Rechercher dans ce blog

Monday, October 24, 2022

"บิสโตร เอเชีย" เสริมแกร่งพอร์ต F&B กรุยทางผงาด "ช้างใหญ่" แห่งไทยเบฟ - กรุงเทพธุรกิจ

กว่า 1 ปีที่ผ่านมา "ไพศาล อ่าวสถาพร" รับภารกิจปลุกปั้น "บิสโตร เอเชีย" และเวลานี้กำลังเข็นไพลอตโปรเจกต์ต่างๆ ออกสู่ตลาดเปิดเกมรุกเต็มตัว! ด้วยปรากฎการณ์ใหม่ๆ เป็นทางเลือกให้ลูกค้า สร้างสีสัน เขย่าคู่แข่งบรรดาร้านอาหาร ภัตตาคารระดับพรีเมียม ไปด้วยในตัว

พอร์ตธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร ภายใต้อาณาจักร "บิสโตร เอเชีย" เวลานี้ครอบคลุมทั้งอาหารไทย จีน ตะวันตก เจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) แม้สาขาจะน้อย แต่มาก! ในเชิงมูลค่าทีเดียว 

สะท้อนได้ชัดเจน จากผลประกอบการพลิกจากขาดทุนตลอดห้วง 7-8 ปีที่ผ่านมา กลับมาเป็น "บวก" และมีทิศทางที่ดีแบบยกพอร์ตทีเดียว Bottom Line ของตัวเลขที่ดีขึ้นชัดเจนนั้น เป็นทั้งพลังและความท้าทายต่อก้าวรุกนำพา 6 แบรนด์ในมือเติบโตต่อเนื่อง

"บิสโตร เอเชีย" มีทั้งแบรนด์เก่าแก่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมายาวนาน แบรนด์แกะกล่องภายใต้ไอเดียและนวัตกรรมใหม่ ประกอบไปด้วย บ้านสุริยาศัย (BAAN SURIYASAI) ไฮด์ แอนด์ ซีค แอทธินี (HYDE & SEEK Athenee) หม่าน ฟู่ หยวน (MAN FU YUAN) โซ อาเซียน (SO Asean Café & Restaurant) สโมสรราชพฤกษ์ (Rajpruek Club) และ ศูนย์อาหารฟู้ด สตรีท (Food Street)  นอกจากนี้ยังมีธุรกิจบริการจัดเลี้ยง อีกด้วย 

“ธุรกิจต้องโตต่อ! สร้างพอร์ตแบบโออิชิ แต่เน้นมูลค่าในความเป็นตลาดพรีเมียม วางเป้าหมาย (ก่อนเกษียณ) อยากผลักดันยอดขายทะยานสู่ 2,000-3,000 ล้านบาท ใน 2 ปีข้างหน้า ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้ บิสโตร เอเชีย ขยับสู่ช้างใหญ่...ให้กับไทยเบฟในอนาคตต่อไป”

ไพศาล อ่าวสถาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิสโตร เอเชีย จำกัด บริษัทในเครือไทยเบฟ กล่าวถึงเป้าหมายและความท้าทายของการเคลื่อนทัพใหญ่ในครั้งนี้ให้เติบโตสอดรับไปกับ "Passion 2025" ของไทยเบฟ ที่ประกอบไปด้วย 

"Build"  สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ผ่านทั้งนำเทคโนโลยีเข้ามายกระดับ และเพิ่มตลาดที่น่าสนใจ 

"Strengthen"  เพิ่มความแข็งแกร่งให้ธุรกิจหลัก เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในระดับอาเซียน "Unlock"  นำศักยภาพของบริษัทมาก่อให้เกิดมูลค่าสูงสุด ทั้งมุมทรัพยากรภายในและเครือข่ายพันธมิตร

ไพศาล อ่าวสถาพร ย้อนความว่า ออกสตาร์ท บิสโตร เอเชีย กับการดูแลแบรนด์ที่มีผลประกอบการเป็นลบ!  หากแต่ทยอยปลดล็อกข้อจำกัดก่อนฟื้นทำกำไร! และผลักดัน 6 แบรนด์ในมือเติบโตไปในทิศทางเดียวกัน เรียกว่าสวนกระแสกำลังซื้อและเศรษฐกิจชะลอตัวในห้วงวิกฤติโควิด-19 

เครื่องมือสำคัญ นั่นคือ การปรับกลยุทธ์ใหม่ทั้งเมนูอาหารให้เข้ากับตำแหน่งทางการตลาดของแบรนด์และลูกค้าเป้าหมาย! ที่ลงลึกแต่ละแบรนด์ให้แตกต่างไปตาม “ทำเล” ช่วงเวลาเปิดบริการ เช่น หากร้านอยู่ในอาคารสำนักงาน จะมีชั่วโมงการขายสั้น เสาร์-อาทิตย์ ปิดบริการ จับลูกค้าได้เฉพาะมื้อกลางวัน ฉะนั้นจะต้องเน้นทำยอดขายช่วงเวลากลางวันให้ได้มากที่สุด 

“ช่วง 6 เดือนแรกเน้นปรับเปลี่ยน วางโครงสร้างการทำงาน บริหารจัดการใหม่ เพื่อพลิกรายได้ให้กลับมาเป็นบวกให้ได้!”

