Rechercher dans ce blog

Saturday, December 16, 2023

ตามล่า...หาขุมทรัพย์ทางปัญญา! - ไทยรัฐ

เรื่องเล่า การตามล่า “ขุมทรัพย์ทางปัญญา” จาก ชัยวัฒน์ คุประตกุล นักสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ และ หนังสือล้ำค่า ที่ควรหามาอ่านก่อนตาย...

ขุมทรัพย์ทางปัญญา!

สำหรับผู้เขียน ที่สุดแห่งขุมทรัพย์ทางปัญญา คือ หนังสือ!

แล้วครูล่ะ?

หรือครูกำลังจะกลายเป็น “สิ่งล้าสมัย” ไม่จำเป็นสำหรับโลกยุคซูเปอร์ไฮ-เทค ดังที่มีการกล่าวกัน ซึ่งผู้เขียนต้องรีบขอแสดงจุดยืนทันทีว่า สำหรับผู้เขียน ครูไม่มีวัน “ล้าสมัย” และจริงๆ แล้ว สำหรับผู้เขียน ครูเป็น “ยิ่งกว่าขุมทรัพย์ทางปัญญา คือ หนังสือ” เสียอีก

แต่วันนี้ ผู้เขียนขอนำท่านผู้อ่านไปร่วมเดินทางส่องเฉพาะขุมทรัพย์ทางปัญญา คือ หนังสือ ส่วนเรื่องของครู ผู้เขียนภูมิใจว่าตนเองก็เป็น “ศิษย์มีครู” คนหนึ่ง และขอเก็บไว้กล่าวถึงเป็นพิเศษอย่างแน่นอนในโอกาสต่อๆ ไป

เพราะเงินไม่มี...จึงต้องอาศัยห้องสมุด

วันนี้ หนึ่งในสิ่งที่ผู้เขียนมีความสุขที่สุด คือ มีหนังสือที่อยากอ่านจากทั่วโลกมากมายรอบตัว

แต่ย้อนหลังไปเมื่อผู้เขียนเริ่มต้นเข้าเรียนหนังสือครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ. 2492 เพราะตอนเข้าเรียนครั้งแรกอายุ 7 ปีตามเกณฑ์ รู้สึกไม่สนุกกับการเรียน จึงปวดตัวตัวร้อนตอนเช้าเป็นประจำจนกระทั่งคุณแม่รู้ทันว่า ไม่อยากไปโรงเรียน ก็เลยให้ออกจากโรงเรียนมาช่วยทำงานที่บ้าน

แต่โชคดีที่ผู้เขียนมีพี่สาว เป็นคนชอบอ่านหนังสือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นิยายและนิทานบางครั้ง พี่สาวก็อ่านออกเสียงด้วย ผู้เขียนก็เกิดชอบฟัง เลยขอให้พี่สาวอ่านออกเสียงดังเป็นประจำ

จนกระทั่งพี่สาวเหนื่อย จึงไล่ให้ไปเรียนหนังสือจะได้อ่านเอง

ผู้เขียนก็จึงกลับเข้าเรียนหนังสือ เป็นเด็กโข่งอายุเก้าปี แต่ในยุคสมัยนั้น การเป็นเด็กโข่งก็ไม่แปลกอะไร เพราะในชั้นเรียนก็มีเด็กโข่งพอๆ กันหลายคน

การกลับเข้าเรียนหนังสือครั้งที่สอง ผู้เขียนสนุกกับการเรียนมาก เพราะมีเป้าหมาย คือ ความกระหายอยากจะ “รู้” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อยากอ่านหนังสือ

แต่เนื่องจากทางบ้านเป็นครอบครัวใหญ่ มีลูกทั้งหมดสิบคน ผู้เขียนจึงไม่มีเงินจะไปซื้อหนังสือตามใจชอบได้ ผู้เขียนจึงตะลุยอ่านในห้องสมุด ประเภทเป็นบ้าอ่านหนังสือ เรียกได้ว่า หนังสือในห้องสมุดทุกเล่มที่โรงเรียนเทศบาล 1 (บูรพาวิทยากร) วัดบูรพ์ จังหวัดนครราชสีมา ผู้เขียนเปิดอ่านหมด อย่างน้อย ก็เปิดอ่านพอรู้เรื่องว่า เป็นอย่างไร จงอ่านอย่างละเอียดต่อหรือไม่

