Rechercher dans ce blog

Thursday, March 23, 2023

ปาฏิหาริย์ทางการเมือง - ไทยรัฐ

มีประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาเพื่อให้เลือกตั้งใหม่ออกมาติดๆกับผลการสำรวจความเห็นคนทั่วประเทศ เป็นครั้งแรกในปี 2566 ของนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จึงมีเสียงวิจารณ์กันอย่างคึกคัก ขั้วการเมืองหรือพรรคใดจะชนะได้เป็นรัฐบาลใหม่ ขั้วพรรค 3 ป. จะสามารถอยู่ต่อได้หรือไม่

แม้จะไม่สามารถฟันธงได้ว่า พรรคเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์หรือไม่ แต่เชื่อว่าชนะแน่ ตามผลโพลล่าสุดมาเป็นอันดับ 1 ได้ 49.85% ทิ้งห่างพรรคอันดับ 2 ถึง 7 คือพรรคก้าวไกล 17.15% พรรครวมไทยสร้างชาติ 12.15% พรรคประชาธิปัตย์ 4.95% พรรคภูมิใจไทย 2.55% ยังไม่ตัดสินใจ 2.35%

ส่วนคำถามที่ว่าต้องการให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ก็นำโด่งด้วยคะแนน 38.20% ตามด้วยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 15.75% พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 15.65% ยังหาผู้ที่เหมาะสมไม่ได้ 9.42% คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 5.10% พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส 4.45% นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 2.95% นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว 1.60% นายอนุทิน ชาญวีรกูล 1.55% นายกรณ์ จาติกวณิช 1.40%

ยังมีกลุ่มอื่นๆ เป็นกลุ่มสุดท้าย ได้คะแนนรวมกัน 3.35% มีชื่อรวมกันอยู่หลายคน รวมทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องถือว่าเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะ พล.อ.ประวิตร เป็นผู้นำพรรคใหญ่ที่ประเทศชิงชัยมานานแต่ไม่ติดแม้แต่ 1 ใน 10

นักวิชาการบางคนฟันธงว่าเลือกตั้งครั้งนี้ขั้ว พล.อ.ประยุทธ์ จะได้ 264 ส.ส. จึงไปต่อได้ ส่วนพรรคเพื่อไทยจะไม่แลนด์สไลด์ แม้จะเคยชนะเลือกตั้งติดต่อกันมาถึง 4 ครั้ง เมื่อปี 2544, 2548, 2554 และ 2562 ชนะแบบฟ้าถล่มในปี 2548 ได้ ส.ส. 377 จากทั้งหมด 500 จึงจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว

ถ้าเป็นการเลือกตั้งในประเทศประชาธิปไตยทั่วไป สามารถมั่นใจได้ว่า พรรคที่ประชาชนลงคะแนนได้มากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ และเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล แต่ในโลกประชาธิปไตยแบบไทยๆไม่อาจมั่นใจได้เช่นกัน เพราะอาจมีปาฏิหาริย์ทางการเมือง บันดาลให้ผู้ชนะกลายเป็นผู้แพ้ ประชาชนอาจไม่ใช่เสียงชี้ขาด

จึงอาจเป็นเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องวิงวอนขอแลนด์สไลด์ 310 ขึ้น เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเสียงประชาชนจะมีความหมายอย่างแท้จริง และถึงแม้ประชาชนจะสามารถเลือกรัฐบาลได้จริง ก็ไม่มีหลักประกันว่ารัฐบาลของประชาชนจะอยู่ยั้งยืนยง ประชาชนจึงต้องสร้างประชาธิปไตยให้แข็งแกร่งยิ่งๆขึ้น.

Adblock test (Why?)


ปาฏิหาริย์ทางการเมือง - ไทยรัฐ
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...