สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังออกบทวิเคราะห์หัวข้อ” บทบาทของธุรกิจตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ต่อเศรษฐกิจไทย”ในประมาณการเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2565 โดยระบุ ตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Marketplace) มีบทบาทที่สำคัญในฐานะเป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้าทั้งการค้าส่งและค้าปลีก และเป็นประเภทหนึ่งของธุรกิจ e-Commerce ซึ่งมีรูปแบบการค้า 2 รูปแบบ ประกอบด้วย การค้าประเภท B2C หรือ การค้าระหว่างธุรกิจกับผู้บริโภค และ การค้าประเภท C2C หรือการค้าระหว่างผู้บริโภคกับผู้บริโภคด้วยกัน บทบาทที่สำคัญดังกล่าวสะท้อน จากข้อมูลของ Priceza ในปี 2562 ที่คาดว่า ธุรกิจ e-Marketplace ครองส่วนแบ่งตลาดได้ถึง 47% ของธุรกิจการค้าส่งค้าปลีกทางอินเทอร์เน็ต
จากข้อมูลของ ETDA ธุรกิจ e-Commerce ในกลุ่มการค้าส่งค้าปลีก มีการขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2563 ที่เติบโตอยู่ที่ 8.70% ถึงแม้ว่าจะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid19 สะท้อนถึงศักยภาพและความสำคัญของธุรกิจ e-Commerce ของกลุ่มการค้าส่งค้าปลีก ในขณะที่จากข้อมูลของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่า ภาพรวมธุรกิจค้าส่งค้าปลีกในปี 2563 หดตัวเล็กน้อยที่ -3.73% ต่อปี
ระบบนิเวศน์ของการประกอบธุรกิจ e-Marketplace ประกอบด้วย ผู้เล่นหลัก 6 ประเภท ประกอบด้วย 1) ผู้ขายสินค้า ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา 2) เครื่องมือการตลาด 3) ผู้ให้บริการ ขนส่ง 4) ผู้ให้บริการระบบชำระเงิน 5) ผู้ให้บริการ e-Marketplace Platform และ 6) ผู้ซื้อสินค้า โดยผู้ให้บริการ e-Marketplace Platform เป็นสื่อกลางในการซื้อขายสินค้า รวมถึง การเชื่อมโยงผู้ ให้บริการชำระเงินและผู้ให้บริการขนส่งเข้าด้วยกัน
ผู้เล่นรายใหญ่ของธุรกิจ e-Marketplace ในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 3 แพลตฟอร์ม ได้แก่ Lazada Shopee และ JD Central ซึ่งยอดขายคิดเป็นสัดส่วน 52 % 30% 18% ของยอดขายรวม 3 แพลตฟอร์ม ตามลำดับ
สถานการณ์ของธุรกิจ e-Marketplace ด้านรายได้ พบว่า ผู้ประกอบธุรกิจทุกรายมีรายได้รวมที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับแต่ปี 2560 จนถึงปี 2563 แม้ว่า ปี 2563 จะมีการแพร่ระบาดของ Covid-19 ธุรกิจยังสามารถรักษาการเติบโตของรายได้รวมได้ อย่างไรก็ดี ด้านผลประกอบการพบว่า ยังคงมีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ จากการใช้จ่ายด้านงบโฆษณาและการส่งเสริมการขายต่างๆ ที่อยู่ในระดับสูง แต่เริ่มมีสัญญาของการขาดทุนที่ชะลอตัวลง
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมและกำกับดูแลธุรกิจ e-Marketplace มี 5 ประการที่สำคัญ ได้แก่ 1) การกำกับดูแลการแข่งขันระหว่างธุรกิจอย่างใกล้ชิด 2) การปกป้องผู้ผลิตในประเทศจากการทุ่มตลาดของผู้ผลิตต่างประเทศ 3) การคุ้มครองผู้บริโภค
4) การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการชาวไทย ใช้ e-Marketplace เป็นสื่อกลางในการขายสินค้าไปยังต่างประเทศ และ 5) การสนับสนุนการจัดตั้ง e-Marketplace ภาครัฐเพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า เพื่อสนับสนุน SMEs วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการรายย่อยของประเทศไทย
คลังแนะภาครัฐจัดตั้ง e-Market placeหนุนช่องทางจำหน่ายสินค้าชุมชุม - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment