เคทีซี จับมือ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ และเอสซีจี เปิดเวทีเสวนา "ถึงเวลาพลังงานทางเลือก เป็นพลังงานทางรอด" แนวโน้มของการใช้งานรถพลังงานไฟฟ้าและโซลาร์เซลล์ในประเทศไทย
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 มีรายงานว่า เคทีซี จัดงานเสวนา KTC FIT Talks ครั้งที่ 10 ในหัวข้อ "ถึงเวลาพลังงานทางเลือก เป็นพลังงานทางรอด" เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชน โดยเชิญตัวแทนภาครัฐและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทน ร่วมเปิดมุมมองต่อพลังงานทางเลือก แนวโน้มของการใช้งานรถพลังงานไฟฟ้าและโซลาร์เซลล์ในประเทศไทย รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงพลังงานทางเลือกในระดับครัวเรือน และสิทธิพิเศษเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายสมาชิกบัตรเครดิตและผู้บริโภค
นายวัชรินทร์ บุญฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า พลังงานทดแทน คือพลังงานที่ทดแทนพลังงานฟอสซิล ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้โลกร้อน ส่วนพลังงานทดแทนคือพลังงานที่ไม่ปล่อยคาร์บอน หมุนเวียนได้ ใช้แล้วไม่มีวันหมดไป เช่น โซลาร์ รูฟ (Solar Roof) ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นสิ่งที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายและใกล้ตัวที่สุด ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้นำพลังงานทดแทนเข้ามาใช้ ในสัดส่วนประมาณ 15% ของพลังงานไฟฟ้า และพยายามเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนให้มากขึ้น
ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนเองก็พยายามใช้พลังงานทดแทนด้วยการติดโซลาร์ รูฟท็อป บริเวณหลังคาโรงงานกันมากขึ้น เนื่องจากช่วยลดค่าใช้จ่าย ซึ่งมีข้อดี คือ ช่วยในเรื่องสิ่งแวดล้อม ช่วยลดต้นทุน เช่นเดียวกับการใช้รถไฟฟ้า ก็จะช่วยสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน
"กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ดำเนินการส่งเสริม สนับสนุนการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 (AEDP 2018) โดยกำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนที่ร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ. 2580 และมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานทดแทน ทั้งในส่วนของพลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน และเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง ซึ่งขับเคลื่อนผ่านมาตรการต่างๆ"
นายวัชรินทร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังจัดทำแผนพลังงานชาติฉบับใหม่ ที่มีเป้าหมายการมุ่งสู่ Carbon Neutrality 2050 หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งหมายถึงการลด ดูดซับ หรือชดเชยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในปริมาณที่เท่ากับการปล่อย CO2 ตามกรอบแผนพัฒนาพลังงานชาติ (National Energy Plan) ซึ่งกำหนดเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไว้ที่สัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 โดยมุ่งเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน ส่งเสริมการประหยัดพลังงานให้เข้มข้นมากขึ้น รวมทั้งมีนโยบายส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ภายใต้ขอบเขตของการร่วมมือในการพัฒนาส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกระหว่างภาครัฐและเอกชนที่สามารถร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนสังคม พร้อมส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกในบริบทต่างๆ เช่น การส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจสีเขียว การใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้น รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญและมุมมองความต้องการในเชิงธุรกิจ
นายสุวัฒน์ เทพปรีชาสกุล ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต "เคทีซี" หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เคทีซีตระหนักและให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจภายใต้ ESG หรือแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืนมาตลอด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่องของการร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับสังคมไทยเพื่อส่งต่อให้กับคนรุ่นหลัง และพลังงานทางเลือกจากธรรมชาติกำลังเป็นความจำเป็นที่เข้ามาทดแทนพลังงานแบบเดิม เราจึงพยายามวางแผนกลยุทธ์การตลาดต่างๆ เพื่อร่วมขับเคลื่อนให้คนไทยและสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซีที่สนใจเรื่องของพลังงานทดแทน สามารถเข้าถึงและจับต้องได้
โดยเฉพาะตลาดยนต์ไฟฟ้า หรือ รถยนต์ EV ซึ่งในประเทศไทยมีหลักๆ อยู่ 3 ประเภท ได้แก่ 1. BEV (Battery Electric Vehicle) 2. HEV (Hybrid Electric Vehicle) และ 3. PHEV (Plug-in Hybrid Vehicle) จากการศึกษาพบว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ และฐานข้อมูลการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซีในหมวดรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า (Electronic Vehicle – EV) ตั้งแต่ต้นปี 2566 ถึงปัจจุบัน ยังพบว่ามีการเติบโตต่อเนื่องถึง 60% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ EV / เครื่องชาร์จระบบรถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนประกันภัย สำหรับรถยนต์ EV โดยเฉพาะ และพร้อมมองหาโอกาสในการต่อยอดเพื่อเป็นหนึ่งในการสรรค์สร้างสังคมสู่ความยั่งยืนต่อไป
นายวชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Smart System Solution Business ในธุรกิจซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี กล่าวว่า จากเมกะเทรนด์ ที่ผลักดันให้ระบบโซลาร์ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความต้องการใช้รถไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประสิทธิภาพของวัสดุอุปกรณ์ของระบบดียิ่งขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนของระบบโซลาร์ต่ำลง และเข้าถึงง่ายมากยิ่งขึ้น ซึ่งในปัจจุบันระบบโซลาร์แบบออนกริด (On-Grid) ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจาก คืนทุนรวดเร็วที่สุด และสามารถขายคืนการไฟฟ้าในโครงการโซลาร์ภาคประชาชน หากต้องการติดตั้งระบบโซลาร์ นอกเหนือจากพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของเจ้าของบ้านแล้ว ควรพิจารณาถึงมาตรฐานของอุปกรณ์ในระบบ ผู้ให้บริการติดตั้งที่เชื่อถือได้ เพื่อการดูแลในระยะยาว ซึ่งเอสซีจี โซลาร์รูฟ โซลูชัน ได้พัฒนาสินค้านวัตกรรมให้มีคุณภาพและบริการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันให้พลังงานสะอาดสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายยิ่งขึ้น
นายณัฐสิทธิ์ สุนทราณู ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต "เคทีซี" หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อีกมุมหนึ่งของการดำเนินธุรกิจที่เคทีซีคำนึงถึงมาโดยตลอด คือการบูรณาการกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน ภายใต้กรอบความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจต่างๆ ที่มีการดำเนินงานให้สอดคล้องสนับสนุนในทุกมิติ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรรมาภิบาล โดยเคทีซีได้คัดสรรสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม คุ้มค่าและตรงกับความต้องการของสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซีเป็นสำคัญ ซึ่งเรื่องของที่พักอาศัยถือเป็นปัจจัยหลักพื้นฐานของมนุษย์
ทั้งนี้ เคทีซีจึงจัดเตรียมสิทธิพิเศษที่ช่วยตอบโจทย์แนวคิดและวิถีชีวิตไลฟ์สไตล์ส่วนใหญ่ของสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซีที่เป็นคนรุ่นใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมองหาความคุ้มค่าในการใช้จ่ายอย่างชาญฉลาด เพื่อให้สมาชิกเคทีซีและผู้บริโภคสามารถเข้าถึงพลังงานทางเลือกได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผลิตภัณฑ์โซลาร์รูฟ และการเข้าถึงผลิตภัณฑ์โซลาร์รูฟได้ง่ายขึ้น โดยในช่วงปี พ.ศ. 2564 - 2566 ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซีในการติดตั้งโซลาร์รูฟเติบโตเฉลี่ย 10%.
เคทีซี จับมือพันธมิตร เปิดมุมมองพลังงานทางเลือก เป็นพลังงานทางรอด สู่ความยั่งยืน - ไทยรัฐ
Read More
No comments:
Post a Comment