ความตอนหนึ่งว่า “เงินเดือนข้าราชการเริ่มต้น 25,000 บาท เอาไหมคะ ข้าราชการทั้งหลาย เงินเดือนขึ้นเริ่มต้น 25,000 บาท ถ้าขึ้นทุกตำแหน่งอีก 70% เงินเดือนที่จะขึ้นแบบนี้ต่อไป เอาหรือไม่คะ”
ในประเด็นนี้ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ระบุว่า การปรับฐานเงินเดือนข้าราชการบรรจุใหม่ มีวัตถุประสงค์เพื่อจูงใจคนเก่งมีความรู้ความสามารถให้เข้าสู่ระบบราชการ
ผู้เขียนเห็นว่า ความคิดดังกล่าวมองผิวเผินเป็นเรื่องดี อย่างไรก็ดี การปรับฐานเงินเดือนบุคลากรภาครัฐมีประเด็นสำคัญหลายด้านที่สมควรต้องพิจารณา
ประการแรก นโยบายปรับฐานค่าจ้าง/เงินเดือนขั้นต่ำ มิได้คำนึงถึงผลกระทบด้านเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกรหรือแรงงานนอกระบบอื่น ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ อาทิ พ่อค้าหาบไข่ปิ้ง แม่ค้าส้มตำไก่ย่าง คนซ่อมรองเท้า คนเก็บขยะขาย ฯลฯ ที่ไม่มีหลักประกันทางรายได้ในแต่ละวันว่าเท่ากับกี่บาทกี่สตางค์
กล่าวคือ ราคาพืชผลทางการเกษตรและรายได้ของคนหาเช้ากินค่ำเหล่านี้ มิได้ปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางของค่าจ้าง/เงินเดือน รวมถึงราคาสินค้าและบริการที่จะทะยานสูงขึ้น คนกลุ่มนี้ที่ปกติมีชีวิตลำบากอยู่แล้วจึงได้รับผลจากนโยบายนี้อย่างรุนแรง
ประการถัดมา การแก้กฎหมายปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้แรงงานกับการเพิ่มฐานเงินเดือนข้าราชการ ไม่อาจนำมาเปรียบเทียบกันได้
เพราะค่าแรงขั้นต่ำเป็นหนึ่งในวิธีการแทรกแซง ที่ภาครัฐของนานาอารยประเทศใช้ เพื่อคุ้มครองลูกจ้างที่ไม่มีอำนาจในการต่อรอง ให้ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มนายทุนจนเกินไป เป็นการปกป้องคนงานจากค่าจ้างที่ต่ำเกินควร
นั่นคือ เป็นการแก้กฎหมายเพื่อช่วยให้แรงงานได้รับส่วนแบ่งผลแห่งความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างยุติธรรม โดยไม่ได้ส่งผลต่อเนื่องถึงภาระการคลังของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
ประการต่อไป ปัจจุบันบุคลากรภาครัฐมีหลายประเภท เช่น ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้าง ฯลฯ โดยข้าราชการเป็นกลุ่มที่ได้รับสิทธิประโยชน์หลายประการมากกว่าบุคลากรของรัฐประเภทอื่น
นอกจากเงินเดือนที่มาจากภาษีของคนทั้งประเทศ ข้าราชการยังมีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลและเงินบำเหน็จบำนาญเมื่อเกษียณอายุราชการทุกเดือนจนตาย ซึ่งล้วนจัดสรรมาจากงบประมาณแผ่นดินทั้งสิ้น
เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 พบว่า รายจ่ายด้านงบบุคลากร เช่น เงินเดือน ค่าจ้างประจำ ค่าจ้างชั่วคราว ค่าตอบแทนพนักงานราชการ เป็นจำนวนเงินมากกว่า 610,000 ล้านบาท
ค่ารักษาพยาบาลบุคลากรภาครัฐและครอบครัว เป็นจำนวนเงิน 76,000 ล้านบาท และค่าเบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ เป็นจำนวนเงินอีก 322,790 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
นโยบายเพิ่มฐานเงินเดือนบุคลากรภาครัฐ ทั้งกลุ่มที่เป็นข้าราชการและไม่ใช่ข้าราชการให้ใกล้เคียงภาคเอกชนแบบหว่านแห ไม่เพียงแต่ส่งผลให้งบรายจ่ายด้านบุคลากรต้องทะยานสูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่องบประมาณแผ่นดินจำนวนมหาศาลที่ต้องถูกจัดสรรเพิ่มขึ้นเพื่อจ่ายบำเหน็จบำนาญให้แก่ข้าราชการอีกด้วย
เนื่องจากมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2539 (แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2546) บัญญัติว่า “บำเหน็จบํานาญ บําเหน็จดํารงชีพ และบําเหน็จตกทอด ให้จ่ายจากเงินงบประมาณ สําหรับเงินสะสม เงินสมทบ เงินประเดิม เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนเงินดังกล่าวให้จ่ายจากกองทุน...”
มาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน บัญญัติให้ข้าราชการได้รับเงินบำนาญโดย “...คํานวณจากอัตราเงินเดือนเฉลี่ยหกสิบเดือนสุดท้าย คูณด้วยเวลาราชการ หารด้วยห้าสิบ แต่ต้องไม่เกินร้อยละเจ็ดสิบของอัตราเงินเดือนเฉลี่ยหกสิบเดือนสุดท้าย”
ปัจจุบัน ข้าราชการที่เกษียณอายุราชการได้รับบำนาญโดยเฉลี่ยคนละประมาณ 30,000-70,000 บาทต่อเดือน ซึ่งทั้งหมดมาจากงบประมาณแผ่นดิน
(ไม่นับรวมเงินจาก กบข.ที่มาจากการสมทบระหว่างการทำงานโดยฝ่ายข้าราชการในอัตราร้อยละ 3-27 และฝ่ายรัฐในฐานะนายจ้างอีกร้อยละ 3 ของเงินเดือน ซึ่งเป็นลักษณะคล้ายกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในบริษัทเอกชน)
แต่ถ้าหากมีการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบเพิ่ม 70% ตามคำปราศรัยของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ข้าราชการที่จะเกษียณจะได้รับบำนาญแต่ละเดือนโดยเฉลี่ยคนละประมาณ 40,000-90,000 บาท
เมื่อพิจารณารายจ่ายเฉพาะส่วนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ที่ปัจจุบันได้รับการจัดสรรจากงบประมาณแผ่นดินมากกว่า 300,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มสูงกว่า 600,000 ล้านบาทภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี และอาจสูงกว่า 800,000 ล้านบาท
หากมีการยกเครื่องเงินเดือนข้าราชการใหม่ทั้งระบบตามนโยบายนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้
เพราะประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่อัตราการเกิดลดลงอย่างมาก ส่งผลต่อรายได้ภาครัฐ ที่จะนำมาจัดสรรเป็นงบประมาณค่าใช้จ่ายในการบริหารประเทศด้านต่างๆ
หากรัฐบาลยังจะดำเนินนโยบายปรับฐานเงินเดือนข้าราชการ เพื่อป้องกันวิกฤติทางการคลังที่จะเกิดในอนาคต และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนผู้เสียภาษี รัฐบาลสมควรยกเลิกระบบบำนาญข้าราชการปัจจุบัน
และใช้โอกาสนี้สร้างระบบบำนาญใหม่ซึ่งครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ คนทำงานภาคเอกชน หรืออาชีพส่วนตัว ให้อยู่ภายใต้ระบบเดียวกัน ซึ่งสามารถศึกษาได้จากหลากหลายประเทศต้นแบบ อาทิ เดนมาร์ก สวีเดน และออสเตรีย
เมื่อถึงเวลานั้น คนไทยจะผาสุกอย่างยั่งยืนถ้วนหน้า!
ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ…พบทางออกหรือเจอทางตัน?! - กรุงเทพธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment