รายงานพิเศษ
เรื่องนายกรัฐมนตรีพระราชทาน-นายกรัฐมนตรีคนนอก กระหึ่มทุกครั้งเมื่อรัฐบาลที่ครองอำนาจสั่นคลอน
แม้ว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วางกองกำลังทางการเมืองค้ำยันสถานภาพอำนาจไว้อย่างแน่นหนา ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ องค์กรอิสระ
แต่เมื่อเกิดแรงต้านจากประชาชน เสียงเปลี่ยนตัวนายกฯดังทั่วสารทิศ บรรดาชาวทวิตเตอร์-นักการเมืองที่เรียกว่า ฝ่ายประชาธิปไตย ออกมาตีฆ้องเรื่อง “นายกฯพระราชทาน-นายกฯคนนอก”
ล้อกระแสกับวันเกิดของ “ทักษิณ ชินวัตร” หรือ “พี่โทนี่” ในคลับเฮาส์ อดีตนายกรัฐมนตรี 72 ปี พอดิบพอดีที่ระยะหลังพูดถึงการ “เคลียร์รันเวย์” กลับประเทศ นำมาสู่การลือทะลุโซเชียลถึงมหาดีลพิเศษที่ทำให้อดีตนายกฯ คนที่ 23 กลับมาบริหารประเทศอีกครั้ง มิใช่แค่ “นายกฯทิพย์”
แต่ปรากฏว่า “ทักษิณ” กล่าวในคลับเฮาส์ถึงประเด็นนี้ว่า “ที่บอกว่านายกฯพระราชทาน ผมไม่เชื่อ เพราะพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงอยู่เหนือการเมือง ท่านคงไม่มาเล่นการเมืองกับพวกเราแน่นอน อันนี้ผมคิดว่านายกฯพระราชทานไม่น่าจะมี”
“แต่ยังมีกลไกของรัฐธรรมนูญกรณีที่นายกฯลาออก จะต้องเลือกนายกฯคนใหม่ในสภา โดยตั้งขึ้นจากบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อไว้กับ กกต. ตอนเลือกตั้ง ซึ่งเวลานี้จะเหลือในพรรคเพื่อไทย คือ ชัยเกษม นิติสิริ พรรคประชาธิปัตย์ คือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งลาออกจากพรรคไปแล้ว”
“และอีกคนคือ หมอหนู อนุทิน ชาญวีรกูล ซึ่งการโหวตเลือกนายกฯคนใหม่จะมี ส.ว.ร่วมโหวตด้วย ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกกันอย่างไร แต่หากโหวตไม่ได้ ตนก็ไม่แน่ใจว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ เพราะไม่ได้ตามกฎหมายปัจจุบันมากนัก”
ปิดประเด็นโทนี่คัมแบ็ก ! แต่หากเปิดที่มานายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าคนใน-คนนอก มาได้เพียง 2 ช่องทางเท่านั้น
หนึ่ง รัฐธรรมนูญมาตรา 88 ที่ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมือง 3 ชื่อ โดยแจ้งกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนเลือกตั้ง
ตามเจตนารมณ์มาตรา 88 ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ระบุว่า มาตรานี้เป็นการสร้างหลักการขึ้นใหม่เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิรับรู้ว่าพรรคการเมือง ที่ตนจะตัดสินใจสนับสนุนนั้นจะเสนอผู้ใดเป็นนายกรัฐมนตรี
โดยมิได้มีข้อกำหนดว่าจะต้องเป็นสมาชิกพรรค หรือเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะเป็นการเปิดเผยเพื่อให้ประชาชนใช้ประกอบการลงคะแนนเสียง และประชาชนทราบถึงตัวบุคคล ล่วงหน้าก่อนที่จะมีการลงคะแนนเสียงแล้ว จึงเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะใช้เป็นเครื่องประกอบในการตัดสินใจลงคะแนนให้พรรคการเมืองใด
สำหรับจำนวนที่กำหนดให้ไม่เกิน 3 รายชื่อ ก็เพื่อให้พรรคการเมืองมีทางออกในกรณีที่บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อในอันดับต้น ๆ หรืออันดับใดอันดับหนึ่งมีเหตุทำให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้
ขณะเดียวกันมีเงื่อนไขเพิ่มขึ้นอีก 2 ข้อในมาตรา 89 คือ 1.ต้องมีหนังสือยินยอมของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอ 2.ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรี ตามมาตรา 160 และไม่เคยทำหนังสือยินยอมตามให้พรรคการเมืองอื่น ในการเลือกตั้งคราวนั้น
จากนั้นเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกฯในรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกฯ ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (มี 25 คนขึ้นไป)
ประกอบมาตรา 272 วรรคหนึ่ง ที่ให้ ส.ว. 250 คนร่วมโหวตเลือกนายกฯ ใน 5 ปีแรกที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้