ต่อมา จบ ป.4 จากโรงเรียนวัดบูรพ์ ก็เข้าเรียนต่อชั้นมัธยม ที่โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย

ในยุคสมัยนั้น ระบบการศึกษาของไทยแบ่งเป็นชั้นประถมศึกษา 4 ปี ชั้นมัธยมศึกษา 6 ปี และเตรียมอุดมศึกษาอีก 2 ปี รวมเรียกเป็น ม.1 ถึง ม.8

ตลอดช่วง 8 ปี ที่โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ผู้เขียนก็ยังไม่สามารถซื้อหนังสือตามใจชอบได้ จึงตะลุยอ่านในห้องสมุดโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย กล่าวได้ว่า เปิดอ่านหมดทุกเล่มอีกเหมือนที่โรงเรียนวัดบูรพ์

แค่นั้น ยังไม่พอ ผู้เขียนก็ยังไปตะลุยเปิดอ่านหนังสือในห้องสมุดประชาชน จังหวัดนครราชสีมา หรือยืมไปอ่านที่บ้านหมดทั้งห้องสมุด

จบ ม.8 ที่ราชสีมาวิทยาลัย ผู้เขียนเข้าเรียนต่อที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2504

ตอนนั้น เริ่มอ่านภาษาอังกฤษได้คล่องขึ้น จึงไป “สิง” ที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยอยู่ที่ตึกอักษรศาสตร์เป็นประจำ และตื่นเต้นกับหนังสือที่เป็นเหมือน “อาหารทิพย์” มหาศาล 

แต่ตอนที่อยู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนก็ยัง “เหมือนเดิม” ไม่มีเงินจะไปซื้อหนังสือตามใจชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิยายภาษาอังกฤษที่อยากได้เป็นพิเศษ ดังเช่น ชุดทาร์ซาน (Tarzan) โดย เอ็ดการ์ ไรซ์ เบอร์โรส์ หรือ ชุด เจมส์ บอนด์ (James Bond) โดย เอียน เฟลมิง

จนกระทั่งเมื่อผู้เขียนสอบได้ทุนโคลัมโบแพลน (Columbo Plan) ของประเทศออสเตรเลีย ไปเรียนฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยโมนาช (Monash Universitity) เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506

แล้ว “ขุมทรัพย์ทางปัญญา” ก็เริ่มเปิดทางให้ผู้เขียน ตามหาหนังสือมาเป็น “สมบัติส่วนตัว” ได้ เพราะทุนโคลัมโบแพลน มีส่วนเป็นเงินในการซื้อวัสดุหนังสือสำหรับการศึกษาด้วย

ผู้เขียนจึงเริ่มซื้อหนังสือที่ชอบเป็นส่วนตัว

แต่ก็ซื้อได้จริงๆ ไม่กี่เล่ม เพราะทุนที่ได้ก็ไม่มากพออยู่ดี

จนกระทั่งวันหนึ่ง ผู้เขียนจึงได้พบ “ขุมทรัพย์ทางปัญญา” ขนาดใหญ่ ที่เปิดทางให้ผู้เขียนมีโอกาสเข้าถึงได้ จากการ “ชี้ทาง” โดยหนังสือ “The Little Prince” หรือ “เจ้าชายน้อย” ของ อ็องตวน เดอ แซงเตกซูเปรี (Antoine de Saint-Exupery) 

เจ้าชายน้อย...ร้านหนังสือเก่า...ขุมทรัพย์ทางปัญญาใหญ่!

วันหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2510 ที่มหาวิทยาลัยโมนาช ผู้เขียนได้รับของขวัญวันเกิด ที่กลายเป็นหนึ่งในของขวัญวันเกิดที่มีความสำคัญต่อผู้เขียนมากที่สุดตลอดกาล คือ หนังสือ The Little Prince พร้อมกับข้อความบนหน้าแรกในหนังสือ “To Shai from Mary & Geraldine. Monash’ 67. Happy Birthday!” ทำให้ผู้เขียนยังจำวันที่ได้รับหนังสือได้

ผู้เขียนขออภัยทั้ง Mary และ Geraldine ที่กล่าวถึงโดยไม่ได้ขออนุญาต แต่ก็เพราะหนังสือเล่มนี้ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงบรรยากาศเก่าๆ แห่งความเป็นมิตรต่างแดนอันอบอุ่นที่มหาวิทยาลัยโมนาช และความสำคัญของหนังสือ The Little Prince ต่อผู้เขียน

สำคัญอย่างไร?

