Global Wellness Institute (GWI) ประเมินว่า ตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism)ของโลกมีแนวโน้มเติบโตจาก 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2020 เป็น 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2025 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 20.9%
8 Wellness สร้างสุขแบบองค์รวม
วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.)จัด “DPU Wellness Showcase” เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 นำเสนอกิจกรรมที่เกี่ยวกับสุขภาพครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์แพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก สุขภาพและความงาม การประกอบอาหารเพื่อสุขภาพ รวมถึงการเปิดศูนย์“DPU Wellness Center” ซึ่งจะเป็นศูนย์ Wellness ครบวงจร ที่เป็นทั้งแหล่งการเรียนการสอน การให้บริการ Wellness และการศึกษาวิจัย
ผศ.ดร.นพ.พัฒนา เต็งอำนวย คณบดีวิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มธบ. กล่าวว่าอุตสาหกรรม Wellness มีอัตราการเติบโตสูงมาก โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ถือมีความพร้อมในหลายๆ มิติ ไม่ใช่เพียงมิติของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเท่านั้น
องค์รวมของ Wellness จะมีทั้งหมด 8 มิติ ประกอบด้วย
Physical Health ความสุขสมบูรณ์ด้านร่างกายและสุขภาพ
Emotional Health ความสุขสมบูรณ์ด้านอารมณ์
Intellectual Health ความสุขสมบูรณ์ด้านสติปัญญา
Spiritual Health ความสุขสมบูรณ์ด้านจิตใจ
Social Health ความสุขสมบูรณ์ด้านสังคม
Environmental Health ความสุขสมบูรณ์ด้านสิ่งแวดล้อม
Financial Health ความสุขสมบูรณ์ด้านการเงิน
Occupation Health ความสุขสมบูรณ์ด้านอาชีพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
"ธุรกิจ Wellness" โตก้าวกระโดด W9 แนะลงทุนเทรนด์ที่น่าสนใจยุคโควิด
อยากทำธุรกิจWellness & Healthcareต้องรู้อะไรบ้าง
โมเดลธุรกิจ“ศูนย์Wellness” ใช้กัญชากัญชงดูแลสุขภาพ
เศรษฐกิจ “เวลเนส” เมกะเทรนด์ลงทุน “อีอีซี”
ดูแลสุขภาพ เปลี่ยนวิถีชีวิตชะลอวัยชรา
ผศ.ดร.นพ.พัฒนา กล่าวการรักษาโรคเรื้อรังเป็นการรักษาผลตรวจทางห้องปฎิบัติเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ เช่นเดียวกับการรักษาด้วยการใช้ยาต่อเนื่อง ก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น คนไทยต้องเข้าใจปัญหาสุขภาพ ของตนเองและตระหนักว่าแพทย์ที่ดีที่สุด คือตัวเราเอง และดูแลสุขภาพอย่างถูกต้องตั้งแต่วันนี้
“การดูแลสุขภาพของตนเอง เปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อชะลอวัยชราสามารถปฎิบัติได้ ดังนี้ กินข้าวให้ช้าลงและดื่มน้ำให้มากขึ้น เลี้ยงน้ำ RO ควรดื่มน้ำแร่บ้าง งดสูบบุหรี่ จำกัดอาหารที่มีแคลอรี่สูง เช่น ไขมัน เหล้า และแป้ง(กินน้อยแก่ช้า กินมากแก้เร็ว) เลือกอาหารแป้งที่มีกากใย เช่น มัน แครอท ธัญพืช (น้ำตาลคือยาพิษ) ทานผักสดและผลไม้ที่สะอาดปลอดสารพิษ ผลไม้มีวิตามินสูง หยุดหาข้ออ้างในการออกกำลังกาย ใช้น้ำมันรำข้าวและน้ำมันมะกอกในการประกอบอาหาร ไม่ควรกินยาถ้าไม่จำเป็น โดยเฉพาะยาพาราเซตามอล ลดความเครียด พักผ่อนให้ตระหนักเสมอว่าคุณคือหมอของตัวคุณเอง” ผศ.ดร.นพ.พัฒนา กล่าว
ปี2573ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเติบโต2เท่า
ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ ฟื้นฟูความงามเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่าการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) เป็นสาขาที่เติบโตเป็น 2 เท่าในปี 2573 คาดว่าจะเป็น 1.59 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จากปี 2563 ที่มีมูลค่าราว 4.36 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ
ไทยควรจะส่งเสริม Wellness tourism ในการดึงดูดเข้ามาเที่ยวในประเทศ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยว แต่รวมถึงกลุ่มที่มีประชุม สัมมนาต่างๆในประเทศ ควรจะทำให้โรงแรม การบริการสปา การดูแลสุขภาพอย่างครบวงจรเกิดขึ้นจริงในทุกพื้นที่ ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ทุกคนจะมาท่องเที่ยว มาดูแลสุขภาพ และได้รับสุขภาพที่ดีกลับประเทศของเขาไป
Wellness Industry นวัตกรรมสีเขียว
ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ กล่าวต่อไปว่ารัฐบาลได้ให้การสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยได้มีการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจสุขภาพอันดามัน ทำให้กลุ่มจังหวัดภาคใต้ ภูเก็ต กระบี่ พังงา ระนอง เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ที่สามารถรักษาผู้ป่วยโรคซับซ้อน การผ่าตัดแปลงเพศ สปาและแหล่งน้ำพุร้อนระดับโลก การดูแลนักท่องเที่ยวทางทะเล เป็นต้น
รวมถึงกำหนดแนวทางพัฒนาต้นแบบ Wellness Industry ด้วยนวัตกรรมสีเขียว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์โดยใช้พืชกัญชา กัญชง และสมุนไพรเศรษฐกิจ ผลักดันศูนย์กลางกัญชาโลกในรูปแบบโลกเสมือนจริง ปักหมุดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนทางการแพทย์
โอกาสการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพไทย
“จุดแข็งของประเทศ คือ มีอัตราค่ารักษาพยาบาลถูกกว่าเมื่อเทียบกับคุณภาพ มีเอกลักษณ์เฉพาะในผลิตภัณฑ์การให้บริการ ภาครัฐเข้ามากำหนดนโยบายเพื่อผลักดันและส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ แต่ในส่วนของจุดอ่อน เรายังขาดเข้าใจอย่างถูกต้องของหน่วยงาน ขาดการประสานขององค์กรภาครัฐและเอกชน ขาดบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและขาดการบริหารงานอย่างเป็นระบบ”ผศ.นพ.พันธ์ศักดิ์ กล่าว
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของโลกเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบันที่มีภาวะความเครียดมากมาย ทุกคนต่างแสวงหาวิธีการผ่อนคลาย ซึ่ง Wellness เป็นแนวทางการรักษาที่ป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพของทุกคนนั่นถือเป็นโอกาสของประเทศไทย ยิ่งขณะนี้ชนชั้นกลางมีการขยายตัวและมีรายได้ที่สูงขึ้น ทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพตัวเองมากขึ้น ฉะนั้น หากผู้ประกอบการไทยสามารถดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เข้ามาได้มากจะเป็นการเพิ่มรายได้เข้าประเทศอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน
“DPU Wellness Center”แห่งแรกในมหาวิทยาลัยไทย
1 พ.ย.2565 นี้ ศูนย์ “DPU Wellness Center” จะเริ่มให้บริการแก่ประชาชนและให้นักศึกษาได้เข้าไปฝึกปฎิบัติเกี่ยวกับการเรียนการสอนของวิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ รวมถึงศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟู
ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมธบ. กล่าวว่าการเปิดศูนย์ DPU Wellness Center นอกจากจะเป็นการฉลองมหาวิทยาลัยครบรอบ 55 ปี ในเดือนพฤษภาคม 2566 แล้ว ยังเป็นการฉลองครบรอบ 11 ปี ของหลักสูตรเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ ซึ่งมธบ. ถือเป็น 1 ใน 3 มหาวิทยาลัยเอกชนที่ได้ความสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องของ Wellness ตอบสนองความต้องการของโลก
“เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ได้เปิดการเรียนการสอนเกี่ยวกับ Anti-Aging และ Wellness ในคณะวิทยาศาสตร์ 5 ปีต่อมาได้เปลี่ยนจากคณะวิทยาศาสตร์ มาเป็นวิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ เพื่อเปิดเรียนรู้และการทำวิจัยเกี่ยวกับ Wellness อย่างครบวงจร ซึ่ง Wellness เป็น 1 ใน 3 Themes หลักของมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อนแนวทางการศึกษา เพราะถือหัวใจสำคัญและตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ” ดร.ดาริกา กล่าว
ประเทศไทยและทั่วโลกให้ความสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขับเคลื่อนประเทศใน 3 ส่วนสำคัญ คือ Digital Economy Green Economy และ Care Economy
มธบ.มีความพร้อมทั้งด้านแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาผลิตบุคลากรตอบโจทย์อุตสาหกรรม Wellness “วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ" จึงเกิดขึ้น เพื่อพัฒนาบุคลากรด้าน Wellness ที่มีทั้งความรู้ ปฎิบัติงานได้ และสามารถทำงานวิจัยได้ คนที่มีความรอบรู้และเชี่ยวชาญ แพทย์ต้องการดูแลสุขภาพองค์รวม
“หน้าที่ของมหาวิทยาลัย คือการผลิตและพัฒนาคนให้สอดรับกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และกำลังคนของประเทศ ซึ่งไทยยังขาดแคลนบุคลากรด้าน Wellness รวมถึงงานวิจัยด้านนี้ก็มีจำนวนจำกัด การเปิดศูนย์ DPU Wellness Center จึงเป็นแหล่งฝึกปฎิบัติการสำหรับนักศึกษา รวมถึงเป็นแหล่งศึกษาวิจัยร่วมกับเครือข่ายต่างๆของมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน” อธิการบดี มธบ. กล่าว
Wellness จิ๊กซอร์คุณภาพชีวิตดี
ผศ.นพ.มาศ ไม้ประเสริฐ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา และผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพและหลักสูตรเวชศาสตร์ความงาม มธบ. บรรยายพิเศษ เรื่อง Wellness จิ๊กซอร์ชิ้นสำคัญ สำหรับระบบสาธารณสุข ว่า สถานการณ์ Wellness ในประเทศไทย กำลังเติบโตอย่างมากมาย และเป็นโอกาสทางธุรกิจของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศไทย
เวชศาสตร์ชะลอวัย และ Wellness มีพื้นฐานที่มาที่ไปจากวิทยาศาสตรการแพทย์ จับต้องได้และทำได้จริง และน่าจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของ Primary Health Care, Functional Family Medicine, True Preventive Medicine ที่จะเป็นแกนหลักที่นำไปสู่ TRUE HEATH FOR ALL
“Wellness เป็นศาสตร์ที่ไม่ใช่แพทย์ก็สามารถเรียนได้ และ Wellness ถือเป็นจิ๊กซอร์สำคัญ ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของทุกคนดีขึ้น เพราะWellness เป็นการปรับปรุงวิถีชีวิตรอบด้าน” ผศ.นพ.มาศ กล่าว
การที่ทางมหาวิทยาลัยเปิดศูนย์ DPU Wellness Center จะทำให้เป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกปฎิบัติแก่นักศึกษา บุคคลภายนอก ผู้ที่สนใจก็สามารถเข้ามาเรียนรู้ และเข้ามาใช้บริการได้ รวมถึงบุคคลากรที่อยู่ในแวดวง Wellness เข้ามามีส่วนร่วมได้ เพราะศูนย์ดังกล่าวจะเป็นโมเดลที่ทำให้ทุกคนเกิดไอเดียในการป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพของตนเอง
“อุตสาหกรรมความงาม” ซึ่งมีอัตราการเติบโต 5-15% ทุกๆ ปี ขณะเดียวกัน สารลดเลือนริ้วรอย หรือ Botolinum toxin type A นับว่าได้รับความนิยมในกลุ่ม “เวชศาสตร์ความงาม” อันดับหนึ่งในไทย”(Aesthetic Medicine) รองลงมา คือ ฟิลเลอร์ , กลุ่มที่ใช้พลังงาน เช่น อัลเธอร่า (Ulthera) เน้นผิวหนังให้ตึง และ สุดท้าย คือ ร้อยไหม
“กสิกิจ พ่วงภิญโญ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสเทค ฟาร์มา จำกัด ในฐานะผู้นำเข้ายาและเครื่องมือแพทย์จากทั่วโลก กล่าวว่าปัจจุบัน ความนิยมการใช้“สารลดเลือนริ้วรอย”หรือBotolinum toxin type A เพื่อความงามในประเทศไทย มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 20% ในทุกปีและยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มคนรุ่นใหม่และคนรุ่นใหญ่ที่เข้าคลินิกความงามเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้การใช้สารลดเลือนริ้วรอยนั้น ควรดำเนินการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และด้วยผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม แม้วิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการปิดคลินิกเสริมความงามทำให้การใช้บริการ เหลือเพียง 40% และคาดว่ากลับมา 100% ในปีหน้า เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจทั่วโลก
รศ.นพ.ธันวา ตันสถิต ผู้ก่อตั้งและอดีตผู้อำนวยการ ศูนย์ฝึกผ่าตัด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวเพิ่มเติมว่าเวชศาสตร์ความงาม แต่ก่อนเราดูแลแค่ผู้สูงอายุที่ต้องการย้อนวัย (Reverse Aging) แต่ปัจจุบัน เริ่มมาดูแลในการป้องกัน คนไข้ส่วนใหญ่อายุน้อยลง วัยรุ่นเข้าใจเรื่องการปรับรูปหน้า โดยเฉพาะก่อนเข้าทำงาน นิยมปรับรูปหน้าเพื่อสมัครงาน ขณะเดียวกัน ผู้ชายเริ่มสนใจมากขึ้นเช่นกัน
ปัจจุบันแบรนด์ผลิตภัณฑ์ความงามในไทยและต่างประเทศ หันมาเน้น “คลีน บิ้วตี้” เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรต่อโลก หรือนำไปรีไซเคิล กันมากขึ้นเพื่อลดโลกร้อน
พญ.กุลชมาษร ลิขิตอิศรา ประธานคณะผู้บริหารคลินิกความงาม”มูตาน พาวิลเลี่ยนเวลเนส เซ็นเตอร์” กล่าวว่าธุรกิจความงามแม้จะมีการแข่งขันที่สูง แต่ก็เป็นตลาดที่ใหญ่มากมีการเติบโตปีล่ะไม่น้อยกว่า 20 % มีมูลค่าตลาดรวม (ก่อนเกิดโควิด) สูงถึงปีละเกือบ 40,000 ล้านบาท
แม้ในช่วงโควิดจะซบเซาลงไปบ้างแต่ก็กลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหลังจากที่โควิดเริ่มคลี่คลายลง เนื่องจากที่ตั้งย่านศรีวรา ทาวอินทาวน์ จะสามารถรองรับลูกค้าจีนที่นิยมเข้ารับบริการคลินิกความงามและตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปีจะขยายสาขาเพิ่ม 2-3 แห่ง และจะขยายสาขาไปเปิดสาขาที่จีนด้วย
ขณะที่ พญ.ฉัตรษร ลิขิตอิศรา กล่าวว่าเรื่องความงามเป็นเรื่องที่ผู้หญิงทุกวัยพร้อมที่จะจ่ายเพื่อดูและตัวเองให้สวยงามดูดีอยู่เสมอ คนไข้ที่มาใช้บริการ ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงอายุ 40-55 ปีเป็นกลุ่มวัยทำงานที่กำลังมีการเติบโตหรือผู้บริหาร เจ้าของธุรกิจ หรือเป็นคุณแม่ที่มีธุรกิจ โดยอันดับต้นๆ มีปัญหาใต้ตาไม่ว่าจะเป็นใต้ตาคล้ำ ร่องใต้ตา หรือถุงใต้ตา
Adblock test (Why?)
ปี2573ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโต2เท่า โอกาสทางธุรกิจของ“ประชาชนไทย” - กรุงเทพธุรกิจ
Read More