ดังนั้น เวลานี้จึงมีแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมือง พรรคเพื่อไทย มี ชัยเกษม นิติสิริ ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (ประธานพรรคไทยสร้างไทย) และชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ยังถือว่าเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทย ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญมาตรา 89 เพราะให้ความยินยอมให้พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อ และไม่เคยทำหนังสือยินยอมให้พรรคอื่นเสนอ อีกทั้งการเป็นแคนดิเดตนายกฯไม่จำเป็นต้องเป็น “สมาชิกพรรค”
แต่ในทางการเมือง โลกความจริง คุณหญิงสุดารัตน์ แยกขาดจากพรรคเพื่อไทย ส่วน “ชัชชาติ” วันนี้ฉายเดี่ยว แต่อนาคตยังต้องลุ้น ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ มี “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” และภูมิใจไทยมี “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคเป็นแคนดิเดต
ช่องทางที่ 2 ตามมาตรา 272 วรรคสอง ใช้ในกรณีรัฐสภาเลือกนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมือง มาตรา 88 ไม่ได้ โดยระบุเงื่อนไขว่า
สมาชิกของทั้งสองสภา ส.ส.และ ส.ว.รวมกัน (ขณะนี้มี 733 เสียง) จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ของทั้งสองสภา คือ 367 เสียง เข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติ “ยกเว้น” เพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกฯ ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมือง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 88
และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียง ไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวน ส.ส.และ ส.ว.เท่าที่มีอยู่ทั้งสองสภา คือ 490 เสียง ให้ยกเว้นได้ “ปลดล็อก” เลือกนายกฯนอกบัญชีได้ จากนั้นให้เลือกกระบวนการนายกฯตามปกติตามมาตรา 159 ประกอบมาตรา 272
“วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี เคยอธิบาย ขั้นตอนเลือกนายกฯนอกบัญชีพรรคการเมืองไว้เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2559 ว่า เมื่อไม่สามารถหาชื่อนายกฯจากบัญชีของพรรคการเมืองได้ ก็ให้สมาชิกรัฐสภาเสนอให้ใช้ชื่อจากคนนอก
ซึ่งการเสนอนี้จะต้องมีเสียงเห็นชอบในการเสนอครึ่งหนึ่งของรัฐสภานั้น คือ 376 เสียง และเมื่อเสนอครบแล้วว่าจะต้องเอาคนนอกบัญชี สมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 700 กว่าคน ก็ต้องมาโหวตกัน ซึ่งการโหวตตรงนี้จะต้องได้คะแนนเสียง 2 ใน 3 นั้น คือ 500 เสียง ซึ่งถึงตรงนี้ก็ยังไม่ได้ชื่อหรือตัวนายกฯ
“จากนั้นวันรุ่งขึ้น เมื่อมีการยินยอมให้เสนอชื่อคนนอกแล้ว ก็ต้องมาเริ่มโหวตให้ได้คะแนน 376 เสียง แต่ไม่ได้มีตรงไหนระบุว่า แล้วคนที่จะเสนอชื่อนายกฯนั้น จะต้องเป็น ส.ส.หรือ ส.ว. ตรงนี้จึงเป็นที่มาที่ทำให้ กรธ.อธิบายว่า ก็ไม่มีตรงไหนระบุว่าให้ ส.ว.เป็นคนเสนอชื่อนายกฯ ดังนั้น จึงต้องกลับมาให้ ส.ส.เป็นคนเสนอ แล้วจึงให้ ส.ว.เป็นคนร่วมโหวต”
แปลว่า นายกฯคนนอก ส.ว.จะไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ โดยอำนาจเสนอชื่อนายกฯ ยังเป็นของสภาผู้แทนราษฎร
อย่างไรก็ตาม “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า วิเคราะห์อีกมุมหนึ่งว่า จะเห็นได้ว่า ต้องลงคะแนนกันถึง 3 รอบ รอบแรก กึ่งหนึ่งของสองสภา เพื่อเสนอเรื่อง รอบสอง 2 ใน 3 ของสองสภา เพื่อมีมติอนุญาตให้ยกเว้นการเลือกนายกฯจากบัญชี รอบสาม กึ่งหนึ่งของสองสภา เพื่อมีมติเลือก “คนนอก” เป็นนายกรัฐมนตรี
“ลองคิดดูว่าจะมีปัจจัยใดที่ส่งผลบังคับให้ทั้ง ส.ส. ทั้ง ส.ว. สมัครสมานลงคะแนนไปในทิศทางเดียวกันที่มากขนาดนี้ถึง 3 รอบ ดังนั้น ผมจึงยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีที่มาจากช่องทางตามมาตรา 272 วรรคสอง ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีตามระบบแน่ ๆ ใครก็ตามที่ยืนยันว่า ไม่เอา ‘นายกฯพระราชทาน’ ก็ต้องยืนยันต่อไปด้วยว่า ไม่เอานายกฯ ตาม 272 วรรคสอง”
นายกฯคนใน-คนนอก-นายกฯพระราชทาน มาได้ตามรัฐธรรมนูญแค่ 2 ช่องเท่านั้น
มาทางอื่นที่ไม่ใช่ทางรัฐธรรมนูญ = ปิดประตู
Adblock test (Why?)
ปิดฉากนายกฯพระราชทาน เปลี่ยน 'ประยุทธ์' บนทางสองแพร่ง - ประชาชาติธุรกิจ
Read More