หนึ่ง : โดยตัวหนังสือ The Little Prince เป็นหนังสือที่ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในหนังสือสำคัญของโลก ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากที่สุดในโลกเป็นอันดับสอง รองจากพระคัมภีร์ไบเบิล และตาม Guinness World Record ถึง วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เป็นหนังสือขายดีที่สุดในโลกอันดับ 5 โดยมีพระคัมภีร์ไบเบิลครองตำแหน่งหนังสือขายดีที่สุดในโลกตลอดกาล

สอง : ก่อนได้รับหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนก็พอทราบกิตติศัพท์เกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้มาบ้างแล้ว แต่เมื่อได้อ่าน ก็วางไม่ลง และรู้สึกตื่นเต้นว่า กำลังอ่านหนังสือที่ “มหัศจรรย์ที่สุด” ตลอดกาลเล่มหนึ่ง

สาม : เป็นเรื่องเกี่ยวกับเรื่องของเราวันนี้โดยตรง คือ ก็เพราะ The Little Prince ผู้เขียนจึงได้ทราบจากเพื่อนนักศึกษาว่า ถ้าอยากซื้อหนังสือดีราคาถูกมากๆ ก็มีแหล่งขุมทรัพย์ใหญ่ คือ ร้านหนังสือเก่า (used bookshop) หรือร้านหนังสือมือสอง (second-hand bookshop) ซึ่งมีอยู่หลายร้านในตัวเมืองเมลเบิร์น ที่อยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยโมนาชประมาณ 20 กิโลเมตร

ตอนแรก ผู้เขียนก็ยังไม่รู้สึกอะไรนัก เพราะในเมืองไทยเรา ก็มีร้านหนังสือเก่า และแหล่งตลาดนัดหนังสือทั้งเก่าและใหม่ที่สนามหลวง ก่อนจะย้ายไปอยู่ที่สวนจตุจักร แต่หนังสือที่อยากได้จริงๆ ดังเช่น ชุดทาร์ซาน หรือวรรณกรรมคลาสสิกที่คลาสสิก (คือเก่า) จริงๆ ดังเช่น The Iliad และที่ไม่เก่านักของ จอห์น สไตน์เบกค์ (John Steibeck) ดังเช่น Of Mice And Men ก็ไม่ค่อยได้ แถมที่อยากได้และที่มีอยู่ราคาก็ไม่ถูกจริงๆ

แต่หลังจากที่ได้คุยกันแบบลงลึกจริงๆ เกี่ยวกับร้านหนังสือเก่าในออสเตรเลีย ผู้เขียนก็รีบหาโอกาสแรกที่ทำได้ ไปร้านหนังสือเก่าร้านหนึ่ง แล้วผู้เขียนก็ต้อง “ขอบคุณ” เพื่อนนักศึกษาออสเตรเลียนเป็นพิเศษ ที่เปิดตาให้ผมได้เห็น “ขุมทรัพย์ใหญ่ทางปัญญา” ราคาถูกจริงๆ และมีอยู่มาก

ร้านหนังสือเก่าในออสเตรเลียจริงๆ ก็ไม่ต่างไปจากร้านหนังสือเก่าของไทยเรานัก คือ มีหนังสือเก่าหรือหนังสือมือสองมากมายจัดหรือกองกันอย่างไม่เป็นระเบียบนัก แต่ก็เหมือนของไทยเรา ที่เจ้าของร้าน ซึ่งเป็นคนรักหนังสือหรือใจดี อนุญาตให้ผู้เขียนรื้อ-คุ้ย-หาหนังสือได้ตามใจชอบ

ในวันแรก ผู้เขียนก็ได้หนังสือที่อยากได้จริงๆ มานานแล้ว หลายเล่ม

หลังจากนั้น ผู้เขียนก็ไปร้านหนังสือก็ไปร้านหนังสือเก่าในเมลเบิร์นเป็นประจำ และได้หนังสือวรรณกรรมคลาสสิกเป็นจำนวนมาก

นอกเหนือไปจากหนังสือเก่าวรรณกรรมคลาสสิกจริงๆ แล้ว ผู้เขียนก็ยังได้หนังสือวรรณกรรมหรือนิยายขายดียุคค่อนข้างใหญ่ ดังเช่น ชุดเจมส์ บอนด์ ในราคาถูกกว่าราคาปรกติเกินครึ่งหลายเล่มด้วย

ในช่วงเวลาประมาณเจ็ดปีครึ่งที่ผู้เขียนอยู่ที่ออสเตรเลีย จนกระทั่งจบปริญญาเอกฟิสิกส์ในปี พ.ศ. 2513 ผู้เขียนจึงมีหนังสือที่ซื้อสะสมได้มากมาย ต้องแยกส่งมาที่ประเทศไทยทางเรือ

ต่อมา ผู้เขียนก็มีโอกาสเดินทางไปยังประเทศต่างๆ อีกหลายครั้ง และทุกครั้งที่มีโอกาส ผู้เขียนก็ยังไปเยี่ยมไปขุดคุ้ยหาสมบัติทางปัญญาในร้านหนังสือเก่า และได้หนังสือที่ต้องการอย่างเป็นชิ้นเป็นมันจากร้านหนังสือเก่าที่ประเทศอังกฤษ, สวีเดน และสหรัฐอเมริกา จนกระทั่งได้หนังสือในฝันดังเช่นชุดทาร์ซานครบทุกเล่มที่อยากได้ (เพราะ เอดการ์ ไรซ์ เบอร์โรส์ เขียนหนังสือชุดทาร์ซานสำหรับเด็กด้วย) ชุด เจมส์ บอนด์ ทุกเล่ม ของ เอียน เฟลมิง โดยบางเล่มก็ซื้อเป็นหนังสือใหม่ เพราะพอมีเงินจะซื้อหนังสือใหม่จริงๆ ได้มากขึ้น

แหล่งขุมทรัพย์ปัญญาใหม่...หนังสือวรรณกรรมคลาสสิกใหม่...ราคาถูก!

กลับจากอดีตสู่โลกปัจจุบัน

ผู้เขียนชอบฟังเพลง และหนึ่งในเพลงที่ชอบมากคือ The Best Is Yet To Come ของ แฟรงค์ ซินาตรา 

ความหมายของเพลงก็คือ ทุกสิ่งเริ่มสดใส เมื่อเขาและเธอได้พบกัน แต่สิ่งดีที่สุดที่ยังจะมาอีก คือ เมื่อเขาและเธอร่วมชีวิตกัน

สำหรับหนังสือ แล้วผู้เขียนก็พบว่า หลังจากที่ได้พบขุมทรัพย์ทางปัญญาใหญ่ที่สุด คือ ร้านหนังสือเก่าในประเทศต่างๆ และหลังจากที่ผู้เขียน “หยุดตามล่าหาขุมทรัพย์ทางปัญญา” คือ หนังสือเพราะคิดว่า “พอแล้ว”

ผู้เขียนก็ได้พบว่า ยังมี “ขุมทรัพย์ทางปัญญา” สำหรับหนังสือวรรณกรรมคลาสสิกที่มิใช่ร้านหนังสือเก่า จนกระทั่งผู้เขียน “อดไม่ได้” ที่จะซื้อใหม่...ซื้อซ้ำ...ด้วยเหตุผลสำคัญ คือ เป็นหนังสือตีพิมพ์ใหม่จริงๆ ที่ราคาถูกจริงๆ ทำให้ผู้เขียน “ต้อง” หรือ “สามารถ” มีหนังสือที่ราคาปรกติจะแพงมาก

ตัวอย่างเช่น :-

*War And Peace (สงครามและสันติภาพ) ของ Leo Tolstoy หนังสือหนา 994 หน้า ราคา 125 บาท

*Don Quijote ของ Miguel de Cervantes Saavedra หนังสือหนา 765 หน้า ราคา 125 บาท

*Ivanho (อัศวินไอแวนโฮ) ของ Sir Walter Scott หนังสือหนา 527 หน้า ราคา 75 บาท

และตัวอย่างเล่มอื่นๆ ที่ผู้เขียนซื้อมาเรียบร้อยแล้ว โดยมีบางเล่มก็ซื้อซ้ำ เพราะเล่มเก่าชำรุดทรุดโทรมมาก ดังเช่น The Three Musketeers (สามทหารเสือ) ของ Alexandre Dumas, Peter Pan ของ J.M. Barrie, Frankenstein ของ Mary Shelley, ฯลฯ

หนังสือวรรณกรรมคลาสสิกราคาถูกเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร!