เมื่อเป้าหมายชัด "Pain Point" ที่มีถูกแก้ไขไปทีละเปลาะ พร้อมๆ กับการเพิ่มศักยภาพในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะ บริการดีลิเวอรี่ การแตกไลน์ ต่อยอด จากแบรนด์ที่แข็งแรง ผ่าน ชุดของขวัญ จัดเลี้ยง แม้กระทั่งบริการ "เชฟเทเบิ้ล" เป็นการเพิ่มแวลู สร้างมูลค่าเพิ่ม นำสู่ยอดขายที่พุ่งทะยาน!

"บิสโตร เอเชีย" เสริมแกร่งพอร์ต F&B กรุยทางผงาด "ช้างใหญ่" แห่งไทยเบฟ

เป็นที่มาของความสำเร็จก้าวแรกของ "บิสโตร เอเชีย" พลิกกำไรได้ภายใน 7 เดือน โดยผลประกอบการเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา เติบโตกว่า 280% เทียบช่วงเดียวกันของปี 2563 และสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด 29% ขณะที่ผลประกอบการปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.2564-ก.ย.2565) เติบโตถึง 76%

เมื่อหยุดเลือดไหล! ถึงเวลาเดินหน้าขุมพลัง! ทั้งหมดเคลื่อนทัพบุกตลาดอย่างต่อเนื่อง  

ล่าสุด ส่งเรือธง ฟู้ด สตรีท (Food Street) ศูนย์อาหารดิจิทัล โดยมีสาขาศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เป็นต้นแบบ ในการขยายเครือข่าย วางแผนเปิดบริการที่โครงการวัน แบงค็อก (One Bangkok) ปลายปี 2567

ปัจจุบัน ฟู้ดสตรีท ให้บริการ 4 สาขา นอกเหนือจากศูนย์ฯ สิริกิต์ ได้แก่ เดอะสตรีท รัชดา, CW Tower และ สาขาอาคารไทยเบฟสำนักงานใหญ่ ที่ยังอยู่ในรูปแบบเก่า 

"บิสโตร เอเชีย" เสริมแกร่งพอร์ต F&B กรุยทางผงาด "ช้างใหญ่" แห่งไทยเบฟ

ฟู้ด สตรีท จะเป็น โชว์เคส "ฟู้ดสตรีทดิจิทัล" ที่มาเขย่าเกมพลิกโฉมหน้าธุรกิจ "ศูนย์อาหาร" ในเมืองไทยอีกเช่นกัน 

ฟู้ด สตรีท  ถูกสร้างขึ้นเป็นหนึ่งตัวจักรสำคัญขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจในเครือ ภายใต้แพลตฟอร์มศูนย์อาหารแนวใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน!  โดยมี สาขาศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เปิดบริการเมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา พื้นที่ 900-1,000 ตร.ม.เป็นแฟลกชิพและต้นแบบของประสบการณ์ใหม่ ที่ได้นำระบบ “ดิจิทัล” มาใช้เต็มรูปแบบผ่านตู้ “คีออส” ที่ลูกค้าสามารถเลือกเมนูอาหาร และสั่งจากตู้แล้วไปรับที่ร้านที่เลือกไว้ได้เลย โดยไม่ต้องเสียเวลาไปเข้าคิวสั่งหน้าร้าน

ตู้คีออสนี้ยังรองรับการชำระเงินได้ทุกระบบทั้งแอพพลิเคชั่น คิวอาร์โค้ด รวมทั้งอาลีเพย์ วีแชทเพย์ แรบบิทเพย์ และบัตรเครดิตต่างๆ รองรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับโลกของดิจิทัล ช่วยแก้ Pain Point โดยเฉพาะลูกค้าชาวต่างชาติที่เข้ามาใช้บริการในศูนย์ประชุม และมักประสบปัญหา “การใช้เงินสด” ขณะที่ลูกค้าชาวไทยไม่ต้องเสียเวลาเข้าคิวเพื่อ “แลกบัตร”  ไม่ต้องเสียเวลารอคิวที่หน้าร้านอาหารอีกด้วย

