด้านอาวุธนิวเคลียร์

ผู้หญิงคนหนึ่งเข้าร่วมการประท้วงต่อต้านการบุกยูเครนของรัสเซียในประเทศมอลตา

ที่มาของภาพ, Reuters

ชาวยูเครนซึ่งลงมติแยกตัวออกจากรัฐบาลรัสเซียอย่างท่วมท้นในปี 1991 และยอมสละอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเอง กำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่จะต้องย้อนเวลากลับไป 3 ทศวรรษได้ ถ้ารัสเซียสามารถปราบยูเครนได้ทั้งประเทศ

คำถามที่สร้างความยุ่งยากให้กับบรรดาผู้นำโลกคือ ประธานาธิบดีปูตินคิดที่จะทำอะไรต่อไปหลังจากยูเครน

หัวหน้าฝ่ายกลาโหมของชาติสมาชิกนาโตได้ตรวจสอบสุนทรพจน์ที่ยืดยาวของปูตินในเดือน ก.ค. และสรุปว่า พวกเขาจำเป็นต้องเสริมกำลังทางพรมแดนทางตะวันออกของนาโตอย่างเร่งด่วน เพราะเกรงว่า ปูตินต้องการที่จะบุกมาที่ประเทศต่าง ๆ อย่างโปแลนด์, ลิทัวเนีย, ลัตเวีย และเอสโตเนีย

ปูตินจะทำเช่นนั้นไหม

"ผมคิดว่า เขามีแผน" โทเบียส เอลล์วูด กล่าว "นั่นคือการส่งทหารนอกเครื่องแบบเข้าไปก่อกวน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการทำสงครามแบบที่ไม่เปิดเผยซึ่งหน้า ผมกังวลว่า มันจะกระจายเข้าไปในบอลข่านด้วย"

แน่นอนว่า นาโตไม่ชะล่าใจ และได้จัดเครื่องบินรบ 100 ลำ เตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ อังกฤษเป็นหนึ่งในชาติแรก ๆ ที่จะส่งกำลังเสริมเข้าไปยังเอสโตเนีย ซึ่งคูสตี ซาล์ม เข้าใจดีว่า พวกเขาทำอะไรได้บ้าง

"ไม่มีใครคิดว่า กลุ่มสู้รบที่นำโดยสหราชอาณาจักร [ในเอสโตเนีย] จะขัดขวางประเทศมหาอำนาจนิวเคลียร์อันดับสองของโลกเอง" เขากล่าว "นี่คือลวดขึงที่จะทำให้ทุกชาติในนาโตรวมถึงสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส เผยแสนยานุภาพออกมา"

เหตุการณี่กองทัพรัสเซียจะบุกเข้าไปในชาติสมาชิกนาโต เกือบจะเป็นเรื่องที่ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ จนกระทั่งเมื่อไม่นานนี้ และหากเป็นเช่นนั้น ก็จะทำให้นาโตและรัสเซียต้องทำสงครามกันจริง ๆ

แต่เรื่องนี้ยังไม่เกิดขึ้น แต่ผู้นำชาติตะวันตกก็หวังว่า การผนึกกำลังกันในขณะนี้พร้อมกับการใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างเข้มงวด จะเป็นการส่งสัญญาณการขัดขวางที่ชัดเจนไปถึงรัฐบาลรัสเซีย

Adblock test (Why?)


วิกฤตยูเครน : ยูเครนจะไปทางไหนนับจากนี้ - บีบีซีไทย
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...