ในส่วนประสบการณ์ของผู้เขียน แหล่งพิมพ์หรือสำนักพิมพ์ที่ผู้เขียนซื้อมากที่สุด คือ Wordsworth Classics ประเทศอังกฤษ เริ่มต้นตีพิมพ์หนังสือวรรณกรรมคลาสสิกในปี พ.ศ. 2535

สำนักพิมพ์เก่าที่รู้จักกันดี แต่ก็เริ่มตีพิมพ์วรรณกรรมคลาสสิกราคาถูกตาม Wordsworth คือ Penguin Popular Classics ในปี พ.ศ. 2537 

ทว่า ถึงปี พ.ศ. 2556 Penguin ก็หยุดชุด Popular Classics เพราะผลกระทบจากหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรืออีบุ๊ก (Ebook) แต่ก็ยังมีวรรณกรรมคลาสสิกราคาถูกของ Penguin ที่หาซื้อได้ เช่น The Wonderful Wizard of Oz ของ Frank Baum ที่ผู้เขียนซื้อมาในราคา 75 บาท

แล้วก็ยังมีสำนักพิมพ์ใหญ่อื่นๆ อีก ที่ตีพิมพ์หรือเคยตีพิมพ์วรรณกรรมคลาสสิกราคาถูกให้ตามหาได้

ขุมทรัพย์ทางปัญญาใหม่...ในฝัน...เพื่อคนไทย!

เรื่องราวทั้งหมดที่เริ่มจากหนังสือ The Little Prince ที่ผู้เขียนมาเล่าสู่ท่านผู้อ่านในวันนี้ ก็เพื่อเชิญชวนท่านผู้อ่าน บริษัทเอกชนและหน่วยงานรัฐบาล มาช่วยกันสร้างสิ่งที่ผู้เขียนขอเรียกเป็น “ขุมทรัพย์ทางปัญญาใหม่...ในฝัน.. เพื่อคนไทย!” 

ตรงๆ ก็คือ ทำอย่างไรจึงจะเกิดแหล่ง หรือขุมทรัพย์หนังสือดี ให้คนไทยสามารถซื้อได้ในราคาถูก

เพื่ออะไร?

ผู้เขียนเชื่อว่า การที่วรรณกรรมคลาสสิกระดับโลกยังเป็นที่รู้จัก...แพร่หลาย...ไม่ตาย ก็เพราะมีให้หาซื้อได้ในราคาถูก

ดังนั้น ถ้าเราสามารถสร้างแหล่งหนังสือวรรณกรรมหรือหนังสือดีที่คนไทยส่วนใหญ่ สามารถ “เข้าถึง” ได้ คือ ราคาถูก

ผู้เขียนเชื่อว่า คนไทยก็จะอ่านหนังสือกันมากยิ่งขึ้น คุยกันเรื่องเกี่ยวกับหนังสือมากยิ่งขึ้น

ทำอย่างไร?

ตรงๆ ก็คือ จัดพิมพ์หนังสือดีราคาถูก ให้แพร่หลายทั่วประเทศไทย

ทำอย่างไร (อีกที!)? เพราะเฉพาะค่าลิขสิทธิ์ก็ทำให้ไม่มีสำนักพิมพ์หรือหน่วยงานใด จะพิมพ์หนังสือดีราคาถูกได้?

คำตอบตรงๆ และสำคัญมาก ก็คือ ทำอย่างที่สำนักพิมพ์ระดับโลกพิมพ์วรรณกรรมคลาสสิกราคาถูกออกจำหน่ายได้ คือ เริ่มต้นจากหนังสือที่เป็นสาธารณสมบัติ (หมดอายุลิขสิทธิ์)

แล้วจะไปหาแหล่งหนังสือดีที่จะนำมาจัดพิมพ์ใหม่ ราคาถูก โดยไม่มีปัญหาเรื่องค่าลิขสิทธิ์ได้จากไหน?