“การทำฟู้ดคอร์ท ในปัจจุบัน ต้องมีแบรนด์ และใช้แบรนด์เป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ลูกค้า เป็นเรื่องสำคัญ แม้การทำฟู้ด คอร์ท จะดูเหมือนแค่การนำร้านอาหารชื่อดัง อร่อยๆ มารวมอยู่ในศูนย์ แต่ลึกลงไปแล้ว การสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ ทั้งจากบริการใหม่ๆ ร้านค้า หรือแม้แต่การดีไซน์ บรรยากาศ จะเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึง"

ฟู้ด สตรีท  ไม่เพียงเข้ามาช่วยแก้ Pain Point ให้ลูกค้าเท่านั้น  แต่เข้ามาช่วยยกระดับความสามารถหรือทักษะในการใช้เทคโนโลยีให้กับพนักงาน นำสู่การเปิดสาขาใหม่ และเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจที่ยังเปิดกว้างค่อนข้างมาก

สำหรับ "ฟู้ด สตรีท" สาขาศูนย์ฯสิริกิติ์ ให้ความสำคัญกับการเลือกร้านอาหาร การดีไซน์บรรยากาศ ฉีกแนวไปจากทั่วไปที่เป็นลานนั่งโล่งๆ โดยทำเป็นโซนนิ่ง แบ่งเป็น 4 โซน คือ “ละเมียด-ละมัย-จี๊ดจ๊าด-จัดจ้าน” เลือกใช้สีหรือการดีไซน์ให้เข้ากับโซนให้อารมณ์ที่แตกต่างไม่เหมือนกับการนั่งในฟู้ด คอร์ท ทั่วไป ที่เหมือนกันหมด ให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัวมากขึ้น

พร้อมความหลากหลายของเมนูอาหาร ตั้งแต่ข้าวราดแกงไปจนถึงหูฉลาม ในราคาที่จับต้องได้ง่าย  มีไฮไลต์ร้านอาหารมิชลิน สตาร์  ร้านเพ้ง คั่วไก่ และร้านราดหน้า 40 ปี ศาลเจ้าพ่อเสือ  โดยร้านค้าแบ่งเป็น 2 ส่วน คือร้านประจำ 18 ร้านค้า และอีก 8 ร้านค้าที่เป็นร้านค้าหมุนเวียนตามฤดูกาล เปลี่ยนทุก 3 เดือน

อย่างไรก็ดี เวลานี้ "บิสโตร เอเชีย" ยังอยู่ระหว่างศึกษา “โรบอต คุ้กกิ้ง” เพื่อรับมือกับปัญหาต้นทุนและ "เชฟ" ขาดแคลน

"อะไรที่ต้องพึ่งเชฟควรต้องใช้โรบอตที่มีความเสถียรในการปรุงรสชาดอาหาร โดยเฉพาะอาหารจีนยากสุด! นับเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องเตรียมพร้อม"  

ไพศาล ย้ำว่า บิสโตร เอเชีย ไม่เพียงมุ่งขยายเครือข่ายร้านอาหารตาม “จังหวะ” และ “โอกาส”  ซึ่งจะมีการพัฒนาแบรนด์ใหม่ต่อเนื่อง หากแต่ยังมุ่งสร้างรายได้และสร้างแบรนด์แข็งแกร่งผ่านธุรกิจแห่งอนาคต ได้แก่ แพ็คเกจฟู้ด, กิ๊ฟบาสเก็ต และฟู้ดแฮมเปอร์ เรียกว่าต่อยอดทั้งเชิงคุณค่าและมูลค่าได้อย่างงาม 

ขณะเดียวกัน การเดินหน้าของธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหารต้องเติมเต็มซึ่งกันและกันระหว่าง “อาหาร” และ “เครื่องดื่ม” ในเครือไทยเบฟ เป็นทั้งการ "ซินเนอร์ยี" ของพลังธุรกิจในเครือและสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งไปพร้อมๆ กัน     

ในเร็วๆ นี้ บิสโตร เอเชีย เตรียมเปิดตัวแบรนด์น้องใหม่ลำดับที่ 7 ในสไตล์ยูโรเปี้ยนฟู้ดที่ยังไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย ปักหมุดศูนย์ฯ สิริกิติ์ พร้อมเสิร์ฟก่อนการประชุม "APEC 2022"

ท้ายที่สุด แต่ยังไม่สุดท้าย แม่ทัพแห่งบิสโตร เอเชีย "ไพศาล อ่าวสถาพร" ย้ำว่า ตลาดต่างประเทศเป็นอีกเป้าหมายใหญ่ของ "บิสโตร เอเชีย" ว่าที่ช้างใหญ่แห่งไทยเบฟ  

Adblock test (Why?)


"บิสโตร เอเชีย" เสริมแกร่งพอร์ต F&B กรุยทางผงาด "ช้างใหญ่" แห่งไทยเบฟ - กรุงเทพธุรกิจ
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...