โรงเรียนแห่งความเป็นเลิศทางวิชาการ (The School of Partnership for Excellence) เป็นโรงเรียนที่มีที่ตั้งที่แน่นอน โรงเรียนเป็นหุ้นส่วนระหว่างโรงเรียนกับแหล่งทรัพยากรของชุมชน โรงเรียนยังเน้นการบูรณาการด้านวิชาการ สุขภาพ บริการชุมชน พัฒนาเยาวชน พัฒนาชุมชน และสัญญาชุมชน (Community engagement) อันจะนำไปสู่การปรับปรุงการเรียนของนักเรียน การทำให้ครอบครัวแข็งแรง และชุมชนที่มีสุขภาพที่ดีที่สุด
ที่สำคัญ โรงเรียนควรนำเสนอหลักสูตรที่เฉพาะเหมาะสมแก่นักเรียนแต่ละคน (a personalized curriculum) อีกด้วย โดยหลักสูตรต้องเน้นการเรียนรู้โลกที่เป็นจริง (real world learning) และสามารถให้นักเรียนแก้ปัญหาได้ นอกจากนั้นโรงเรียนจะต้องเป็นศูนย์กลางของชุมชน เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียน โรงเรียนเปิดสอนตลอดวัน-ทุกวัน-ถึงตอนเย็น
โรงเรียนที่เป็นเลิศ หรือยอดเยี่ยมทางวิชาการนั้น ต้องเปิดโอกาสให้บุคคล และส่วนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วม ได้แก่ เด็ก, เยาวชน, ครอบครัว, ชุมชน, ส่วนงาน (หน่วยงาน) และบริษัทเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ และพัฒนาทางวิชาการและกิจกรรมอื่นๆ ของโรงเรียน ทั้งนี้ เพื่อจูงใจให้เด็กพร้อมที่จะเข้าเรียนในโรงเรียน โรงเรียนควรสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้เกิดขึ้น, หาวิธีการว่าจะทำอย่างไรนักเรียนจึงมีความผูกพันกับโรงเรียน
หลักการสอนของโรงเรียนเป็นเลิศทางวิชาการ หลักการสอน หรือปรัชญาหารสอนของโรงเรียนเป็นเลิศทางวิชาการประกอบด้วย 3 ประการ ได้แก่ 1.พุทธิพิสัย (Cognitive Domain) 2.จิตพิสัย (Affective Domain) และ 3.ทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) รายละเอียดของหลักทั้ง 3 ประการ มีดังนี้
1.พุทธิพิสัย : เป็นพฤติกรรมที่เกี่ยวกับสติปัญญา ความรู้ ความคิด หรือพฤติกรรมทางด้านสมองของบุคคล ซึ่งทำให้มีความฉลาด มีความสามารถในการคิดเรื่องต่างๆ ได้ พฤติกรรมด้านนี้ยังแบ่งออกเป็นพฤติกรรมย่อยๆ อีก 6 ระดับ คือ ความจำ หรือรู้ และจดจำ ความเข้าใจ นำไปใช้ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินค่า
2.จิตพิสัย : เป็นพฤติกรรมทางด้านจิตใจ ซึ่งเกี่ยวกับค่านิยม ความซาบซึ้ง ทัศนคติ ความเชื่อ และคุณธรรม พฤติกรรมของผู้เรียนด้านนี้จะไม่เกิดขึ้นทันทีทันใด ดังนั้น การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนฅจึงต้องใช้วิธีปลูกฝัง จัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และสอดแทรกสิ่งที่ดีงามอยู่ตลอดเวลา เพื่อทำให้พฤติกรรมของผู้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ที่พึงประสงค์ พฤติกรรมด้านจิตพิสัยนี้ ประกอบด้วย พฤติกรรมย่อย 5 ระดับ คือ การรับรู้ การตอบสนอง การเกิดค่านิยม การจัดระบบ และบุคลิกภาพ
3.ทักษะพิสัย : เป็นพฤติกรรมที่บอกถึงความสามารถในการปฏิบัติงานได้อย่างคล่องแคล่ว เกิดความชำนิชำนาญ ซึ่งสามารถแสดงออกได้โดยตรง โดยมีเวลา และคุณภาพของงานเป็นเครื่องชี้ระดับของทักษะ พฤติกรรมด้านทักษะพิสัย ยังแบ่งออกเป็นทักษะย่อยได้อีก คือการรับรู้ การลงมือปฏิบัติทำตามความถูกต้อง ความชัดเจนต่อเนื่องในการปฏิบัติ และแสดงพฤติกรรมเป็นประจำ เป็นอัตโนมัติ จนกลายเป็นธรรมชาติที่เคยชิน
องค์ประกอบที่ทำให้โรงเรียนเป็นเลิศทางวิชาการ มีความเจริญรุ่งเรือง ประกอบด้วย 1.ยึดแบบแผนตามประเพณีนิยม (Conventional School Model) 2.พันธกรณี 3 ประการ 3.เน้น 3C และ 4.พัฒนาด้านต่างๆ มีรายละเอียด ดังนี้
1.ยึดแบบแผนประเพณีนิยม : โรงเรียนต้องยึดแบบประเพณีนิยมของไทย โดยถ่ายทอดไปยังเด็ก ชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง ประเพณี หรือธรรมเนียมการปฏิบัติที่ดีงามของคนไทย ได้แก่ ผู้น้อยต้องมีความเคารพผู้ใหญ่ ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ หรือผู้มีอาวุโส ต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้น้อย หรือผู้มีอาวุโสน้อยกว่า, นักเรียนในโรงเรียนจะต้องเรียนรู้ กระทำตัวเป็นผู้จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ ประเพณีไทยเป็นกิจกรรมทางสังคมของคนไทย ที่ถือปฏิบัติกันสืบต่อมา เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นระเบียบแบบแผน ที่กำหนดขึ้นถือเป็นลักษณะเฉพาะของคนกลุ่มนั้นๆ ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนาธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
2.พันธกรณี 3 ประการ : ประกอบด้วยพันธกรณี 3 ประการ ได้แก่ ก) พันธะทางวิชาการ (engaging instruction) คือ การกระทำข้อผูกพันทางวิชาการกับหน่วยงานทางการศึกษาอื่นๆ เช่น การทำ MOU ด้านการฝึกงานของนักศึกษาอาชีวศึกษากับบริษัทเอกชนยานยนต์ การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้านมาช่วยสอน หรือพัฒนาด้านวิชาการต่างๆ ให้แก่โรงเรียน ข) พันธกรณีทางชุมชน (Community engaging) ได้นำโรงเรียนสู่ชุมชน เป็นศูนย์กลางวิชาการให้แก่ชุมชน เช่น สอนการใช้คอมพิวเตอร์แก่ประชาชน เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้แก่เด็ก และประชาชนในชุมชน ค) พันธกรณีทางครอบครัว (Family engaging) ได้แก่ ความเกี่ยวข้องผูกพันกับผู้ปกครองนักเรียน ได้แก่ การออกไปเยี่ยมบ้านของนักเรียนต่างๆ เช่น การระบาดของ Covid-19) และการเชิญผู้ปกครองนักเรียนมาร่วมกิจกรรมของโรงเรียน เป็นต้น
3.เน้น 3C : ประกอบด้วย ก) เรียนต่อขั้นวิทยาลัย (College) ข) แนวทางอาชีพ (Career path) และ ค) ความเป็นพลเมืองดี (Citizen ship) อธิบายรวมทั้ง 3 ข้อได้ว่า โรงเรียนแห่งความเป็นเลิศ จะต้องมุ่งสอนเน้นให้นักเรียนได้เรียนต่อในขั้นวิทยาลัย (ซึ่ง College ในบางประเทศ หมายถึง การศึกษาระดับที่เด็กจบการศึกษาภาคบังคับอายุเกิน 16 ปี) เทียบของไทย คือ เด็กที่จบ ม.3 แล้วโรงเรียนสนับสนุนให้เรียนต่อถึง ม.6 หรือเทียบเท่าระดับ ปวช.ดังนั้น หลักสูตร ม.6 จึงต้องเน้นวิชาชีพมากกว่าวิชาการ และที่สำคัญ หลักสูตร ปวช.ในโรงเรียนอาชีวศึกษา จึงต้องตอบสนองสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และเน้นด้าน IT (ไอที) ที่ทันสมัยทันความก้าวหน้าของโลก
สำหรับความเป็นพลเมืองที่ดีนั้น โรงเรียนต้องเป็นแหล่งสร้างสรรค์คุณธรรม มุ่งสอนให้เด็กมีลักษณะ ดังนี้
1.เคารพสิทธิ และเสรีภาพของตนเองและผู้อื่น 2.มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ในครอบครัวในชุมชนและประเทศชาติ 3.มีใจกว้าง มีเหตุผล รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น 4.มีคุณธรรม และจริยธรรมในการดำเนินชีวิตประจำวัน และ 5.มีจิตสาธารณะ คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว
และ 4.พัฒนาด้านต่างๆ : มีการพัฒนาด้านต่างๆ ได้แก่ ก) ด้านสุขภาพอนามัย และพัฒนาด้านสังคม ข) พัฒนาเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 8 ขวบ (early childhood development) และ ค) พัฒนาเยาวชน (youth development) เป็นต้น
Adblock test (Why?)
มติชนมติครู : โรงเรียนแห่งความเป็นเลิศทางวิชาการ - มติชน
Read More