ประเทศไทยเป็นประเทศเก่าแก่ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์อักษรไทยตั้งแต่เมื่อกว่า 700 ปีมาแล้ว จึงมีบันทึก มีหนังสือมากมายตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ยุคกรุงศรีอยุธยา มาถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ใบปัจจุบัน

อย่างน้อยก็มีหนังสือจากแหล่งใหญ่ที่มีการศึกษาวิจัยมาแล้ว คือ 100 เล่มหนังสือดีที่คนไทยควรอ่าน (สารานุกรมแนะนำหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน, วิทยากร เชียงกูล และคณะ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2542)

ส่วนแหล่งใหญ่หนังสือด้านวิทยาศาสตร์ ก็มีสองแหล่งใหญ่ คือ ปริทัศน์หนังสือดีวิทยาศาสตร์ 88 เล่ม, ชัยวัฒน์ คุประตกุล และคณะ, สำนักพิมพ์ดับเบิ้ลนายน์, 2545 และ 100 เล่มหนังสือดีวิทยาศาสตร์, ชัยวัฒน์ คุประตกุล และคณะ, สำนักพิมพ์สารคดี, 2551

เฉพาะจากสามแหล่งใหญ่นี้ ก็มีหนังสือดีมากมาย ที่เฉพาะส่วนไม่มีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ ให้จัดพิมพ์ออกมาจำหน่ายราคาถูกได้

ปืนคู่ใจ เจมส์ บอนด์ ในภาพยนตร์ปี 2505 โดย ฌอน คอนเนอรี
ปืนคู่ใจ เจมส์ บอนด์ ในภาพยนตร์ปี 2505 โดย ฌอน คอนเนอรี

ผลกระบทจากอีบุ๊กต่อหนังสือเล่ม?

แล้วผลกระทบจากอีบุ๊ก (E book) ล่ะ?

หนังสือเล่มกำลังจะสูญพันธุ์แล้วไม่ใช่หรือ?

เรื่องผลกระทบจากอีบุ๊กเป็นเรื่องใหญ่ ซับซ้อน ซึ่งผู้เขียนก็ตั้งใจจะนำมา “คุย” กับท่านผู้อ่านในโอกาสต่อๆ ไป แต่สำหรับวันนี้ผู้เขียนขอสรุปเพียงสั้นๆ เกี่ยวกับผลกระทบจากอีกบุ๊กว่า :

อีบุ๊กได้สร้างการเปลี่ยนแปลง (disruption) กับหนังสือเล่มมาแล้วอย่างมาก แต่บทสรุปถึงล่าสุดที่ผู้เขียนเห็น คือ หนังสือเล่มและอีบุ๊กอยู่ร่วมกันได้ เพราะ “หนังสือเล่ม ไม่มีวันตาย!” และในขณะเดียวกัน “อีบุ๊กก็มีที่ยืนอย่างมั่นคงแล้ว!”

แล้วสำนักพิมพ์หนังสือดีราคาถูกที่มีอยู่แล้วล่ะ?

แต่ก็มีสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือดีราคาถูกของไทยเองอยู่แล้วมิใช่หรือ?

ถูกต้อง จริงๆ แล้ว ก็มีสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือดีราคาถูกออกจำหน่ายอยู่แล้ว และผู้เขียนก็ชอบไปอุดหนุนเป็นประจำ

แต่ผู้เขียนเห็น...และเชื่อ...ว่า จะสามารถขยายกรอบประเภทและปริมาณหนังสือเพิ่มขึ้นได้อีกมากจนกระทั่งกลายเป็นแหล่งหนังสือดีราคาถูก…ที่ใหญ่...และใหม่!

ซึ่งหมายความว่า เราก็ไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์เพราะเรามีสำนักพิมพ์นำล่องเป็นแนวหน้าอยู่แล้ว 

แล้วอย่างไรต่อไป?

ถึงขณะนี้ (ก่อนที่เวลาของผู้เขียนบนโลกอันสวยงามใบนี้จะหมดลง) ผู้เขียนจึงเชื่อมั่นว่า “ขุมทรัพย์ใหญ่ทางปัญญาใหม่” ที่ผู้เขียน “ฝัน” มานาน สามารถจะเกิดขึ้นได้จริง ถ้ามีการลงมือกัน...ร่วมมือกัน...ทำกันจริงๆ...วันนี้!

แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ? คิดอย่างไร?

Adblock test (Why?)


ตามล่า...หาขุมทรัพย์ทางปัญญา! - ไทยรัฐ
Read More

No comments:

Post a Comment

นักวิชาการ มธ. เสนอกลไกทางเลือกแก้ PM 2.5 - ไทยโพสต์

นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ม.ธรรมศาสตร์ แนะ ควรให้ ‘อำนาจสั่งการ’ คกก.อากาศสะอาด ดำเนินมาตรการข้ามหน่วยงาน พร้อม ‘บูรณาการงบประมาณ’ ตามภารกิจ...